ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP
วัสดุที่ใช้ในการผลิตถ่านอัดแท่ง
              วัตถุดิบจากธรรมชาติที่สามารถนำมาใช้ในการผลิตถ่านอัดแท่งมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ กะลามะพร้าว ซังข้าวโพด แกลบ ขี้เลื่อย ฟางข้าว ชานอ้อย ลำต้นมันสำปะหลัง เหง้ามันสำปะหลัง หญ้าคา หญ้าขจรจบ ไมยราบ ผักตบชวา ใบจามจุรี กะลาปาล์ม ต้นฝ้าย ต้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากทานตะวัน เปลือกทุเรียน เศษถ่านหุงต้มที่เหลือจากการใช้แล้ว (อุกฤษฏ์, 2551) โดยตัวอย่างวัตถุดิบที่สำคัญและนิยมนำมาผลิตถ่านอัดแท่งกันมาก คือ
              1. กะลามะพร้าว มะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่สามารถนำส่วนต่างๆ มาทำประโยชน์ได้เกือบทุกส่วน เช่น ลำต้นนำมาสร้างที่อยู่อาศัย ยอดมะพร้าวนำมาปรุงอาหาร ใบนำมาทำของใช้ เปลือกนอกผลมะพร้าวนำมาใช้ในด้านการเกษตร เนื้อมะพร้าวใช้รับประทาน รวมถึงกะลามะพร้าวนำมาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน ถ่านอัดแท่งจากกะลามะพร้าว (ภาพที่ 3) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองคุณภาพอย่างเป็นทางการ และมีคุณสมบัติดีกว่าถ่านไม้ทั่วไป โดยสามารถให้ความร้อนอย่างสม่ำเสมอและสูงกว่าถ่านไม้ถึง 2 เท่า มีขี้เถ้าน้อย ไม่มีประกายไฟปะทุ ไม่มีควัน ไม่ก่อสารพิษจากการเผาไหม้ (ปิยนุช, 2545) จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย สร้างรายได้ที่ดีให้กับชุมชน รวมถึงเป็นการนำวัสดุเหลือทิ้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และช่วยลดปริมาณขยะให้น้อยลงด้วย 
 
                          
 
                                      (ที่มา : http://igetweb.com/www/charcoalthais/news/                    (ที่มา : http://boc.dip.go.th/index.php?option=com
                                                        389011_150326074330.jpg)                                          _content&view=article&id=391&Itemid=48)   
 
ภาพที่ 3 ถ่านอัดแท่งจากกะลามะพร้าว                               
 
              2. แกลบ เป็นผลิตผลที่ได้มาจากเมล็ดข้าวโดยผ่านการกระเทาะจากโรงสีข้าว แกลบถูกนำมาใช้ประโยชน์ในทางเกษตรหลายด้าน เช่น นำมาทำปุ๋ย ใช้ในฟาร์มเลี้ยงไก่ ใช้ในงานก่อสร้าง ใช้เป็นฉนวนป้องกันความร้อน และนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในรูปแบบของถ่านอัดแท่งสำหรับใช้ในการหุงต้มอาหาร (ภาพที่ 4)โดยค่าความร้อนของถ่านอัดแท่งจากแกลบจะต่ำกว่าถ่านไม้ทั่วไป แต่เมื่อเปรียบเทียบระยะเวลาการเผาไหม้ พบว่า ถ่านอัดแท่งจากแกลบมีเวลาการเผาไหม้นานกว่าถ่านไม้ทั่วไป (อุกฤษฏ์, 2549)
 
                          
 
                                                 (ที่มา : http://puechkaset.com/แกลบ/)                               (ที่มา : http://research.rae.mju.ac.th/raebase/index.   
                                                                                                                                                  php/knowledge/2010/119-husk)
ภาพที่ 4 ถ่านอัดแท่งจากแกลบ
 
              3. ซังข้าวโพด ข้าวโพดเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่เกษตรกรนิยมปลูกกันมากในหลายจังหวัดของประเทศไทย ภายหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวซังข้าวโพดจะถูกทิ้งเป็นจำนวนมาก (ภาพที่ 5) ภาครัฐจึงมีการส่งเสริมให้เกษตรกรนำซังข้าวโพดเหล่านี้มาทำถ่านอัดแท่ง นอกจากเป็นการสร้างรายได้จากเศษวัสดุเหลือใช้แล้ว ยังช่วยลดปัญหามลภาวะทางอากาศ และลดปริมาณขยะด้วย ถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพดให้ปริมาณความร้อนในระดับสูง คือ 6,300 แคลอรีต่อกรัม ใช้เวลาในการเผาไหม้จนเป็นเถ้า 1.30 ชั่วโมง ในขณะที่ถ่านไม้ให้ความร้อน 4,300 แคลอรีต่อกรัม และใช้เวลาในการเผาไหม้จนเป็นเถ้า 1 ชั่วโมง (พานิชย์, 2547)
 
                            
 
                                              (ที่มา : http://www.bloggang.com/data/k/                           (ที่มา : http://www.mygreengardens.com/wp-content/
                                               kasetbe-easy/picture/1435119589.jpg)                                            uploads/2013/03/Picture-447.jpg)
 
