องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศยกระดับความรุนแรงของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19 เป็นการระบาดครั้งใหญ่ (Pandemic) เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคสามารถติดต่อจากคนสู่คน เมื่อเข้าสู่ร่างกายมีโอกาสทำให้เสียชีวิต และเชื้อโรคกระจายตัวลุกลามไปทั่วโลก ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้คนในหลายประเทศ องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำวิธีป้องกันตัวเองให้กับประชาชน พบว่ามาตรการสำคัญมาตรการหนึ่งที่หลายๆ ประเทศรวมทั้งประเทศไทยนำมาใช้ในการควบคุมการระบาดของโรค COVID-19 ในขณะนี้ คือ มาตรการ “Social distancing”
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของประเทศสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention; CDC) ให้นิยามคำว่า Social distancing หรือ การเว้นระยะห่างทางสังคม หมายถึง การหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากมารวมตัวกัน และการรักษาระยะห่างประมาณ 2 เมตร จากผู้อื่น เนื่องจากละอองฝอยจากการไอจามกระจายได้ในระยะ 1 เมตร แต่เพื่อความปลอดภัยจากอะลองไอจามควรอยู่ห่างจากบุคคลอื่นในระยะ 2 เมตร ซึ่งหากเราสูดหายใจเอาละอองเหล่านั้นเข้าไป หรือมือไปสัมผัสโดนละอองตามพื้นผิวแล้วมาขยี้ตา จมูก หรือปาก ก็อาจทำให้ติดเชื้อ COVID-19 ได้
(ที่มา : https://www.thaihealth.or.th/Content/51523--อยู่ห่างระยะ%202%20เมตร%20เพื่อความปลอดภัยจากละอองฝอยของคนที่ไอจาม.html)
มาตรการ Social distancing ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 เพราะก่อนหน้านี้เคยถูกนำมาใช้ในเหตุการณ์การระบาดทั่วโลกในหลายครั้ง เช่น การระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) ในระหว่างปี ค.ศ. 1918-1920 พบว่าการทำ Social Distancing สามารถช่วยลดอัตราการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดระดับความรุนแรงของการระบาดได้จริง ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ทีมนักวิจัยได้มีการศึกษาค้นคว้าเอกสารข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2563 และทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของการแพร่กระจายของ Coronavirus ในประเทศจีน พบว่า ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ COVID-19 ทุกกรณีของจีน มีแนวโน้มว่าจะมีอีก 5-10 คน ที่ไม่ถูกตรวจพบว่า ติดเชื้อ แต่หลังจากจีนจำกัดการเดินทาง และใช้มาตรการ Social distancing การแพร่กระจายของ COVID-19 ก็ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้รัฐบาลในหลายๆ ประเทศออกมาตรการ Social Distancing ที่เข้มงวดและครอบคลุมมากขึ้น เพราะถือเป็นหนึ่งในมาตรการที่ดีที่สุดที่มนุษย์จะสามารถชะลอการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้ได้
หากเปรียบเทียบกราฟเรื่องการชะลอเส้นโค้งการระบาด (Flatten the curve) สามารถพบได้ 3 แบบ ได้แก่ แบบเส้นโค้งสีแดง (ไม่มีการควบคุมการระบาด) คือ มีจำนวนผู้ป่วยโรค COVID-19 เพิ่มเป็นสองเท่าทุกๆ 4-7 วัน แต่ถ้ามีการทำ Social distancing การแพร่ระบาดจะถูกย่อลงเป็นแบบเส้นโค้งสีเขียว คือ มีจำนวนผู้ป่วยลดลง ไม่ป่วยเข้าโรงพยาบาลพร้อมๆ กัน และนักวิจัยมีเวลาเพียงพอในการคิดค้นยาและวัคซีน ซึ่งถ้าทุกคนเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเต็มที่ก็จะสามารถกดจำนวนผู้ป่วยลงเป็นแบบเส้นโค้งสีฟ้า
ภาพจำลองการระบาดของ COVID-19 (ดัดแปลงจาก : Anderson, R. M. et al, 2020)
(ที่มา : https://themomentum.co/social-distancing/)
สำหรับประเทศไทย Social Distancing เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำและแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติ เพื่อช่วยป้องกันการสัมผัสกับเชื้อไวรัสจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ด้วยการสร้างระยะห่างระหว่างตัวเรากับคนอื่นในสังคม และหากประชาชนร่วมมือกันได้ 80 เปอร์เซ็นต์ ก็จะสามารถเปลี่ยนเส้นทางการแพร่เชื้อในประเทศให้ลดลงได้ โดยแบ่งระดับของ Social Distancing ออกเป็น 3 ระดับ คือ
