ยางธรรมชาติ (Natural rubber; NR) เป็นวัสดุพอลิเมอร์ธรรมชาติชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่ได้มาจากต้นยางพารา (Hevea brasilensis) น้ำยางธรรมชาติที่ได้จากการกรีดต้นยางพารามีลักษณะเป็นของเหลวสีขาวคล้ายน้ำนม มีสภาพเป็นคอลลอยด์ ในน้ำยางธรรมชาติประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นยางแห้ง (Dry rubber content) ประมาณร้อยละ 25-40 โดยน้ำหนัก และส่วนที่ไม่ใช่ยาง (Non-rubber content) ประมาณร้อยละ 5-10 โดยน้ำหนัก ซึ่งยางธรรมชาติเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน มีสูตรทางเคมี คือ C5H8 และมีการจัดเรียงตัวของโมเลกุลเป็นแบบ cis-1,4-polyisoprene
(ที่มา : http://scijournal.kku.ac.th/files/Vol_41_No_3_P_567-581.pdf)
โดยยางธรรมชาติถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ เนื่องจากมีคุณสมบัติโดดเด่น คือ
1. ความยืดหยุ่น (Elasticity) ยางธรรมชาติมีความยืดหยุ่นสูง โดยสามารถกลับคืนสู่รูปร่างที่มีขนาดเท่าเดิมหรือขนาดใกล้เคียงได้อย่างรวดเร็ว ภายหลังการเปลี่ยนแปลงรูปร่างเนื่องจากการที่มีแรงภายนอกมากระทำ
2. ความทนทานต่อแรงดึง (Tensile strength) ยางธรรมชาติมีความทนทานต่อแรงดึงสูง เนื่องจากยางธรรมชาติสามารถเกิดการตกผลึกเมื่อได้รับแรงดึง เชื่อกันว่าการเกิดผลึกนี้ช่วยให้ยางธรรมชาติมีความทนทานต่อแรงดึงที่สูงทั้งก่อนและหลังการทำให้คงรูป
3. ความทนทานต่อการฉีกขาด (Tear strength) ยางธรรมชาติมีความทนทานต่อการฉีกขาดสูง เนื่องจากความสามารถในการเกิดผลึกเมื่อได้รับแรงดึงของยางธรรมชาติ โดยผลึกที่เกิดขึ้นนี้จะมีการเรียงตัวในแนวเดียวกับแรงดึงและตั้งฉากกับรอยฉีกขาด ทำให้ขัดขวางการฉีดขาดที่เกิดขึ้น
4. สมบัติเชิงพลวัต (Dynamic properties) ยางธรรมชาติมีสมบัติเชิงพลวัตที่ดี ยางมีการสูญเสียพลังงานในรูปของความร้อนตํ่าในระหว่างการใช้งาน และยังมีความต้านทานต่อการล้าตัว (Fatigue resistance) สูง
5. ความเหนียวติดกัน (Tack) ยางธรรมชาติมีความเหนียวติดกันสูง โดยเฉพาะในยางที่ไม่ได้ผ่านการคงรูป สามารถยึดติดกับวัสดุอื่นได้ เช่น โลหะ และสิ่งทอ
6. ความทนทานต่อการขัดถู (Abrasion resistance) ยางธรรมชาติมีความทนทานต่อการขัดถูที่ดี
ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ สามารถแบ่งผลิตภัณฑ์ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้จากยางน้ำข้น ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์จุ่ม เช่น ถุงมือผ่าตัด ถุงมือตรวจโรค ถุงมือแม่บ้าน ถุงมืออุตสาหกรรม ถุงยางอนามัย ลูกโป่ง จุกนมยาง ท่อสวนปัสสาวะ เป็นต้น
- ผลิตภัณฑ์นํ้ายางในอุตสาหกรรมพรม เช่น พรม Tufted carpet มีการใช้นํ้ายางอาบหลังพรมเพื่อยึดพรมไว้
- ผลิตภัณฑ์ยางฟองนํ้า (Latex foam) เช่น ใช้ทำที่นอน หมอน เบาะรองนั่ง เป็นต้น
- สายยางยืด เช่น ยางยืดขอบกางเกงใน ถุงเท้า และเสื้อชั้นใน ยางรัดขาไก่ ยางรัดป้ายติดกระเป๋า เป็นต้น
- ใช้นํ้ายางเป็นตัวยึดฟูกใยขนสัตว์ และกาบมะพร้าว
ถุงมือตรวจโรค จุกนมยาง หมอนยางธรรมชาติ
(ที่มา : http://www.skindustry.co.th/ (ที่มา : https://anfashop.com/shop/ (ที่มา : https://www.pchome.co.th/pro/
product/ถุงมือยางธรรมชาติ/) จุกนมยางธรรมชาติ-100-s-1-dome-type-แพ็/) content/show/3021804107276)
2. ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้จากยางแห้ง ได้แก่
