ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เซรามิก

              การผลิตเซรามิกมีความเป็นมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ โดยค้นพบการขุดเครื่องประดับ ลูกปัด และเครื่องใช้ที่ทำมาจากดินเผาในหลุมศพของชนเผ่าโบราณ จนมีวิวัฒนาการต่อเนื่องกลายเป็นผลิตภัณฑ์เซรามิกที่มีหลากหลายในปัจจุบัน ดังรายละเอียดต่อไปนี้

              1. เซรามิกคืออะไร

              คำว่า “เซรามิก” (Ceramic) ศัพท์เดิมมาจากภาษากรีก “เครามอส” (Karamos) และมีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต ซึ่งมีความหมายว่า เผา (ปรีดา, 2535) ในอดีต เซรามิก คือ ชิ้นงานหรือของอะไรก็ตามที่ทำด้วยดินทั้งหมด หรือใช้ดินเป็นส่วนประกอบบางส่วน นำมาปั้นหรือขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ปั้นเป็นรูปสัตว์ นำมาขึ้นรูปเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ สิ่งของ รวมถึงพวกเครื่องประดับ จากนั้นทิ้งให้แห้งแล้วเผาที่อุณหภูมิ ความร้อนสูงเพียงพอที่จะทำให้ชิ้นงาน หรือผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีความแข็งแรงคงทนไม่แตกหักง่าย เซรามิกแบบนี้ถูกผลิตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และนิยมเรียกผลิตภัณฑ์เซรามิกประเภทนี้ว่า เซรามิกแบบดั้งเดิม (Conventional ceramics) ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้น ทำให้คำจำกัดความของคำว่าเซรามิกกว้างออกไป นั่นคือ ผลิตภัณฑ์อะไรก็ตามที่ผลิต หรือทำจากวัสดุที่ผ่านกระบวนการให้ความร้อน และรวมไปถึงพวกแก้ว ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้วัตถุดิบที่ใช้อาจไม่ใช่ดินเพียงอย่างเดียว แต่อาจหมายรวมถึง ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตด้วยสารอนินทรีย์ จำพวกแร่ต่างๆ อโลหะ หรือนำวัตถุดิบหลายๆ อย่างมาผสมกันก็ได้ เรียกผลิตภัณฑ์เซรามิกประเภทนี้ว่า เซรามิกสมัยใหม่ (New ceramics) ได้แก่ เซรามิกสำหรับงานโครงสร้าง อิเล็กโทรเซรามิก และเซรามิกสำหรับงานทางด้านการแพทย์ (ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก จังหวัดลำปาง, 2558)

              2. ประเภทของผลิตภัณฑ์เซรามิก

              การจำแนกผลิตภัณฑ์เซรามิกสามารถจำแนกได้หลายชนิด แต่ที่สำคัญมี 2 ชนิด คือ

              (1) การจำแนกผลิตภัณฑ์เซรามิกโดยอาศัยประโยชน์การนำไปใช้งาน แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ (ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก จังหวัดลำปาง, 2557)

                    -  เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร (Tableware) เป็นผลิตภัณฑ์ใช้เงินลงทุนไม่มาก และเทคนิคการผลิตไม่ซับซ้อน ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดย่อม โรงงานผลิตจะกระจายตัวอยู่ทางภาคเหนือและรอบกรุงเทพมหานคร เนื่องจากอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบและการคมนาคมขนส่งสะดวก ซึ่งการผลิตจะเน้นเพื่อการส่งออกเป็นหลัก (ภาพที่ 1)
                    -  ของชำร่วย และเครื่องประดับ (Souvenir and Decorative items) เป็นผลิตภัณฑ์ที่เน้นการใช้แรงงาน และความสามารถในการออกแบบให้มีลักษณะเฉพาะ ผู้ผลิตมีการแข่งขันทางด้านรูปแบบ ลวดลาย สีสัน คุณภาพ และราคาของสินค้า ผลิตภัณฑ์ของชำร่วยที่ทำด้วยเซรามิก เช่น เชิงเทียน ตลับใส่ของ รูปปั้น นาฬิกา โคมไฟ กรอบรูป เครื่องประดับตกแต่งบ้านอื่นๆ เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดย่อม โรงงานผลิตกระจายตัวอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบทางภาคเหนือ เช่น จังหวัดลำปาง เชียงใหม่ รวมทั้ง กรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งการผลิตจะเน้นเพื่อการส่งออกเป็นหลัก (ภาพที่ 1)
 

                         

