ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

ตัวอย่างพืชสมุนไพรที่มีคุณสมบัติในการนำไปใช้เป็นสารกันเสียในเครื่องสำอาง  (Quirin, KW., 2007)

              พืชสมุนไพรที่มีการทดลองแล้วว่า  สามารถนำมาเป็นสารกันเสียในเครื่องสำอางได้  มีดังต่อไปนี้

              1. St John's wort 

              เป็นพืชสมุนไพรชนิดใหม่ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Hypericum  perforatum  ตั้งแต่อดีต  St John's wort  มีคุณสมบัติในการรักษาบาดแผล  ไม่ว่าจะเป็นแผลไหม้  แผลเปื่อยและเกิดจากการโดนสัตว์กัดต่อย  เมื่อไม่นานมานี้พบว่า  มีฤทธิ์ในการรักษาความผิดปกติทางอารมณ์  เช่น  อาการซึมเศร้า

              องค์ประกอบทางเคมี  : ที่สำคัญมี 2  กลุ่ม  (อนุชิต พลับรู้การ, 2553)  คือ

                   1) กลุ่ม  naphthodionthrones ได้แก่  hypericin  และ  acylphloroglucrinols
                   2) กลุ่ม  phloroglucinols  ได้แก่  hyperforin  และ  adhyperforin
 
              ในปี  1951  สิทธิบัตรของสหรัฐได้ยินยอมให้นำ  Hypericum  perforatum  มาใช้เป็นสารกันเสียในอาหาร  เนื่องจากพบว่า  มีคุณสมบัติในการต้านเชื้อ  staphylococcus  aureus, Bacillus  niger  และ Clostridium  spogenes  หลังจากนั้นได้มีการระบุโครงสร้างทางเคมีในปี  1975  และได้นำสารสกัดจาก  hypericum  ไปใช้ใการรักษาบาดแผล  อาการแพ้  อาการคันของผิวหนัง  เป็นต้น  ลักษณะดอกของ  St John's wort  เป็นดังภาพที่ 2 
 
 
ภาพที่  2  ลักษณะดอกของ St John's wort
 
              2. Curcuma  xanthorrhiza 
              Curcuma  xanthorrhiza  หรือว่านชักมดลูก  แสดงลักษณะดังภาพที่ 3 และ โครงสร้างทางเคมีดังภาพที่ 4  มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย  เป็นพืชพื้นเมืองของจาวา  บาหลี  และ  Moluccas       
              องค์ประกอบทางเคมี  : มีดังต่อไปนี้  (สนั่น  ศุภธีรสกุลและฉัตรชัย  วัฒนาภิรมย์สกุล, 2553)
                    1. กลุ่ม curcuminoids  เช่น  curcumin, desmethoxycurcumin, bisdesmethoxycurcumin  
                    2. กลุ่ม diarylheptanoids  เช่น  tran-1,7-diphenylhepten-5-ol, trans-1,7-diphenyl-1,3-heptadien-4-one  
                    3. กลุ่ม sesquiterpenes  เช่น  xanthorrhizol, germacrone, curzerenone, alpha-curcumene  
              ว่านชักมดลูกมักนำไปใช้ในกรณีที่มีกลิ่นปาก  ในการศึกษาเกี่ยวกับพฤกศาสตร์พื้นบ้านพบว่า  ว่านชักมดลูกมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อก่อโรคในปากได้  เช่น  Streptococcus  mutants  และสามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย  เช่น  Actinomyces  viscosus  และ  Porphyromonas  gingivalis  ที่เป็นสาเหตุให้เยื่อหุ้มฟันอักเสบ  และพบว่ายังต้านเชื้อ  Candida  albicans   และ Lactobacillus  species  ได้อีกด้วย
              ว่านชักมดลูกเหมาะที่จะนำไปใช้ในยาสีฟัน  หมากฝรั่ง  น้ำยาบ้วนปาก  น้ำยาดับกลิ่นปาก  นอกจากนี้ยังนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณอีกด้วย  และยังนิยมนำว่านชักมดลูกมาใช้ในการรักษาโรคริดสีดวงทวาร  อาการคันผิวหนัง  แผลติดเชื้อและโรคผิวหนัง
 
                 
                                                        ภาพที่ 3  ลักษณะของว่านชักมดลูกที่หั่นเป็นชิ้นๆ                  ภาพที่ 4  โครงสร้างทางเคมีของ xanthorrhizol 
 
              3. Usnea  Lichen 
              ไลเคนมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ตอนเหนือของทวีปยุโรป  เอเชียและอเมริกา  เป็นลักษณะของสิ่งมีชีวิตสองชนิดที่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน  ได้แก่  สาหร่ายสีเขียวและรา  โดยจะอาศัยอยู่ตามเปลือกไม้  หิน  ดิน  เป็นต้น  Usnea  barbata  มีลักษณะเป็นเส้นฝอยๆ  ยาวๆ  มีความยาวประมาณ 1 เมตร  ลักษณะดังภาพที่ 5
 
 
ภาพที่  5  ลักษณะของ Usnea
 
              ในอดีตได้มีการบันทึกไว้ว่า  Usnea  ได้ถูกนำไปใช้ทางการแพทย์มาเป็นเวลากว่า  1000 ปีมาแล้ว  โดย  Usnea  barbata  สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์และนำไปรักษาแผลที่ติดเชื้อได้อีกด้วย  ต่อมาได้พัฒนาให้สามารถนำไปลดการอักเสบภายในปากและใช้สำหรับฆ่าเชื้อในท่อทางเดินหายใจ  ท่อปัสสาวะในกรณีที่ไตติดเชื้อและรักษาโรคหนองใน  นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบ  บรรเทาปวด  ลดไข้ได้อีกด้วย
              Usnea  barbata  เป็นพืชสมุนไพรที่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้  โดยจะไม่มีผลข้างเคียงกับยาตัวอื่นและมีความปลอดภัยกับเด็กและสัตว์  สามารถป้องกันการติดเชื้อจาก Strep และ Staph  และมีคุณสมบัติในการต้านการเจริญของจุลินทรีย์  โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจและปัสสาวะ  ใช้ในการรักษาการติดเชื้อในทางเดินหายใจและไซนัส  โรคหลอดลมอักเสบ  โรปอดบวม  คอติดเชื้อ  เป็นไข้  การติดเชื้อของท่อปัสสาวะ  ไตและกระเพาะปัสสาวะ  (Godino, J., 2010)  
              สารสกัดจาก Usnea มีคุณสมบัติในการต้าน Propionibacterium acnes, Corynebacterium  pseudodiphtericum  และ yeast  Pityrosporon  ovale   ผลิตภัณฑ์นี้ไม่เพียงแต่มีการนำไปใช้รักษาโรคผิวหนัง  เท่านั้น  แต่ยังนำไปใช้ในการรักษาผิวหนังที่ไม่สะอาดและแผลกดทับได้อีกด้วย  โครงสร้างทางเคมีของ  Usnic acid  เป็นดังภาพที่ 6  ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ  Usnea  barbata  ได้แก่  ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก  เช่น  ยาสีฟัน  น้ำยาบ้วนปาก
 
               
 
        ภาพที่  6  สูตรโครงสร้างของ Usnic acid   ในรูปของ  keto  และ enol
 
              4. Hop  extract
              Hop  extract  หรือ  Humulus  lupulus  เป็นสารสกัดที่มีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก
              องค์ประกอบทางเคมี : ได้แก่  Humulones  (a-acids)  และ lupulones  (ß-acids)
              จากคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรีย  จึงมีการนำสารสกัดจาก Hop ไปใช้ในส่วนผสมของสบู่  เจลอาบน้ำ  ผลิตภัณฑ์อื่นๆ  เช่น  ผลิตภัณฑ์ดูแลเท้า  และเมื่อเร็วๆ นี้  พบว่า  มีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อแบคทีเรียในปาก  ได้แก่  streptococci  จึงมีการนำไปใช้ในน้ำยาบ้วนปาก  ลักษณะโคนของ Hop เป็นดังภาพที่ 7
 