- ยางยานพาหนะ เช่น ยางล้อรถยนต์ ยางล้อเครื่องบิน ยางล้อรถจักรยานยนต์ ยางล้อรถจักรยาน เป็นต้น โดยมีคุณสมบัติยืดหยุ่นทนต่อแรงกระแทกและแรงดึงได้ดี
- ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในงานก่อสร้างและวิศวกรรม เช่น แผ่นยางปูพื้น บล็อกยางปูพื้น ยางคั่นรอยต่อคอนกรีต ยางรองคอสะพาน เป็นต้น
- รองเท้าและพื้นรองเท้า โดยรองเท้าและพื้นรองเท้าที่ผลิตจากยางธรรมชาติ มีความยืดหยุ่นสูง นุ่มสบายเท้า น้ำหนักเบา และป้องกันการลื่นได้ดี
- ยางรัดของ
ยางล้อรถยนต์ ยางรัดของ
(ที่มา : https://chobrod.com/auto-market/ (ที่มา : https://www.janivisoffice.co.th/product/ยางรัดของวงเล็ก/)
สมอ-เตรียมออก-4-มอก-คุมมาตรฐานยางล้อรถยนต์ใหม่-3720)
นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปยางธรรมชาติในการสร้างพื้นลู่-ลานกรีฑา สนามกีฬา และลานอเนกประสงค์ โดยใช้ยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบในการผลิตเม็ดยาง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาง และอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร และลดค่าใช้จ่ายในนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศ
(ที่มา : http://164.115.22.186/webmost/main/index.php/contribution/practical-rd/4337-2015-02-10-06-52-35.html)
นับได้ว่ายางธรรมชาติเป็นพอลิเมอร์ชนิดหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เพราะผลิตภัณฑ์หลายๆ ชนิดที่ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันมักถูกผลิตมาจากยางธรรมชาติ ดังนั้น การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติสามารถช่วยส่งเสริมการใช้ยางธรรมชาติภายในประเทศ ลดปริมาณยางในสต๊อกให้น้อยลง ทำให้ส่งผลดีต่อการขยายตัวทางศรษฐกิจของประเทศมากขึ้นด้วย
เอกสารอ้างอิง
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. การพัฒนาวัสดุยางสังเคราะห์และยางธรรมชาติเพื่อสร้างพื้นลู่-ลานกรีฑา สนามกีฬา และลานอเนกประสงค์. [ออนไลน์]
[อ้างถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561]. เข้าถึงจาก : http://164.115.22.186/webmost/main/index.php/contribution/practical-rd/4337-2015-02-10-06-52-35.html
จิตต์ลัดดา ศักดาภิพาณิชย์. สมบัติของยางธรรมชาติ. เทคโนโลยียางธรรมชาติ : ความรู้ใหม่เกี่ยวกับยางธรรมชาติ จากโครงสร้างโมเลกุลถึงการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม,
กรุงเทพฯ : เทคโนโนบิช คอมมิวนิเคชั่นส์, 2553, หน้า 39-41.
ภิญโญ วงษ์ทอง และสุดา เกียรติกำจรวงศ์. การดัดแปรยางธรรมชาติด้วยวิธีทางเคมี : การทบทวนวรรณกรรมอย่างกระชับ. [ออนไลน์]
[อ้างถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561]. เข้าถึงจาก : file:///C:/Users/SI4-22/Downloads/kmuttv40n4_1.pdf
สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. ประมวลสารสนเทศพร้อมใช้ เรื่อง การประยุกต์ใช้ยางธรรมชาติในอุตสาหกรรม (IR 39).
[ออนไลน์] [อ้างถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561]. เข้าถึงจาก : http://siweb.dss.go.th/repack/fulltext/IR%2039.pdf
สุวดี ก้องพารากุล. เทคโนโลยีการดัดแปรยางธรรมชาติและการประยุกต์ใช้ (Natural rubber modification technology and its applications). [ออนไลน์]
[อ้างถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561]. เข้าถึงจาก : http://scijournal.kku.ac.th/files/Vol_41_No_3_P_567-581.pdf