ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

 

 

 

บทนำ

              มันสำปะหลังเป็นพืชอาหารที่สำคัญของประเทศในเขตร้อน โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ และเอเชียบางประทศ เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย และฟิลิปปินส์ เนื่องจากเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตที่สำคัญของคนและสัตว์ ซึ่งเป็นพืชอาหารในอันดับที่ 5 ของโลก รองจากข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าว และมันฝรั่ง (คณาจารย์ภาควิชาพืชไร่นา, 2547) สำหรับประเทศไทยมันสำปะหลังถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เกษตรกรนิยมปลูกกันมาก เพราะทนแล้ง ปลูกง่าย ศัตรูพืชน้อย แหล่งปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา กำแพงเพชร ชัยภูมิ กาญจนบุรี อุบลราชธานี สระแก้ว นครสวรรค์ เลย อุดรธานี และลพบุรี (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2560) มันสำปะหลังที่ปลูกในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ มันสำปะหลังชนิดหวาน (Sweet type) และมันสำปะหลังชนิดขม (Bitter type) สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ทั้งบริโภคเป็นอาหารโดยตรง และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง ได้แก่ มันเส้น (Tapioca chips) มันอัดเม็ด (Tapioca pellets) และแป้งมันสำปะหลัง (Tapioca starch) สำหรับนำไปใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมต่างๆ 

              ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตมันสำปะหลังที่สำคัญของโลก แต่นำมาใช้ในการบริโภคน้อย เพราะส่วนใหญ่นิยมแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออก โดยผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังของประเทศไทยเป็นสินค้าส่งออกที่มีความต้องการสูงในตลาดต่างประเทศ ซึ่งมีปริมาณการส่งออกมากเป็นอันดับ 1 ของโลก


ประวัติของมันสำปะหลัง

              1. แหล่งกำเนิดและการแพร่กระจายของมันสำปะหลัง

              มันสำปะหลังเป็นพืชดั้งเดิมของชาวพื้นเมืองในเขตร้อนของทวีปอเมริกาตอนกลาง และทางเหนือของทวีปอเมริกาใต้ จากหลักฐานทางโบราณคดีมีการค้นพบเครื่องปั้นดินเผารูปหัวมันสำปะหลังในประเทศเปรู ซึ่งมีอายุประมาณ 2,500 ปี แสดงให้เห็นว่า มนุษย์รู้จักการเพาะปลูกมันสำปะหลังมาเป็นเวลานาน โดยแหล่งกำเนิดมันสำปะหลังมี 4 แห่ง คือ

              (1) แถบประเทศกัวเตมาลา และเม็กซิโก
              (2) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้
              (3) ทางทิศตะวันออกของประเทศโบลิเวีย และทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอาร์เจนตินา
              (4) ทางทิศตะวันออกของประเทศบราซิล
              การแพร่กระจายของมันสำปะหลังเกิดในสมัยที่มีการล่าอาณานิคมในคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยพวกนักค้าทาสได้นำมันสำปะหลังจากประเทศบราซิลไปปลูกในทวีปแอฟริกา ต่อมา พ.ศ. 2282 มีชาวโปรตุเกสนำมันสำปะหลังไปปลูกที่เกาะรียูเนียน (Reunion) และแพร่กระจายไปยังมาดากัสกา มีการนำมันสำปะหลังมาปลูกครั้งแรกในทวีปเอเชียที่ประเทศฟิลิปปินส์ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยชาวสเปนได้นำมาจากประเทศเม็กซิโก และในเวลาต่อมาก็มีการปลูกที่ประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่า เมื่อ พ.ศ. 2337 ได้มีการนำมันสำปะหลังจากทวีปแอฟริกามาปลูกที่ประเทศอินเดียเพื่อใช้ในการทดลอง (อนุชิต, 2560) ทำให้มันสำปะหลังแพร่กระจายไปทั่วในเขตเอเชีย (ภาพที่ 1) มันสำปะหลังจึงมีชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นหลายชื่อ คือ ภาษาโปรตุเกส เรียกว่า Mandioca ภาษาฝรั่งเศส เรียกว่า Manioc ภาษาสเปน เรียกว่า Yuca และภาษาอังกฤษ เรียกว่า Cassava หรือ Tapioca 
 
 
(ที่มา : https://kmtapiocachip.files.wordpress.com/2013/07/104.jpg)
 
