- พริกแกง
- ความหมายพริกแกง
- ขั้นตอนการผลิตพริกแกง
- สูตรพริกแกง
- พริกแกง OTOP
- การยืดอายุและการเก็บรักษาพริกแกง
- แอคติวิตีของน้ำ (Water activity)
- การจำแนกอาหารตามค่าแอคติวิตีของน้ำ (Water activity)
- Water Activity กับอายุการเก็บรักษาผลิตภัณ์อาหาร
- การวัดค่า Water Activity
- เครื่องมือที่ใช้ในการวัดค่า Aw
- วิธีการลดค่า Water Activity ในพริกแกง
- รวบรวมบทความและงานวิจัยเกี่ยวกับอิทธิพลของการควบคุมค่า Aw ในน้ำพริกแกง
- บทสรุป
- เอกสารอ้างอิง
- All Pages
5. การยืดอายุและการเก็บรักษาพริกแกง
ปัจจุบันเครื่องแกงหรือพริกแกงที่ขายตามท้องตลาด จะมีเครื่องแกงหลายชนิดและมีผู้ผลิตและผู้ขายค่อนข้างมาก และการวางจําหน่ายตามท้องตลาดส่วนใหญ่ มีการบรรจุในภาชนะเปิดโล่ง เช่น กะละมัง ไม่มีภาชนะปิดไว้ที่จะป้องกันการปนเปื้อนจากสิ่งสกปรก ฝุ่นละออง หรือจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นวิธีการดูแลผลิตภัณฑ์หลังการผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทําให้อายุการเก็บรักษาได้ไม่นาน นอกจากนี้ สาเหตุที่เครื่องแกงที่วางขายตามท้องตลาดมักพบปัญหามีอายุการเก็บรักษาไม่ได้นาน เนื่องจาก
- ส่วนผสมในการทําเครื่องแกงมักจะเป็นของสดเช่น พริก ข่า ตะไคร้ กระเทียม หัวหอมแดง ซึ่งส่วนประกอบเหล่านี้มีการปนเปื้อนของดิน เชื้อแบคทีเรีย เชื้อราต่างๆ หากส่วนผสมเหล่านี้ทําความสะอาดไม่ดีพอ และสุขลักษณะในการผลิตไม่ดีพอจะทําให้เกิดเชื้อราหรือเกิดเน่าเสียได้ง่าย
- การบรรจุภัณฑ์อาหารที่ไม่เหมาะสมในการเก็บรักษา
- มีความชื้นสูง มีค่าแอคติวิตีของน้ำหรือปริมาณน้ำอิสระสูง
ปัจจุบันเทคโนโลยีทางด้านอาหารถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการคัดเลือก การผลิต การบรรจุ รวมทั้งการเก็บรักษา เทคโนโลยีทางด้านการเก็บรักษาและยืดอายุอาหารที่ใช้กันอยู่ในทั่วไปมีหลากหลายวิธี โดยเรียกรวมกันว่า Hurdle Technology(เทคโนโลยีเฮอร์เดิล) หรือเรียกว่า เทคโนโลยีในการยืดอายุการเก็บรักษาอาหาร เทคโนโลยีเฮอร์เดิลเป็นการเลือกใช้ปัจจัยหรือวิธีการต่างๆ มาใช้ร่วมกันอย่างเหมาะสมในอาหารแต่ละชนิด ซึ่งการยืดอายุการเก็บรักษาพริกแกงหรือเครื่องแกงนั้นก็ใช้พื้นฐานจากหลักการของ Hurdle Technology เช่นกัน ตารางที่ 1 แสดงวิธีการยืดอายุแบบต่างๆ ซึ่งแบ่งแยกตามปัจจัยที่ต้องควบคุม และวัตถุประสงค์ของวิธีการว่าเป็นการยับยั้ง ทำลาย หรือป้องกันจุลินทรีย์
ตารางที่ 1เทคโนโลยีที่ใช้ในปัจจุบันในการยืดอายุการเก็บรักษาอาหาร
วัตถุประสงค์ |
ปัจจัย |
วิธีการ |
ชะลอหรือยับยั้งการ เจริญของจุลินทรีย์ |
ลดอุณหภูมิ |
แช่เย็นหรือแช่เยือกแข็งขณะขนส่งและเก็บรักษา
|
|
ลดค่าวอเตอร์แอคติวิตี้หรือเพิ่ม ออสโมลาลิตี้ (osmolality) |
ทำแห้งและทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง การเคียวริ่งด้วยเกลือ การเติมน้ำตาล
|
|
ลดออกซิเจน |
บรรจุแบบสุญญากาศหรือใช้ไนโตรเจน |
|
เพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์ |
บรรจุแบบควบคุมหรือดัดแปลงบรรยากาศ
|
|
ลดค่า pH |
เติมกรด หรือหมักกรดแลกติกหรือ อะซิติก
|
|
จำกัดการได้รับอาหาร |
ควบคุมโครงสร้างขนาดเล็ก และช่องว่างระหว่างเฟสในอิมัลชันแบบน้ำในน้ำมัน
|
|
|
|
วัตถุประสงค์ |
ปัจจัย |
วิธีการ |
การทำลายจุลินทรีย์ |
การใช้วัตถุกันเสีย |
เติมวัตถุกันเสีย ทั้งชนิดอนินทรีย์ (ซัลไฟต์ ไนไตรท์) ชนิดอินทรีย์ (โพรพิโอเนต ซอร์เบตเบนโซเอท พาราเบน) แบคทีริโอซิน (ไนซิน)สารต้านเชื้อรา (นาตามัยซิน ไพมาริซิน)
|
การป้องกันการ ปนเปื้อนจากจุลินทรีย์ |
ลดการปนเปื้อน (decontamination) |
ในซากสัตว์ ผักและผลไม้ โดยใช้ไอน้ำ กรดอินทรีย์ ไฮโปคลอไรท์ และโอโซน ในองค์ประกอบอาหารใช้ความร้อนและฉายรังสี และในภาชนะบรรจุใช้ความร้อนไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์และฉายรังสี
|
|
กระบวนการปลอดเชื้อ (aseptic processing) |
กระบวนการให้ความร้อนและบรรจุโดย ปราศจากการปนเปื้อนซ้ำ |
ที่มา : Gould (1989)
จากที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น สาเหตุหลักของการที่พริกแกงมีอายุการเก็บรักษาไมไดนานเนื่องจากความสดและความสะอาดของวัตถุดิบและการเตรียมวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ และความชื้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ง่ายต่อการดำเนินการและควบคุมโดยมีวิธีการต่างๆ ดังนี้
5.1 การคัดเลือกและจัดเตรียมวัตถุดิบเพื่อช่วยยืดอายุการเก็บรักษามีดังนี้
- เลือกวัตถุดิบสดใหม่ ไม่มีเชื้อราขึ้น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องทำเป็นอันดับแรก
- นำวัตถุดิบที่คัดเลือกไว้แล้วมาล้าง การล้างเป็นขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบที่สำคัญก่อนเข้าสู่กระบวนการแปรรูปอาหาร มีวัตถุประสงค์ เพื่อกำจัดสิ่งสกปรก สิ่งแปลกปลอม และลดอันตรายในอาหาร (food hazard) โดยเฉพาะอันตรายจากจุลินทรีย์
- ให้ความร้อนด้วยวิธีการคั่วหรือทอดตามความเหมาะสม วิธีการนี้สามารถลดปริมาณแบคทีเรีย เชื้อรา และยังลดปริมาณน้ำในวัตถุดิบได้ด้วย
5.2 บรรจุภัณฑ์หรือการบรรจุอาหาร
บรรจุภัณฑ์หรือการบรรจุอาหารมีบทบาทสำคัญในการเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะช่วยรักษาคุณภาพอาหารซึ่งอาจทำให้เปลี่ยนแปลงไปโดยปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม วัตถุประสงค์หลักที่สำคัญมากคือ การยืดอายุการเก็บของอาหารให้ยาวนานขึ้น และสามารถรักษาคุณภาพของอาหารให้คงอยู่จนกระทั่งบริโภคหมด โดยพื้นฐานของบทบาทบรรจุภัณฑ์แล้ว การปิดผนึกเพื่อป้องการรั่วซึมจำเป็นต้องเลือกใช้วัสดุที่ทำบรรจุภัณฑ์จากวัตถุดิบหลายชนิด สิ่งที่ควรคำนึงถึง คือ
- ชนิดของผลิตภัณฑ์
- วิธีการในการเก็บรักษาและระดับของอุณหภูมิที่เหมาะสม
- ความเสี่ยงต่อมลภาวะ
