ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกล้วย 

              กล้วยเป็นพืชล้มลุกขนาดใหญ่ที่คนไทยรู้จักกันดีมาตั้งแต่อดีต เนื่องจากมีการนำมาใช้ประโยชน์ทั้งบริโภคเป็นอาหาร ใช้ส่วนประกอบของกล้วยในพิธีกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน กล้วยจัดอยู่ในวงศ์ Musaceae  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Musa sapientum L.และมีชื่อสามัญว่า Bananaมีหลายชนิด เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยน้ำไท กล้วยหอมทอง กล้วยหอมเขียว กล้วยไข่ กล้วยตานี กล้วยหักมุก กล้วยเล็บมือนาง กล้วยหิน กล้วยนาค กล้วยงาช้าง เป็นต้น     

อนุกรมวิธานของกล้วย (สุธิดา, 2548)

  • อาณาจักร (Kingdom)         : Plantae
  • ดิวิชั่น (Division)                : Magnoliophyta
  • ชั้น (Class)                        : Liliophyta
  • อันดับ (Order)                    : Zingiberales
  • วงศ์ (Family)                      : Musaceae
  • สกุล (Genus)                      : Musa

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกล้วย

              กล้วยมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่สำคัญ ดังนี้

(1) ลำต้น กล้วยมีลำต้นอยู่ใต้ดิน เรียกว่า หัว หรือ เหง้า (Rhizome) ที่หัวมีตา (Bud) ซึ่งจะเจริญเป็นต้นเกิดหน่อ (Sucker) หลายหน่อ เรียกว่า การแตกกอ  โดยหน่อที่เกิด หรือต้นที่เห็นอยู่เหนือดินนั้นจริงๆไม่ใช่ลำต้น แต่จะเรียกว่า ลำต้นเทียม (Pseudostem) ส่วนนี้เกิดจากการอัดกันแน่นของกาบใบ ที่เกิดจากจุดเจริญของลำต้นใต้ดิน กาบใบจะชูก้านใบ และใบ และที่จุดเจริญนี้จะมีการเจริญเป็นดอกหลังจากสิ้นสุดการเจริญของใบ  ซึ่งใบสุดท้ายก่อนการเกิดดอก เรียกว่า ใบธง (ภาพที่ 1)                                                              

                                                                        

(ที่มา : http://storyofbananas.blogspot.com/2014/05/blog-post_13.html)

ภาพที่ 1 ลักษณะของเหง้ากล้วย (ซ้าย) และใบธงของกล้วย (ขวา)

                         (2) ดอก กล้วยออกดอกเป็นช่อ (Inflorescence) ในช่อดอกยังมีกลุ่มของช่อดอกย่อยเป็นกลุ่มๆ ระหว่างกลุ่มของช่อดอกย่อยแต่ละช่อจะมีกลีบประดับ หรือที่เรียกกันว่า กาบปลี (Bract) มีสีม่วงแดงกั้นไว้ กลุ่มดอกเพศเมียอยู่ที่โคน และกลุ่มดอกเพศผู้อยู่ที่ปลาย เป็นส่วนที่เรียกว่า หัวปลี (Male bud) ระหว่างกลุ่มดอกเพศเมีย และดอกเพศผู้ มีดอกกะเทย แต่บางพันธุ์ก็ไม่มี ในช่อดอกย่อยแต่ละช่อมีดอกเรียงซ้อนกันอยู่ 2 แถว ถ้าเป็นดอกเพศเมีย ดอกเหล่านี้จะเจริญต่อไปเป็นผล (ภาพที่ 2)

                         (3) ผล ผลกล้วยเกิดจากดอกเพศเมีย ซึ่งอยู่ที่โคน กลุ่มของดอกเพศเมีย 1 กลุ่ม เจริญเป็นผล เรียกว่า 1 หวี ช่อดอกเจริญเป็น 1  เครือ ดังนั้น กล้วย 1 เครืออาจมี 2-3 หวี หรือมากกว่า 10 หวี โดยขึ้นอยู่กับพันธุ์กล้วยและการดูแลรักษา (ภาพที่ 2)

                    

(ที่มา : http://www.thaikasetsart.com/ข้อมูลของกล้วย)          (ที่มา : http://www.thaiarcheep.com)

ภาพที่ 2ลักษณะดอก (ซ้าย) และผลของกล้วย (ขวา)

