Page 4 of 7
การนำพลังงานจากชีวมวลไปใช้ประโยชน์ (Hinrich, RA. and Kleinbach, M., 2002; Loehr, J., et al., 1984)
ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากชีวมวลด้วยเทคโนโลยีต่างๆนั้นมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ดังนี้
1. เอทานอล (C2H5OH) เป็นของเหลวไม่มีสีมีจุดเดือดอยู่ที่ 78 °C ในที่นี้หมายถึง เกรนแอลกอฮออล์(Grain alcohol) หรือเอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) ซึ่งผลิตได้จากอ้อย ข้าวโพดและไม้ เอทานอลช่วยปรับปรุงสมรรถนะของเครื่องยนต์ (Vehicle performance) ปล่อยก๊าซพิษน้อยกว่าน้ำมันเบนซิน แต่ต้นทุนการผลิตเอทานอลสูงกว่าปิโตรเลียม เอทานอลสามารถนำมาใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงได้เลยหรือสามารถนำไปใช้ร่วมกับน้ำมันเบนซินได้ ยกตัวอย่าง เช่น น้ำมัน E10 หมายถึง น้ำมันที่มีส่วนผสมของเอทานอลอยู่ 10% และน้ำมันเบนซิน 90% ซึ่งจะช่วยลดการปลดปล่อย CO ได้ถึง 25-30% อีกทั้งช่วยลดการปลดปล่อย CO2 และ NO2 ได้ 10 และ 20% ตามลำดับ นอกจากนี้เอทานอลยังถูกนำมาใช้แทน MTBE (Methyl tertiary butyl ether) ซึ่งใช้เป็นสารตัวเติมในน้ำมันเบนซินได้อีกด้วย ในประเทศบราซิลจะใช้แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ในการเติมรถยนต์ โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ และในประเทศอเมริกามีการใช้พลังงานจากข้าวโพดถึง 1 ใน 8 ของปริมาณข้าวโพดทั้งหมด ในประเทศอาร์เจนตินามีการผลิตเอทานอลในระดับใหญ่ รวมทั้งอีกหลายประเทศมีการผลิต เอทานอลระดับเล็ก เช่น ประเทศเยอรมัน อิตาลี สวีเดน ฝรั่งเศส เคนยาและประเทศซิมบับเว ส่วนในประเทศจีนมีการกระตุ้นให้มีการนำพลังงานทดแทนมาใช้ทางการค้าและใช้ในทางอุตสาหกรรม (Datar, RP., et al., 2004)
ข้อดีของการใช้เอทานอลมาผลิตเป็นพลังงาน (Hall, DO. and Rosillo – Calle, F., 1999) คือ
(1)ได้จากชีวมวลหลากหลายชนิดเช่น อ้อย บีท ข้าวโพด ข้าวฟ่าง และมันสำปะหลัง
(2) ทำให้มีการจ้างงานมากขึ้นและลดการอพยพย้ายถิ่นฐานเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล
(3) เทคโนโลยีเริ่มเป็นที่รู้จักและเปิดกว้างให้สามารถเข้าถึงได้ทำให้สามารถมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้กว้างหน้ามากยิ่งขึ้นได้
(4) ความสมดุลของพลังงานในชีวมวลต่างๆ มีค่าสูง
(5) ผลพลอยได้ (ฺBy product) สามาถนำไปทำประโยชน์ได้ เช่น นำไปทำปุ๋ย
(6) เอทานอลเป็นพลังงานทดแทนที่สามารถหาใหม่ได้ไม่มีวันหมดและลดการปลดปล่อย CO2 ออกสู่ชั้นบรรยากาศ
(7) มีความปลอดภัยในการดำเนินงานและดูแลจัดเก็บได้ง่ายกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล
(8) สามารถนำไปผสมกับน้ำมันชนิดอื่นได้ เช่น น้ำมันเบนซิน
(9) สามารถเพิ่มค่าออกเทนในน้ำมันเบนซินโดยนำมาใช้ทดแทนสารตะกั่วเพื่อลดสารประกอบอะโรมาติกส์ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดมลพิษและเป็นการลดต้นทุนได้อีกด้วย
