ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

ส่วนประกอบหลักในเครื่องสำอาง (Biopluschem, 2553)

              เครื่องสำอางแต่ละชนิดจะประกอบไปด้วยส่วนประกอบที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสม  แต่โดยรวมแล้วเครื่องสำอางทั่วๆ ไป  มีส่วนประกอบที่สำคัญ  ดังต่อไปนี้

              1. น้ำ  (Water)

              น้ำเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในเครื่องสำอาง  น้ำที่ใช้มักจะเป็นน้ำกลั่น  เพื่อความบริสุทธิ์  ไม่มีสารเจือปนและปราศจากเชื้อโรค  เครื่องสำอางแต่ละชนิดจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบที่แตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ของเครื่องสำอางชนิดนั้น  เช่น  ครีมจะมีส่วนผสมของน้ำกับน้ำมัน  โลชั่นคือ  ครีมที่มีน้ำมากกว่า  โทนเนอร์จะมีน้ำเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ

              2. น้ำมัน  (Oil)

              เครื่องสำอางโดยทั่วไปที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ  ได้แก่  ครีม  น้ำมันหรือไขมันในครีม จะทำหน้าที่ป้องกันการระเหยออกไปจากผิวหนัง

              3. สารที่ทำให้ข้น  (Consistance) 

              ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำเป็นต้องมีสารที่ทำให้ข้นนี้  เพื่อเป็นตัวเชื่อมระหว่างน้ำกับน้ำมันให้เข้ากันได้  ตัวอย่างสารที่ทำให้ข้น  ได้แก่  Lactin, Isopropyl  lanolate, Isopropyl  myristate, Cocoa  butter ฯลฯ 

              4. สารที่ทำให้ลื่น  (Emollient)

              เป็นสารที่ทำให้ส่วนผสมอื่นๆ สามารถเกลี่ยหรือซึมได้ทั่วผิวหนัง  ตัวอย่างสารที่ทำให้ลื่น  ได้แก่  Propylene  glycol, Butylene  glycol, Polysorbates, Polypropylene  glycol  ฯลฯ

              5. สารดูดซับน้ำ  (Huemactant)

              เป็นสารที่ทำให้ผิวหนังรักษาน้ำไว้ได้  ทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น  ไม่แห้งกร้าน  สารเหล่านี้มีหลายชนิด  ได้แก่  Hyaluronic  acid, NaPCA, Collagen, Elastin, Protein, Amino acid ฯลฯ  สารเหล่านี้เป็น Moisturizer  ที่ดีสำหรับผิว  แต่ไม่สามารถซึมเข้าไปในผิวหนังได้

              6. สารกันเสีย  (Preservative) 

              ความสะอาดเป็นสิ่งที่สำคัญมากในทุกขั้นตอนการผลิตเครื่องสำอาง  ภาชนะที่บรรจุจะต้องสะอาด  ปราศจากเชื้อจุลินทรีย์  หรือแม้กระทั่งขั้นตอนการใช้ของผู้บริโภค  หากมือหรืออุปกรณ์ที่นำมาใช้ร่วมกับเครื่องสำอางไม่สะอาด  ก็จะทำให้ผลิตภัณฑ์เสียหรือบูดได้ง่าย  ดังนั้นจึงมีการใส่สารกันเสียในเครื่องสำอาง  เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของจุลินทรีย์และยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ให้นานขึ้น  ยกเว้นเครื่องสำอางที่ผลิตไว้ใช้เองไม่จำเป็นต้องใส่สารกันเสีย  เพราะมีปริมาณไม่มาก  แต่ควรนำไปแช่ตู้เย็น  ก็จะสามารถเก็บไว้ใช้ได้ 2-3 สัปดาห์  ตัวอย่างสารกันเสียที่นิยมใช้ในเครื่องสำอาง  ได้แก่  สารกันเสียสังเคราะห์  เช่น  Butylated  hydroxyanisole  (BHA), Butylated  hydroxytoluene  (BHT), Parabens, Sodium bisulfate  ส่วนสารกันเสียจากธรรมชาติ  เช่น  Sassafras oil, Ethyl  vanillin, Helipzimt  K, Aqua  conservan, Kalliumsorbat  เป็นต้น

              7. น้ำหอม  (Perfume)

              น้ำหอมเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งในการผลิตเครื่องสำอางค่อนข้างมาก  ผลิตภัณฑ์เกือบทุกชนิดมีการใส่น้ำหอม  เพื่อให้มีกลิ่นหอมน่าใช้และเป็นเอกลักษณ์  การใช้น้ำหอมเกิดขึ้นในอียิปต์มากกว่า 4000 ปีแล้ว  ซึ่งล้วนแต่เป็นน้ำหอมจากธรรมชาติ  แต่ในปัจจุบันได้มีการสังเคราะห์สารหอมกลิ่นเลียนแบบธรรมชาติและกลิ่นแปลกๆ ใหม่ๆ ออกมามากมาย

              8. สี  (Color)

              สีเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งในเครื่องสำอาง   สีจะทำหน้าที่ที่แตกต่างกันไป  เช่น  ทำหน้าที่ในการทำให้เกิดความแตกต่างของผลิตภัณฑ์เท่านั้น  เพื่อบ่งบอกความแตกต่างของการใช้  หรือเพื่อบ่งบอกความเหมาะสมของเครื่องสำอางแต่ละชนิดกับแต่ละบุคคล

              สีที่นำมาใช้ในเครื่องสำอางมี 2 แบบ  คือ  สีที่ได้จากธรรมชาติและสีสังเคราะห์  สำหรับสีที่ได้จากธรรมชาติจะเป็นสีที่มีความปลอดภัยและน่าใช้กว่าสีสังเคราะห์  แต่จะมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก  จึงนิยมใช้สีสังเคราะห์แทน  แต่ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้ได้ง่าย  เพื่อความปลอดภัยจึงควรหลีกเลี่ยงและเลือกใช้เครื่องสำอางที่ไม่มีสีจะดีที่สุด