                         (4) เมล็ด มีลักษณะกลมเล็ก บางพันธุ์มีขนาดใหญ่ เปลือกหนา แข็ง มีสีดำ เนื้อในเมล็ดมีสีขาว ขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อ หรือแยกเหง้า มีรสฝาด

                         (5) ราก เป็นระบบรากฝอย แผ่ไปทางด้านกว้างมากกว่าทางแนวดิ่งลึก

                         (6) ใบ เป็นใบเดี่ยว เกิดจากการกระจายส่วนปลายของลำต้นเวียนสลับซ้ายขวาต่างระนาบกัน ก้านใบยาว แผ่นใบกว้าง เส้นของใบขนานกัน ปลายใบมน (ภาพที่ 3) มีติ่งผิวใบเรียบลื่น ใบมีสีเขียว ด้านล่างมี ไขนวล มีแป้งปกคลุม เส้นและขอบใบเรียบ ขนาดและความยาวของใบขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ (ปัญญา, 2553)

(ที่มา : http://www.thaihealth.or.th/Content/26225--"กล้วย"พืชประโยชน์สารพัดนึก.html)

ภาพที่ 3ลักษณะใบของกล้วย 

การขยายพันธุ์กล้วย (มหาวิทยาลัยแม่โจ้, 2559)

                กล้วยสามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งวิธีใช้เมล็ด และวิธีไม่ใช้เมล็ด โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 วิธี คือ

(1) การขยายพันธุ์จากการใช้เมล็ด กล้วยกินได้บางต้นมีเมล็ด บางต้นไม่มีเมล็ด เมล็ดของกล้วย ส่วนใหญ่เกิดจากการผสมข้ามกับกล้วยพันธุ์อื่น ดังนั้น เมล็ดที่ได้อาจเกิดจากการผสมข้ามจะกลายเป็นลูกผสม ทำให้ต้นที่ได้ไม่ตรงกับต้นแม่นัก อีกทั้ง เมล็ดของกล้วยมีเปลือกหุ้มเมล็ดที่หนาและแข็ง ต้องใช้เวลานานมากกว่าจะเพาะเมล็ดเป็นต้นได้  จึงไม่ค่อยนิยมการเพาะเมล็ดกล้วย ยกเว้นกล้วยนวลและกล้วยผาที่จำเป็นต้องเพาะเมล็ด เนื่องจากต้นกล้วยชนิดนี้ไม่มีการแตกหน่อ

(2) การขยายพันธ์จากการใช้หน่อ กล้วยมีการแตกหน่อจากตาข้างของต้นแม่ หน่อกล้วยมี 3 แบบใหญ่ๆ (ภาพที่ 4) คือ 

  • หน่ออ่อน (Peeper) เป็นหน่ออ่อนมาก เกิดจากต้นแม่ที่ยังมีส่วนประกอบต่างๆ ไม่ครบ ส่วนของลำต้นเล็กมักจะอ่อนแอ ไม่เหมาะในการนำไปขยายพันธุ์
  • หน่อใบแคบ หรือ ใบดาบ (Sword sucker) เป็นหน่อที่มีใบเรียวเล็ก โคนหน่อใหญ่ หรือมีส่วนของลำต้นใหญ่ จึงมีอาหารสะสมมาก หน่อชนิดนี้นิยมนำไปปลูก เพราะจะได้ต้นที่แข็งแรง
  • หน่อใบกว้าง หน่อชนิดนี้มีโคนหน่อ หรือลำต้นเล็ก ใบคลี่โตกว้าง ไม่เหมาะที่จะนำไปปลูกเพราะมีอาหารสะสมในลำต้นน้อย ต้นที่ปลูกจากหน่อชนิดนี้จึงไม่แข็งแรง

               

                            (ที่มา : มหาวิทยาลัยแม่โจ้, 2559)

ภาพที่ 4การขยายพันธุ์กล้วยโดยใช้หน่ออ่อน (ซ้าย) หน่อใบแคบ (กลาง) และ หน่อใบกว้าง (ขวา)