การหมักเพื่อให้เกิดเอทานอลยังต้องมีการพัฒนาต่อไปเพื่อทำให้มีต้นทุนในการผลิตน้อยที่สุด ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้คนหันมาใช้พลังงานจากเอทานอลกันมากขึ้นแต่จะต้องมีการพัฒนาอีกหลายประการ เช่น การหาสายพันธุ์แบคทีเรียชนิดใหม่ที่สามารถให้ผลผลิตเอทานอลในปริมาณสูง การทำเอทานอลให้บริสุทธิ์ เทคโนโลยีการกลั่น การลดการเกิดกรดในกระบวนการหมัก การใช้วัตถุดิบในกระบวนการหมักให้ยาวนานขึ้น การลดต้นทุนในการบ่มของเอนไซม์ให้น้อยลง การพัฒนาวิธีในการแยกลิกนินออกจากวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพสำหรับการหมักพืชที่มีลิกนินเป็นองค์ประกอบ และการสร้างโรงงานผลิตแบบต่อเนื่องและลดต้นทุนด้านการดำเนินการ
2. เมทานอล (CH3OH) เป็นของเหลวไม่มีสีมีจุดเดือดอยู่ที่ 65 °C เรียกอีกอย่างว่า วู๊ดแอลกอฮอล์ (Wood alcohol) หรือเมทิลแอลกอฮอล์ (Methyl alcohol) สามารถผลิตได้จากชีวมวลที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ประเทศเยอรมันใช้เมทานอลตั้งแต่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 สำหรับเครื่องบินและเรือดำน้ำและใช้เพื่อการเผาไหม้ภายในเครื่องยนต์ หรือ เป็นเชื้อเพลิงในรถแข่ง เมทานอลจากก๊าซธรรมชาติ ถือได้ว่าราคาถูกที่สุด เชื้อเพลิงเมทานอลสามารถผลิตได้จากชีวมวลเกือบทุกชนิดและสามารถนำไปผสมกับน้ำมันเบนซินร้อยละ 15 เพื่อใช้ในเครื่องยนต์โดยไม่ต้องมีการปรับแต่ง แต่เมทานอลไม่สามารถใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้เนื่องจากวัตถุดิบมีราคาสูงและความไม่คุ้มทุน แต่มีการศึกษาการนำเมทานอลไปใช้ในรถยนต์ ซึ่งในทวีปยุโรปจะมีการนำใช้ในรถยนต์ปี ค.ศ. 2010 (Hinrich, RA. and Kleinbach, M., 2002; Hall, DO. and Rosillo – Calle, F., 1999)
3. เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (Hydrogen fuel) เป็นเชื้อเพลิงสะอาดผลิตได้จากก๊าซธรรมชาติ (จากการที่นำ CH4 ทำปฏิกิริยากับไอน้ำแล้วได้ CO2 และ H2) ถ่านหินหรือการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (Electrolysis of water) ซึ่งเชื้อเพลิงที่ได้จากก๊าซธรรมชาติมีราคาถูกที่สุด เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสามารถใช้กับเครื่องยนต์เบนซินปกติได้แต่จะให้ประสิทธิภาพที่ดีมากขึ้นเมื่อใช้กับเครื่องยนต์ที่ผ่านการดัดแปลงแล้ว เชื้อเพลิงไฮโดรเจนจะถูกเก็บในรูปของก๊าซภายใต้ความดันสูง ไฮโดรเจนเหลวหรือโลหะไฮไดรด์ (Metal hydride) การใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจะต้องศึกษาต้นทุนและผลผลิตที่ได้ ซึ่งจะต้องทำให้มีต้นทุนที่ต่ำและให้ผลผลิตสูงจึงสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังต้องมีการพัฒนาวิธีการผลิต การเปลี่ยนรูปพลังงาน การจัดเก็บ การขนส่งและการนำไปใช้ประโยชน์ (Hall, DO. and Rosillo – Calle, F., 1999)
