ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP
คุณภาพของรังนก
              รังนกที่มีคุณภาพดีที่สุดพบอยู่ตามเกาะต่างๆ ในภาคใต้ของประเทศไทย นับเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีคุณค่าและเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศหลายร้อยล้านบาทต่อปี รังนกและผลิตภัณฑ์รังนกมีจำหน่ายในท้องตลาดหลายรูปแบบ โดยรังนกที่มีคุณภาพดี ได้มาตรฐาน และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมีลักษณะ คือ 

              1. รังนก เป็นรังนกที่ผ่านกระบวนการเตรียมขั้นต้น ได้แก่ คัดแยกรัง ทำความสะอาด ทำให้แห้ง โดยอาจมีการขึ้นรูป พร้อมจำหน่ายเพื่อการบริโภค มาตรฐานสินค้าเกษตร รังนก มาตรฐานเลขที่ มกษ. 6705-2557 (สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ, 2557) ได้กำหนดคุณภาพของรังนกไว้ ดังนี้

                  (1) เป็นรังนกแท้
                  (2) มีสีและกลิ่นตามธรรมชาติของรังนก ไม่มีสีหรือกลิ่นผิดปกติ
                  (3) สะอาด ปราศจากสิ่งแปลกปลอมที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
                  (4) มีปริมาณความชื้น ไม่เกิน 15% โดยน้ำหนัก
                  (5) วัตถุเจือปนอาหาร ห้ามใช้วัตถุเจือปนอาหารและสารปรุงแต่งกลิ่นรส
                  (6) สารพิษติดค้าง ชนิดและปริมาณสารพิษตกค้างในรังนก ให้เป็นตามข้อกำหนดในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มกษ. 9002 มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องสารพิษตกค้าง : ปริมาณสารตกค้างสูงสุด และ มกษ. 9003 มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องสารพิษตกค้าง: ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่ปนเปื้อนจากสาเหตุที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
                  (7) สารปนเปื้อน
                         (7.1) ชนิดและปริมาณสารปนเปื้อนในรังนก ให้เป็นไปตามข้อกำหนดในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
                         (7.2) ไนไตรท์ (Nitrite) ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ (คำนวณเป็นโซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite)) พบได้ ไม่เกิน 30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
                  (8) จุลินทรีย์
                         (8.1) จำนวน Escherichia coli ไม่เกิน 100 cfu/g
                         (8.2) จำนวน Bacillus cereus ไม่เกิน 1,000 cfu/g
                         (8.3) จำนวน Staphylococcus aureus ไม่เกิน 1,000 cuf/g
                         (8.4) จำนวนเชื้อรา ไม่เกิน 1,000 cfu/g
 
              2. น้ำรังนก หมายถึง เครื่องดื่มที่ได้จากการนำรังนกที่อยู่สภาพดีมาล้างให้สะอาด แช่น้ำ แยกสิ่งสกปรกออก ทำให้สุก เติมน้ำเชื่อมที่อาจมีส่วนประกอบอื่น เช่น น้ำใบเตย น้ำดอกคำฝอย น้ำเก๊กฮวย ในอัตราส่วนที่เหมาะสม นำไปให้ความร้อนที่อุณหภูมิ และระยะเวลาที่เหมาะสม บรรจุในภาชนะบรรจุขณะร้อน แล้วทำให้เย็นทันที มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำรังนก มาตรฐานเลขที่ มผช.1083/2552 (สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, 2552) ได้กำหนดคุณลักษณะที่ต้องการของรังนกไว้ ดังนี้
                 (1) ลักษณะทั่วไป ต้องเป็นของเหลวใส มีเนื้อรังนกปนอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม อาจตกตะกอนเมื่อตั้งทิ้งไว้
                 (2) สี ต้องมีสีที่ดีตามธรรมชาติของน้ำรังนก และส่วนประกอบที่ใช้
                 (3) กลิ่น ต้องมีกลิ่นที่ดีตามธรรมชาติของน้ำรังนก และส่วนประกอบที่ใช้ ปราศจากกลิ่นอื่นที่ไม่พึงประสงค์ เช่น กลิ่นบูด
                 (4) กลิ่นรส ต้องมีกลิ่นรสที่ดีตามธรรมชาติของน้ำรังนก และส่วนประกอบที่ใช้ปราศจากกลิ่นรสอื่นที่ไม่พึ่งประสงค์ เช่น กลิ่นรสเปรี้ยวบูด
                 (5) สิ่งแปลกปลอม ต้องไม่พบสิ่งแปลกปลอมที่ไม่ใช่ส่วนประกอบที่ใช้ เช่น เส้นผม ดิน ทราย กรวด ชิ้นส่วนหรือสิ่งปฏิกูลจากสัตว์
                 (6) โปรตีน ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.9 โดยน้ำหนัก
                 (7) น้ำหนักเนื้อ ( Drained weight) ต้องไม่น้อยกว่า 1 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร
                 (8) วัตถุเจือปนอาหาร
                        (8.1) ห้ามใช้สีสังเคราะห์ทุกชนิด
                        (8.2) หากมีการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลและวัตถุกันเสีย ให้ใช้ได้ตามชนิดและปริมาณที่กฎหมายกำหนด
                 (9) จุลินทรีย์
                        (9.1) จุลินทรีย์ทั้งหมด ต้องไม่เกิน 1x104 โคโลนีต่อตัวอย่าง 1 มิลลิลิตร
                        (9.2) ซาลโมเนลลา ต้องไม่พบในตัวอย่าง 25 มิลลิลิตร
                        (9.3) สตาฟิโลค็อกคัส ออเรียส ต้องไม่พบในตัวอย่าง 0.1 มิลลิลิตร
                        (9.4) บาซิลลัส ซีเรียส ต้องไม่เกิน 100 โคโลนีต่อตัวอย่าง 1 มิลลิลิตร
                        (9.5) คลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ ต้องไม่เกิน 1,000 โคโลนีต่อตัวอย่าง 1 มิลลิลิตร
                        (9.6) โคลิฟอร์ม โดยวิธีเอ็มพีเอ็น ต้องไม่น้อยกว่า 2.2 ต่อตัวอย่าง 100 มิลลิลิตร
                        (9.7) เอสเชอริเชีย โคไล ต้องไม่พบในตัวอย่าง 100 มิลลิลิตร
                        (9.8) ยีสต์และรา ต้องไม่พบในตัวอย่าง 1 มิลลิตร
 
              นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการเก็บรังนกและผลิตภัณฑ์รังนกอื่นๆ ได้แก่
               (1) พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 นกอีแอ่น หรือนกแอ่นกินรัง ถือเป็นสัตว์คุ้มครองในกลุ่มของสัตว์ปีก ถูกจัดไว้ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ลำดับที่ 97
               (2) พระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2540 มีผลบังคับใช้เมื่อ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2540 โดยปรับปรุงให้ราชการส่วนท้องถิ่นเข้ามาดูแลและจัดการการเก็บรังนกอีแอ่นอันเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น และให้เงินอากรรังนกอีแอ่นตกเป็นรายได้ของท้องถิ่นที่มีรังนกอยู่ และปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการที่จะให้เอกชนดำเนินการเก็บรังนกอีแอ่นอย่างเหมาะสม
               (3) เครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูป ต้องขึ้นทะเบียนอาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 356 พ.ศ. 2556 เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ซึ่งจัดเป็นอาหารที่กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข, 2556) อยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ตามคู่มือประชาชนสำหรับการติดต่อของอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ อาหาร ยา เครื่องสำอาง วัตถุอันตราย ต้องส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และต้องขออนุญาตใช้ฉลากอาหารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)