ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

ประวัติของกล้วย

 

                กล้วยเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่คนไทยรู้จักกันดี และนิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นผลไม้คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่สมัยโบราณ สามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ทั่วภูมิภาคของประเทศ และให้ผลผลิตตลอดทั้งปี

                ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจายของกล้วย

                กล้วยจัดเป็นพืชล้มลุกที่ชอบอากาศร้อนชื้น มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย ทางเหนือของอินเดีย พม่า กัมพูชา ไทย ลาว จีนตอนใต้ แถบหมู่เกาะอินโดนีเซีย เกาะบอร์เนียว ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน ในประเทศเหล่านี้จะพบกล้วยพื้นเมืองที่ไม่มีเมล็ด และปลูกแบบปล่อบปละละเลย ผลจากการเคลื่อนย้ายของประชากรเนื่องจากสูญเสียผืนดินในการทำมาหากินในสมัยโบราณ ทำให้เกิดการอพยพของประชากรจากเอเชียตอนใต้ไปยังหมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ได้มีการเอานำเสบียงอาหาร เช่น หน่อกล้วย และผลผลิตทางการเกษตรชนิดอื่นไปด้วย ส่วนคำว่า Banana นั้น มาจากรากศัพท์ของภาษาในแอฟริกาตะวันตก และพบว่าชาวยุโรปก็ใช้ชื่อนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งเรียกตามชาวโปรตุเกส ส่วนการแพร่กระจายของกล้วยนั้นมีการอ้างอิงถึงกล้วยในอินเดีย เมื่อ 600 ปีก่อนคริสต์ศักราช และเมื่อ 327 ปีก่อนคริสต์ศักราช พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้ลิ้มรสกล้วยในอินเดียก็พอพระทัย จึงนำไปปลูกทางแถบตะวันตก ส่วนประเทศจีนมีการทำสวนกล้วยใน พ.ศ. 743 และแถบเมดิเตอร์เรเนียนไม่มีการปลูกกล้วยเลยจนกระทั่ง พ.ศ. 1193 ในระหว่างที่ชาวอาหรับเดินทางค้าขายกับแอฟริกาตะวันตก พบว่ามีการปลูกกล้วยกันอย่างแพร่หลายแล้ว พ.ศ. 1945 นักเดินเรือชาวโปรตุเกสท่องเที่ยวมาที่แอฟริกาจึงนำกล้วยไปยังหมู่เกาะคานารี ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ ทางเหนือของกินี ทำให้มีการแพร่กระจายไปยังซีกโลกตะวันตก และใน พ.ศ. 2059 นักบวชชาวโปรตุเกสชื่อ Tomas de Berlanga นำกล้วยจากหมู่เกาะคานารีไปยังหมู่เกาะแคริบเบียนของซานตาโดมิงโก จึงได้มีการแพร่กระจายไปยังแถบอื่นๆ ส่วนในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตกเริ่มรู้จักกล้วยใน พ.ศ. 2409 (สุธิดา, 2548) ปัจจุบันพบว่า กล้วยมีการปลูกและเจริญเติบโตได้ดีในแถบศูนย์สูตร (Tropical) และบางพื้นที่ในแถบที่มีการปลูกพืชกึ่งร้อน (Subtropical) โดยแหล่งผลิตกล้วยที่สำคัญของโลก แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ผลิตกล้วยสำหรับใช้รับประทานเป็นผลไม้ (Banana) ได้แก่ ประเทศในแถบละตินอเมริกา เช่น  ฮอนดูรัส  คอสตาริกา เอควาดอร์ กัวเตมาลา ฟิลิปปินส์ เป็นต้น และกลุ่มที่ผลิตพืชตระกูลกล้วยเพื่อใช้ประกอบอาหารเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรต หรือแป้ง หรือที่เรียกว่ากล้วยกล้าย (Plantain) ได้แก่ ประเทศแอฟริกา และประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา (มหาวิทยาลัยแม่โจ้, 2559)

                กล้วยในประเทศไทย (เบญจมาศ, 2559)

