Page 8 of 10
การแปรรูปข้าวโพด
การแปรรูปข้าวโพดที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. การแปรรูปข้าวโพดฝักสด (สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน), 2561)
(1) ข้าวโพดหวาน การแปรรูปข้าวโพดหวานแบ่งเป็น 2 แบบ คือ
- แปรรูปเพื่อบริโภคเป็นอาหาร ในประเทศไทยผู้บริโภคนิยมรับประทานข้าวโพดหวานกัน
แพร่หลาย ทั้งนำมาเป็นอาหารว่างระหว่างมื้ออาหาร โดยนำข้าวโพดที่เมล็ดยังไม่แก่เต็มที่มาต้ม นึ่ง หรือปิ้งให้สุก ใส่น้ำเกลือ หรือเนย เพื่อเพิ่มรสชาติ และนำมาประกอบอาหารคาวหวานได้หลากหลายชนิด เช่น ข้าวโพดทอดทรงเครื่อง ส้มตำข้าวโพด ขนมข้าวโพด น้ำนมข้าวโพด (ภาพที่18A) ไอศกรีมข้าวโพดกะทิ เป็นต้น
- แปรรูปเพื่ออุตสาหกรรมอาหารบรรจุกระป๋อง ข้าวโพดหวานจัดเป็นกลุ่มพืชเพื่อการส่งออกที่
สำคัญที่สุดในบรรดาข้าวโพดฝักสด เนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกอยู่ทั่วประเทศ ข้าวโพดหวานสามารถนำมาแปรรูปในทางอุตสาหกรรมอาหารได้หลายรูปแบบ เช่น ข้าวโพดหวานแช่แข็งทั้งฝัก เมล็ดข้าวโพดหวานแช่แข็ง ข้าวโพดหวานบรรจุถุงสุญญากาศ (ภาพที่ 18B) ครีมข้าวโพดหวาน เป็นต้น
A B
(ที่มา : http://daily.bangkokbiznews.com/detail/249956) (ที่มา : https://www.prachachat.net/marketing/news-85232)
ภาพที่ 18 ผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปข้าวโพดหวาน ได้แก่ น้ำนมข้าวโพด (A) และข้าวโพดหวานบรรจุถุงสุญญากาศ (B)
(2) ข้าวโพดฝักอ่อน การแปรรูปข้าวโพดฝักอ่อนแบ่งเป็น 2 แบบ คือ
- แปรรูปเพื่อบริโภคเป็นอาหาร เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมรับประทานข้าวโพดฝักอ่อนโดยนำมาประกอบอาหารในรูปแบบต่างๆ เช่น แกงเลียง (ภาพที่ 19A) ผัดผัก ข้าวโพดอ่อนชุบแป้งทอด เป็นต้น
- แปรรูปเพื่ออุตสาหกรรมอาหารบรรจุกระป๋อง ข้าวโพดฝักอ่อนจัดเป็นกลุ่มพืชเพื่อการส่งออกเช่นเดียวกับข้าวโพดหวาน โดยสามารถนำมาแปรรูปในทางอุตสาหกรรมอาหารได้ในรูปแบบต่างๆ เช่น ข้าวโพดฝักอ่อนบรรจุกระป๋อง (ภาพที่ 19B) ข้าวโพดฝักอ่อนแช่แข็ง เป็นต้น
A B
(ที่มา : https://www.knorr.com/th/recipe-ideas/แกงเลียงบวบ.html) (ที่มา : http://www.tcc-chaokoh.com/products/view/20)
ภาพที่ 19 ผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปข้าวโพดฝักอ่อน ได้แก่ แกงเลียง (A)และข้าวโพดฝักอ่อนบรรจุกระป๋อง (B)
2. การแปรรูปข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สามารถนำมาแปรรูปในรูปแบบต่างๆ คือ
(1) แปรรูปเป็นอาหารสัตว์ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เนื่องจากอุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิด ทำให้นิยมนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ (ภาพที่ 20A) แต่ปัจจุบันการแปรรูปข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์มีปริมาณลดลง เพราะราคาตกต่ำ
(2) แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นอกจากใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์แล้ว ยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารได้หลายชนิด เช่น ข้าวเกรียบข้าวโพด (ภาพที่ 20B) น้ำพริกเผาข้าวโพด ขนมทองม้วนข้าวโพด ขนมดอกจอกข้าวโพด เป็นต้น (ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์, 2561)
A B
(ที่มา : http://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/59483/-agrliv-agr-) (ที่มา : http://www.doa.go.th/fcrc/nsn/cornproduct.html)
ภาพที่ 20 ผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ อาหารสัตว์ (A) และข้าวเกรียบข้าวโพด (B)
อีกทั้ง ยังมีการนำข้าวโพดมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ เช่น
- แป้งข้าวโพด เกิดการจากแยกแป้งออกจากเมล็ดข้าวโพด ในทางอุตสาหกรรมสามารถทำได้ 2 วิธี คือ วิธีบดแห้ง (Dry milling process) และวิธีบดเปียก (Wet milling process)
- น้ำมันข้าวโพด เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการสกัดน้ำมันจากเมล็ดข้าวโพด โดยน้ำมันข้าวโพดนับเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพดี และมีประโยชน์ เนื่องจากประกอบด้วยกรดไขมันอิ่มตัว และกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายจำนวนมาก
- เชื้อเพลิง เมล็ดข้าวโพดสามารถนำมาผลิตเอทานอล โดยบดเมล็ดข้าวโพดให้ละเอียดเป็นแป้ง เติมเอนไซม์เพื่อเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล แล้วหมักน้ำตาลที่ได้ด้วยยีสต์เพื่อเปลี่ยนน้ำตาลเป็นเอทานอล และคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งซังข้าวโพดยังสามารถนำมาผลิตเชื้อเพลิงเหลวได้ด้วย (ธนศิษฏ์ นาพร และ เสมอขวัญ, 2557)
- น้ำเชื่อมข้าวโพด โดยเกิดจากการย่อยสลายแป้งข้าวโพด มักนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ประเภทน้ำอัดลม และขนมหวานต่างๆ เนื่องจากมีคุณสมบัติไม่ตกผลึก และคงรูป
- สบู่ขัดผิวจากข้าวโพด ใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาบดพอละเอียด เพื่อใช้เป็นส่วนในการขัดผิว ดูดซับความชื้น ขจัดสิ่งอุดตันในรูขุมขน (ภาพที่ 21A) มีวิตามินอีสูง ช่วยถนอมผิว และชะลอการเหี่ยวย่นของผิวหนัง (เสน่ห์, 2545)
- สิ่งทอ เป็นสิ่งทอที่เกิดจากการนำเส้นใยเม็ดพลาสติกชีวภาพจากข้าวโพดมาถักทอเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายต่างๆ เช่น เสื้อสูท ผ้าพันคอ ถุงเท้า (ภาพที่ 21B) เป็นต้น (หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์, 2558)
A B
(ที่มา : http://www.thaitambon.com/shop/035238551-กลุ่มสบู่ข้าวโพดขัดผิว) (ที่มา : https://mgronline.com/science/detail/9580000090933)
ภาพที่ 21 การนำข้าวโพดมาใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่ สบู่ขัดผิว (A) และสิ่งทอ (B)
นอกจากนี้ ในบางท้องถิ่นได้นำส่วนต่างๆ ของข้าวโพด เช่น เปลือก ใบ และซัง มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร ลดปัญหาขยะ รวมถึงสามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปนี้ ได้แก่ กระดาษข้าวโพด ถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพด และตุ๊กตาเปลือกข้าวโพด