                                                      (ที่มา : http://www.lampangmarket.com)                      (ที่มา : สมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง, 2558)

ภาพที่ 1 ผลิตภัณฑ์เซรามิกประเภทเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร (ซ้าย) และของชำร่วย และเครื่องประดับ (ขวา)

                   -  กระเบื้องปูพื้น ปิดผนังและโมเสด (Floor Tile, Wall Tile and Mosaic) เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งปูพื้น บุผนัง และตกแต่งที่อยู่อาศัย คอนโดมิเนียม และอาคารสำนักงานต่างๆ เพื่อเพิ่มความสวยงาม โรงงานผลิตส่วนใหญ่จะมีขนาดใหญ่และได้มาตรฐาน ใช้เงินลงทุนและเทคโนโลยีการผลิตระดับสูง โรงงานผลิตกระเบื้องเซรามิกขนาดใหญ่จะกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดสระบุรี (ภาพที่ 2)
                   -  เครื่องสุขภัณฑ์ (Sanitary) เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งในอาคารและบ้านเรือนทุกประเภท โรงงานผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ส่วนใหญ่จะมีขนาดใหญ่และได้มาตรฐาน ใช้เงินลงทุนและเทคโนโลยีการผลิตระดับสูง ตลอดจนมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอย่างต่อเนื่องจนสามารถผลิตเพื่อส่งออกนำเงินตราเข้าประเทศได้ปีละกว่าพันล้านบาท (ภาพที่ 2)
 
                          
 
                                                    (ที่มา : http://www.thaiceramicsociety.com)                         (ที่มา : http://kanchanapisek.or.th)
ภาพที่ 2 ผลิตภัณฑ์เซรามิกประเภทกระเบื้องปูพื้น (ซ้าย) และเครื่องสุขภัณฑ์ (ขวา)
 
                    -  ลูกถ้วยไฟฟ้า (Insulator) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีการผลิตระดับสูง และใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง เป็นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า โดยการผลิตร้อยละ 90 จะตอบสนองความต้องการใช้ภายในประเทศในด้านกิจการสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้าและพลังงานเป็นหลัก เนื่องจากลูกถ้วยไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำหน้าที่เป็นฉนวนช่วยป้องกันการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้าผ่านเสาไฟฟ้าลงสู่พื้นดินและจับยึดสายไฟฟ้า โรงงานผลิตส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร นครปฐม และระยอง (ภาพที่ 3)
 
                          
 
(ที่มา : http://www.asianinsulators.com/index.php/business-group/electrical-insulators-business/)
ภาพที่ 3 ผลิตภัณฑ์เซรามิกประเภทลูกถ้วยไฟฟ้า
 
