ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

 

 

 

บทนำ

              ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับร่างกายมนุษย์เพื่อความสะอาดและความสวยงาม  ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้รับความสนใจมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายและมีความจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน  เครื่องสำอางโดยทั่วไปประกอบด้วยส่วนผสมมากมาย  เครื่องสำอางที่มีปริมาณน้ำสูง  จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการปนเปื้อนของจุลินทรีย์หรือเป็นสาเหตุให้สุขภาพของผู้บริโภคมีความเสี่ยงเกิดขึ้น จุลินทรีย์ก่อโรคที่มักพบในเครื่องสำอาง ได้แก่  Staphylococcus  aureus  และ  Pseudomonas  aeruginosa  (Lundov, MD., 2009)

              เมื่อมีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ในเครื่องสำอางแล้ว  ก็จะทำให้ส่วนผสมต่างๆ ในเครื่องสำอางเกิดการเปลี่ยนแปลงและในที่สุดก็ทำให้ผลิตภัณฑ์เกิดการเน่าเสีย  แนวทางในการหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางนั้นคือ  การเติมสารกันเสียเข้าไปในผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ ในประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา  ได้กำหนดว่า เครื่องสำอางจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค  โดยจะต้องผ่านการประเมินจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง  มีสารกันเสียที่มีความแตกต่างกันมากมายที่มีความเหมาะสมในการนำมาใช้ในเครื่องสำอาง  แต่ตลาดเครื่องสำอางได้ควบคุมการใช้สารกันเสียในเครื่องสำอางไว้เพียงไม่กี่ชนิด  เช่น  Parabens, Formaldehyde, Formaldehyde  releasers  และ Methylchloroisothiazolinone/Methylisothiazolinone  การใช้สารกันเสียจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของทางคณะกรรมการ  หากใช้ในเกินกว่าปริมาณที่กำหนดไว้  ย่อมส่งผลเสียต่อผู้บริโภค  ทำให้เกิดการระคายเคือง  รวมถึงอาการแพ้ต่างๆ  และเป็นสาเหตุให้เป็นโรคผิวหนังได้

              สารกันเสียที่นิยมนำไปใช้ในเครื่องสำอางนั้น  ส่วนใหญ่เป็นสารกันเสียสังเคราะห์  จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการแพ้ได้ง่าย  โดยพบว่าประมาณ 6% ของผู้บริโภคเกิดอาการแพ้เนื่องมาจากสารกันเสียในเครื่องสำอาง  ดังนั้นแนวทางการแก้ไขอาการแพ้ดังกล่าว  จึงควรใช้สารกันเสียที่มาจากธรรมชาติ  เพราะน่าจะมีความปลอดภัยกับผู้บริโภคและเหมาะกับผู้ที่แพ้ง่ายมากกว่า  การนำสารสกัดจากพืชสมุนไพรมาทำเป็นสารกันเสียในเครื่องสำอางนั้น  เป็นวิธีการที่น่าสนใจ  เนื่องจากพืชสมุนไพรมีคุณสมบัติเป็นยาอยู่แล้ว  หากนำมาเป็นสารกันเสียก็ย่อมส่งผลดีด้วยเช่นกัน


ความหมายของเครื่องสำอาง

              เครื่องสำอางตามความหมายของพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง  พ.ศ. 2535  หมายถึง 

              1. วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา  ถู  นวด  โรย  พ่น  หยอด  ใส่  อบ  หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใด  ต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย  เพื่อความสะอาด  ความสวยงาม  หรือส่งเสริมให้เกิดความสวยงาม  และรวมตลอดทั้งเครื่องประทินผิวต่างๆด้วย  แต่ไม่รวมถึงเครื่องประดับและเครื่องแต่งตัว  ซึ่งเป็นอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย

              2. วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางโดยเฉพาะ  หรือ

              3. วัตถุอื่นที่กำหนดโดยกฎกระทรวงให้เป็นเครื่องสำอาง


ส่วนประกอบหลักในเครื่องสำอาง (Biopluschem, 2553)

              เครื่องสำอางแต่ละชนิดจะประกอบไปด้วยส่วนประกอบที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสม  แต่โดยรวมแล้วเครื่องสำอางทั่วๆ ไป  มีส่วนประกอบที่สำคัญ  ดังต่อไปนี้

              1. น้ำ  (Water)

              น้ำเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในเครื่องสำอาง  น้ำที่ใช้มักจะเป็นน้ำกลั่น  เพื่อความบริสุทธิ์  ไม่มีสารเจือปนและปราศจากเชื้อโรค  เครื่องสำอางแต่ละชนิดจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบที่แตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ของเครื่องสำอางชนิดนั้น  เช่น  ครีมจะมีส่วนผสมของน้ำกับน้ำมัน  โลชั่นคือ  ครีมที่มีน้ำมากกว่า  โทนเนอร์จะมีน้ำเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ

              2. น้ำมัน  (Oil)

              เครื่องสำอางโดยทั่วไปที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ  ได้แก่  ครีม  น้ำมันหรือไขมันในครีม จะทำหน้าที่ป้องกันการระเหยออกไปจากผิวหนัง

              3. สารที่ทำให้ข้น  (Consistance) 

              ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำเป็นต้องมีสารที่ทำให้ข้นนี้  เพื่อเป็นตัวเชื่อมระหว่างน้ำกับน้ำมันให้เข้ากันได้  ตัวอย่างสารที่ทำให้ข้น  ได้แก่  Lactin, Isopropyl  lanolate, Isopropyl  myristate, Cocoa  butter ฯลฯ 

              4. สารที่ทำให้ลื่น  (Emollient)

              เป็นสารที่ทำให้ส่วนผสมอื่นๆ สามารถเกลี่ยหรือซึมได้ทั่วผิวหนัง  ตัวอย่างสารที่ทำให้ลื่น  ได้แก่  Propylene  glycol, Butylene  glycol, Polysorbates, Polypropylene  glycol  ฯลฯ

              5. สารดูดซับน้ำ  (Huemactant)

