ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP
 
              ข้าวโพดนับเป็นอาหารที่สำคัญสำหรับมนุษย์และสัตว์มายาวนาน โดยเฉพาะเมล็ดเป็นส่วนที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทำให้ผู้บริโภคนิยมนำมาใช้รับประทานกันอย่างแพร่หลาย ทั้งเป็นอาหารหลัก อาหารว่าง อาหารหวาน และอาหารคาว
              1 การบริโภคข้าวโพด  
              ผู้บริโภคสามารถรับประทานข้าวโพดเป็นอาหารได้ในหลายลักษณะ (บรรหาร และกองบรรณาธิการ, 2554) คือ
              (1) ข้าวโพดฝักอ่อน คือ ฝักข้าวโพดที่มีอายุ 60-75 วัน นับตั้งแต่วันปลูก หรือฝักอ่อนของข้าวโพดที่ไข่ (Ovules) ไม่ได้รับการผสมเกสร (ภาพที่ 14A) (สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ, 2558) ซึ่งมีขนาดเล็กเท่านิ้วก้อย คนไทยนิยมนำข้าวโพดฝักอ่อนมาประกอบอาหารบริโภคในรูปฝักสด เช่น ผัดผัก แกงเลียง ชุบแป้งทอด ลวกจิ้มน้ำพริก เป็นต้น ส่วนต่างประเทศนิยมบริโภคในรูปข้าวโพดฝักอ่อนบรรจุกระป๋อง ซึ่งมีหลายประเทศในยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และฮ่องกง ที่ซื้อข้าวโพดฝักอ่อนบรรจุกระป๋องจากประเทศไทย
              (2) ข้าวโพดฝักสด คือ ข้าวโพดที่ยังไม่แก่จัด (ภาพที่ 14B) สามารถนำมาบริโภคในรูปอาหารหวาน หรืออาหารว่างระหว่างมื้ออาหาร โดยนำข้าวโพดฝักสดมาต้ม นึ่ง หรือปิ้งให้สุก อาจใส่น้ำเกลือ หรือใส่เนยให้มีรสเค็มๆ และอาจนำข้าวโพดที่ต้มแล้วไปทำข้าวโพดคลุกใส่มะพร้าวขูด แล้วโรยด้วยน้ำตาล นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาประกอบอาหารได้อีกหลายรูปแบบ เช่น ซุปข้าวโพด สาคูเปียกข้าวโพด ขนมรังผึ้ง เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันข้าวโพดที่นิยมนำฝักสดมารับประทาน ได้แก่ ข้าวโพดหวาน และข้าวโพดข้าวเหนียว 
 
                                                                 A                                                                                                               B
 
                                              
 
                   (ที่มา : http://www.farmkaset.org/html5/contents.aspx?con_id=881)                               (ที่มา : http://www.sator4u.com/paper/1826)
 
ภาพที่ 14 ข้าวโพดฝักอ่อน (A) และข้าวโพดฝักสด (B)
 
              (3) ข้าวโพดที่รับประทานเมล็ดแห้ง ข้าวโพดชนิดนี้มีคุณสมบัติแตกฟูได้เมื่อถูกความร้อน นิยมนำมาบริโภคในรูปข้าวโพดคั่ว (Popcorn) โดยนำเมล็ดที่แก่แห้งแล้วมาคั่วให้แตกด้วยหม้ออบ เครื่องคั่วไฟฟ้า หรือ  เตาไมโครเวฟ เมื่อเมล็ดข้าวโพดถูกความร้อนก็จะแตกออกมาเป็นเม็ดใหญ่ สีขาว กรอบ และอาจราดด้วยน้ำตาลหรือเนย จะทำให้มีรสหวานอร่อย น่ารับประทานมากขึ้น ซึ่งข้าวโพดชนิดนี้ส่วนใหญ่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ
              (4) ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวโพด เกิดจากการนำข้าวโพดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารประเภทต่างๆ ได้แก่   
                         -  แป้งข้าวโพด เกิดจากการสกัดเอาแป้งจากเมล็ดข้าวโพดที่แก่และแห้งโดยการโม่ แป้งข้าวโพดที่ได้มี 3 ลักษณะ คือ ชนิดหยาบ เรียกว่า คอร์นกริท (Corn grit) ชนิดค่อนข้างละเอียด เรียกว่า คอร์นมิล (Corn meal) และชนิดละเอียด เรียกว่า แป้งข้าวโพด (Corn flour) (ภาพที่ 15A) ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารจากแป้งข้าวโพด ได้แก่ ขนมปังข้าวโพด และอาหารเช้าจากธัญพืช (Breakfast cereal) 
                         -  น้ำมันข้าวโพด ข้าวโพดจัดเป็นพืชน้ำมันชนิดหนึ่ง ได้จากการสกัดจากเมล็ดข้าวโพดแก่และแห้ง โดยน้ำมันข้าวโพดประกอบด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัว และกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายอยู่มาก นับเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพเหมาะสำหรับการนำมาบริโภค (ภาพที่ 15B) สามารถใช้ในการประกอบอาหารได้หลายชนิด ได้แก่ น้ำสลัด ทำขนม และใช้ทอดอาหารต่างๆ 
                         -  น้ำเชื่อมข้าวโพด เป็นน้ำเชื่อมที่ได้จากการย่อยสลายแป้งข้าวโพด มักใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม และขนมหวานต่างๆ เนื่องจากมีคุณสมบัติไม่ตกผลึก และคงรูป 
 
