ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

 

 

 

บทนำ

              ปัจจุบันมนุษย์มีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้น โดยนำไปใช้ในกิจกรรมเพื่อพัฒนาและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในโลก พลังงานส่วนใหญ่ที่ใช้ในปัจจุบันเป็นพลังงานที่ได้มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรรมชาติและถ่านหิน เป็นที่ทราบกันว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลไม่สามารถผลิตขึ้นมาทดแทนได้ทันกับความต้องการในการใช้พลังงานที่มีมากขึ้น ทำให้การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมีไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องมองหาพลังงานทางเลือก (Alternative energy) ชนิดใหม่มาทดแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีอยู่เดิม พลังงานทางเลือกที่สามารถนำมาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น พลังงานจากชีวมวล (Biomass) ซึ่งเป็นพลังงานที่ได้จากอินทรีย์สารของพืชและสัตว์ต่างๆ ได้แก่  พืชเกษตรกรรม วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรและอุตสาหกรรม เศษไม้ ขยะมูลฝอย ฯลฯ โดยใช้กระบวนการ แปรรูปชีวมวลไปเป็นพลังงานรูปแบบต่างๆ ได้แก่ การเผาไหม้โดยตรง การผลิตก๊าซ การหมัก และการผลิตเชื้อเพลิงเหลวจากพืช นอกจากพลังงานจากชีวมวลแล้ว ยังมีพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานนิวเคลียร์ โดยคุณสมบัติที่สำคัญของพลังงานทางเลือกคือ เป็นพลังงานสะอาด มีการปลดปล่อยก๊าซพิษน้อยกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล และสามารถสร้างทดแทนได้ตลอดเวลา พลังงานจากชีวมวลจึงมีความน่าสนใจและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นพลังงานที่มีราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้น้ำมัน อีกทั้งประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมทำให้มีผลผลิตทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก จึงส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตเชื้อเพลิงจากชีวมวล มีราคาไม่สูงมากนัก นอกจากนี้การใช้เชื้อเพลิงจากชีวมวลยังสามารถช่วยรักษาสภาพแวดล้อมได้  เนื่องจากการใช้พลังงานจากชีวมวลจะไม่ก่อให้เกิดก๊าซที่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมเหมือนกับการใช้เชื้อเพลิง  ฟอสซิล  ก๊าซเหล่านี้ ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ซึ่งมีความเป็นพิษโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิตและทำให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน (Global warming)  นอกจากนี้ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ยังปลดปล่อยสารที่เป็นพิษอื่นๆ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ฝุ่นละอองขนาดเล็กและไอระเหยของสารประกอบอินทรีย์ชนิดต่างๆ ออกมา ทำให้แต่ละประเทศมีการศึกษาเกี่ยวกับพลังงานจากชีวมวลกันมากขึ้นเพื่อนำชีวมวลประเภทต่างๆ มาใช้ผลิตเป็นพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล นอกจากนี้ ภายหลังจากการแปรรูปชีวมวลเป็นพลังงานแล้วส่วนที่เหลือยังสามารถนำไปทำปุ๋ยให้กับพืชได้ เนื่องจากยังคงมีแร่ธาตุต่างๆ อย่างสมบูรณ์ เช่น แคลเซียม (Ca) แมกนีเซียม (Mg) โพแทสเซียม (K) และฟอสฟอรัส (P) ดังนั้นพลังงานจากชีวมวลจัดเป็นพลังงานสีเขียวที่มีส่วนสำคัญในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เช่น CO2 และ NO2 และช่วยให้เศรษฐกิจของโลกมีความสมดุลมากยิ่งขึ้น เนื่องจากส่งผลให้ราคาพืชผลทางการเกษตรสูงขึ้นและสามารถแข่งขันกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นได้ทำให้ประเทศเกษตรกรรมลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันได้  การนำชีวมวลมาใช้ประโยชน์โดยไปผสมหรือใช้ร่วมกับเชื้อเพลิงฟอสซิลสามารถลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้ในบ้านเรือน หรือภาคเกษตรกรรมได้ เช่น ใช้กับเครื่องยนต์ในฟาร์ม ใช้ในการปั้มน้ำ การให้แสงสว่างและให้ความร้อน นอกจากนี้ ยังนำไปใช้ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อให้ความร้อนได้อีกด้วย การนำไปใช้ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับหลายๆ ด้าน เช่น สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ รวมทั้งการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ บทความนี้ได้กล่าวถึงวิธีการแปรรูปชีวมวลไปเป็นพลังงาน รวมถึงความแตกต่างของพลังงานที่ได้จากการแปรรูปและการนำพลังงานจากชีวมวลไปใช้ประโยชน์