              เป็นสารที่ทำให้ผิวหนังรักษาน้ำไว้ได้  ทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น  ไม่แห้งกร้าน  สารเหล่านี้มีหลายชนิด  ได้แก่  Hyaluronic  acid, NaPCA, Collagen, Elastin, Protein, Amino acid ฯลฯ  สารเหล่านี้เป็น Moisturizer  ที่ดีสำหรับผิว  แต่ไม่สามารถซึมเข้าไปในผิวหนังได้

              6. สารกันเสีย  (Preservative) 

              ความสะอาดเป็นสิ่งที่สำคัญมากในทุกขั้นตอนการผลิตเครื่องสำอาง  ภาชนะที่บรรจุจะต้องสะอาด  ปราศจากเชื้อจุลินทรีย์  หรือแม้กระทั่งขั้นตอนการใช้ของผู้บริโภค  หากมือหรืออุปกรณ์ที่นำมาใช้ร่วมกับเครื่องสำอางไม่สะอาด  ก็จะทำให้ผลิตภัณฑ์เสียหรือบูดได้ง่าย  ดังนั้นจึงมีการใส่สารกันเสียในเครื่องสำอาง  เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของจุลินทรีย์และยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ให้นานขึ้น  ยกเว้นเครื่องสำอางที่ผลิตไว้ใช้เองไม่จำเป็นต้องใส่สารกันเสีย  เพราะมีปริมาณไม่มาก  แต่ควรนำไปแช่ตู้เย็น  ก็จะสามารถเก็บไว้ใช้ได้ 2-3 สัปดาห์  ตัวอย่างสารกันเสียที่นิยมใช้ในเครื่องสำอาง  ได้แก่  สารกันเสียสังเคราะห์  เช่น  Butylated  hydroxyanisole  (BHA), Butylated  hydroxytoluene  (BHT), Parabens, Sodium bisulfate  ส่วนสารกันเสียจากธรรมชาติ  เช่น  Sassafras oil, Ethyl  vanillin, Helipzimt  K, Aqua  conservan, Kalliumsorbat  เป็นต้น

              7. น้ำหอม  (Perfume)

              น้ำหอมเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งในการผลิตเครื่องสำอางค่อนข้างมาก  ผลิตภัณฑ์เกือบทุกชนิดมีการใส่น้ำหอม  เพื่อให้มีกลิ่นหอมน่าใช้และเป็นเอกลักษณ์  การใช้น้ำหอมเกิดขึ้นในอียิปต์มากกว่า 4000 ปีแล้ว  ซึ่งล้วนแต่เป็นน้ำหอมจากธรรมชาติ  แต่ในปัจจุบันได้มีการสังเคราะห์สารหอมกลิ่นเลียนแบบธรรมชาติและกลิ่นแปลกๆ ใหม่ๆ ออกมามากมาย

              8. สี  (Color)

              สีเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งในเครื่องสำอาง   สีจะทำหน้าที่ที่แตกต่างกันไป  เช่น  ทำหน้าที่ในการทำให้เกิดความแตกต่างของผลิตภัณฑ์เท่านั้น  เพื่อบ่งบอกความแตกต่างของการใช้  หรือเพื่อบ่งบอกความเหมาะสมของเครื่องสำอางแต่ละชนิดกับแต่ละบุคคล

              สีที่นำมาใช้ในเครื่องสำอางมี 2 แบบ  คือ  สีที่ได้จากธรรมชาติและสีสังเคราะห์  สำหรับสีที่ได้จากธรรมชาติจะเป็นสีที่มีความปลอดภัยและน่าใช้กว่าสีสังเคราะห์  แต่จะมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก  จึงนิยมใช้สีสังเคราะห์แทน  แต่ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้ได้ง่าย  เพื่อความปลอดภัยจึงควรหลีกเลี่ยงและเลือกใช้เครื่องสำอางที่ไม่มีสีจะดีที่สุด


ความหมายของสารกันเสีย

              สารกันเสีย  หมายถึง  สารที่ทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์  ได้แก่  แบคทีเรีย  รา  ยีสต์  ฯลฯ  ที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิตจนกระทั่งขั้นตอนการบริโภค 

              จุลินทรีย์มักพบได้ทั่วไป  ไม่ว่าจะเป็นบริเวณผิวหนัง  อากาศรอบๆ ตัวและในน้ำดื่ม  จึงเป็นเรื่องง่ายที่จุลินทรีย์เหล่านี้จะปนเปื้อนเข้าไปในเครื่องสำอาง  เป็นสาเหตุให้เกิดการเน่าเสีย  หรือทำให้สารเคมีในเครื่องสำอางเปลี่ยนแปลง  โดยเฉพาะเครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของน้ำในปริมาณมากและเมื่ออยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมและมีอาหารอย่างเพียงพอกับการเจริญของจุลินทรีย์  (ดังภาพที่ 1)  ก็จะทำให้จุลินทรีย์เจริญได้อย่างรวดเร็ว  การใส่สารกันเสียลงในผลิตภัณฑ์จึงเป็นการทำลายและยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ไม่ให้เจริญเติบโตและยังช่วยยืดอายุของผลิตภัณฑ์ให้ยาวนานขึ้น

              เหตุผลสำคัญสำหรับการใช้สารกันเสียคือ  การป้องกันสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภคโดยลดความเสี่ยงจากผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อนหรือเน่าเสีย

(ที่มา : Siegert, W., and  GmbH, S&M., 2005.)

ภาพที่ 1 ปัจจัยพื้นฐานสำหรับการเจริญของจุลินทรีย์


ชนิดของสารกันเสีย  (Charoensiri, P., 2010)

              สารกันเสียที่นำมาใช้โดยทั่วไปมี 2 ประเภท ได้แก่

              1. สารกันเสียสังเคราะห์  สารกันเสียประเภทนี้เป็นที่นิยมนำมาใช้กันมากในวงการอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง  เนื่องจากมีคุณสมบัติครบถ้วนและหาซื้อได้ง่าย  เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป  สารกันเสียสังเคราะห์ที่นิยมใช้  ได้แก่

                    - Parabens : Methyl-, Ethyl-, Propyl-, Butyl-  เป็นชนิดที่นิยมใช้มากที่สุด (ประมาณ 80%)

                    - Urea derivatives : Imidazolidinyl  Urea, Diazolidinyl  Urea

                    - Isothiazolones : Methylchlorothiazolinone, Methylisothiazolinone

                    - Halogen : Iodo  Propynyl  Butyl  Carbamate (IPBC), Methyldibromo  Glutaronitrile

                    - Foemaldehyd : DMDM  Hydantion

                    - Organic acid & Others : Sodium  Benzoate, Sorbic  acid, EDTA, Phenoxyethanol, Triolosan, Quaternium-15

              2. สารกันเสียจากธรรมชาติ  (Natural Preservatives)  เป็นสารที่พบได้ในธรรมชาติ  มีคุณสมบัติในการทำลายหรือยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์  ได้แก่

                    - แมลง (Insects) : Honey  Propolis

                    - น้ำมันหอมระเหย (Essential Oils) : ต้นชา, เมล็ดสะเดา, ไทม์, ยูคาลิปตัส

                    - สารสกัด (Extracts) : สารสกัดจากเมล็ดองุ่น  สารสกัดจากเมล็ดจำพวกส้มและมะนาว

                    - สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) : วิตามินอีและวิตามินซี 


ลักษณะที่ดีและการเสื่อมของสารกันเสีย  (Bombeli, T., 2010) 

              สารกันเสียที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติ  ดังต่อไปนี้

              1. ออกฤทธิ์ควบคุมเชื้อได้หลายชนิด  ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรียและฟังไจ

              2. มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อจุลินทรีย์ตลอดอายุของผลิตภัณฑ์

              3. ละลายในน้ำได้ดี  ไม่ละลายในน้ำมัน

              4. มีประสิทธิภาพในช่วง pH ที่กว้าง

              5. ไม่เกิดปฏิกิริยากับสารอื่นในเครื่องสำอาง

              6. ไม่มีกลิ่น  ไม่มีสีและมีความปลอดภัยกับผู้บริโภค

              คุณสมบัติข้างต้นเป็นลักษณะของสารกันเสียที่ดี  แต่สำหรับการเสื่อมของสารกันเสีย  มีลักษณะดังนี้

              นอกจากผลิตภัณฑ์จะเกิดเส้นใยสีเทา-เขียว (ขึ้นรา)  ปรากฏอยู่บนผิวหน้าของผลิตภัณฑ์  ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงความเสื่อมของผลิตภัณฑ์แล้ว  ยังมีลักษณะอื่นที่ปรากฏได้อีก  คือ                   

              1. ความหนืด  (viscosity)  ของผลิตภัณฑ์ลดลง

              2. ค่า pH ลดลง  (ผลิตภัณฑ์กลายเป็นกรด)

              3. สีของผลิตภัณฑ์เปลี่ยนแปลงไป

              4. ผลิตภัณฑ์มีกลิ่นเน่าเหม็น  ไม่พึงประสงค์   

              หากผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมีลักษณะไม่พึงประสงค์ดังกล่าวข้างต้น  ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยง  เพราะหากนำมาใช้ต่อ  อาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้บริโภคได้


อันตรายที่เกิดจากการใช้เครื่องสำอาง  (Lundov, MD., et al., 2009)              

              ในปี 1960 และ 1970  การปนเปื้อนของจุลินทรีย์ในเครื่องสำอางมีปริมาณเพิ่มขึ้น  เป็นสาเหตุให้ผลิตภัณฑ์เกิดการเน่าเสีย  เป็นตัวก่อโรค  จึงทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค  และยังเป็นสาเหตุให้องค์ประกอบต่างๆ  กลิ่นหรือสีในเครื่องสำอางเกิดการเปลี่ยนแปลง  โดยจุลินทรีย์สามารถปนเปื้อนในเครื่องสำอางได้ 2 ทางคือ  1. ระหว่างขั้นตอนการผลิต  2. ขั้นตอนการใช้ผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค 

              ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง  เช่น  ครีม  โลชั่น  แชมพู  คอนดิชันเนอร์  สบู่เหลว  เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้น้ำเป็นองค์ประกอบหลัก  จึงเป็นสาเหตุให้เกิดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ได้ง่าย  แนวทางการแก้ไขการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ในเครื่องสำอางคือ  การใส่สารกันเสียเข้าไปเพื่อป้องกันการเจริญของจุลินทรีย์เหล่านั้น  แต่ปัญหาที่ตามมาคือ  ผู้บริโภคเกิดอาการแพ้เครื่องสำอางขึ้น  โดยพบว่า  ประมาณ 6% ของผู้บริโภค  มีสาเหตุหลักมาจากสารกันเสียหรือน้ำหอมที่ใส่ในเครื่องสำอางนั่นเอง 

              สารกันเสียสังเคราะห์เป็นชนิดที่นิยมนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมากกว่าสารกันเสียจากธรรมชาติ  เพราะมีคุณสมบัติตรงตามความต้องการและค่อนข้างครบถ้วนในการเป็นสารกันเสียที่ดี  แต่มีรายงานพบว่า  สารกันเสียสังเคราะห์บางชนิดไม่ปลอดภัยกับผู้บริโภค  เพราะนอกจากจะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการแพ้เป็นเวลานานแล้ว  ยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมในเพศหญิง และยังทำให้อวัยวะสืบพันธุ์เพศชายบกพร่อง  รวมทั้งเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งอัณฑะและทำลายระบบประสาทอีกด้วย  ดังนั้นวิธีทางแก้ไขที่จะหลีกเลี่ยงการใช้สารกันเสียสังเคราะห์คือ  การหันมาใช้สารกันเสียที่มาจากธรรมชาติ  ได้แก่  น้ำมันหอมระเหย  สารสกัดจากพืชสมุนไพร  วิตามินชนิดต่างๆ  เป็นต้น  ปัจจุบันการใช้สารกันเสียจากสมุนไพรมีจำนวนมากขึ้น  แต่เกิดจากกระบวนการลองผิดลองถูกมากกว่า  แต่เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีหลักฐานที่แสดงว่าพืชสมุนไพรนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น  ซึ่งสามารถฟื้นฟู  รักษาและปกป้องผิวได้อีกด้วย  (Bombeli, T., 2010)  นอกจากนี้โดยพื้นฐานของพืชสมุนไพรที่มีคุณสมบัติเป็นยาอยู่แล้ว  จึงเหมาะที่จะนำมาทำเป็นสารกันเสียในเครื่องสำอางเพื่อความมีประสิทธิภาพและเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค


ความสำคัญของพืชสมุนไพร  (รังสรรค์  ชุณหวรากรณ์, 2553)

              พืชสมุนไพร หมายถึงพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ปรุงหรือประกอบเป็นยารักษาโรคต่าง ๆ ใช้ในการส่งเสริมสุขภาพร่างกายได้

              1. ความสำคัญในด้านสาธารณสุข

              พืชสมุนไพรเป็นผลผลิตทางธรรมชาติที่มนุษย์รู้จักกันมาเป็นเวลานานแล้ว  โดยนำมาใช้ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ  แต่หลังจากที่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น  ทำให้ความนิยมในการใช้พืชสมุนไพรมาทำยาลดลงไป  เนื่องด้วยประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยพืชสมุนไพร  ในปี พ.ศ. 2522  จึงได้มีการตื่นตัวเรื่องพืชสมุนไพรอีกครั้ง  โดยได้นำไปเข้าร่วมกับแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 4  ต่อเนื่องจนถึงฉบับที่ 7  ซึ่งจะเห็นได้ว่าพืชสมุนไพรมีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่ง

              2. ความสำคัญในด้านเศรษฐกิจ 

              ปัจจุบันสมุนไพรเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศอย่างมาก  ทำให้พืชสมุนไพรเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก  จนกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศและเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพและแหล่งปลูกสมุนไพรเพื่อการส่งออก  เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศทางหนึ่ง


คุณสมบัติของพืชสมุนไพรในการรักษาในด้านต่างๆ  (Bombeli, T., 2010)

              จากคุณสมบัติของพืชสมุนไพรในการรักษาด้านต่างๆ นั้น  ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติในการรักษาโรคผิวหนัง  ต้านอาการอักเสบ  ต้านรังแค  จึงมีการนำพืชสมุนไพรเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง  ซึ่งมีดังต่อไปนี้

              1. สมุนไพรที่มีคุณสมบัติรักษาโรคผิวหนัง

              โรคผิวหนังหรือผิวหนังอักเสบ  เป็นสภาวะที่ผิวหนังมีลักษณะต่างๆ   เช่น  มีรอยแดง  ตกสะเก็ดและมีอาการคัน  สำหรับสมุนไพรที่สามารถนำมารักษาโรคผิวหนังได้  เช่น

                    1.1 ขมิ้น  (curcuma  longa)  โดยการนำเหง้าของขมิ้นมาบดให้เป็นผงสีเหลือง  ซึ่งขมิ้นจะทำหน้าที่ในการลดอาการอักเสบ  ฯลฯ

              2. สมุนไพรที่มีคุณสมบัติในการรักษาสิว

              สิว  เป็นสภาวะที่เกิดจากการที่ต่อมเหงื่อและรูขุมขนเป็นสาเหตุให้เกิดการอักเสบและเป็นหนอง (หัวสีขาว)  พืชที่มีคุณสมบัติในการรักษาสิว  ได้แก่

                    2.1 Artemisia  (Artemisia  vulgaris & absinthum)  โดยการนำส่วนของพืชทั้งหมด  หรือใบแห้งของพืชมาต้ม  แล้วสกัดเอาน้ำออกมา

                    2.2 โหระพา  (basileus)  โดยการสกัดเอาน้ำมันออกมา  โดยน้ำมันโหระพาจะมีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบและเชื้อแบคทีเรีย

                    2.3 ถั่วลันเตา  (pisum  sativum)  โดยวิธีการนำถั่วลันเตามาบดละเอียด  แล้วนำมาพอกหน้า

                    2.4 ฟักทอง  (cucurbita  pepo)  โดยการใช้น้ำมันเมล็ดฟักทอง  ใบฟักทองแห้ง  หรือนำรากฟักทองมาชงไว้สำหรับดื่ม 

                    2.5 หอมแดง  (allium  cepa)  น้ำหอมแดงจะมีคุณสมบัติในการต้านจุลินทรีย์และต้านการอักเสบ

              3. สมุนไพรที่มีคุณสมบัติในการชะลอความแก่

              ผิวหนังที่เหี่ยวย่นคือ  ลักษณะที่เกิดจากการบางลงและเกิดรอยย่นของผิวหนังชั้นนอกเป็นเส้นๆ  จนเกิดรอยแตก  และรอยย่น  ที่เรียกว่า  รอยตีนกา  ผลของการชะลอความแก่คือ  การเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในผิวหนังและทำความสะอาดได้อย่างทั่วถึง  พืชที่มีคุณสมบัติในการชะลอความแก่  ได้แก่  

                    3.1 โสม  (panax  ginseng)  พืชชนิดนี้จะทำหน้าที่ในการกระตุ้นเมทาบอลิซึมของผิวหนังและการไหลเวียนของเลือด  การสร้างเคราติน  ให้ความชุ่มชื้นและความอ่อนนุ่ม  ลดรอยเหี่ยวย่นและทำให้ผิวขาวขึ้น

                    3.2 ชาเขียว/ดำ  ประกอบด้วยโพลีฟีนอล  เช่น  catechain

                    3.3 สารสกัดจากเมล็ดองุ่น  (vitis  vinifera)  ประกอบด้วย  procyanidins  สารต้านอนุมูลอิสระและต้านประสิทธิภาพในการสืบพันธุ์ที่ลดลง  และนิยมใช้ในเครื่องสำอางที่ทำให้ผิวกระจ่างใส

                    3.4 โคเอนไซม์  Q10  (ubiquinone)  เป็นสารต้านอนุมูลอิสระเพียงชนิดเดียวที่ร่างกายสามารถผลิตได้เอง  มีประสิทธิภาพในการชะลอความแก่

              4. สมุนไพรที่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ

              การอักเสบเป็นลักษณะของสภาวะที่ผิวหนังเกิดการติดเชื้อ  พืชที่มีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบ  ได้แก่

                    4.1 Red  clover (trifolium  pretense)  ประกอบด้วย  isoflavones  มีการนำมาใช้กันอย่างกว้างขวางในโลชั่นกันแดด

                    4.2 คาโมไมล์  (matricaria  recutita)  ส่วนผสมที่สำคัญ  ได้แก่  flavonoids, apigenin  และ bisabolol  (ต้านการอักเสบของ leukotriens)  คาโมไมล์สามารถนำไปใช้ได้หลายกระบวนการ  เช่น  การสกัด  ชง  หรือทำเป็นน้ำมันหอมระเหย

                    4.3 ลูกซัค  (trigonella  foenum)  เป็นสมุนไพรที่เก่าแก่ของโลก  เมล็ดของลูกซัคมีประสิทธิภาพในการต้านการอักเสบ

                    4.4 โจโจ้บา  (buxus  chinensis)  ประกอบด้วยกรดไขมันที่มีความหลากหลาย  มีประสิทธิภาพในการต้านการอักเสบ  เป็นสารต้านอนุมูลอิสระและต้านเชื้อจุลินทรีย์

                    4.5 รากชะเอมเทศ  (glycyrrhiza  glabra)  ประกอบด้วยสาร glycyrrhizin  ที่มีประสิทธิภาพ

              5. สมุนไพรที่มีคุณสมบัติในการปกป้องผิว

              เครื่องสำอางหลายชนิดประกอบด้วยสูตรต่างๆ ที่ปกป้องผิวจากสารอันตรายภายนอก  พืชที่มีคุณสมบัตินี้  ได้แก่

                    5.1 ว่านหางจระเข้  (aloe  barbadensis)  มีประสิทธิภาพในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ  ต้านการอักเสบและรักษาบาดแผลได้เป็นอย่างดี

                    5.2 โอ๊ต  เช่น  ข้าวโอ๊ตบดหยาบๆ  รำข้าว  ดอกโอ๊ต  น้ำมันโอ๊ต  hydrolyse oat  protein  หรือ  oat beta-glucan  มีประสิทธิภาพในการให้ความชุ่มชื้นและชะลอความแก่

              6. สมุนไพรที่มีคุณสมบัติในการรักษารังแค

              รังแค  เป็นลักษณะของการตกสะเก็ดที่เกี่ยวข้องกับการลดลงของไขมันในชั้นผิวหนัง  ซึ่งทำให้เกิดแนวโน้มในการติดเชื้อของจุลินทรีย์และฟังไจได้  พืชสมุนไพรที่มีคุณสมบัติในการรักษารังแค  ได้แก่  เสจ (Sage),  โรสแมรี่ (Rosemary),  ไทม์ (Thyme),  กระเทียม (Garlic) และผลวอลนัท (Walnut)


ตัวอย่างพืชสมุนไพรที่มีคุณสมบัติในการนำไปใช้เป็นสารกันเสียในเครื่องสำอาง  (Quirin, KW., 2007)

              พืชสมุนไพรที่มีการทดลองแล้วว่า  สามารถนำมาเป็นสารกันเสียในเครื่องสำอางได้  มีดังต่อไปนี้

              1. St John's wort 

              เป็นพืชสมุนไพรชนิดใหม่ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Hypericum  perforatum  ตั้งแต่อดีต  St John's wort  มีคุณสมบัติในการรักษาบาดแผล  ไม่ว่าจะเป็นแผลไหม้  แผลเปื่อยและเกิดจากการโดนสัตว์กัดต่อย  เมื่อไม่นานมานี้พบว่า  มีฤทธิ์ในการรักษาความผิดปกติทางอารมณ์  เช่น  อาการซึมเศร้า

              องค์ประกอบทางเคมี  : ที่สำคัญมี 2  กลุ่ม  (อนุชิต พลับรู้การ, 2553)  คือ

                   1) กลุ่ม  naphthodionthrones ได้แก่  hypericin  และ  acylphloroglucrinols
                   2) กลุ่ม  phloroglucinols  ได้แก่  hyperforin  และ  adhyperforin
 
              ในปี  1951  สิทธิบัตรของสหรัฐได้ยินยอมให้นำ  Hypericum  perforatum  มาใช้เป็นสารกันเสียในอาหาร  เนื่องจากพบว่า  มีคุณสมบัติในการต้านเชื้อ  staphylococcus  aureus, Bacillus  niger  และ Clostridium  spogenes  หลังจากนั้นได้มีการระบุโครงสร้างทางเคมีในปี  1975  และได้นำสารสกัดจาก  hypericum  ไปใช้ใการรักษาบาดแผล  อาการแพ้  อาการคันของผิวหนัง  เป็นต้น  ลักษณะดอกของ  St John's wort  เป็นดังภาพที่ 2 
 
 
ภาพที่  2  ลักษณะดอกของ St John's wort
 
              2. Curcuma  xanthorrhiza 
              Curcuma  xanthorrhiza  หรือว่านชักมดลูก  แสดงลักษณะดังภาพที่ 3 และ โครงสร้างทางเคมีดังภาพที่ 4  มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย  เป็นพืชพื้นเมืองของจาวา  บาหลี  และ  Moluccas       
              องค์ประกอบทางเคมี  : มีดังต่อไปนี้  (สนั่น  ศุภธีรสกุลและฉัตรชัย  วัฒนาภิรมย์สกุล, 2553)
                    1. กลุ่ม curcuminoids  เช่น  curcumin, desmethoxycurcumin, bisdesmethoxycurcumin  
                    2. กลุ่ม diarylheptanoids  เช่น  tran-1,7-diphenylhepten-5-ol, trans-1,7-diphenyl-1,3-heptadien-4-one  
                    3. กลุ่ม sesquiterpenes  เช่น  xanthorrhizol, germacrone, curzerenone, alpha-curcumene  
              ว่านชักมดลูกมักนำไปใช้ในกรณีที่มีกลิ่นปาก  ในการศึกษาเกี่ยวกับพฤกศาสตร์พื้นบ้านพบว่า  ว่านชักมดลูกมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อก่อโรคในปากได้  เช่น  Streptococcus  mutants  และสามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย  เช่น  Actinomyces  viscosus  และ  Porphyromonas  gingivalis  ที่เป็นสาเหตุให้เยื่อหุ้มฟันอักเสบ  และพบว่ายังต้านเชื้อ  Candida  albicans   และ Lactobacillus  species  ได้อีกด้วย
              ว่านชักมดลูกเหมาะที่จะนำไปใช้ในยาสีฟัน  หมากฝรั่ง  น้ำยาบ้วนปาก  น้ำยาดับกลิ่นปาก  นอกจากนี้ยังนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณอีกด้วย  และยังนิยมนำว่านชักมดลูกมาใช้ในการรักษาโรคริดสีดวงทวาร  อาการคันผิวหนัง  แผลติดเชื้อและโรคผิวหนัง
 
                 
                                                        ภาพที่ 3  ลักษณะของว่านชักมดลูกที่หั่นเป็นชิ้นๆ                  ภาพที่ 4  โครงสร้างทางเคมีของ xanthorrhizol 
 
              3. Usnea  Lichen 
              ไลเคนมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ตอนเหนือของทวีปยุโรป  เอเชียและอเมริกา  เป็นลักษณะของสิ่งมีชีวิตสองชนิดที่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน  ได้แก่  สาหร่ายสีเขียวและรา  โดยจะอาศัยอยู่ตามเปลือกไม้  หิน  ดิน  เป็นต้น  Usnea  barbata  มีลักษณะเป็นเส้นฝอยๆ  ยาวๆ  มีความยาวประมาณ 1 เมตร  ลักษณะดังภาพที่ 5
 
 
ภาพที่  5  ลักษณะของ Usnea
 
              ในอดีตได้มีการบันทึกไว้ว่า  Usnea  ได้ถูกนำไปใช้ทางการแพทย์มาเป็นเวลากว่า  1000 ปีมาแล้ว  โดย  Usnea  barbata  สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์และนำไปรักษาแผลที่ติดเชื้อได้อีกด้วย  ต่อมาได้พัฒนาให้สามารถนำไปลดการอักเสบภายในปากและใช้สำหรับฆ่าเชื้อในท่อทางเดินหายใจ  ท่อปัสสาวะในกรณีที่ไตติดเชื้อและรักษาโรคหนองใน  นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบ  บรรเทาปวด  ลดไข้ได้อีกด้วย
              Usnea  barbata  เป็นพืชสมุนไพรที่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้  โดยจะไม่มีผลข้างเคียงกับยาตัวอื่นและมีความปลอดภัยกับเด็กและสัตว์  สามารถป้องกันการติดเชื้อจาก Strep และ Staph  และมีคุณสมบัติในการต้านการเจริญของจุลินทรีย์  โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจและปัสสาวะ  ใช้ในการรักษาการติดเชื้อในทางเดินหายใจและไซนัส  โรคหลอดลมอักเสบ  โรปอดบวม  คอติดเชื้อ  เป็นไข้  การติดเชื้อของท่อปัสสาวะ  ไตและกระเพาะปัสสาวะ  (Godino, J., 2010)  
              สารสกัดจาก Usnea มีคุณสมบัติในการต้าน Propionibacterium acnes, Corynebacterium  pseudodiphtericum  และ yeast  Pityrosporon  ovale   ผลิตภัณฑ์นี้ไม่เพียงแต่มีการนำไปใช้รักษาโรคผิวหนัง  เท่านั้น  แต่ยังนำไปใช้ในการรักษาผิวหนังที่ไม่สะอาดและแผลกดทับได้อีกด้วย  โครงสร้างทางเคมีของ  Usnic acid  เป็นดังภาพที่ 6  ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ  Usnea  barbata  ได้แก่  ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก  เช่น  ยาสีฟัน  น้ำยาบ้วนปาก
 
               
 
        ภาพที่  6  สูตรโครงสร้างของ Usnic acid   ในรูปของ  keto  และ enol
 
              4. Hop  extract
              Hop  extract  หรือ  Humulus  lupulus  เป็นสารสกัดที่มีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก
              องค์ประกอบทางเคมี : ได้แก่  Humulones  (a-acids)  และ lupulones  (ß-acids)
              จากคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรีย  จึงมีการนำสารสกัดจาก Hop ไปใช้ในส่วนผสมของสบู่  เจลอาบน้ำ  ผลิตภัณฑ์อื่นๆ  เช่น  ผลิตภัณฑ์ดูแลเท้า  และเมื่อเร็วๆ นี้  พบว่า  มีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อแบคทีเรียในปาก  ได้แก่  streptococci  จึงมีการนำไปใช้ในน้ำยาบ้วนปาก  ลักษณะโคนของ Hop เป็นดังภาพที่ 7
 
 
ภาพที่ 7 ลักษณะโคนของ Hop
 
              5. Neem  Seed  oil  (Mountain Rose Herbs, 2010)
              สะเดา  มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า  Azadirachta  indica  เป็นพืชสมุนไพรที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย  มีการนำมาใช้ในวงการแพทย์และเครื่องสำอางมาเป็นเวลากว่า 100 ปีมาแล้ว  เป็นพืชที่สามารถหาได้ในประเทศไทย  เนื่องจากสะเดาเป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้าน  รวมทั้งเป็นผักสวนครัวที่ผู้บริโภคนิยมนำมารับประทานกับน้ำพริก 
              องค์ประกอบทางเคมี  : ได้แก่  กรดไขมัน  terpenoids  และ limonoids  และยังมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกมากกว่า 50 ชนิด  มีกลิ่นฉุน  มีสีน้ำตาลเข้ม 
              สะเดามีการนำไปใช้ในการรักษาอาการป่วยและป้องกันเชื้อโรคต่างๆ  มีคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรีย  ไวรัส  ฟังไจและอื่นๆ  ในอดีตพบว่า  มีการนำไปใช้ในการรักษาโรคต่างๆ เช่น  ไข้มาลาเรีย  เบาหวาน  ปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ  สิว  โรคผิวหนัง  ฯลฯ  จะเห็นได้ว่า  สะเดาสามารถรักษาโรคได้มากมาย  จากคุณสมบัติเหล่านี้  จึงมีการนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น  สบู่ ยาสีฟัน  ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมและผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ
              จากคุณสมบัติข้างต้นของพืชสมุนไพรแต่ละชนิดนั้น  ทำให้ทราบสรรพคุณทางยาและการนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตามความเหมาะสม  จะเห็นได้ว่า  พืชสมุนไพรแต่ละชนิดล้วนแต่มีคุณสมบัติในการรักษาโรคและต่อต้านจุลินทรีย์ได้หลายชนิด  ดังนั้น  การนำสารสกัดจากพืชสมุนไพรมาทำเป็นสารกันเสียในเครื่องสำอาง  จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่เหมาะสมและน่าสนับสนุนอย่างยิ่ง 
              นอกจากการใช้พืชสมุนไพรมาทำเป็นสารกันเสียในเครื่องสำอางแล้ว  ยังมีอีกตัวหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นสารกันเสียที่ดีและมีความปลอดภัยกับผู้บริโภคอีกด้วย  ได้แก่  Herbal-ActiveTM
 
