ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

ข้อควรรู้เกี่ยวกับกรรมวิธีการฉายรังสีอาหาร หลักเกณฑ์และเงื่อนไข 

              มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

              1. ชนิดของรังสี (CODEX, 2008; กระทรวงสาธารณสุข, 2549) ชนิดของรังสีที่อนุญาตให้ใช้ได้ในกระบวนการฉายรังสีอาหารต้องได้จากแหล่งของรังสีที่เป็นต้นกำเนิดดังต่อไปนี้

                   - รังสีแกมมา จากเครื่องฉายรังสีที่มีโคบอลต์-60 (60Co) หรือซีเซียม-137 (137Cs) เป็นต้นกำเนิดรังสี
                   - รังสีเอ็กซ์ จากเครื่องผลิตรังสีเอกซ์ที่ทำงานด้วยระดับพลังงานที่ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 5 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์
                   - รังสีอิเล็กตรอน จากเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอนที่ทำงานด้วยระดับพลังงานที่ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 10 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์
              2. ชนิดของอาหาร การฉายรังสีอาหารได้รับการรับรองจากประเทศต่าง ๆ กว่า 40 ประเทศ แต่ยังคงมีปริมาณการใช้ไม่มากนัก เนื่องจากปัญหาในการยอมรับของผู้บริโภค และการก่อสร้างโรงงานฉายรังสีต้องใช้การลงทุนสูง องค์การอาหารและยาในสหรัฐอเมริกา หรือ FDA (Food and Drug Administration) ได้รับรองว่าการฉายรังสี สามารถกำจัดแมลงจากข้าวสาลี มะเขือเทศ แป้งสาลี เครื่องเทศ ชา พืชผักและผลไม้ การฉายรังสีสามารถใช้ในการควบคุมการงอกและการสุกของผลิตผลทางการเกษตร ในปี ค.ศ. 1985 ได้มีการรับรองว่าการฉายรังสีสามารถทำลายพยาธิ trichinosis ในเนื้อหมูได้ มีการรับรองในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1990 ว่าวิธีการฉายรังสีสามารถใช้ในการควบคุมเชื้อ Salmonella และเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายชนิดอื่นในเนื้อไก่ ไก่งวง และเนื้อสัตว์ปีกชนิดอื่นทั้งแบบสดและแช่แข็ง โดยประสิทธิภาพของการฉายรังสีในอาหารแสดงไว้ในตารางที่ 1
 

ตารางที่ 1 ประสิทธิภาพของการฉายรังสีอาหารชนิดต่างๆ 

ชนิดของอาหาร

ผลของการฉายรังสี

เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อสัตว์ปีก

ทำลายเชื้อจุลินทรีย์และพยาธิ เช่น Salmonella, Clostridium botulinum and Trichinae

อาหารที่เน่าเสียได้

ชะลอการเน่าเสีย ชะลอการเจริญของเชื้อรา            ลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์

ธัญพืช เมล็ดข้าว ผลไม้

ควบคุมแมลงในพืชผัก ผลไม้แห้ง เครื่องเทศ และเครื่องปรุงรส

หัวหอม แครอท มะเขือเทศ กระเทียม ขิง

ยับยั้งการงอก

กล้วย มะม่วง มะละกอ ฝรั่ง ผลไม้ไม่เปรี้ยว

ชะลอการสุก

ข้าว ผลไม้

ลดเวลาในการอบแห้ง


ที่มา : สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย (2551 ก)

              3. ปริมาณรังสีดูดกลืน  (Radiation absorbed dose) ปริมาณรังสีดูดกลืน  หมายความว่า ปริมาณพลังงานที่อาหารดูดกลืนไว้ต่อหนึ่งหน่วยน้ำหนักของผลิตภัณฑ์อาหารเมื่อได้รับรังสี มีหน่วยเป็นเกรย์  และต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการฉายรังสีตามแต่กรณี  ทั้งนี้ปริมาณรังสีดูดกลืนต้องไม่เกินที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เว้นแต่มีเหตุผลทางวิชาการหรือความจำเป็นทางเทคนิคที่สมควรต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประกาศกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอาหาร (กระทรวงสาธารณสุข, 2549)

              4. การติดฉลาก  การแสดงฉลากของอาหารฉายรังสี นอกจากต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง ฉลาก และประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องของอาหารนั้น ๆ แล้ว ต้องแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้

                    - ชื่อและที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของผู้ผลิตและผู้ฉายรังสี
                    - แสดงข้อความว่า “ผ่านการฉายรังสีแล้ว” หรือข้อความที่สื่อความหมายในทำนองเดียวกัน 
                    - ระบุวัตถุประสงค์ของการฉายรังสี ด้วยข้อความดังนี้ “เพื่อ.....” (ความที่เว้นไว้ให้ระบุวัตถุประสงค์ของการฉายรังสี)
                    - การแสดงเครื่องหมายการฉายรังสีอาจจะแสดงหรือไม่ก็ได้ แต่หากจะแสดงต้องใช้ตามรูปแบบที่กำหนดไว้ในเอกสารท้ายประกาศใกล้กับชื่อของอาหาร
                    - วันเดือนและปีที่ทำการฉายรังสี
              อาหารฉายรังสีหากถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารอื่นและส่วนประกอบของอาหารมีเพียงอย่างเดียว ซึ่งได้มาจากวัตถุดิบที่ผ่านการฉายรังสีต้องแสดงข้อความ “ผ่านการฉายรังสีแล้ว” (ยุทธพงศ์ ประชาสิทธิศักดิ์, 2551)