                                                                  A                                                                                                              B
                                            
                                   (ที่มา : http://www.allforbaking.com/product/57/                                            (ที่มา : https://shoponline.tescolotus.com/  
                                        คนอร์-แป้งข้าวโพด-corn-flour-starch-700-g)                                                 groceries/th-TH/products/6000055514)
 
ภาพที่ 15 ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวโพด ได้แก่ แป้งข้าวโพด (A) และน้ำมันข้าวโพด (B)
 
              2 คุณค่าทางโภชนาการของข้าวโพด
              ข้าวโพดเป็นอาหารจำพวกแป้งชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ประกอบด้วยสารอาหารที่สำคัญ ดังนี้
              (1) คาร์โบไฮเดรต พบว่าในเมล็ดข้าวโพดที่แก่จัดมีสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตอยู่ประมาณร้อยละ 72 ข้าวโพดจึงจัดเป็นอาหารจำพวกแป้งที่ให้พลังงาน โดย 1 กรัม ให้พลังงาน 4 แคลอรี
              (2) ไขมัน เมล็ดข้าวโพดที่แก่จัดมีไขมันอยู่ประมาณร้อยละ 4 สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันใช้ประกอบอาหาร น้ำมันข้าวโพดมีกรดไขมันไม่อิ่ม โดยเฉพาะกรดไลโนเลอิกมีถึงร้อยละ 40 และกรดโอเลอิกร้อยละ 37 
              (3) โปรตีน ข้าวโพดมีโปรตีนเป็นองค์ประกอบประมาณร้อยละ 4 โดยโปรตีนในข้าวโพดมีประโยชน์ต่อร่างกายน้อย เนื่องจากขาดกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย คือ ไลซีน และทริปโตเฟน ผู้บริโภคจึงควรรับประทานข้าวโพดร่วมกับถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ เพื่อให้ได้คุณค่าทางโภชนาการยิ่งมากขึ้น 
              (4) วิตามิน ข้าวโพดมีวิตามินบี 1 และวิตามินบี 2 ในปริมาณ 0.08-0.18 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม มีไนอาซีนในปริมาณน้อย คือ 1.1-1.5 มิลลิกรัม ทำให้ประเทศที่มีการบริโภคข้าวโพดเป็นอาหารหลักมักเกิดโรคเพลลากรา (Pellagra)  กันมาก เนื่องจากขาดสารไนอาซีน ส่วนวิตามินเอพบเฉพาะในข้าวโพดสีเหลือง
              (5) เกลือแร่ ข้าวโพดมีส่วนประกอบของเกลือแร่ที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ได้แก่ แคลเซียม และเหล็ก แต่พบในปริมาณน้อย
              (6) เส้นใยอาหาร พบในปริมาณน้อย แต่มีประโยชน์ช่วยในการขับถ่าย
 
              ทั้งนี้ แสดงตัวอย่างปริมาณคุณค่าทางโภชาการของข้าวโพดหวาน ดังตารางที่ 1
                                        ตารางที่ 1 คุณค่าทางโภชาการของข้าวโพดหวาน หนัก 100 กรัม
 

ชนิดของสารอาหาร

ปริมาณสารอาหาร

  พลังงาน (Energy)

25 แคลอรี

  ไขมัน (Fat)

0.1 กรัม

  คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate)

905 กรัม

  เส้นใย (Fiber)

0.2 กรัม

  โปรตีน (Protein)

3.3 กรัม

  แคลเซียม (Calcium)

15 มิลลิกรัม

  ฟอสฟอรัส (Phosphorus)

66 มิลลิกรัม

  เหล็ก (Iron)

0.5 มิลลิกรัม

  ไนอาซีน (Niacin)

0.3 มิลลิกรัม

  วิตามินเอ (Vitamin A)

129 หน่วยสากล

  วิตามินบี 1 (Vitamin B1)

0.06 มิลลิกรัม

  วิตามินบี 2 (Vitamin B2)

0.12 มิลลิกรัม

  วิตามินซี (Vitamin C)

12 มิลลิกรัม

 
                                        (ที่มา : บรรหาร และกองบรรณาธิการ, 2554)