4. เซลล์เชื้อเพลิง (Fuel cell) เป็นการสร้างกระแสไฟฟ้าโดยใช้การรวมตัวกันของ H2 และ O2 พบว่ามีการใช้กันอย่างกว้างขวางในรถยนต์ (Hinrich, RA. and Kleinbach, M., 2002)
5. ไดเมทิลอีเทอร์ (Dimethyl ether) เป็นเชื้อเพลิงที่น่าสนใจเนื่องจากมีความเหมาะสมกับความต้องการที่หลากหลาย เช่น การนำไปหุงต้มอาหาร การให้ความร้อน การนำไปผลิตเชื้อเพลิงสำหรับการขนส่งและการนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า ในประเทศจีนมีการนำ Dimethyl ether จากถ่านหินมาใช้ประโยชน์ในการหุงต้มอาหารซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนกับ LPG โดยในสภาวะปกติ Dimethyl ether จะมีสถานะเป็นก๊าซ ซึ่งสามารถนำไปเก็บภายใต้ความดันที่ไม่รุนแรง นอกจากนี้ Dimethyl ether ยังใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ได้เนื่องจาก Dimethyl ether มีค่าซีเทนสูง (การจุดติดด้วยแรงอัด) การเผาไหม้ที่ปราศจากเขม่าและมีการปลดปล่อย NO2 น้อยซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Jingjing, L., et al., 2001)
6. ไบโอดีเซล (Biodiesel) มีสมบัติคล้ายดีเซลปกติโดยสามารถนำไปใช้กับเครื่องยนต์ปกติได้ ซึ่งไบโอดีเซลสามารถผลิตได้จากพืชในตระกูลละหุ่ง ถั่วเหลือง ปาล์ม ดอกทานตะวัน น้ำมันจากสาหร่าย นอกจากนี้ ไบโอดีเซลยังสามารถผลิตได้จากน้ำมันประเภทต่างๆ ข้างต้นที่ผ่านการใช้งานมาแล้วได้อีกด้วย แต่มีการจำกัดอยู่เฉพาะในบางพื้นที่เท่านั้นเนื่องจากตลาดมีขนาดเล็กและใช้ในบางท้องถิ่นเนื่องจากมีต้นทุนสูงและความสามารถในการผลิตไม่เพียงพอ โดยนำไปใช้ในการให้แสงสว่าง ปั้มน้ำ ไบโอดีเซลเป็นเชื้อเพลิงที่ป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเนื่องจากไม่มีกำมะถันและอนุภาคขนาดเล็ก รวมทั้งยังสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติด้วย ไบโอดีเซลเป็นสารในกลุ่ม Monoalkylester ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยา Transesterification ระหว่าง Triglyceride และ Monohydric alcohol (Hossain, ABMS., et al., 2008; Hall, DO. and Rosillo – Calle, F., 1999)
7. ไบโอก๊าซ (Biogas) สามารถผลิตได้จากการหมักโดยไม่ใช้ออกซิเจนของอินทรีย์วัตถุ มีระบบการผลิตที่ง่ายไม่สลับซับซ้อน สามารถผลิตได้ทั้งในระดับเล็กและใหญ่ ไบโอก๊าซนำไปใช้ประโยชน์ได้ในการให้ความร้อนและใช้ในเครื่องยนต์ สามารถผลิตจากวัตถุดิบหลายชนิดเช่น มูลสัตว์และกากอุตสาหกรรรมในประเทศจีนประสบความสำเร็จในการผลิตไบโอก๊าซจากชีวมวลในระดับกลางและระดับใหญ่จากโรงงานอุตสาหกรรมและกากเหลือทิ้งอินทรีย์ ซึ่งทำในฟาร์มเลี้ยงสัตว์โดยการหมักที่อุณหภูมิห้องและมีการกำจัดกำมะถันออกก่อนนำไปใช้ จากนั้นนำสิ่งที่เหลือจากการผลิตไบโอก๊าซไปทำเป็นปุ๋ยได้อีกด้วยแต่ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องประสิทธิภาพของพลังงานเทคโนโลยีและความคุ้มทุน (Hall, DO. and Rosillo – Calle, F., 1999)