Page 9 of 10
บทสรุป
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีผลผลิตทางการเกษตรมากมาย โดยหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตจะมีเศษวัสดุเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก เช่น แกลบ ฟางข้าว กะลามะพร้าว และซังข้าวโพด เป็นต้น การนำเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรจึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการผลิตเชื้อเพลิงในรูปของถ่านอัดแท่งใช้ในครัวเรือนและอุตสาหกรรม เพื่อทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงจากถ่านไม้ และฟืน ที่นับวันจะมีปริมาณลดน้อยลง รวมถึงเป็นการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยเพิ่มมูลค่าของวัสดุ และส่งเสริมการนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่การผลิตถ่านอัดแท่งมักประสบปัญหาด้านคุณภาพ ได้แก่ ถ่านมีลักษณะเปราะ มีควันระหว่างการติดไฟ มีความชื้นเมื่อวางทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องทำให้เกิดเชื้อรา จุดติดยาก และระยะเวลาเผาไหม้สั้น กรมวิทยาศาสตร์บริการได้จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพถ่านอัดแท่งและถ่านผลไม้ดูดกลิ่นให้ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปถ่ายทอดให้แก่ผู้ประกอบการ สำหรับนำไปพัฒนากระบวนการผลิต คุณภาพผลิตภัณฑ์ถ่านอัดแท่งและถ่านผลไม้ดูดกลิ่นจากเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เพื่อยกระดับให้ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.238/2547) และเป็นสินค้า OTOP ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของประชาชนในประเทศ