ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

 

 

       เส้นใยสังเคราะห์ (Synthetic fibers) เป็นพอลิเมอร์ที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นจากสารอนินทรีย์ หรือสารอินทรีย์ ซึ่งเกิดจากมอนอเมอร์ที่แตกต่างกัน 2 ชนิด ที่ไม่มีพันธะคู่อยู่ระหว่างอะตอมของคาร์บอน แต่เป็นมอนอเมอร์ที่มีหมู่ฟังก์ชันพิเศษ เช่น หมู่ไฮดรอกซิล (-OH) หมู่คาร์บอกซิล (-COOH) หรือหมู่อะมิโน (-NH2) โดยนำมาทำปฏิกิริยาพอลิเมอไรเซชันแบบควบแน่น (Condensation polymerization) เพื่อให้มีการเชื่อมต่อระหว่างมอนอเมอร์ต่างๆ ที่บริเวณหมู่ฟังก์ชัน จนเกิดเป็นพอลิเมอร์ของเส้นใยสังเคราะห์ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ชนิดหลักๆ คือ

       1. เส้นใยพอลิเอสเตอร์ (Polyester) เป็นพอลิเมอร์ที่เกิดจากการเกาะเกี่ยวระหว่างสารอะโรมาติกที่เป็นกรดและสารแอลกอฮอล์ ด้วยพันธะหมู่เอสเตอร์ พบว่าเส้นใยสังเคราะห์ชนิดนี้เป็นที่นิยมใช้กันมากที่สุด โดยเฉพาะที่มีชื่อทางการค้าว่า Dacron และ Kodel เนื่องจากมีคุณสมบัติที่ดีหลายประการ คือ

              (1) สมบัติทางกายภาพ ลักษณะเส้นใยมีสีขาว ผิวเรียบ มีความแข็งแรง ทนทานต่อการขัดถูได้ดีไม่ว่าอยู่ในสภาพแห้งหรือเปียก มีความยืดหยุ่นปานกลาง ความสามารถในการดูดซึมความชื้นต่ำ ทำให้ผลิตภัณฑ์แห้งเร็ว รวมถึงมีค่าการคืนตัวจากแรงอัดอยู่ในระดับดี ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ไม่ยับง่าย
              (2) สมบัติทางเคมี ทนทานต่อสารฟอกขาวทุกชนิด ทนต่อกรดอ่อนได้ดี แต่ละลายในกรดกำมะถันเข้มข้นและร้อน ไม่ทนต่อด่างแก่ นอกจากนี้ยังทนทานต่อราและแมลง รวมถึงแสงแดดได้ดี 
              (3) การใช้ประโยชน์ นิยมนำมาใช้ตัดเสื้อผ้าได้ทุกชนิด ทุกแบบ โดยเฉพาะที่ต้องการไม่ให้ยับง่าย หรืออัดจีบถาวร ใช้ทำผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าคลุมเตียง ผ้าม่าน เครื่องตกแต่งภายในต่างๆ ที่ทำด้วยผ้า เชือก เส้นด้าย ใบเรือ อวน ผ้าหุ้มสายไฟ 
                                                                             
(ที่มา : http://www.neutron.rmutphysics.com/news/index.php?option=com_content&task=view&id=1695)

 

       2. เส้นใยพอลิเอไมด์ (Polyamide) หรือชื่อทางการค้าคือ ไนลอน (Nylon) จัดเป็นเส้นใยสังเคราะห์ชนิดแรกของโลกที่ถูกค้นพบ ซึ่งไนลอนเป็นพอลิเมอร์แบบกึ่งผลึก (Semi-crystalline) มีหมู่เอไมด์ -(-C-O-NH-)- อยู่ในสายโซ่โมเลกุล ทำให้สามารถเกิดพันธะไฮโดรเจนกับโมเลกุลอื่นๆ ได้ ปัจจุบันมีอยู่หลายชนิด แต่ที่มีความสำคัญในด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้แก่ ไนลอน 6,6 และไนลอน 6 โดยมีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ

              (1) สมบัติทางกายภาพ ลักษณะเส้นใยมีสีขาว ผิวเรียบคล้ายแท่งแก้วยาว มีความแข็งแรง ทนทานต่อแรงดึงสูง ความคืนตัวดี ไม่ยับง่าย ความสามารถในการดูดซึมความชื้นต่ำ มีความเหนียว ทนทานต่อการสึกหรอ  
              (2) สมบัติทางเคมี ทนทานต่อสารละลายอินทรีย์ได้ดี สามารถซักแห้งได้ ทนทานต่อราและแมลง รวมถึงแสงแดดได้ดี
              (3) การใช้ประโยชน์ นิยมนำมาใช้ผลิตเป็นเสื้อผ้าและของใช้อื่นๆ โดยที่ใช้ผลิตเป็นเสื้อผ้า ได้แก่ เสื้อผ้าชั้นในสตรี ถุงเท้า ถุงน่อง เสื้อผ้านักกีฬา เสื้อผ้าเหล่านี้จะใช้ผ้าไนลอนถัก ชุดว่ายน้ำ เสื้อกันลม เสื้อกันฝน ชุดเล่นสกี แจ็คเกตกันหนาว อุปกรณ์การออกแคมป์ เช่น ผ้าใช้ทำเต็นท์ กระเป๋า ถุงนอน เชือก และประโยชน์จากไนลอนที่ใข้ผลิตเป็นของใช้อื่นๆ ได้แก่ เครื่องตกแต่งบ้าน หรือที่อยู่อาศัย เช่น พรมปูพื้น ผ้าบุเก้าอี้ อีกทั้งยังสามารถนำมาเป็นผลิตร่ม ร่มชูชีพ และใบเรือ
 