              6. Herbal-ActiveTM   (Vic  Chorikoff, 2010)
              Herbal-ActiveTM มีคุณสมบัติและประโยชน์ที่น่าสนใจ  ดังต่อไปนี้
              คุณสมบัติของ  Herbal-ActiveTM  มีดังนี้
                       -  องค์ประกอบ  :  เป็นน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรและเครื่องเทศที่สามารถกินได้  ซึ่งสามารถละลายได้ทั้งในแป้งและในน้ำมัน
                       -  สถานภาพ  :  GRAS (Generally recognized as safe)  ได้รับการรับรองจากผู้เชี่ยวชาญว่า  มีความปลอดภัยในการนำไปใช้ในอาหารได้
                       -  ลักษณะภายนอก  :  ลักษณะสีเขียวซีดในครีมสีขาว
                       -  กลิ่น  :  มีกลิ่นของสมุนไพรบางๆ
              สำหรับประโยชน์ของ  Herbal-ActiveTM  มีดังนี้
                       • มีประสิทธิภาพยอดเยี่ยมใน pH ที่เป็นธรรมชาติ
                       • มีประสิทธิภาพสูงในการต้านเชื้อยีสต์  แบคทีเรีย  ฟังไจและรา
                       • มีระดับที่ทำให้เกิดอาการแพ้ต่ำมาก  (limonene, citral, anethole)
                       • สามารถเก็บได้ในบรรจุภัณฑ์ทุกชนิด  เช่น  แก้ว  เหล็ก  พลาสติก  เป็นต้น
                       • ไม่เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพทางลบและอื่นๆ อีกมากมาย 
 

การประเมินประสิทธิภาพของสารกันเสียในผลิตภัณฑ์   (Siegert, W., and Gmbh, S&M., 2005)
              วิธีการทดสอบประสิทธิภาพของสารกันเสียในเครื่องสำอางสามารถทำได้โดยใช้วิธีที่เรียกว่า  Challenge Test  เป็นวิธีการทดสอบการประเมินประสิทธิภาพของสารกันเสียในผลิตภัณฑ์  เพื่อป้องกันเชื้อจุลินทรีย์และเป็นการรับรองว่าผลิตภัณฑ์ที่นำออกสู่ตลาดจะมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค  ตัวอย่างของการทดสอบแบบ Challenge Test  ได้แก่  Koko Test  
              Koko Test  เป็นการทดสอบที่รวมเอาแบคทีเรีย  ยีสต์และรามาปลูกเชื้อ  6  ครั้ง  (1  ครั้งต่อสัปดาห์) ใส่เข้าไปในอุปกรณ์ทดสอบ  (ดังภาพที่ 8)  โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะรักษาอุปกรณ์ทดสอบให้ปราศจากเชื้อโรคในระยะเวลาที่กำหนด  จุลินทรีย์ที่ใช้ในการปลูกเชื้อประกอบด้วยจุลินทรีย์ก่อโรคที่รู้จักกันดีที่เป็นสาเหตุให้ผลิตภัณฑ์เน่าเสีย  เช่น Staphylococcus aureus  โดยรวมจุลินทรีย์ทุกชนิดเข้าด้วยกัน สารตัวอย่างที่เป็นสารกันเสียที่ดีจะต้องผ่านระยะเวลา 6 สัปดาห์แล้วยังปราศจากการเจริญของจุลินทรีย์   ในการทดสอบด้วยวิธีนี้พบว่า  สามารถทำให้ผลิตภัณฑ์มีอายุได้นานถึง 30 เดือน
 
 
ภาพที่ 8  วิธีการประเมินประสิทธิภาพของสารกันเสียในผลิตภัณฑ์
 

ตัวอย่างความเหมาะสมของช่วงอายุครีมกับสารกันเสีย
              ตัวอย่างดังต่อไปนี้  แสดงประสิทธิภาพระหว่างชนิดของสารกันเสียทั้งชนิดสังเคราะห์และจากธรรมชาติกับอายุของผลิตภัณฑ์
              - ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารกันเสีย  อยู่ได้ 2-3 วัน
              - ผลิตภัณฑ์ที่ใส่สารกันเสียจากสารสกัดจากเมล็ดองุ่น (1%)  อยู่ได้ 2-3 เดือน
              - ผลิตภัณฑ์ที่ใส่ Methylparaben (1%)  อยู่ได้ 2-3 เดือน
              - ผลิตภัณฑ์ที่ใส่ Propyl-  Methylparaben, Diazolidinyl  Urea (total 1%) และสารสกัดจากเมล็ดองุ่น (1%)  อยู่ได้หลายเดือนหรือเป็นปี
              จะเห็นได้ว่า  สารกันเสียสังเคราะห์มีประสิทธิภาพในการทำให้อายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ยาวนานกว่าสารกันเสียจากธรรมชาติ  อย่างไรก็ตาม  ถึงแม้ว่าอายุการใช้งานจะมากกว่าแต่อันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคก็มากกว่าเช่นกัน  ดังนั้นการใช้สารกันเสียจากธรรมชาติในเครื่องสำอางจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
 

