ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

ปัญหาที่มักพบในผลิตภัณฑ์เซรามิก (วสันต์, 2549)

              อุตสาหกรรมเซรามิกในประเทศไทยมากกว่าร้อยละ 90 เป็นการผลิตแบบ SMEs และวิสาหกิจชุมชน กระบวนการผลิตมักสืบทอดภูมิปัญญาชาวบ้านมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ทำให้ผู้ประกอบเซรามิกขาดความรู้ในด้านเทคโนโลยีการผลิตและการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้เกิดการสูญเสียของผลิตภัณฑ์เป็นจำนวนมาก สินค้าที่ผลิตได้มีคุณภาพต่ำ ไม่ผ่านการรับรอง มผช. รวมทั้ง ยังขาดโอกาสทางการตลาดด้วย โดยปัญหาที่พบในการผลิตเซรามิก สามารถสรุปดังนี้

              (1) ปัญหาด้านบุคลากร การผลิตเซรามิกของชาวบ้านในชุมชนต่างๆ เป็นแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น การปั้นหม้อ ไห โอ่ง ครก เป็นต้น วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ก็เป็นแบบเรียบง่าย ดัดแปลงจากสิ่งของภายในชุมชน แต่กลุ่มคนเหล่านี้ไม่เคยได้รับการฝึกอบรมความรู้ทางด้านการผลิตและเทคนิคทางศิลปะต่างๆ ทำให้ขาดความรู้ทักษะ และความชำนาญในการผลิต ส่งผลให้การพัฒนาเทคโนโลยีเซรามิกของชุมชนเป็นไปได้ช้า รวมไปถึง การขาดแคลนแรงงานการผลิตจำนวนมากด้วย
              (2) ปัญหาด้านเทคโนโลยีการผลิต การผลิตเซรามิกในชุมชนมีกระบวนการผลิตที่ความแตกต่างจากโรงงานอุตสาหกรรมโดยสิ้นเชิง เนื่องจากชาวบ้านจะใช้ภูมิปัญญาที่สั่งสมมาจากคนรุ่นก่อน เป็นวิธีง่ายๆ ไม่ซับซ้อน หรือเรียกว่า เทคโนโลยีระดับชาวบ้าน ซึ่งอาจไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ทำให้ผลิตภัณฑ์เซรามิกที่ได้มีคุณภาพต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม ที่จะใช้เทคโนโลยีการผลิตระดับสูง ทันสมัย  และได้มาตรฐานตามที่กำหนด
              (3) ปัญหาด้านการตลาด อุตสาหกรรมเซรามิกของประเทศไทยมีตลาดภายในประเทศที่ค่อนข้างจำกัด จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นสำคัญ โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกของไทยประสบปัญหา เนื่องจากมีคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญอย่างประเทศจีนที่สามารถผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาดในราคาที่ถูกกว่า ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของผลิตภัณฑ์เซรามิกชะลอตัวลง (วินัต, 2555)
              นอกจากนี้ บางชุนชนอาจประสบปัญหาด้านอื่นๆ เช่น ขาดแคลนเงินทุน ขาดการส่งเสริมและสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องภายในชุนชน และขาดแคลนวัตถุดิบที่มีคุณภาพ เป็นต้น