ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เกี่ยวกับเซรามิก 

              มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) คือ ข้อกำหนดด้านคุณภาพที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นที่ยอมรับ น่าเชื่อถือ สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ โดยมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดและสอดคล้องกับนโยบาย OTOP (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, 2558) การพัฒนาผลิตภัณฑ์เซรามิกให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานตาม มผช. จึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์เซรามิก กลายเป็นสินค้า OTOP ทำให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น และขยายโอกาสทางการตลาดให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศด้วย 

              1. ประโยชน์ที่ได้รับจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ได้แก่

                    (1) ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนมีความเข้าใจและมีความรู้ในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ
                    (2) สินค้าที่ผลิตมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
                    (3) สินค้าเป็นที่น่าเชื่อถือ และเป็นที่ต้องการของตลาด
                    (4) สามารถนำผลิตภัณฑ์เข้าคัดสรร OTOP Product Champion (ระดับดาว)
                    (5) ได้รับการสนับสนุนเพื่อการพัฒนาที่เหมาะสมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 

              2. มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เซรามิกและเครื่องปั้นดินเผา ได้แก่

                    (1) มผช. 10/2556 เครื่องเบญจรงค์                           (7) มผช. 627/2556 เครื่องปั้นดินเผาเคลือบขี้เถ้า
                    (2) มผช. 46/2556 เครื่องปั้นดินเผาเออร์เทนแวร์           (8) มผช. 930/2556 เครื่องปั้นดินเผาสโตนแวร์
                    (3) มผช. 243/2556 เครื่องปั้นดินเผาลายคราม              (9) มผช. 931/2556 เครื่องปั้นดินเผาพอร์ซเลน
                    (4) มผช. 244/2556 เครื่องปั้นดินเผาสังคโลก               (10) มผช. 1120/2556 ผลิตภัณฑ์เซรามิกประดิษฐ์
                    (5) มผช. 245/2556 เครื่องปั้นดินเผาเซลาดอน              (11) มผช. 75/2556 ตุ๊กตาชาววัง 
                    (6) มผช. 586/2556 ผลิตภัณฑ์ดินเผาเขียนลาย 
 

              ทั้งนี้ ขอยกตัวอย่างคุณลักษณะที่ต้องการตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน เครื่องปั้นดินเผาเออร์เทนแวร์ มาตรฐานเลขที่ 46/2556 (มผช.46/2556) (สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, 2556) ดังรายละเอียด คือ

                    -  ลักษณะทั่วไป

                       ต้องประณีต สวยงาม มีรูปแบบรูปทรงที่เหมาะสมกับการใช้งาน ไม่แตก บิ่น ร้าว และไม่มีรอยเปื้อน เนื่องจากการตกแต่ง กรณีเป็นชุดเดียวกัน ต้องมีรูปแบบ ลวดลาย และสีที่กลมกลืนเข้ากันได้ 

                    -  ความเบี้ยว (เฉพาะภาชนะแบบวงกลม)

                       เส้นตรงที่ลากผ่านจุดศูนย์กลางจะแตกต่างกันได้ไม่เกินร้อยละ 2.0

                    -  ข้อบกพร่อง (เฉพาะประเภทที่ใช้กับอาหาร)

                       ต้องไม่มีข้อบกพร่อง ดังต่อไปนี้

                            • จุดขนาดตั้งแต่ 0.5 มิลลิเมตรขึ้นไป ที่ด้านในของภาชนะ
                            • รูเข็มขนาดตั้งแต่ 0.5 มิลลิเมตรขึ้นไป
                            • เศษวัสดุฝังในขนาดตั้งแต่ 1 มิลลิเมตรขึ้นไป
                            • จุดที่เคลือบไม่ติด หรือเคลือบดึงตัว (Crawling)
                            • รอยนูน (Blister)
                    -  ปริมาณตะกั่วและแคดเมียม (เฉพาะประเภทที่ใช้กับอาหาร)
                       การทดสอบให้ปฏิบัติตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม วิธีทดสอบตะกั่วและแคดเมียมที่ละลายจากภาชนะเซรามิก ภาชนะเซรามิกแก้ว และภาชนะแก้วที่ใช้กับอาหาร มาตรฐานเลขที่ มอก.32 ดังตารางที่ 1
 
                      ตารางที่ 1 ปริมาณตะกั่วและแคดเมียม
 

รายการที่

ผลิตภัณฑ์

หน่วย

เกณฑ์ที่กำหนด

ตะกั่ว

แคดเมียม

1

  ภาชนะแบบก้นตื้น  ไม่เกิน

มิลลิกรัมต่อตารางเดซิเมตร

0.8

0.07

2

  ภาชนะแบบก้นลึกขนาดเล็ก  ไม่เกิน

มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร

2

0.5

3

  ภาชนะแบบก้นลึกขนาดใหญ่  ไม่เกิน

มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร

1

0.25

4

  ถ้วยเครื่องดื่ม  ไม่เกิน

มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร

0.5

0.25

                                    (ที่มา : สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, 2556)

                    -  ความทนต่อการเปลี่ยนอุณหภูมิโดยฉับพลัน (เฉพาะประเภทที่ใช้กับอาหาร)

                       ต้องไม่แตก ร้าว และผิวเคลือบต้องไม่ราน หรือมีรอยแยก

                     - การดูดซึมน้ำ (เฉพาะประเภทที่ใช้กับอาหารและใช้งานที่สัมผัสกับน้ำ)

                       ค่าเฉลี่ยการดูดซึมน้ำต้องไม่เกินร้อยละ 8 โดยน้ำหนัก

                     หมายเหตุ
                             เครื่องปั้นดินเผาเออร์เทนแวร์ แบ่งตามการใช้งานออกเป็น 2 ประเภท คือ
                             (1) ประเภทที่ใช้กับอาหาร เช่น จาน ชาม ถ้วย โถ เหยือกน้ำ
                             (2) ประเภทใช้งานทั่วไป เช่น ตุ๊กตา แจกัน โคมไฟ