ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP
การตรวจสอบคุณภาพของรังนก 
              การผลิตรังนกปลอมเลียนแบบรังนกแท้จำหน่ายในท้องตลาด ทำให้ผู้บริโภคหลายรายหลงเชื่อว่าเป็นรังนกแท้จากธรรมชาติ เนื่องจากมีลักษณะภายนอกที่คล้ายคลึงกันมากจนไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างรังนกแท้และรังนกปลอมจากการสังเกตด้วยตาเปล่า จึงจำเป็นต้องอาศัยการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการด้วยวิธีการที่เหมาะสม ถูกต้อง และเป็นที่น่าเชื่อถือ เพื่อช่วยควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐาน และเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค การตรวจสอบคุณภาพรังนก มีรายละเอียดดังนี้
              1. การตรวจสอบรังนกแท้
              กรมวิทยาศาสตร์บริการให้บริการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบต่างๆ มากมาย รวมทั้งรังนกและผลิตภัณฑ์จากรังนกด้วยเทคนิคและเครื่องมือที่ทันสมัย โดยการทดสอบรังนกในห้องปฏิบัติการใช้วิธีทางเคมีและเทคนิคอินฟราเรดสเปกโทรสโกปี (Infrared spectroscopy) เพื่อพิสูจน์ความเป็นรังนกแท้ สามารถบอกได้ว่ารังนกแท้ทำมาจากรังนกแอ่นกินรัง  เนื่องจากมีส่วนประกอบหลักเป็นโปรตีน และมีคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนประกอบรอง (ภาพที่ 12) 
 
                          
 
(ที่มา : http://www.manager.co.th)
ภาพที่ 12 การตรวจสอบรังนกแท้ในห้องปฏิบัติการ
 
              รังนกแอ่นกินทุกชนิดจะมีลักษณะพิเศษคือ มีรูปแบบของลายพิมพ์อินฟราเรดสเปกตรัม (Infrared spectrum) และส่วนประกอบของกรดอะมิโน (Amino acids profile) ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างจากวัตถุชนิดอื่นอย่างชัดเจน (บังอร, 2547) ทำให้สามารถแยกความแตกต่างของรังนกแท้และรังนกปลอมได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ภาพที่ 13)
 
(ที่มา : บังอร, 2547)
ภาพที่ 13 แสดงอินฟราเรดสเปกตรัมของรังนกแท้
 
              นอกจากนี้ การตรวจสอบคุณภาพเครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูป ใช้หลักเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 356 พ.ศ. 2556 เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท เพื่อตรวจสอบคุณภาพของเครื่องดื่มรังนกให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด หากผู้ประกอบการจะผลิตเครื่องดื่มรังนกเพื่อจำหน่ายจะต้องขออนุญาตก่อนให้ถูกต้อง โดยอาหารสูตรที่มีการใส่รังนกต้องมีผลวิเคราะห์ปริมาณโปรตีน ชนิดและปริมาณกรดอะมิโน และผลวิเคราะห์ที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีรังนกเป็นส่วนประกอบอยู่จริง หากฝ่าฝืนโดยไม่ขออนุญาตก่อนจะถูกดำเนินการตามกฎหมายรวมทั้ง หากตรวจพบว่า มีคุณภาพที่เข้าข่ายลักษณะอาหารปลอม จะต้องถูกระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,00 บาท ถึง 100,000 บาท (กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค, 2553)
              2. การควบคุมการปนเปื้อนสารไนไตรท์ (กรมวิทยาศาสตร์บริการ, 2556)
              ผู้ประกอบการรังนกในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากกรณีปัญหาที่ประเทศจีนห้ามนำเข้ารังนกเนื่องจากตรวจพบสารปนเปื้อนไนไตรท์ในรังนกสีแดงจากประเทศมาเลเซียเกินค่ามาตรฐานที่จีนกำหนด (ภาพที่ 14) จึงประกาศห้ามนำเข้ารังนกจากประเทศคู่ค้าทั้งหมด เป็นการชั่วคราว ได้แก่ ประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย โดยประเทศจีนได้กำหนดมาตรฐานชั่วคราวของปริมาณไนไตรท์ที่พบในรังนกไม่เกิน 30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และประเทศมาเลเซียกำหนดให้รังนกที่ไม่ผ่านการทำความสะอาดมีปริมาณ  ไนไตรท์ไม่เกิน 70 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และกำหนดให้รังนกที่ผ่านการทำความสะอาดมีปริมาณไนไตรท์ไม่เกิน 30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สำหรับประเทศไทยยังไม่มีเกณฑ์กำหนดนั้น ในเบื้องต้น การบริโภครังนกสีแดงที่ปนเปื้อนสารไนไตรท์จะทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจน ส่งผลให้ริมฝีปากและผิวหนังเป็นสีฟ้าหรือสีม่วง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง อุจจาระเป็นสีเลือด ปวดศีรษะ และไตวายในที่สุด ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ไม่ให้เด็กทารกตั้งแต่แรกเกิดถึง 3 เดือน บริโภครังนก ส่งผลให้ราคารังนกสีแดงลดลงจากเดิมกิโลกรัมละ 60,000-90,000 บาท เหลือเพียงกิโลกรัมละ 10,000-20,000 บาท 
 
 
(ที่มา : http://www.sptn.dss.go.th)
ภาพที่ 14 การปนเปื้อนสารไนไตรท์ในรังนกสีแดง
 
              กรมวิทยาศาสตร์บริการได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยลงพื้นที่ในภาคใต้เพื่อนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพสินค้ารังนก จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การส่งเสริมคุณภาพสินค้าเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในการรับรองการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในจังหวัดภาคใต้ โดยมีผู้ประกอบการรังนกบ้าน ตั้งแต่ ผู้สร้างบ้านสำหรับนก ผู้ทำธุรกิจทำความสะอาดรังนก ผู้ส่งออกรังนก ผู้ผลิตเครื่องดื่มรังนก จากจังหวัดจันทบุรี ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง กระบี่ สตูล พังงา ตรัง นราธิวาส และปัตตานี เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนารังนกของประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมและฟื้นความเชื่อมั่นในการเปิดตลาดรังนกทั้งภายในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังสุ่มเก็บตัวอย่างรังนกและผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มรังนกในพื้นที่มาตรวจสอบปริมาณไนไตรท์ จำนวน 27 ตัวอย่าง พบว่า รังนกและผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มรังนกส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ยกเว้นรังนกสีแดงที่ไม่ได้ผ่านการทำ  ความสะอาด มีปริมาณไนไตรท์เกินเกณฑ์ 42.3-1,574 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เกินค่ามาตรฐานของประเทศจีนที่กำหนด