ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP
 
ประวัติของข้าวโพด
 
              ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจายของข้าวโพด
              นักภูมิศาสตร์และนักโบราณคดีหลายท่านสันนิษฐานว่า มนุษย์รู้จักปลูกข้าวโพดกันมานานมากกว่า 4,500 ปี ซึ่งจากการศึกษาข้อสันนิษฐานต่างๆ พบว่า ข้าวโพดอาจมีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ 2 แหล่ง โดยอาศัยหลักฐานของการเพาะปลูก (สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2560) คือ
              (1) พื้นที่แถบที่ราบสูงซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศเปรู โบลิเวีย เอกวาดอร์ ชิลี อาร์เจนตินา และบราซิล ในทวีปอเมริกาใต้ เนื่องจากมีผู้พบข้าวโพดพันธุ์พื้นเมืองหลายพันธุ์มีความปรวนแปรทางพันธุกรรม และยังพบข้าวโพดบางชนิดมีลักษณะคล้ายข้าวโพดป่าที่ขึ้นอยู่ในแถบนั้นด้วย
              (2) พื้นที่ทางตอนใต้ของทวีปอเมริกา แถบอเมริกากลาง ประเทศเม็กซิโก กัวเตมาลา โคลัมโบ และ เวเนซูเอลา เนื่องจากมีหญ้าพื้นเมืองของบริเวณนี้ 2 ชนิด คือ หญ้าทริพซาคัม (Trip sacum) และหญ้าทิโอซินเท (Teosinte) ซึ่งมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์หลายประการคล้ายคลึงกับข้าวโพด อีกทั้ง นักโบราณคดีได้ขุดพบ ซากซังของข้าวโพดปนอยู่กับซากของโบราณวัตถุต่างๆ ซึ่งฝังอยู่ใต้ดินลึกถึง 28 เมตร ภายในถ้ำและสุสานหลายแห่งบริเวณเมืองหลวงของประเทศเม็กซิโก จากการพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์ทำให้ทราบว่า ซากสิ่งของเหล่านี้มีอายุนานกว่า 4,000 ปี ซึ่งแสดงว่า มีข้าวโพดปลูกอยู่ในแถบนี้เป็นเวลานานนับพันปีมาแล้ว
              อีกทั้ง ยังมีบางท่านสันนิษฐานว่า ข้าวโพดอาจมีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในเอเชีย เนื่องจากพืชพื้นเมืองหลายชนิดในแถบนี้มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์คล้ายกับข้าวโพด เช่น ลูกเดือย และอ้อน้ำ อย่างไรก็ตาม รายละเอียดเหล่านี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน เพราะปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานที่แน่ชัดเกี่ยวกับถิ่นฐานดั้งเดิมของข้าวโพด นอกจากนี้ นักพฤกษศาสตร์และนักพันธุศาสตร์ได้ตั้งสมมุติฐานเกี่ยวกับพืชดั้งเดิมของข้าวโพดไว้หลากหลาย โดยบางท่านเชื่อว่าหญ้าทริพซาคัม และหญ้าทิโอซินเท เป็นบรรพบุรุษของข้าวโพด เนื่องจากมีส่วนใกล้เคียงกัน และบางท่านเชื่อว่าหญ้าทั้งสองชนิดนี้ไม่ได้เป็นพืชดั้งเดิมของข้าวโพด แต่ข้าวโพดที่ปลูกคงวิวัฒนาการมาจากข้าวโพดพันธุ์ป่า และหญ้าทั้งสองชนิดก็ควรเป็นพืชดั้งเดิมเดียวกับข้าวโพด แต่ได้วิวัฒนาการมาคนละสาย จึงทำให้มีลักษณะแตกต่างกันในปัจจุบัน 
              สำหรับการแพร่กระจายของข้าวโพดไปยังส่วนต่างๆ ของโลก คาดว่าเกิดจากชาวอินเดียนแดงเจ้าถิ่นเดิมของทวีปอเมริกาเป็นผู้นำจากอเมริกากลางไปปลูกในส่วนต่างๆ ของทวีปอเมริกาและหมู่เกาะแคริบเบียน ซึ่งชาวอินเดียนแดงเป็นชนชาติที่มีส่วนสำคัญในด้านวิวัฒนาการเกี่ยวกับการปลูกข้าวโพด ในปี พ.ศ. 2035 เมื่อโคลัสบัสเดินทางมาพบทวีปอเมริกา ก็พบว่า มีการปลูกข้าวโพดอยู่ทั่วไปในบริเวณนี้ และปี พ.ศ. 2036 ได้ลองนำเมล็ดกลับไปปลูกในประเทศสเปน ทวีปยุโรป หลังจากนั้นจึงแพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นๆ ของทวีปแอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย
 