 
ภาพที่ 7 ลักษณะโคนของ Hop
 
              5. Neem  Seed  oil  (Mountain Rose Herbs, 2010)
              สะเดา  มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า  Azadirachta  indica  เป็นพืชสมุนไพรที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย  มีการนำมาใช้ในวงการแพทย์และเครื่องสำอางมาเป็นเวลากว่า 100 ปีมาแล้ว  เป็นพืชที่สามารถหาได้ในประเทศไทย  เนื่องจากสะเดาเป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้าน  รวมทั้งเป็นผักสวนครัวที่ผู้บริโภคนิยมนำมารับประทานกับน้ำพริก 
              องค์ประกอบทางเคมี  : ได้แก่  กรดไขมัน  terpenoids  และ limonoids  และยังมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกมากกว่า 50 ชนิด  มีกลิ่นฉุน  มีสีน้ำตาลเข้ม 
              สะเดามีการนำไปใช้ในการรักษาอาการป่วยและป้องกันเชื้อโรคต่างๆ  มีคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรีย  ไวรัส  ฟังไจและอื่นๆ  ในอดีตพบว่า  มีการนำไปใช้ในการรักษาโรคต่างๆ เช่น  ไข้มาลาเรีย  เบาหวาน  ปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ  สิว  โรคผิวหนัง  ฯลฯ  จะเห็นได้ว่า  สะเดาสามารถรักษาโรคได้มากมาย  จากคุณสมบัติเหล่านี้  จึงมีการนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น  สบู่ ยาสีฟัน  ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมและผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ
              จากคุณสมบัติข้างต้นของพืชสมุนไพรแต่ละชนิดนั้น  ทำให้ทราบสรรพคุณทางยาและการนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตามความเหมาะสม  จะเห็นได้ว่า  พืชสมุนไพรแต่ละชนิดล้วนแต่มีคุณสมบัติในการรักษาโรคและต่อต้านจุลินทรีย์ได้หลายชนิด  ดังนั้น  การนำสารสกัดจากพืชสมุนไพรมาทำเป็นสารกันเสียในเครื่องสำอาง  จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่เหมาะสมและน่าสนับสนุนอย่างยิ่ง 
              นอกจากการใช้พืชสมุนไพรมาทำเป็นสารกันเสียในเครื่องสำอางแล้ว  ยังมีอีกตัวหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นสารกันเสียที่ดีและมีความปลอดภัยกับผู้บริโภคอีกด้วย  ได้แก่  Herbal-ActiveTM
 
              6. Herbal-ActiveTM   (Vic  Chorikoff, 2010)
              Herbal-ActiveTM มีคุณสมบัติและประโยชน์ที่น่าสนใจ  ดังต่อไปนี้
              คุณสมบัติของ  Herbal-ActiveTM  มีดังนี้
                       -  องค์ประกอบ  :  เป็นน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรและเครื่องเทศที่สามารถกินได้  ซึ่งสามารถละลายได้ทั้งในแป้งและในน้ำมัน
                       -  สถานภาพ  :  GRAS (Generally recognized as safe)  ได้รับการรับรองจากผู้เชี่ยวชาญว่า  มีความปลอดภัยในการนำไปใช้ในอาหารได้
                       -  ลักษณะภายนอก  :  ลักษณะสีเขียวซีดในครีมสีขาว
                       -  กลิ่น  :  มีกลิ่นของสมุนไพรบางๆ
              สำหรับประโยชน์ของ  Herbal-ActiveTM  มีดังนี้
                       • มีประสิทธิภาพยอดเยี่ยมใน pH ที่เป็นธรรมชาติ
                       • มีประสิทธิภาพสูงในการต้านเชื้อยีสต์  แบคทีเรีย  ฟังไจและรา
                       • มีระดับที่ทำให้เกิดอาการแพ้ต่ำมาก  (limonene, citral, anethole)
                       • สามารถเก็บได้ในบรรจุภัณฑ์ทุกชนิด  เช่น  แก้ว  เหล็ก  พลาสติก  เป็นต้น
                       • ไม่เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพทางลบและอื่นๆ อีกมากมาย