1. ระดับบุคคล โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ควรระมัดระวังในการป้องกันตัวเอง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันค่อนข้างต่ำ อาจทำให้ติดเชื้อง่ายกว่ากลุ่มอื่น ควรหลีกเลี่ยงการรวมตัวของคนหมู่มาก ลดใช้ขนส่งสาธารณะ ลดการออกไปนอกบ้านโดยไม่จำเป็น เช่น งดไปงานเลี้ยงสังสรรค์ สั่งอาหารมารับประทานที่บ้าน
(ที่มา : https://www.marketingoops.com/ (ที่มา : https://www.sanook.com/health/21569/)
news/department-store-social-distancing-19/)
2. ระดับองค์กร สถานที่ทำงานควรมีมาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน หรือการทำงานที่บ้าน (Work from home) เป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและการแพร่เชื้อจากการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะที่มีความแออัดในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ทำให้สามารถป้องกันการแพร่เชื้อทั้งภายในและภายนอกที่ทำงาน รวมถึงสถานศึกษาควรจัดให้มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในมหาวิทยาลัยและโรงเรียน
(ที่มา : https://brandinside.asia/ten-do- (ที่มา : https://www.prachachat.net/education/news-450564)
and-dont-technic-for-work-from-home/)
3. ระดับชุมชน ควรลดหรืองดกิจกรรมทางสังคมต่างๆ เช่น การแข่งขันกีฬา พิธีกรรมทางศาสนา หากไม่สามารถงดหรือเลื่อนได้ ควรลดจำนวนของผู้ที่มาร่วมงาน จัดเก้าอี้ให้นั่งห่างกันประมาณ 1 เมตร และจัดพื้นที่สำหรับล้างมือ หรือให้บริการเจลแอลกอฮอล์สำหรับผู้ที่มาร่วมงาน และต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย
(ที่มา : http://www.lampang13.com/archives/21940)
นอกจากนี้ ยังมีการทำ Social distancing ในแต่ละสถานที่ของประเทศไทย ในระดับ 50 เปอร์เซ็นต์ และ 80 เปอร์เซ็นต์ แสดงดังภาพ
อ้างอิง : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (27 มีนาคม)
(ที่มา : https://thestandard.co/social-distancing-expecting-to-help-decrease-coronavirus-number/)
จะเห็นได้ว่า มาตรการ Social Distancing เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการช่วยลดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้ดี แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนรวมถึงประชาชนทุกคน หากทุกคนตระหนักและมีจิตสำนึกต่อส่วนรวม ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข หมั่นคอยดูแลสุขภาพ และป้องกันตัวเองจากความเสี่ยง เชื่อว่าอีกไม่นานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยจะลดลงได้ในที่สุด
เอกสารอ้างอิง
เนชั่นทีวี. กรมอนามัย เข้ม Social Distancing ‘บุคคล-องค์กร-ชุมชน’ ลดแพร่เชื้อ COVID-19. [ออนไลน์] [อ้างถึงวันที่ 14 เมษายน 2563].
เข้าถึงจาก : https://www.nationtv.tv/main/content/378769063/
รู้จัก Social distancing ห่างกันสักนิด ลดการแพร่ COVID-19. [ออนไลน์] [อ้างถึงวันที่ 2 เมษายน 2563].
เข้าถึงจาก : https://techsauce.co/news/social-distancing-prevent-covid-19
สำนักข่าวอิศรา. ถอยห่างอีกนิด เว้นระยะห่างทางสังคม 2 เมตร อาวุธลดการแพร่ระบาดโควิด-19. [ออนไลน์] [อ้างถึงวันที่ 2 เมษายน 2563].
เข้าถึงจาก : https://www.isranews.org/article/isranews/86625-cov.html
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์. ‘ห่างก่อน’ ระยะห่างทางสังคม Social Distancing มีไว้ทำไมกัน?. [ออนไลน์] [อ้างถึงวันที่ 2 เมษายน 2563].
เข้าถึงจาก : https://www.posttoday.com/life/work-life-balance/618446
Social Distancing: เมื่อโควิด-19 ทำให้เราต้อง ‘ห่างกันสักพัก’. [ออนไลน์] [อ้างถึงวันที่ 2 เมษายน 2563].
เข้าถึงจาก : https://themomentum.co/social-distancing/
THE STANDARD. Social Distancing หรือการเพิ่มระยะห่างทางสังคมคืออะไร. [ออนไลน์] [อ้างถึงวันที่ 2 เมษายน 2563].
เข้าถึงจาก : https://thestandard.co/social-distancing/