              (2) การจำแนกผลิตภัณฑ์เซรามิกโดยอาศัยคุณสมบัติทางด้านกายภาพ และเคมี ของผลิตภัณฑ์ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท (สมศักดิ์, 2549) ได้แก่ 
                    -  เออร์เทนแวร์ (Earthenware) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เนื้อดินปั้นส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวธรรมดา นิยมใช้ดินท้องถิ่นขึ้นรูปเป็นภาชนะต่างๆ เช่น หม้อดิน กระถางต้นไม้ โอ่งดิน อิฐก่อสร้าง กระเบื้องมุงหลังคาวัด ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีการพรุนตัวสามารถดูดซึมน้ำได้ เนื้อผลิตภัณฑ์หนาหยาบสีเนื้อดินเป็นสีน้ำตาล สีเทาอ่อนออกเหลือง เวลาเคาะเสียงไม่กังวานเหมือนผลิตภัณฑ์อื่นๆ มีทั้งชนิดเคลือบและไม่เคลือบ อุณหภูมิที่ใช้เผาประมาณ 900-1,000 องศาเซลเซียส และหากมีการผสมเนื้อดินปั้นชนิดสีขาว มีน้ำหนักเบา เผาไฟต่ำขึ้น เรียกว่า ดินผสมโดโลไมต์ ใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เซรามิกประเภทของที่ระลึก ของชำร่วย หรือของใช้ทั่วๆไป (ภาพที่ 4) 
                    -  สโตนแวร์ (Stoneware) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นจากเนื้อดินธรรมชาติ หรือการผสมเนื้อดินขึ้นใหม่โดยมีส่วนผสมของดินทนไฟ (Fire clays) อยู่ด้วย และมีซิลิกาสูง เนื่องจากผลิตภัณฑ์ประเภทนี้เนื้อหยาบ แน่น และมีความแข็งแกร่งมาก เผาถึงจุดสุกตัว น้ำและของเหลวไม่สามารถไหลซึมผ่านได้ ผลิตภัณฑ์สโตนแวร์ที่เตรียมดินจากธรรมชาตินำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์โดยตรง เช่น ผลิตภัณฑ์โอ่งราชบุรี ศิลาดอนเชียงใหม่ และผลิตภัณฑ์สังคโลก เนื้อผลิตภัณฑ์ประเภทนี้จะไม่ขาว เนื้อดินมีหลายสีขึ้นอยู่กับแหล่งดินธรรมชาติและวัตถุดิบที่ผสม จะมีสีน้ำตาล หรือสีเทาอมเขียว ส่วนเนื้อดินปั้นที่เตรียมจากห้องปฏิบัติการสามารถควบคุมสมบัติของ สีเนื้อดิน การดูดซึมน้ำ การหดตัวได้ จึงนิยมนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ภาชนะใส่อาหาร เช่น จาน ชาม ถ้วยกาแฟ เหยือกน้ำ อุณหภูมิที่ใช้เผาประมาณ 1,200-1,350 องศาเซลเซียส (ภาพที่ 4)
                    -  พอร์ซเลนแวร์ (Porcelainware) เป็นผลิตภัณฑ์ที่เตรียมเนื้อดินปั้นขึ้นเป็นพิเศษ โดยส่วนผสมของเนื้อดินปั้นประกอบไปด้วย หินเขี้ยวหนุมาน หินฟันม้า ดินขาว ดินดำ และวัตถุดิบอื่นๆ ตามสัดส่วนที่เหมาะสม อุณหภูมิที่เผาประมาณ 1,250-1,450 องศาเซลเซียส เนื้อดินจะสุกตัวหลอมจนกลายเป็นแก้ว มีความแข็งแกร่ง น้ำและของเหลวไม่สามารถซึมผ่านได้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เนื้อเนียนสีขาว (Whiteware) ผลิตภัณฑ์  พอร์ซเลนแวร์แบ่งตามอุณหภูมิในการเผา คือ พอร์ซเลนชนิดไฟต่ำ (Soft porcelain) เผาในอุณหภูมิประมาณ 1,250-1,285 องศาเซลเซียส นิยมนำไปผลิตเป็นภาชนะใส่อาหาร และงานด้านศิลปะ ส่วนพอร์ซเลนชนิดไฟสูง (Hard porcelain) เผาในอุณหภูมิตั้งแต่ 1,285-1,450 องศาเซลเซียส ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษ นิยมนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องฉนวนไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า (ภาพที่ 4)
              ส่วนผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า โบน ไชน่า (Bone china) เป็นผลิตภัณฑ์ที่จัดอยู่ในพอร์ซเลน เนื่องจากเนื้อดินปั้นทำมาจากวัตถุดิบประเภทเดียวกัน แต่มีส่วนผสมของขี้เถ้ากระดูกสัตว์ผสมอยู่ด้วย และที่สำคัญเนื้อผลิตภัณฑ์จะโปร่งแสง 
 
                                                     A                                                                    B                                                               C
 
                               
 
                  (ที่มา : http://taradceramiclampang.blogspot.com)       (ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ, 2558)        (ที่มา : http://taradceramiclampang.blogspot.com)
 
ภาพที่ 4 ผลิตภัณฑ์เซรามิกประเภทเออร์เทนแวร์ (A) สโตนแวร์ (B) และพอร์ซเลนแวร์ (C)
 

              3. ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์เซรามิก (ปรีดา, 2547)

              ผลิตภัณฑ์เซรามิกมีมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติเฉพาะตัวทั้งทางด้านเคมี ไฟฟ้า กลศาสตร์ ความร้อน และโครงสร้างที่เป็นประโยชน์ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์เซรามิกที่สำคัญ ได้แก่