- อายุการเก็บที่ต้องการ
ปัจจุบันเทคโนโลยีการบรรจุอาหารแบบต่อต้านจุลินทรีย์ เป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่ได้รับความสนใจในการนำมาใช้ในการบรรจุอาหารกันมากขึ้น การบรรจุอาหารแบบต่อต้านจุลินทรีย์ หมายถึง ระบบการบรรจุที่สามารถทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเน่าเสีย (Spoilage Microorganism) และจุลินทรีย์ก่อโรค (Pathogens) ที่ปนเปื้อนในอาหาร เพื่อช่วยรักษาความปลอดภัย รวมทั้งถนอมรักษาคุณภาพ และยืดอายุการเก็บรักษาของอาหาร (Suppakul et al., 2003) เป็นระบบการบรรจุที่นิยมใช้กับอาหารที่เสื่อมเสียง่ายจากจุลินทรีย์
การบรรจุอาหารแบบต่อต้านจุลินทรีย์เป็นรูปแบบหนึ่งของการบรรจุอาหารแบบแอคทีฟ (Active packaging) ที่สามารถพัฒนาต่อไปได้ในเชิงธุรกิจ วัสดุบรรจุแบบต่อต้านจุลินทรีย์สามารถลดอัตราการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ยืดระยะพัก (Lag phase) ของการเจริญของจุลินทรีย์ (Han, 2000) และประกันความปลอดภัยของอาหาร วัสดุบรรจุนี้ช่วยรักษาความเสถียรของอาหารพาสเจอร์ไรซ์โดยปราศจากการปนเปื้อนหลังการบรรจุ หรือช่วยลดการเจริญของจุลินทรีย์ในอาหารที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการสเตอริไลเซชั่น (ภาณุวัฒน์, 2547)
หลักการในการบรรจุอาหารแบบต่อต้านจุลินทรีย์ คือ การใช้สารต้านจุลินทรีย์ (Antimicrobial agent) ร่วมกับระบบการบรรจุ โดยที่สารต้านจุลินทรีย์ เป็นสารเคมีที่เติมลงในอาหารเพื่อป้องกัน หรือชะลอการเสื่อมเสียของอาหารอันเนื่องมาจากจุลินทรีย์ ซึ่งอาจจะเป็นรา ยีสต์ หรือแบคทีเรีย โดยมีผลทำให้สมบัติของผนังเซลล์ของจุลินทรีย์เปลี่ยนไป ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ และมีผลต่อกลไกทางพันธุกรรม ทำให้จุลินทรีย์หยุดชะงักการเจริญเติบโตและตายในที่สุด (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, 2554) ซึ่งอาจใช้ในรูปซองบรรจุสารต้านจุลินทรีย์ การแต่งเติมสารต้านจุลินทรีย์ในวัสดุบรรจุ หรือการใช้พอลิเมอร์ที่มีคุณสมบัติต่อต้านจุลินทรีย์ การนำสารต้านจุลินทรีย์มาใช้ในการบรรจุอาหารจะเป็นรูปแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของสารต้านจุลินทรีย์ สมบัติและลักษณะเฉพาะของอาหาร และชนิดของจุลินทรีย์ที่ก่อปัญหา (งามทิพย์, 2550)
ปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพของสารต้านจุลินทรีย์
- ความเข้มข้นของสารต้านจุลินทรีย์
- ชนิด จำนวน อายุ และประวัติของจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนในอาหาร
- อุณหภูมิของอาหาร
- สมบัติทางเคมี และกายภาพของอาหาร เช่น ส่วนประกอบของอาหาร ความเป็นกรดด่างของอาหาร ความชื้น ความตึงผิว และลักษณะการเป็นคอลลอยด์ของอาหาร เป็นต้น
ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยสารต้านจุลินทรีย์สำหรับใช้ในการบรรจุอาหารกันมากขึ้น เพื่อหาสารที่เหมาะสมกับการใช้งานและมีประสิทธิภาพสูงเพียงพอในการประกันความปลอดภัยของอาหารตลอดอายุ การเก็บสารที่ใช้มีทั้งวัตถุกันเสียที่ใช้กับอาหาร สารสกัดจากพืชโดยเฉพาะพืชสมุนไพรและพืชที่มีสรรพคุณเชิงยา เอนไซม์ แบคเทอริโอซิน (Bacteriocins) สารฆ่ารา (Fangicides) ไอออนของโลหะ พอลิเมอร์ และก๊าซบางชนิด กลไกการต้านจุลินทรีย์ของสารแต่ละชนิดจะแตกต่างกัน การใช้สารต้านจุลินทรีย์หลายชนิดร่วมกันมักจะให้ผลดีกว่าการใช้สารชนิดเดียว ทั้งนี้ต้องคัดเลือกสารให้สามารถทำงานเสริมกันได้ด้วย (งามทิพย์, 2550) โดยสารต้านจุลินทรีย์ที่ใช้กันแพร่หลายในอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ กรดเบนโซอิกและเบนโซเอต ซัลเฟอร์ไดออกไซด์และเกลือซัลไฟท์ สารประกอบไนไตรต์และไนเตรต กรดซอร์บิกและเกลือซอร์เบต เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการนำสารต้านจุลินทรีย์จากธรรมชาติมาใช้เคลือบวัสดุบรรจุเพื่อยับยั้งจุลินทรีย์ ส่วนใหญ่สกัดมาจากแป้ง เซลลูโลส ไคโตซาน คาราจีแนน และแอลคาร์นิทีน (Kuorwel et al., 2011) อีกทั้งมีการผลิตฟิล์มหรือสารเคลือบกินได้จากกาแลคโตแมนแนส (Galactomannans) ซึ่งเป็นน้ำตาลที่พบในเมล็ดพืชใบเลี้ยงคู่ (Cerqueira et al., 2011)
สำหรับตัวอย่างของการบรรจุอาหารแบบต่อต้านจุลินทรีย์ ได้แก่ การบรรจุอาหารแบบต่อต้านจุลินทรีย์ในรูปแบบซองหรือแผ่นปลดปล่อยสารระเหย (Volatile releasing sachets or pads) ที่ประสบความสำเร็จในการประยุกต์ใช้เชิงการค้า ได้แก่ ซองปลดปล่อยไอเอทานอล ซึ่งประกอบด้วยเอทานอลที่ถูกดูดซับอยู่ในวัสดุตัวพาและบรรจุในซองพอลิเมอร์ เอทานอลจะซึมผ่านชั้นเลือกผ่าน และผ่านซองออกมาสู่บรรยากาศที่ล้อมรอบผลิตภัณฑ์ซึ่งบรรจุอยู่ในภาชนะบรรจุ ตัวอย่างทางการค้า ได้แก่ เอทิแคป หรือแอนตี้โมลไมด์ โออิเทค อีทีแพค และเฟร็ทเทค โดยมีคุณสมบัติในการยืดอายุการเก็บรักษาและยับยั้งการขึ้นราบนผลิตภัณฑ์อาหาร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ขนมอบ และผลิตภัณฑ์ปลาแห้ง
5.3 มีความชื้นสูง มีค่าแอคติวิตีของน้ำหรือปริมาณน้ำอิสระสูง
แอคทิวิตี้ของน้ำหรือ วอเตอร์แอคทีวิตี้ (Water activity) หรือปริมาณน้ำอิสระ เขียนย่อว่า aw เป็นค่าที่แสดงระดับพลังงานของน้ำ มีความสำคัญต่ออายุการเก็บ การเสื่อมเสีย และความปลอดภัยของอาหาร เป็นปัจจัยที่ชี้ระดับปริมาณน้ำต่ำสุดในอาหารที่เชื้อจุลินทรีย์สามารถนำไปใช้ในการเจริญเติบโตและใช้ในการเกิดปฏิกิริยาเคมีต่าง ๆ เราสามารถใช้ค่า Water Activity ในการประเมินว่าเชื้อจุลินทรีย์ชนิดใดเป็นหรือไม่เป็นสาเหตุที่ทำให้อาหารเสีย ตลอดจนใช้ในการควบคุมและป้องกันการเสื่อมเสียของอาหารที่เกิดขึ้นจากเชื้อจุลินทรีย์ได้ เพราะเชื้อจุลินทรีย์จะเจริญเติบโตได้ภายใต้ค่า Water Activity ที่จำกัด โดยเราจะต้องทำให้อาหารมีค่า Water Activity ต่ำกว่าที่เชื้อจุลินทรีย์จะเจริญเติบโตได้