ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

 

 

 

บทนำ

              ปัจจุบันความต้องการใช้พลังงานของประชาชนเพิ่มมากขึ้น แต่พลังงานภายในประเทศมีปริมาณน้อยลง การหาแหล่งพลังงานทดแทนจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับประเทศไทย รัฐบาลมีนโยบายและแนวทางในการผลิตพลังงานทดแทนจากแหล่งภายในประเทศ เพื่อให้มีพลังงานเพียงพอกับความต้องการของประชาชน และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อัจฉรา และคณะ, มปป.) จึงมีการนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรมาใช้ผลิตเชื้อเพลิงในรูปของถ่านอัดแท่งสำหรับใช้ในครัวเรือนและอุตสาหกรรม เพื่อทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงจากถ่านไม้และฟืน ที่มีปริมาณลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรหลายชนิดมีคุณสมบัติทางด้านเชื้อเพลิง รวมทั้ง ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมีพืชผลทางการเกษตรมากมาย ภายหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตจะมีเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรจำนวนมาก เช่น กะลามะพร้าว ซังข้าวโพด แกลบ ฟางข้าว ชานอ้อย ลำต้นมันสำปะหลัง กะลาปาล์ม และเปลือกผลไม้ เป็นต้น โดยวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเหล่านี้ก่อนที่จะนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงต้องผ่านกระบวนการแปรรูปให้เหมาะสมตามขั้นตอน คือ การผลิตถ่าน การบดย่อย การผสม การอัดแท่ง และการตากแห้ง แต่การผลิตถ่านอัดแท่งมักประสบปัญหาด้านคุณภาพ ได้แก่ ถ่านมีลักษณะเปราะ มีควันระหว่างการติดไฟ มีความชื้นเมื่อวางทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องทำให้เกิดเชื้อรา จุดติดยาก และระยะเวลาเผาไหม้สั้น (สำนักเทคโนโลยีชุมชน, 2559)

              กรมวิทยาศาสตร์บริการจึงได้จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพถ่านอัดแท่งและถ่านผลไม้ดูดกลิ่นให้ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ โดยนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปถ่ายทอดให้แก่ผู้ประกอบการ สำหรับนำไปพัฒนากระบวนการผลิต คุณภาพผลิตภัณฑ์ถ่านอัดแท่งและถ่านผลไม้ดูดกลิ่นจากเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เพื่อยกระดับให้ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.238/2547) เพิ่มมูลค่าของวัสดุ และเป็นการนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า (กรมวิทยาศาสตร์บริการ, 2558)