(3) การขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue culture)วิธีนี้กำลังเป็นที่นิยม เพราะเป็นวิธีที่ขยายพันธุ์ให้ได้จำนวนมากในเวลาอันสั้น จากหน่อที่สมบูรณ์ 1 หน่อ อาจขยายได้ถึง 10,000ต้น ในเวลา 1 ปี วิธีนี้เหมาะสำหรับการปลูกเพื่อการส่งออก เนื่องจากการส่งออกต้องการจำนวนต้นปลูกที่มีขนาดสม่ำเสมอ ปลูกพร้อมๆ กันเป็นจำนวนมาก เพื่อให้มีการเก็บเกี่ยวผลได้พร้อมๆ กัน และมีน้ำหนักมากกว่า 1 ตันขึ้นไป สำหรับบรรจุใส่ตู้ขนส่งในการส่งออก เพราะการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศนั้น หากมีจำนวนน้อยจะไม่เพียงพอกับความต้องการในการส่งออก และไม่คุ้มกับการลงทุน (ภาพที่ 5)

(ที่มา : มหาวิทยาลัยแม่โจ้, 2559)

ภาพที่ 5การขยายพันธุ์กล้วยโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ(Tissue culture)

การปลูกและการดูแลรักษากล้วย

                กล้วยเป็นพืชที่ชอบอากาศร้อนชื้น จึงเหมาะสมกับการปลูกในประเทศไทย ถ้าหากอุณหภูมิต่ำกว่า 14 องศาเซลเซียส กล้วยจะชะงักการเจริญเติบโต หรือมีการเติบโตช้าลง และการออกดอกและติดผลจะช้าด้วย กล้วยมีลักษณะแผ่นใบใหญ่จึงไม่ทนต่อแรงลม เพราะใบจะต้านลม ทำให้ใบแตกได้ หากใบแตกมากจนเป็น ฝอย จะทำให้มีการสังเคราะห์อาหารได้น้อย ต้นไม่เจริญเท่าที่ควร โดยพื้นที่ที่มีลมแรงมาก ควรปลูกต้นไม้อื่นทำเป็นแนวกันลมให้ต้นกล้วย ดินที่เหมาะสำหรับการปลูกกล้วย คือ ดินตะกอนธารน้ำ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ดินน้ำไหลทรายมูล ซึ่งเป็นดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีการระบายน้ำ และการหมุนเวียนอากาศดี ถ้าดินเป็นดินเหนียว ควรใส่ปุ๋ยคอก จะทำให้ดินร่วนโปร่งขึ้น ซึ่งการปลูกและการดูแลรักษากล้วยอย่างถูกวิธีสามารถทำได้ ดังนี้

                (1) ระยะปลูก กล้วยเป็นพืชที่มีใบยาว หากปลูกในระยะใกล้กันมาก อาจทำให้ใบเกยกัน หรือซ้อนกัน ทำให้ได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ และดูแลลำบาก การกำหนดระยะปลูกจึงควรคำนึงถึงเรื่องแสงแดด ความอุดมสมบูรณ์ของดิน และความต้องการของผู้ปลูกว่าต้องการปลูกกล้วยเพื่อเก็บเกี่ยวกี่ครั้ง (ภาพที่ 6)หากต้องการเก็บเกี่ยวเพียงครั้งเดียวก็อาจปลูกถี่ได้ แต่ถ้าต้องการเก็บเกี่ยวหลายครั้งต้องปลูกให้ห่างกัน เพื่อมีพื้นที่สำหรับการแตกหน่อ

                (2) การปลูก ขุดหลุมให้มีขนาดความกว้าง 50 เซนติเมตร ลึก 50 เซนติเมตร นำดินที่ขุดได้กองตากไว้   5-7 วัน จากนั้นเอาดินชั้นบนที่ตากไว้ลงไปก้นหลุม ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้ว ให้สูงขึ้นมาประมาณ 20 เซนติเมตร  คลุกเคล้าปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักกับดินชั้นบนที่ใส่ลงไป แล้วจึงเอาหน่อกล้วยที่เตรียมไว้วางตรงกลางหลุม เอาดินล่างกลบ รดน้ำ และกดดินให้แน่น ยอดของหน่อควรสูงกว่าระดับดินประมาณ 10 เซนติเมตร ควรหันรอยแผลของหน่อให้อยู่ในทิศทางเดียวกัน เพราะเมื่อโตเต็มที่และติดผล ผลจะเกิดในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับรอยแผล และอยู่ในทิศทางเดียวกัน แต่หากเป็นต้นที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จะไม่มีทิศทางของ  รอยแผล ในการวางต้นจึงจำเป็นต้องมีทิศทาง ถ้าพื้นที่นั้นเป็นดินเหนียวควรทำการยกร่อง จะได้ระบายน้ำ และปลูกบนสันร่องทั้ง 2 ข้าง และเพื่อให้การปฏิบัติงานทำได้ง่าย ควรวางหน่อให้กล้วยออกเครือไปทางกลางร่อง

      

(ที่มา : http://kanchanapisek.or.th/kp6/pictures30/l30-183.jpg) (ซ้าย)

(ที่มา : https://www.technologychaoban.com/news_detail.php?tnid=436) (ขวา)

ภาพที่ 6ระยะปลูกที่เหมาะสมสำหรับการปลูกกล้วย

                 (3) การกำจัดหน่อ เมื่อต้นกล้วยมีอายุได้ 4-6 เดือน จะเริ่มมีการแตกหน่อ หน่อที่เกิดมาเรียกว่า หน่อตาม (Follower) กล้วยบางพันธุ์ที่มีหน่อมาก ควรเอาหน่อออกบ้าง เพื่อไม่ให้หน่อแย่งอาหารจากต้นแม่ ควรเก็บหน่อไว้ 1-2 หน่อ เพื่อให้เป็นตัวพยุงต้นแม่เมื่อมีลมแรง และเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตในปีต่อไป (ภาพที่ 7) วิธีการกำจัดหน่ออาจใช้เสียมที่คมหรือมีดแซะลงไป หรือใช้มีดตัดหรือคว้านหน่อที่อยู่เหนือดิน แล้วใช้น้ำมันก๊าด หรือสารกำจัดวัชพืชหยอดที่บริเวณจุดเจริญ เพื่อไม่ให้มีการเจริญเป็นต้น แต่ไม่ควรแซะหน่อในระหว่างการออกดอก เพราะต้นอาจกระทบกระเทือนได้ นอกจากการกำจัดหน่อแล้ว ควรตัดใบที่แห้งออก เพราะถ้าทิ้งไว้อาจเป็นแหล่งสะสมโรค ใน 1 ต้น ควรเก็บใบไว้ประมาณ 7-12 ใบ

                (4) การให้ปุ๋ย กล้วยเป็นพืชที่ต้องการธาตุอาหารมาก การติดผลจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอาหารและน้ำที่ได้รับ ดังนั้น ควรบำรุงโดยใส่ปุ๋ยทั้งปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมีตั้งแต่เริ่มปลูก ในระยะแรกควรให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนมากในช่วง 2 เดือนแรก โดยให้ปุ๋ยยูเรียเดือนละครั้ง และเดือนที่ 3 และ 4 ให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ต้นละ 1/2 กิโลกรัม ส่วนในเดือนที่ 5 และ 6 ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ต้นละ 1/2 กิโลกรัม

                 (5) การค้ำยัน กล้วยบางพันธุ์มีผลดกมาก โดยมีจำนวนหวีมากและผลใหญ่ ต้นที่มีขนาดเล็ก หากไม่ค้ำไว้ต้นอาจล้ม ทำให้เครือหักได้ เช่น กล้วยหอมทอง กล้วยไข่ จำเป็นต้องค้ำบริเวณโคนเครือกล้วยไว้ โดยใช้ไม้ไผ่หรือไม้อื่นที่มีง่าม (ภาพที่ 7)

       

(ที่มา : https://www.technologychaoban.com/news_detail.php?tnid=684) (ซ้าย)

(ที่มา : http://agt.snru.ac.th/topics/2079) (ขวา)

ภาพที่ 7วิธีการกำจัดหน่อ (ซ้าย) และการค้ำยันต้นกล้วย (ขวา) 

               (6) การให้ผล กล้วยจะออกดอกเมื่ออายุต่างกันตามชนิดของกล้วย เช่น กล้วยไข่ เริ่มออกดอกเมื่ออายุประมาณ 5-6 เดือน กล้วยหอมทองจะเริ่มออกดอกเมื่ออายุได้ประมาณ 6-7 เดือน ส่วนกล้วยน้ำว้า และกล้วยหักมุกใช้เวลานานกว่า และผลจะแก่ในระยะเวลาที่ต่างกัน

               (7) การคลุมถุง หากปลูกกล้วยเพื่อการส่งออก ควรทำการคลุมถุง ถุงที่ใช้ควรเป็นถุงพลาสติกสีฟ้าขนาดใหญ่ และยาวกว่าเครือกล้วย เจาะรูเป็นระยะๆ และเปิดปากถุง เพื่อให้มีอากาศถ่ายเทได้ เพราะถ้าไม่เจาะรูและปิดปากถุงอาจทำให้กล้วยเน่าได้