ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

การปลูกกล้วยเพื่อเป็นการค้าในประเทศไทย

แหล่งปลูกกล้วยที่สำคัญ

                ปัจจุบันกล้วยที่นิยมปลูกเพื่อเป็นการค้าในประเทศไทย มีอยู่ 3 ชนิด คือ กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ และ  กล้วยหอม โดยกล้วยแต่ละชนิดจะมีแหล่งปลูกที่สำคัญ ดังนี้

                (1) กล้วยน้ำว้า เป็นกล้วยที่มีการปลูกกันอย่างแพร่หลายทั่วทุกภาคของประเทศไทย (ภาพที่ 10)สามารถทนทานสภาพดินฟ้าอากาศได้ดีกว่ากล้วยพันธุ์อื่นๆ การดูแลรักษาง่าย และการใช้ประโยชน์จากผล ต้น ใบ ดอก มากกว่ากล้วยชนิดอื่น ลำต้นสูงปานกลาง เมื่อสุกรสชาติหวาน เนื้อแน่น สีเหลืองอ่อน สามารถจำแนกเป็นพันธุ์ต่างๆ ได้แก่ กล้วยน้ำว้าแดง กล้วยน้ำว้าขาว กล้วยน้ำว้าเหลือง และกล้วยน้ำว้าค่อม โดยแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญของกล้วยน้ำว้า คือ

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดเลย นครราชสีมา
  • ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี อ่างทอง นนทบุรี ประจวบคีรีขันธ์
  • ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดอุตรดิตถ์ นครสวรรค์ พิษณุโลก พิจิตร เชียงใหม่ สุโขทัย แม่ฮ่องสอน
  • ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสงขลา

          

(ที่มา : https://www.technologychaoban.com/news_detail.php?tnid=684)

ภาพที่ 10กล้วยน้ำว้าเป็นกล้วยที่นิยมปลูกกันทั่วทุกภาคของประเทศไทย

                  (2) กล้วยไข่ เป็นกล้วยที่มีการปลูกกันทั่วไปเกือบทุกภาคของประเทศ (ภาพที่ 11)มีลักษณะลำต้นสูงบาง สีใบและก้านใบสีเหลืองอ่อนไม่มีนวล กาบใบมีสีน้ำตาลหรือสีช็อคโกแลต เครือเล็ก ผลมีขนาดเล็กเปลือกบาง เมื่อสุกมีสีเหลืองเข้ม เนื้อแน่น รสหวาน เจริญเติบโตได้ดีในที่ร่ม โดยแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญของกล้วยไข่ คือ

  • ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย
  • ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ระยอง
  • ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี กาญจนบุรี

                                         

 

(ที่มา : http://m.matichon.co.th/readnews.php?newsid=1441855587)

ภาพที่ 11แหล่งปลูกกล้วยไข่ที่สำคัญของประเทศไทย คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง

                  (3) กล้วยหอม เป็นกล้วยที่มีการปลูกทั่วทุกภาคของประเทศ (ภาพที่ 12) ทั้งพันธุ์กล้วยหอมทอง กล้วยหอมเขียว และกล้วยหอมค่อม มีลักษณะลำต้นใหญ่แข็งแรง ผลยาวเรียว เปลือกหนา  เมื่อสุกเนื้อมีรสชาติหอมหวาน โดยแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญของกล้วยหอม คือ

  • ภาตใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฏร์ธานี
  • ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี สระบุรี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี
  • ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดหนองคาย

                                 

(ที่มา : http://bighealthyplant.com/กล้วย-การปลูกกล้วย/กล้วยหอมทอง)

ภาพที่ 12แหล่งปลูกกล้วยหอมที่สำคัญของประเทศไทย คือ ภาคกลาง

ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี 

สถานการณ์การการผลิตกล้วย

                (1) กล้วยน้ำว้า ปี พ.ศ. 2552-2557 ประเทศไทยมีพื้นที่ให้ผลผลิตกล้วยน้ำว้าอยู่ระหว่าง 82,265-201,096 ไร่ ผลผลิตอยู่ระหว่าง 156,367-1,150,397 ตัน ในปี พ.ศ. 2557 พื้นที่ให้ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 173,435 ไร่ ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 1,150,397 ตัน เมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2556 พบว่า พื้นที่ให้ผลผลิตกล้วยน้ำว้าลดลงร้อยละ 85.20 และผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.72 (ตารางที่ 2)

                (2) กล้วยไข่ ปี พ.ศ. 2552-2557 ประเทศไทยมีพื้นที่ให้ผลผลิตกล้วยไข่อยู่ระหว่าง 2,524-232,329 ไร่ ผลผลิตอยู่ระหว่าง 7,619-149,574 ตัน ในปี พ.ศ. 2557 พื้นที่ให้ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 34,019 ไร่ ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 149,574 ตัน เมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2556 พบว่า พื้นที่ให้ผลผลิตกล้วยไข่ลดลงร้อยละ 99.85 และผลผลิตลดลงร้อยละ 98.81 (ตารางที่ 2)