                ประเทศไทยมีการปลูกกล้วยกันมาช้านาน กล้วยที่ปลูกมีมากมายหลายชนิด พันธุ์กล้วยที่ใช้ปลูกในประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณนั้น มีทั้งพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม และพันธุ์ที่นำเข้ามาจากประเทศใกล้เคียง กล้วยที่รู้จักกันในสมัยสุโขทัย คือ กล้วยตานี และในปัจจุบันจังหวัดสุโขทัยก็ยังมีการปลูกกล้วยตานีมากที่สุด แต่กลับไม่พบกล้วยตานีในป่า ทั้งๆ ที่กล้วยตานีเป็นกล้วยป่าชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย จีน และพม่า ดังนั้น จึงสันนิษฐานว่ากล้วยตานีน่าจะนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยตอนต้น หรือช่วงการอพยพของคนไทยมาตั้งถิ่นฐานที่สุโขทัย ในสมัยอยุธยา เดอลาลูแบร์ (De La Loub`ere) อัครราชทูตชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมาเมืองไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ. 2230 ได้เขียนบันทึกถึงสิ่งที่เขาได้พบเห็นในเมืองไทยไว้ว่า ได้เห็นกล้วยงวงช้าง หรือปัจจุบันเรียกว่า กล้วยร้อยหวี ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกไว้เพื่อเป็นไม้ประดับ อีกทั้ง ยังมีตำนานเล่ากันว่า มีการค้าขายกล้วยตีบ แสดงให้เห็นว่ามีการปลูกกล้วยเพื่อความสวยงาม และเพื่อการบริโภคมานานแล้ว ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2427 ในรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ซึ่งเป็นปรมาจารย์ทางด้านภาษาไทย ได้เขียนหนังสือ พรรณพฤกษากับสัตวาภิธาน เพื่อเป็นแบบเรียนภาษาไทยสำหรับใช้ในโรงเรียน กล่าวถึงชื่อของพรรณไม้และสัตว์ชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในเมืองไทย โดยเรียบเรียงเป็นกาพย์ฉบัง 16 เพื่อให้ไพเราะและจดจำได้ง่าย ในหนังสือดังกล่าวมีข้อความที่พรรณนาถึงชื่อกล้วยชนิดต่างๆ หลายชนิด แสดงให้เห็นถึงความนิยมในการปลูกกล้วยในสมัยนั้น ทั้งนี้เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสประเทศต่างๆ หลายประเทศ จึงได้มีการนำกล้วย  บางชนิดเข้ามาปลูกในรัชสมัยของพระองค์ หลังจากที่นักวิชาการชาวตะวันตกได้เริ่มจำแนกชนิดของกล้วยตามลักษณะทางพันธุกรรม โดยใช้จีโนมของกล้วยเป็นตัวกำหนดในการแยกชนิดตามวิธีของซิมมอนดส์ และเชบเฟิร์ด จึงกล่าวได้ว่า กล้วยที่บริโภคกันอยู่ในปัจจุบันมีบรรพบุรุษอยู่เพียง 2 ชนิด คือ กล้วยป่า (Musa acuminata) และกล้วยตานี (Musa balbisiana) กล้วยที่กำเนิดจากกล้วยป่ามีจีโนมทางพันธุกรรมเป็น AA ส่วนกล้วยที่กำเนิดจากกล้วยตานีมีจีโนม เป็น BB และกล้วยลูกผสมของทั้ง 2 ชนิด มีจีโนมเป็น AAB, ABB, AABB และ ABBB นอกจากนี้ ซิมมอนดส์ยังได้จำแนกชนิดของกล้วยในประเทศไทยว่า มีอยู่ 15 สายพันธุ์ ต่อมานักวิชาการไทยได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพันธุ์และชนิดของกล้วย คือ ใน พ.ศ. 2510 วัฒนา เสถียรสวัสดิ์ และ ปวิณ ปุณศรี มีการรวบรวมพันธุ์กล้วยที่พบในประเทศได้ 125 สายพันธุ์ และจากการจำแนกกลุ่มแล้ว พบว่า มี 20 สายพันธุ์ หลังจากนั้นในระหว่าง พ.ศ. 2523-2526 เบญจมาศ ศิลาย้อย และฉลองชัย แบบประเสริฐ แห่งภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการสำรวจพันธุ์กล้วยในประเทศไทย และรวบรวมพันธุ์ไว้    ที่สถานีวิจัยปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยรวบรวมได้ทั้งหมด 323 สายพันธุ์ แต่เมื่อจำแนกชนิดแล้ว พบว่า  มีอยู่เพียง 59 สายพันธุ์ หลังจากสิ้นสุดโครงการ ยังได้ทำการรวบรวมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน พบว่ามีอยู่ 71 สายพันธุ์ รวมทั้งกล้วยป่าและกล้วยประดับ แต่ไม่นับรวมพันธุ์กล้วยที่มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศปัจจุบันประเทศไทยมีการปลูกกล้วยกันทั่วทุกภูมิภาค แต่จังหวัดที่มีการผลิตเพื่อเป็นการค้า ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร  เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร (มหาวิทยาลัยแม่โจ้, 2559)