                    (1) ผลิตภัณฑ์ประเภทแก้ว ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์พวกภาชนะเครื่องแก้วต่างๆ กระจก หลอดไฟ โคมไฟ เป็นต้น
                    (2) ผลิตภัณฑ์ปูนขาว ยิปซัม และซีเมนต์
                    (3) ผลิตภัณฑ์พวกไวต์แวร์ ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ฉนวนไฟฟ้าต่างๆ เช่น ลูกถ้วยไฟฟ้า หัวเทียนต่างๆ ที่ใช้ในรถยนต์ เครื่องบิน นอกจากนี้มีเครื่องสุขภัณฑ์ กระเบื้อง ผลิตภัณฑ์เครื่องถ้วยชามชนิดเออร์เทนแวร์ พอร์ซเลนแวร์ สโตนแวร์ และไชน่าแวร์ 
                    (4) ผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ คือ ยูเรเนียมออกไซด์ (UO2)
                    (5) ผลิตภัณฑ์ที่มีสมบัติเป็นแม่เหล็ก มีประโยชน์ใช้ในสมองกลคอมพิวเตอร์ และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เฟอร์ไรต์ (Ferrite)
                    (6) ผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลึกเดี่ยว ปัจจุบันมีการผลิตมากขึ้นเพื่อใช้แทนผลึกที่เกิดตามธรรมชาติ หรือเพื่อนำมาใช้เนื่องจากมีสมบัติเฉพาะที่ต้องการ ที่มีการผลิตและใช้ประโยชน์มาก คือ ผลึกของแซฟไฟร์ (Sapphire) 
                    (7) ผลิตภัณฑ์ไนไทรด์ (Nitride) มีสมบัติหลายประการ ใช้ในงานที่ต้องการสมบัติพิเศษ เช่น อะลูมินัมไนไทรด์ใช้สำหรับหลอมอะลูมินัม วัตถุทนไฟ ซิลิคอนไนไทรด์ โบรอนไนไทรด์ ที่ผลิตโดยใช้ ความดันสูงมากๆ ใช้เป็นทั้งวัสดุทนไฟ และวัสดุขัดถู
                    (8) โลหะเคลือบที่เป็นอะลูมินัมเคลือบ ใช้มากในอุตสาหกรรมสถาปัตยกรรม
                    (9) ผลิตภัณฑ์ผสมระหว่างโลหะกับเซรามิก ใช้เป็นส่วนประกอบเครื่องมือต่างๆ และเป็นวัตถุทนไฟ ผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ เช่น คาร์ไบด์โลหะ และโลหะผสมของโครเมียมอะลูมินัมออกไซด์ 
                   (10) ผลิตภัณฑ์คาร์ไบด์ ซิลิคอนคาร์ไบด์ และโบรอนคาร์ไบด์ ใช้เป็นวัสดุขัดถู
                   (11) เฟอร์โรอิเล็กทริก เซรามิก เช่น แบเรียม ติตาเนต มีค่าคงที่ไดอิเล็กทริกสูงมาก มีประโยชน์ในงานอิเล็กทรอนิกส์ 
                   (12) เนื้อแก้วที่ไม่ใช่ซิลิเกต เช่น MgO และ Al2O3 ที่โปร่งแสง ใช้ประโยชน์ในการส่งผ่านแสง อินฟราเรด และมีสมบัติพิเศษอื่นๆ ต่อแสง
                   (13) ไพโรเซอแรม หรือกลาสเซรามิก (Pyroceram or glass ceramics) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในรูปของแก้วก่อน แล้วทำให้เกิดนิวเคลียสและตกผลึกออกมาอีกทอดหนึ่ง
                   (14) ผลิตภัณฑ์โลหะเคลือบ ถ้วย ชาม จาน กะละมัง ปิ่นโต และเครื่องประดับต่างๆ
                   (15) ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง อิฐต่างๆ ท่อระบายดินเผา และกระเบื้องต่างๆ
                   (16) ผลิตภัณฑ์วัสดุทนไฟ ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ดินทนไฟ ผลิตภัณฑ์วัสดุทนไฟอื่น ๆ
                   (17) วัสดุขัดถูชนิดต่างๆ เครื่องตัดต่างๆ ซึ่งผลิตด้วย Al2O3  หรือ SiC
                   (18) ผลิตภัณฑ์จากเหมืองแร่ เช่น แร่ดินขาว แร่ฟันม้า และควอตซ์
                   (19) ผลิตภัณฑ์ออกไซด์บริสุทธิ์ ผลิตในสภาพที่มีความสม่ำเสมอและมีสมบัติที่ดี เพื่อนำไปใช้ในงานที่ต้องการสมบัติทางด้านไฟฟ้าและความทนไฟเป็นพิเศษ ออกไซด์ที่ใช้กันมาก ได้แก่ อะลูมินา เซอร์โคเนีย ทอเรีย เบริลเลีบ แมกนีเซีย สไปเนล และฟอร์สเตอร์ไรต์
                   (20) ผลิตภัณฑ์เซรามิกที่ใช้ทางการแพทย์และทันตแพทย์ (Bioceramics) เช่น กระดูกเทียม ฟันเทียม