                (3) กล้วยหอม ปี พ.ศ. 2552-2557 ประเทศไทยมีพื้นที่ให้ผลผลิตกล้วยหอมอยู่ระหว่าง 4,501-206,076 ไร่ ผลผลิตอยู่ระหว่าง 17,548-214,213 ตัน ในปี พ.ศ. 2557 พื้นที่ให้ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 33,330 ไร่ ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 214,213 ตัน เมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2556 พบว่า พื้นที่ให้ผลผลิตกล้วยหอมลดลงร้อยละ 83.25 และผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.36 (ตารางที่ 2)

ตารางที่ 2แสดงพื้นที่ให้ผลผลิตและผลผลิตของกล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ และกล้วยหอม ปี พ.ศ. 2552-2557

ปี

กล้วยน้ำว้า

กล้วยไข่

กล้วยหอม

พื้นที่ให้ผลผลิต

(ไร่)

ผลผลิต

(ตัน)

พื้นที่ให้ผลผลิต

(ไร่)

ผลผลิต

(ตัน)

พื้นที่ให้ผลผลิต

(ไร่)

ผลผลิต

(ตัน)

2552

82,265

156,367

2,524

7,619

4,501

17,548

2553

201,096

789,629

33,376

83,735

24,964

97,954

2554

192,711

770,005

28,091

118,360

25,468

129,991

2555

177,867

712,568

214,507

130,585

206,076

177,305

2556

195,944

773,964

232,329

125,718

199,002

180,977

2557

173,435

1,150,397

34,019

149,574

33,330

214,213

 

                                              (ที่มา : กรมวิชาการเกษตร, 2559)

กล้วยที่ปลูกได้ส่วนใหญ่จะใช้บริโภคภายในประเทศ ทั้งการบริโภคสดในลักษณะของผลไม้ และ    การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากกล้วยชนิดต่างๆ โดยการแปรรูปมักอยู่ในลักษณะของสินค้า OTOP ประจำท้องถิ่น ผลิตขายในรูปของของฝาก หรือซื้อไปทานเล่น เช่น กล้วยฉาบ กล้วยตาก กล้วยอบ เป็นต้น

การส่งออกกล้วย

                การค้ากล้วยในตลาดโลกมีประมาณ 8.8 ล้านตัน มูลค่าเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ประเทศส่งออกกล้วยรายใหญ่ของโลก ได้แก่ ประเทศเอกวาดอร์ เบลเยียม คอสตาริกา โคลัมเบีย เยอรมนี และฟิลิปปินส์ สำหรับประเทศไทยกล้วยที่ปลูกได้ส่วนใหญ่จะใช้บริโภคภายในประเทศ ส่วน         การส่งออกกล้วยและผลิตภัณฑ์จากกล้วยยังมีมูลค่าไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ปัจจุบันจึงมี  การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกล้วยเพื่อการส่งออกมากขึ้น โดยกล้วยและผลิตภัณฑ์จากกล้วยเพื่อการส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย มีดังนี้

                (1) กล้วยสดแช่เย็น มีปริมาณการส่งออกมากที่สุดในบรรดากล้วยและผลิตภัณฑ์จากกล้วยทั้งหมด กล้วยที่ส่งออกในลักษณะของกล้วยสดแช่เย็น ได้แก่

  • กล้วยหอม ตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ  ประเทศญี่ปุ่น และจีน
  • กล้วยไข่ ตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ ประเทศจีน และฮ่องกง
  • กล้วยน้ำว้า ตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ ประเทศจีน และฮ่องกง

(2) ผลิตภัณฑ์จากกล้วย มีการส่งออกหลายประเภท ได้แก่

  • §กล้วยแปรรูปอย่างง่าย เช่น กล้วยอบแห้ง กล้วยฉาบน้ำตาล เป็นต้น ซึ่งมีการควบคุมคุณภาพและความสะอาดในการผลิตเป็นอย่างดี เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐาน ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น
  • กล้วยแปรรูปบรรจุกระป๋อง ส่วนใหญ่วัตถุดิบที่นำมาใช้แปรรูป คือ กล้วยน้ำว้า และกล้วยไข่สุก นำมาปอกเปลือก ฝานบาง ๆ แล้วแช่ลงในน้ำเชื่อม นำไปบรรจุกระป๋อง โดยในปี พ.ศ. 2552 ประเทศไทยสามารถส่งออกกล้วยแปรรูปบรรจุกระป๋องได้ทั้งหมด 87.4 ตัน มูลค่า 3.9 ล้านบาท ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส