ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP
ชนิดของข้าวโพด 
 
              การจำแนกชนิดของข้าวโพดสามารถจำแนกได้หลายชนิดตามลักษณะต่างๆ (คณาจารย์ภาควิชาพืชไร่นา, 2547) ดังนี้
              1 จำแนกตามคุณสมบัติของแป้งในเมล็ด ในเมล็ดข้าวโพดประกอบด้วยแป้ง 2 ชนิด คือ แป้งแข็ง (Hard starch) และแป้งอ่อน (Soft starch) ทำให้สามารถจำแนกโดยอาศัยตำแหน่งของแป้งแต่ละชนิดและลักษณะของเปลือกหุ้มเมล็ดได้ 7 ชนิด คือ
              (1) ข้าวโพดป่า (Pod corn) เป็นข้าวโพดที่ใช้ในการศึกษาแหล่งกำเนิดข้าวโพด (สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2560) ซึ่งปลูกในบริเวณแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ เมล็ดข้าวโพดป่าทุกเมล็ดจะมีเปลือกหุ้มเมล็ดอย่างมิดชิดเหมือนกับเมล็ดหญ้า และยังมีเปลือกหุ้มฝักหุ้มอีกชั้นหนึ่ง เมล็ดมีสีต่างๆ หรือเป็นลาย (ภาพที่ 6)
 
                                              
 
                      (ที่มา : http://www.doa.go.th/pibai/pibai/n14/v_11-dec/rai.html)                                     (ที่มา : http://www3.rdi.ku.ac.th/?p=8879)
 
ภาพที่ 6 ลักษณะของข้าวโพดป่า (Pod corn)
 
              (2) ข้าวโพดคั่ว (Pop corn) เป็นข้าวโพดที่เมล็ดมีแป้งแข็งอัดกันแน่น มีแป้งอ่อนเป็นองค์ประกอบเล็กน้อย ลักษณะรูปร่างของเมล็ดแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ชนิดที่มีรูปร่างเรียวแหลมคล้ายเมล็ดข้าว เรียกว่า Rice pop corn และชนิดที่มีลักษณะเมล็ดกลมเรียกว่า Pearl pop corn (ภาพที่ 7) เมื่อเมล็ดข้าวโพดชนิดนี้ได้รับความร้อนระดับหนึ่งแป้งจะขยายตัวสร้างความดันขึ้นภายในจนกระทั่งเปลือกหุ้มเมล็ดที่หนาแตกออก
 
                                              
 
                              (ที่มา : http://www.doa.go.th/pibai/pibai/n14/v_11-dec/rai.html)                                   (ที่มา : http://www3.rdi.ku.ac.th/?p=8879)
 
ภาพที่ 7 ลักษณะของข้าวโพดคั่ว (Pop corn)
 
              (3) ข้าวโพดหัวแข็ง (Flint corn) เป็นข้าวโพดที่ด้านบนของเมล็ดมีแป้งแข็งเป็นองค์ประกอบ ส่วนแป้งอ่อนจะอยู่ภายในตรงกลางเมล็ดหรืออาจไม่มีเลย เมล็ดค่อนข้างกลม เมื่อเมล็ดแห้งจะไม่มีรอยบุบด้านบน เมล็ดมีสีต่างๆ เช่น สีเหลือง สีเหลืองส้ม สีขาว หรือสีอื่นแล้วแต่สายพันธุ์ (ภาพที่ 8) ปลูกกันมากในแถบเอเชียและอเมริกาใต้ ข้าวโพดไร่ของประเทศไทยที่นิยมปลูกกันเป็นชนิดนี้ทั้งสิ้น
 
                                           
 
(ที่มา : http://www3.rdi.ku.ac.th/?p=8879)
 
ภาพที่ 8 ลักษณะของข้าวโพดหัวแข็ง (Flint corn)
 
              (4) ข้าวโพดหัวบุบ (Dent corn) เป็นข้าวโพดที่มีส่วนของแป้งอ่อนอยู่ด้านบน ส่วนแป้งแข็งจะอยู่ด้านล่างและด้านข้าง เมื่อข้าวโพดแก่เมล็ดสูญเสียความชื้น ทำให้แป้งอ่อนด้านบนหดตัวเมล็ดจึงเกิดรอยบุบ สีของเมล็ดอาจเป็นสีขาว สีเหลือง หรือสีอื่นแล้วแต่สายพันธุ์ (ภาพที่ 9) โดยนิยมปลูกกันมากในประเทศสหรัฐอเมริกา 
 
