Page 6 of 10
คุณภาพของถ่านอัดแท่ง
1. การประเมินคุณภาพของถ่านอัดแท่ง (ศิริชัย กุณฑล และจงกล, 2555)
การประเมินคุณภาพและสมบัติทางเชื้อเพลิง ใช้องค์ประกอบที่สำคัญของเชื้อเพลิงเป็นหลักในการวิเคราะห์ตามมาตรฐาน American Society for Testing and Materials (ASTM) ดังนี้
(1) ความชื้น (Moisture content) หมายถึง เปอร์เซ็นต์ของน้ำต่อน้ำหนักวัสดุ มีผลต่อค่าความร้อน และความคงตัวของเชื้อเพลิง โดยเชื้อเพลิงที่มีความชื้นต่ำจะยิ่งมีประสิทธิสูง
(2) สารที่ระเหยได้ (Volatile matters) หมายถึง องค์ประกอบของถ่านที่ระเหยออกมาเมื่อเผาถ่านในอุณหภูมิที่กำหนดในภาชนะปิด สารระเหยที่ออกมามีทั้งที่มาจากสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ ได้แก่ ก๊าซไฮโดรเจน คาร์บอนมอนอกไซต์ สารประกอบไฮโดรคาร์บอนต่างๆ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ และไอน้ำ ในเชื้อเพลิงที่ดีจะต้องมีปริมาณสารระเหยได้ต่ำ
(3) ปริมาณเถ้า (Ash content) หมายถึง สารประกอบอนินทรีย์ที่เหลือจากการเผาไหม้ถ่านที่อุณหภูมิสูง โดยเชื้อเพลิงที่ดีหลังการเผาไหม้ควรเกิดเถ้าในปริมาณน้อย เนื่องจากเชื้อเพลิงควรเผาไหม้กลายเป็นพลังงานความร้อนให้ได้มากที่สุด
(4) คาร์บอนคงตัว (Fixed carbon) หมายถึง ปริมาณคาร์บอนที่เหลืออยู่หลังจากการเผาไหม้ ปริมาณคาร์บอนคงตัวเป็นตัวบ่งชี้ปริมาณของแข็งที่ติดไฟได้ที่เหลืออยู่ในเตาเผา เชื้อเพลิงที่ดีจะต้องมีปริมาณคาร์บอนคงตัวเป็นองค์ประกอบสูง
(5) ค่าความร้อน (Heating value) เป็นตัวแปรสำคัญที่จะบ่งชี้ปริมาณความร้อนที่ปล่อยออกมา โดยเชื้อเพลิงที่มีค่าความร้อนสูงถือว่าเป็นเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพดี
ทั้งนี้ ถ่านอัดแท่งจากกะลามะพร้าว ถือเป็นผลิตภัณฑ์ถ่านอัดแท่งจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีคุณสบัติดีและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ดังเช่นผลการวิเคราะห์คุณภาพที่พบว่า มีความชื้น 7.13 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณเถ้า 3.74 เปอร์เซ็นต์ สารระเหย 13.47 เปอร์เซ็นต์ คาร์บอนคงตัว 82.73 เปอร์เซ็นต์ และค่าความร้อน 7,276 แคลอรี่ต่อกรัม (ปิยะนุช, 2545)
2. ลักษณะของถ่านอัดแท่งที่ดี (สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, 2547)
ถ่านอัดแท่งที่มีคุณภาพดี ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ถ่านอัดแท่ง มาตรฐานเลขที่ มผช.238/2547 มีลักษณะ คือ
(1) ลักษณะทั่วไป ในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องมีรูปทรงเดียวกัน ขนาดใกล้เคียงกัน มีสีดำสม่ำเสมอ ไม่เปราะ อาจแตกหักได้บ้าง
(2) การใช้งาน เมื่อติดไฟต้องไม่มีสะเก็ดไฟกระเด็น ไม่มีควัน และกลิ่น
(3) ความชื้น ต้องไม่เกินร้อยละ 8 โดยน้ำหนัก
(4) ค่าความร้อน ต้องไม่น้อยกว่า 5,000 แคลอรีต่อกรัม
(5) หากมีการบรรจุ ให้บรรจุถ่านอัดแท่งในภาชนะบรรจุที่สะอาด แห้ง และสามารถป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับถ่านอัดแท่งได้
(6) น้ำหนักสุทธิของถ่านอัดแท่งในแต่ละภาชนะบรรจุ ต้องไม่น้อยกว่าที่ระบุไว้ที่ฉลาก
(7) ที่ฉลากหรือภาชนะบรรจุถ่านอัดแท่งทุกหน่วย อย่างน้อยต้องมีเลข อักษร หรือเครื่องหมายแจ้งรายละเอียดให้เห็นได้ง่าย ชัดเจน ได้แก่ ชื่อผลิตภัณฑ์ ชนิดของวัสดุที่ใช้ทำ น้ำหนักสุทธิ เดือน ปีที่ทำ ข้อแนะนำในการใช้ และชื่อผู้ทำ หรือสถานที่ทำ พร้อมสถานที่ตั้ง หรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน ในกรณีที่ใช้ภาษาต่างประเทศ ต้องมีความหมายตรงกับภาษาไทยที่กำหนดไว้ข้างต้น