              ข้าวโพดในประเทศไทย 

              การนำข้าวโพดเข้ามาในประเทศไทยคาดว่าเกิดขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2223 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่เป็นพันธุ์ใดไม่ปรากฏ จากหลักฐานพบว่าในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 การผลิตข้าวโพดเพื่อการค้ายังมีอยู่อย่างจำกัด พันธุ์ที่เริ่มทดลองปลูกมีอยู่ 4 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์พื้นเมืองของไทย พันธุ์เม็กซิกันจูน พันธุ์นิโคลสัน เยลโล่ เด้นท์ และพันธุ์อินโดจีน ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้าวโพดเริ่มขยายการปลูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ได้เพิ่มมากนัก จนกระทั่งหลังจากที่มีการนำข้าวโพดพันธุ์ทิกิเสท โกลเดน เยลโลว์ (Tiquisate golden yellow) จากประเทศกัวเตมาลา เข้ามาทดสอบปลูกในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2496 โดยเรียกชื่อพันธุ์นี้ว่า พันธุ์กัวเตมาลา ข้าวโพดพันธุ์นี้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศได้ดี และให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์เดิม ส่งผลให้มีการปลูกข้าวโพดในประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่ในปี พ.ศ. 2508 เกิดการระบาดของโรคราน้ำค้างทำให้การผลิตข้าวโพดในประเทศไทยประสบปัญหา กรมกสิกรรม (ปัจจุบันคือ กรมวิชาการเกษตร) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิรอกกีเพลเลอร์ (Rockefeller foundation) จึงได้ร่วมมือกันจัดประสานงานการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพด โดยมีสถานีทดลองกสิกรรมพระพุทธบาท ในอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เป็นสถานีวิจัย และเริ่มพัฒนาไร่สุวรรณ ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งต่อมาได้จัดตั้งศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ไร่สุวรรณ ในปี พ.ศ. 2512-2513 และที่ศูนย์แห่งนี้ โดยการนำของ ดร.สุจินต์ จินายน ได้เริ่มพัฒนาข้าวโพดพันธุ์สุวรรณ 1 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ต้านทานโรคราน้ำค้าง และได้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์กัวเตมาลา โดยในปี พ.ศ. 2518 ทางราชการได้ให้การรับรองพันธุ์สุวรรณ 1 อย่างเป็นทางการ และเริ่มผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้ปลูกกันในปีถัดไป (วัชรินทร์, 2558) ทั้งนี้ ปัจจุบันข้าวโพดที่ปลูกในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ข้าวโพดฝักสด และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยข้าวโพดฝักสดปลูกเพื่อใช้สำหรับบริโภคและส่งออก ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เนื่องจากใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งจังหวัดที่เป็นแหล่งปลูกข้าวโพดที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ นครราชสีมา เลย ลพบุรี และนครสวรรค์ (ภาพที่ 1) (โชคชัย และเกตุอร, 2561)
 
(ที่มา : http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=3&chap=2&page=t3-2-infodetail03.html)
 
ภาพที่ 1 แผนที่แสดงแหล่งผลิตข้าวโพดในประเทศไทย