- เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับไดออกซิน
- ไดออกซินคืออะไร
- คุณสมบัติของสารไดออกซิน
- การเกิดและแหล่งกำเนิดไดออกซิน
- ความเป็นพิษของไดออกซินที่มีต่อร่างกาย
- การกระจายตัวของสารไดออกซินลงสู่สิ่งแวดล้อม
- การตรวจวัดสารไดออกซิน
- การจัดการกากของเสีย
- มาตรฐานควบคุมสารไดออกซินของประเทศไทย
- มาตรการควบคุมไดออกซินและฟิวแรนในระดับโลก
- บทสรุป
- อ้างอิง
- All Pages
Page 10 of 12
มาตรการควบคุมไดออกซินและฟิวแรนในระดับโลก (จารุพงศ์ บุญหลง, 2547)
โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีความเห็นสอดคล้องกันคือ ต้องการให้มีกลไกทางกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อควบคุมการปลดปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Persistent Organic Pollutants: POPs) เบื้องต้น 12 ชนิด ดังกล่าว โดยร่วมกับรัฐบาลประเทศต่างๆ จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล เพื่อเตรียมกลไกทางกฏหมายต่างประเทศบังคับใช้สำหรับการดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยเน้นที่สาร POPs ทั้ง12 ชนิดรวมทั้งศึกษาและพิจารณาสารPOPs อื่นนอกเหนือจาก 12 ชนิด ที่กำหนดไว้แล้วซึ่งขณะนี้การประชุมเจรจาเสร็จสมบูรณ์แล้ว และได้ประกาศใช้เป็นอนุสัญญาเรียกว่า “Stockholm Convention on Persistent Organic Pollutants” ประเทศไทยได้ลงนามในสัตยาบัน เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2548 จุดมุ่งหมายของอนุสัญญาฯ คือ เพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน สารเคมี POPs เบื้องต้น 12 ชนิดคือ อัลดริน (aldrin) คลอเดน(chlordane) ดีดีที (DDT) ดิลดริน (dieldrin) เอนดริน (endrin) เฮปตะคลอ (heptachlor) เอชซีบี (hexachlorobenzene) ไมเร็กซ์ (mirex) ท็อกซาฟิน (toxaphene) พีซีบี (polychlorinated Biphenyls: PCBs) ไดออกซิน(Polychlorinated dibenzo-p-dioxins: PCDDs) และฟิวแรน (Polychlorinated dibenzofuraus: PCDFs) สาร POPs เหล่านี้เป็นกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ซึ่งถูกย่อยสลายได้ยากโดยแสง สารเคมีหรือโดยวิธีชีวภาพ ทำให้เกิดการตกค้างในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานานและสามารถเคลื่อนย้ายไปได้ไกลมาก โดยพันธกรณีสำคัญที่ภาคีต้องปฏิบัติ หลังจากอนุสัญญา POPs มีผลบังคับใช้แล้ว มีดังนี้
1. ใช้มาตรการทางกฎหมายและการบริหารในการห้ามผลิตและใช้สาร POPs 9 ชนิดแรก
2. จะนำเข้า/ ส่งออกสาร POPs ได้ก็เฉพาะตามวัตถุประสงค์ที่อนุญาตให้ทำได้ เช่น มีข้อยกเว้นพิเศษ เพื่อนำมาใช้เป็นสารกำจัดปลวก สารกำจัดแมลง เป็นต้น
3. ต้องจัดทำแผนปฏิบัติการในการลดหรือเลิกการปล่อยสาร POPs จากกระบวนการผลิตภายใน 2 ปีหลังจากอนุสัญญา POPs บังคับใช้
4. ส่งเสริมการใช้สารทดแทน แนวปฏิบัติทางด้านสิ่งแวดล้อม และเทคนิคที่ดีที่สุด
5. ประกันว่าคลังสินค้าที่มีสาร POPs ต้องได้รับการดูแลไม่ให้ส่งผลต่อสุขภาพมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมรวมทั้งต้องดูแลจัดการของเสียที่เกิดจากสาร POPs ในทำนองเดียวกัน
6. กำหนดแผนและปฏิบัติตามแผนเพื่อเป็นไปตามอนุสัญญา POPs และส่งรายงานให้ที่ประชุมภาคีภายใน 2 ปี หลังจากอนุสัญญา POPs มีผลบังคับใช้
7. ให้ผู้บริหารและผู้กำหนดนโยบายมีความเข้าใจเรื่อง POPs
8. ให้ความรู้เกี่ยวกับ POPs แก่สาธารณชน
9. สนับสนุนให้มีการวิจัยเรื่องผลกระทบต่างๆ จากสาร POPs ทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ
10. ตั้งศูนย์ประสานงานระดับชาติเพื่อทำหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและหน้าที่อื่นๆ