                                           
 

                                     (ที่มา : http://www3.rdi.ku.ac.th/?p=8879)                                   (ที่มา : http://www.doa.go.th/pibai/pibai/n14/v_11-dec/rai.html)

ภาพที่ 9 ลักษณะของข้าวโพดหัวบุบ (Dent corn)

              (5) ข้าวโพดแป้ง (Flour corn) เป็นข้าวโพดที่มีองค์ประกอบเป็นแป้งอ่อนเกือบทั้งหมด มีแป้งแข็งเป็นชั้นบางๆ อยู่ด้านในเมล็ด เมื่อข้าวโพดแก่การหดตัวของแป้งในเมล็ดจะเท่าๆ กัน ทำให้เมล็ดมีรูปร่างเหมือนข้าวโพดหัวแข็ง แต่มีลักษณะทึบแสง (ภาพที่ 10) โดยนิยมปลูกในแถบอเมริกาใต้ อเมริกากลาง และประเทศสหรัฐอเมริกา

                                            

                                     (ที่มา : http://www3.rdi.ku.ac.th/?p=8879)                                    (ที่มา : http://www.doa.go.th/pibai/pibai/n14/v_11-dec/rai.html)

ภาพที่ 10 ลักษณะของข้าวโพดแป้ง (Flour corn)

              (6) ข้าวโพดหวาน (Sweet corn) เป็นข้าวโพดที่น้ำตาลในเมล็ดเปลี่ยนไปเป็นแป้งไม่สมบูรณ์ ทำให้เมล็ดมีความหวานมากกว่าข้าวโพดชนิดอื่น ซึ่งมักนำฝักสดมาใช้รับประทาน เมื่อเมล็ดแก่เต็มที่จะหดตัว เหี่ยวย่น (ภาพที่ 11) ข้าวโพดชนิดนี้นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายทั่วทุกภาค

                                             

                                     (ที่มา : http://www3.rdi.ku.ac.th/?p=8879)                                    (ที่มา : http://www.thaismescenter.com/การปลูก-ข้าวโพดหวาน/)

ภาพที่ 11 ลักษณะของข้าวโพดหวาน (Sweet corn)

              (7) ข้าวโพดข้าวเหนียว หรือข้าวโพดเทียน (Waxy corn) เมล็ดประกอบด้วยแป้งอ่อนที่มีความเหนียว เนื่องจากองค์ประกอบของแป้งส่วนใหญ่เป็นอะไมโลเพกติน (Amylopectin) ในขณะที่ข้าวโพดชนิดอื่นมีอะไมโลส (Amylose) เป็นองค์ประกอบด้วย ทำให้นิยมปลูกข้าวโพดชนิดนี้เพื่อรับประทานฝักสดคล้ายกับข้าวโพดหวาน เมล็ดมีสีต่างๆ เช่น สีเหลือง สีขาว สีม่วง หรือมีหลายสีในฝักเดียวกัน (ภาพที่ 12) (จินตน์กานต์, 2558)

                                             

                   (ที่มา : http://www.doa.go.th/pibai/pibai/n15/v_4-may/jakfam.html)                   (ที่มา : http://www.doa.go.th/pibai/pibai/n14/v_11-dec/rai.html)
 
ภาพที่ 12 ลักษณะของข้าวโพดข้าวเหนียว หรือข้าวโพดเทียน (Waxy corn)
 