วิธีการเก็บรักษาเครื่องสำอาง
              1. เก็บเครื่องสำอางให้ห่างจากแสงแดดและความร้อน  เพราะจะทำให้เครื่องสำอางเปลี่ยนแปลงและทำให้เสีย
              2. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ในหลอดและควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่บรรจุในกระปุก เพราะเวลาที่เปิดกระปุกจะทำให้อากาศเข้าไปและเกิดการออกซิไดส์  ทำให้ผลิตภัณฑ์เสียได้
              3. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีบรรจุภัณฑ์ทึบแสง  ไม่ควรใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใส  เพราะเมื่อสัมผัสกับแสงจะทำให้ผลิตภัณฑ์เสียได้ง่าย
              4. หากต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นกระปุก  เมื่อใช้เสร็จให้รีบปิดฝาอย่างรวดเร็วและใช้ภาชนะหรือช้อนเล็กๆ ในการตักผลิตภัณฑ์ขึ้นมาแทนที่จะใช้นิ้วสัมผัสโดยตรง  เพราะจะทำให้ผลิตภัณฑ์ปนเปื้อนแบคทีเรียและเกิดการเน่าเสียขึ้นได้
              สำหรับผู้ที่ผลิตเครื่องสำอางใช้เองภายในบ้าน  ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารกันเสีย  จึงมีวิธีการเก็บรักษาเครื่องสำอาง  (Bombeli, T., 2010)  ดังนี้  
              1. ผลิตเครื่องสำอางในปริมาณที่พอใช้  ไม่ควรทำเยอะเกินไป  เพราะจะทำให้ผลิตภัณฑ์เสียได้หากผลิตภัณฑ์นั้นหมดอายุ
              2. นำผลิตภัณฑ์ไปต้มเป็นเวลา 20 นาทีเพื่อทำให้ปราศจากเชื้อและเป็นการยืดอายุของผลิตภัณฑ์ให้ยาวนานขึ้น
              3. เก็บผลิตภัณฑ์ไว้ในตู้เย็นและเขียนวันที่ผลิตกำกับไว้ที่ผลิตภัณฑ์  เพื่อที่จะประมาณวันหมดอายุของผลิตภัณฑ์และสามารถใช้ได้ทันในวันที่กำหนด
              4. ไม่ควรใช้นิ้วมือสัมผัสกับผลิตภัณฑ์โดยตรง  (โดยเฉพาะครีม)  ให้ใช้ภาชนะหรือช้อนเล็กๆ ตักเนื้อครีมแทน
              5. เก็บผลิตภัณฑ์ให้ห่างจากแสงแดดและความร้อน
 

บทสรุป
              สารกันเสียเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง  สารกันเสียที่นำมาใช้ส่วนใหญ่มักเป็นสารกันเสียสังเคราะห์  เนื่องจากมีคุณสมบัติที่ครบถ้วนและตรงตามความต้องการ  แต่สารกันเสียสังเคราะห์อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังหรือเกิดอันตรายอื่นๆ ในผู้บริโภคที่แพ้ง่าย  จึงมีการหันมาใช้สารกันเสียที่สกัดได้จากธรรมชาติมากขึ้น  เช่น  สารกันเสียจากพืชสมุนไพร  ไม่ว่าจะเป็นพืชสมุนไพรที่อยู่ในประเทศหรือต่างประเทศจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการนำมาใช้เป็นสารกันเสียในเครื่องสำอาง  ถึงแม้ว่าสารกันเสียที่มาจากสมุนไพรในประเทศไทยยังมีจำนวนไม่มากนัก  แต่ในอนาคตคาดว่า  สารกันเสียที่มาจากสมุนไพรไทยจะมีจำนวนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น  เนื่องจากกำลังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยของนักวิจัยที่จะส่งเสริมให้มีการใช้สารกันเสียที่สกัดได้จากพืชสมุนไพรไทย  เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค  รวมทั้งเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศให้เกิดประโยชน์และเพื่อให้เป็นที่ยอมรับและเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก
 

อ้างอิง
รังสรรค์  ชุณหวรากรณ์.  ความหมาย  ความสำคัญ  และประโยชน์ของพืชสมุนไพร.  [ออนไลน์]  [อ้างถึง  2  ธันวาคม  2553] 
       เข้าถึงได้จาก  http://www.bs.ac.th/2548/e_bs/G7/rangsan/important.html   

สนั่น  ศุภธีรสกุลและฉัตรชัย  วัฒนาภิรมย์สกุล.  ว่านชักมดลูก.  [ออนไลน์]  [อ้างถึง  2  ธันวาคม  2553] 

       เข้าถึงได้จาก  http://pcog.pharmacy.psu.ac.th/thi/Article/2546/09-46/curcumab.pdf

อนุชิต  พลับรู้การ.  St John'swort.  [ออนไลน์]  [อ้างถึง  2  ธันวาคม  2553]  เข้าถึงได้จาก http://pcog.pharmacy.psu.ac.th/thi/Article/2546/7-46/07-46.html

Biopluschem.  เครื่องสำอาง.  [ออนไลน์]  [อ้างถึง 9  ธันวาคม  2553 ]  เข้าถึงได้จาก http://www.biopluschem.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=145089

Bombeli, T.  How  to  used  preservatives  in  cosmetics.  [Online]  [cited 8  November  2010]  Available 
       from  internet : http://www.makingcosmetics.com/articles/01-how-to-use-preservatives-in-cosmetics.pdf

Bombeli, T.  Tested  plants  used  in  cosmetics.  [Online]  [cited 10  November  2010] 

       Available  from internet : http://www.makingcosmetics.com/articles/04-herbal-ingredients-in-cosmetics.pdf

Charoensiri, P.  Preservatives  in  cosmetics.  [Online]  [cited  10  November  2010] 

       Available  from  internet : http://www.thaicosmetic.org/dev/documents/Preservatives.pdf

Godino, J.  Usnea : immune-enhancing  lichen.  [Online]  [cited 11  November  2010]  Available  from internet : http://www.herbalremediesinfo.com/usnea.html

Lundov, MD., et al.  Contamination  versus  preservation  of  cosmetics : a  review  on  legislation  usage, infections, and contact  allergy, 2009, vol. 60, p.70-78.

Mountain Rose Herbs.  Neem  seed  oil.  [Online]  [cited  11  November  2010]  Available  from  internet : http://www.mountainroseherbs.com/learn/oilprofile/neem_oil.php

Quirin, KW.  Herbal extracts in support of natural cosmetics preservation.  Cosmetic  Science  Technology, 2007, p. 20-30.

Siegert, W., and Gmbh, Schulke & Mayr.  Microbiological  quality  management  for  the  production  of cosmetics  and  toiletries. 

       Cosmetic  Science  Technology, 2005, p. 189-195.

Vic  Chorikoff.  Natural  preservation  of  cosmetics  with  herbal-activeTM.  [Online]  [cited  12  November 2010] 

       Available  from  internet : http--www.cherikoff.net-cherikoff-index.phps=file_download&id=16.url