                                                                              
 
                                      (ที่มา : http://aowfabric.com/blog/textile-fibres/)                                         (ที่มา : https://thai.alibaba.com/promotion/promotion_
                                                                                                                                                                    nylon-sock-promotion-list.html)
 
       3. เส้นใยอะคริลิก (Acrylic) เป็นเส้นใยที่ผลิตจากโคพอลิเมอร์ (Copolymer) เกิดจากการสังเคราะห์อะคริโลไนไตรล์ (Acrylonitrile) เป็นส่วนใหญ่กับมอนอเมอร์ชนิดอื่นๆ ในสัดส่วนที่แตกต่างกัน ซึ่งเส้นใยอะคริลิกที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางและนิยมนำใช้งาน ได้แก่ Orlon Acrilan และ Creslan เนื่องจากมีคุณสมบัติดีเหมาะสำหรับการนำไปใช้ประโยชน์หลายประการ คือ
              (1) สมบัติทางกายภาพ ลักษณะเส้นใยมีสีขาว มีความแข็งแรงปานกลาง การคืนตัวจากแรงอัดอยู่ในระดับดี ทำให้ไม่ยับง่าย รวมถึงมีความยืดหยุ่น และความสามารถในการดูดซึมความชื้นค่อนข้างต่ำ
              (2) สมบัติทางเคมี ทนทานต่อกรดได้แทบทุกชนิด ทนทานต่อสารละลายอินทรีย์ได้ดี สามารถซักแห้งได้ ใช้กับสารซักฟอกได้ทุกชนิด รวมถึงทนทานต่อราและแมลง แสงแดด และเหงื่อได้ดี
              (3) การใช้ประโยชน์ เส้นใยอะคริลิกสามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย เนื่องจากเป็นเส้นใยที่มีความอ่อนนุ่น พองฟู น้ำหนักเบา มีการทิ้งตัวดี ดูแลรักษาง่าย สวยงามคล้ายขนสัตว์ การใช้งานส่วนใหญ่โดยเฉพาะเส้นใยสั้นมักนำมาใช้แทนขนสัตว์ธรรมชาติ  เช่น ผ้าขนสัตว์เทียม เสื้อสเวตเตอร์ เสื้อโค้ท ซึ่งมีราคาถูกและช่วยแก้ปัญหาการแพ้ขนสัตว์ได้ดี นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้ผลิตเสื้อสูทชายหญิง ผ้าห่ม พรม ม่าน ผ้าใบ 
 
 
                                                                         
 
               (ที่มา : https://www.ulsliving.com/how-to-choose-the-right-upholstery-fabric/)                 (ที่มา : https://th.carolchanning.net/dom-i-semya/
                                                                                                                                             /23102-kover-iz-akrila-plyusy-i-minusy-otzyvy.html)
 
       ทั้งนี้ เส้นใยสังเคราะห์ผลิตขึ้นเพื่อนำมาใช้ทดแทนเส้นใยจากธรรมชาติ (Natural fibers) เนื่องจากมีคุณสมบัติบางประการโดดเด่นกว่าเส้นใยจากธรรมชาติ ทั้งทนทานต่อจุลินทรีย์ เชื้อรา และแบคทีเรีย ทนทานต่อการซักล้าง ไม่ยับง่าย มีความยืดหยุ่นดี รวมถึงสามารถปรับปรุงสมบัติได้หลากหลาย ทำให้นำมาใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งช่วยตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี 
 
เอกสารอ้างอิง
ดรรชนี  พันธวรากร. เอกสารประกอบการสอนเทคโนโลยีสิ่งทอ (Textile technology).  [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 11 มกราคม 2562].  
       เข้าถึงจาก : http://www.inc.science.cmu.ac.th/thai/upload/article/file/12-11-05-37a74.pdf
บุญรักษ์  กาญจนวรวณิชย์. ไนลอน (Nylon).  [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 11 มกราคม 2562].  
       เข้าถึงจาก : http://www.electron.rmutphysics.com/science-news/index.php?option=com_content&task=view&id=1096&Itemid=4
วีระศักดิ์  อุดมกิจเดชา. พอลิเอสเตอร์ (Polyester) และ อะคริลิก (Acrylic). วิทยาศาสตร์เส้นใย
       กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543,  หน้า 189-211.