              2 จำแนกตามองค์ประกอบทางเคมีในเมล็ด สามารถจำแนกได้ 3 ชนิด คือ
              (1) ข้าวโพดแป้ง (Field corn หรือ Starchy corn) เป็นข้าวโพดที่ใช้ประโยชน์จากแป้งในเมล็ด ได้แก่ ข้าวโพดหัวแข็ง ข้าวโพดหัวบุบ และข้าวโพดแป้ง ซึ่งมักนำมาใช้เป็นอาหารมนุษย์ และเลี้ยงสัตว์
              (2) ข้าวโพดน้ำมันสูง (High oil corn) เป็นข้าวโพดที่มีปริมาณน้ำมันในส่วนของคัพภะ (Embryo) สูง ปกติเมล็ดข้าวโพดมีปริมาณน้ำมันอยู่ร้อยละ 1.2-5.0  ซึ่งหากพันธุ์ที่มีปริมาณน้ำมันในเมล็ดสูงกว่านี้ก็จัดเป็นข้าวโพดน้ำมันสูง
              (3) ข้าวโพดคุณภาพโปรตีนสูง (High lysine corn) เป็นข้าวโพดที่มีปริมาณโปรตีนในเมล็ดสูง ปกติเมล็ดข้าวโพดมีปริมาณโปรตีนร้อยละ 7-10 โดยเมล็ดข้าวโพดเป็นแป้งอ่อนและทึบแสง น้ำหนักเมล็ดเบา เชื้อราและแมลงเข้าทำลายเมล็ดได้ง่าย
 
              3 จำแนกตามเขตภูมิอากาศ สามารถจำแนกได้ 3 ชนิด คือ
              (1) ข้าวโพดในเขตอบอุ่น (Temperate maize) ข้าวโพดชนิดนี้เจริญเติบได้ดีในเขตเส้นรุ้งที่สูงกว่า 30 องศาเหนือและใต้ อุณหภูมิอากาศในฤดูปลูกค่อนข้างต่ำ และได้รับแสงช่วงยาว ข้าวโพดในกลุ่มนี้ ได้แก่ ข้าวโพดที่ปลูกในประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน 
              (2) ข้าวโพดในเขตกึ่งร้อนชื้น (Subtropical maize) เป็นข้าวโพดที่ปลูกในระหว่างเส้นรุ้ง 20-30 องศาเหนือและใต้ อุณหภูมิของอากาศไม่สูงมากนัก
              (3) ข้าวโพดในเขตร้อน (Tropical maize) เป็นข้าวโพดที่ปลูกบริเวณตั้งแต่เส้นศูนย์สูตรจนถึงเส้นรุ้งที่ 20 องศาเหนือและใต้ บริเวณที่ปลูกข้าวโพดชนิดนี้ ได้แก่ ทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ และเอเชีย 
 
              4 จำแนกตามอายุการเก็บเกี่ยว ข้าวโพดในเขตร้อนโดยเฉพาะที่ปลูกในพื้นที่ราบ สามารถจำแนกตามอายุการเก็บเกี่ยวได้ 4 ชนิด คือ
              (1) พันธุ์อายุสั้นมาก (Extremely early variety) เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 80-90 วัน
              (2) พันธุ์อายุสั้น (Early variety) เก้บเกี่ยวเมื่ออายุ 90-100 วัน
              (3) พันธุ์อายุปานกลาง (Intermediate variety) เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 100-110 วัน
              (4) พันธุ์อายุยาว (Late variety) เก้บเกี่ยวเมื่ออายุมากกว่า 110 วัน
 
              5 จำแนกตามวัตถุประสงค์ของการใช้ประโยชน์ สามารถจำแนกได้ 4 ชนิด คือ
              (1) ใช้เมล็ดสุกแก่  เป็นข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวเมล็ดแก่มาใช้ประโยชน์เพื่อการบริโภคทั้งมนุษย์และสัตว์ หรือใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตแป้งหรือน้ำมัน
              (2) ใช้บริโภคฝักสด เป็นข้าวโพดที่ปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวฝักที่ยังอ่อนไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ได้แก่ ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวโพดหวาน และข้าวโพดข้าวเหนียว
              (3) ใช้เป็นพืชอาหารสัตว์ เป็นข้าวโพดที่ปลูกแล้วตัดต้นในระยะก่อนแก่ เพื่อนำข้าวโพดทั้งต้นไปทำหญ้าสด (Fodder) หญ้าหมัก (Silage) หรือหญ้าแห้ง (Hay)
              (4) ใช้ฝักสำหรับประดับ เป็นข้าวโพดที่เมล็ดบนฝักเดียวกันมีหลายสี (ภาพที่ 13) เนื่องจากการสะสมสารสี (Pigment) ที่แตกต่างกัน สามารถนำฝักไปประดับตกแต่งได้
 
                                             
 
(ที่มา : https://www.bansuanporpeang.com/node/25234)
 
ภาพที่ 13 ลักษณะของข้าวโพดที่ใช้ฝักสำหรับประดับ