ภาพที่ 5 ถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพด
 
              4. ผักตบชวา นับเป็นวัชพืชน้ำที่สร้างปัญหาให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เนื่องจากพืชน้ำชนิดนี้สามารถขยายพันธุ์ในแหล่งน้ำได้รวดเร็ว ทำให้แหล่งน้ำในหลายๆ พื้นที่มีผักตบชวาเจริญเติบโตอยู่หนาแน่น อาจส่งผลต่อการแย่งธาตุอาหาร ความชื้น และแสงแดด ในพื้นที่เพาะปลูก บางชนิดมีสารยับยั้งการเจริญเติบโตของพืชปลูก อีกทั้ง ยังเป็นอุปสรรคทางด้านการชลประทาน และการประมง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริในการนำวัสดุเหลือใช้อย่างผักตบชวามาอัดแท่งเป็นเชื้อเพลิงเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน ปัจจุบันมีโครงการส่วนพระองค์ที่สวนจิตรลดาเกี่ยวกับการผลิตถ่านอัดแท่ง ซึ่งเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชมได้ (อุกฤษฏ์, 2551) การนำผักตบชวามาผลิตถ่านอัดแท่งนอกจากเป็นการใช้วัสดุที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังสามารถช่วยลดปริมาณผักตบชวาในแม่น้ำลำคลองได้อีกด้วย (ภาพที่ 6)
 
                             
 
(ที่มา : . http://www.manager.co.th/asp-bin/viewgallery.aspx?newsid=9560000026931&imageid=2578381)
 
ภาพที่ 6 ถ่านอัดแท่งจากผักตบชวา
 
              5. เศษถ่านไม้โกงกาง เศษถ่านที่เกิดขึ้นจากการเผาถ่านมีอยู่เป็นจำนวนมาก แทนที่จะทิ้งให้เปล่าประโยชน์ จึงมีแนวคิดในการนำเศษถ่านเหล่านี้มาพัฒนาให้เป็นถ่านอัดแท่ง (ภาพที่ 7) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับชุมชน และเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน เนื่องจากชาวบ้านในตำบล ยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มีการปลูกป่าโกงกางเพื่อเผาถ่านเป็นอาชีพอยู่แล้ว ซึ่งโครงการพัฒนาเศษถ่านไม้โกงกางอัดแท่งเพื่อการใช้ประโยชน์จากไม้โกงกางอย่างคุ้มค่านี้ เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเศษถ่านไม้โกงกางให้มีคุณภาพ และเพิ่มมูลค่าจากเศษวัสดุเหลือทิ้งด้วย (สิริพร, 2552) 
 
 
(ที่มา : http://www.thesungroupthailand.com/ถ่านไม้โกงกางอัดแท่ง)
ภาพที่ 7 ถ่านอัดแท่งจากเศษถ่านไม้โกงกาง
 
              6. เปลือกผลไม้ เปลือกผลไม้ที่นิยมนำมาผลิตถ่านอัดแท่ง คือ เปลือกทุเรียน และเปลือกมังคุด (ภาพที่ 8) เนื่องจากเปลือกผลไม้ทั้ง 2 ชนิดนี้ มีคุณสมบัติทางด้านเชื้อเพลิง และประเทศไทยมีการปลูกผลไม้เหล่านี้เป็นจำนวนมาก เมื่อบริโภคผลไม้แล้วจะเหลือเปลือกทิ้งโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ จึงมีการนำเปลือกผลไม้ 2 ชนิด นี้มาผลิตเป็นเชื้อเพลิงเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนในครัวเรือนและอุตสาหกรรม และช่วยลดปริมาณขยะที่จะต้องกำจัดให้น้อยลง (อัจฉรา และคณะ, มปป.) 
 
                           
 

                                                     (ที่มา : http://4.bp.blogspot.com)                                             (ที่มา : http://www.banmuang.co.th)

ภาพที่ 8 เปลือกทุเรียนและเปลือกมังคุดสำหรับใช้ผลิตถ่านอัดแท่ง

              7. ปาล์มน้ำมัน การปลูกปาล์มน้ำมันมักจะมีวัสดุเหลือทิ้งจำนวนมาก เช่น กาบใบ กะลาปาล์ม ลำต้น และตอรากปาล์มน้ำมัน (ภาพที่ 9) เศษวัสดุเหล่านี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน เช่น การใช้เป็นเชื้อเพลิงในรูปฟืน การเพาะเห็ด การนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรโดยการใช้เป็นวัสดุคลุมดินเพื่อรักษาความชุ่มชื้น รวมถึงการนำเศษวัสดุเหลือทิ้งจากปาล์มน้ำมันมาพัฒนาและใช้ประโยชน์ทางด้านพลังงานในรูปเชื้อเพลิงอัดแท่ง การผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่งจากปาล์มน้ำมันและเศษวัสดุของปาล์มน้ำมันนี้ ทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าให้วัสดุเหลือทิ้ง ส่งเสริมการใช้ผลิตผลจากป่าไม้และเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า (นฤมล และคณะ, มปป.) 
 

                            

(ที่มา : อัจฉรา, มปป.)

ภาพที่ 9 การผลิตถ่านอัดแท่งจากกาบปาล์มน้ำมัน