ภาพที่ 1 พื้นที่แสดงการแพร่กระจายของมันสำปะหลัง
 

              2. ความเป็นมาของมันสำปะหลังในประเทศไทย

              สำหรับประเทศไทยยังไม่มีหลักฐานที่แน่นอนว่ามีการนำมันสำปะหลังเข้ามาปลูกเมื่อใดแต่สันนิษฐานว่าน่าจะเข้ามาในระยะเดียวกันกับการเข้าสู่ประเทศศรีลังกา และฟิลิปปินส์ คือ ประมาณ ปี พ.ศ. 2329-2383 และคาดว่ามีคนนำมันสำปะหลังจากมาลายูมาปลูกในภาคใต้ ประมาณปี พ.ศ. 2329 มันสำปะหลังเดิมเรียกกันว่า มันสำโรง มันไม้ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า มันต้นเตี้ย ทางภาคใต้เรียกว่า มันเทศ (แต่เรียกมันเทศว่า มันหลา) คำว่า สำปะหลัง คล้ายกับคำในภาษาชวาตะวันตกที่เรียกมันสำปะหลังว่า สัมเปอ (Sampou) ซึ่งมีความหมายเหมือนคำในภาษามาเลย์ที่แปลว่า พืชที่มีรากขยายใหญ่ (สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2560) การปลูกมันสำปะหลังเป็นการค้าเพื่อใช้ทำแป้งและสาคูในภาคใต้ ซึ่งปลูกระหว่างแถวของต้นยางพารากันมากว่า 70 ปีแล้ว โดยเฉพาะที่จังหวัดสงขลามีอุตสาหกรรมทำแป้งและสาคูจำหน่ายไปยังปีนัง และประเทศสิงคโปร์ แต่การปลูกมันสำปะหลังทางภาคใต้ค่อยๆ ลดลงเมื่อมีการขยายการปลูกยางพารา ต่อมามีการปลูกมันสำปะหลังในภาคตะวันออก คือ จังหวัดชลบุรี ระยอง และจังหวัดใกล้เคียง และเมื่อความต้องการของตลาดในด้านผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพื่อใช้ในการเลี้ยงสัตว์และอุตสาหกรรมมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้พื้นที่ในภาคตะวันออกผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงมีการขยายพื้นที่ไปยังจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนในปัจจุบันภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่ปลูกมันสำปะหลังมากที่สุดของประเทศไทย


ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับมันสำปะหลัง 

              มันสำปะหลังเป็นพืชหัวชนิดหนึ่งมีลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอายุอยู่ได้หลายปี ปลูกง่าย ทนทานต่อความแห้งแล้ง และเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตที่สำคัญ โดยมันสำปะหลังมีชื่อสามัญตามภาษาท้องถิ่นหลายชื่อดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Manihot esculenta Crantz 

              1. อนุกรมวิธานของมันสำปะหลัง

              การจัดหมวดหมู่ของมันสำปะหลัง มีดังนี้

                                 -  ชั้น (Class) : Angiospermae
                                 -  ชั้นย่อย (Subclass) : Dicotyledoneae
                                 -  อันดับ (Order) : Geraniales
                                 -  วงศ์ (Family) : Euphorbiaceae
                                 -  สกุล (Genus) : Manihot
 

              2. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของมันสำปะหลัง 

              มันสำปะหลังมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่สําคัญ (กรมพัฒนาที่ดิน สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กลุ่มอนุรักษ์ดินและน้ำ, 2559.) คือ 
              (1) ลำต้น มันสำปะหลังมีลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ 2-4 เมตร มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-6 เซนติเมตร สีของลำต้นแตกต่างกันไปตามพันธุ์ ส่วนที่อยู่ใกล้ยอดมักมีสีเขียว และส่วนที่ต่ำลงมามีสีแตกต่าง กันออกไป เช่น สีน้ำเงินเขียว สีเทาเงิน สีเหลือง จนถึงสีน้ำตาล (ภาพที่ 2) โดยทุกส่วนของลำต้นมียางสีขาว การแตกกิ่งของมันสำปะหลังแตกต่างกันตามพันธุ์ ซึ่งมีตั้งแต่ไม่แตกกิ่ง (Unbranched) แตกกิ่ง 2 กิ่ง (Dichotomus branching) แตกกิ่ง 3 กิ่ง (Trichotomus branching) แต่ไม่เกิน 4 กิ่ง กิ่งที่แตกออกจากลำต้นหลักเรียกว่า Primary branch  ส่วนกิ่งที่แตกออกจาก Primary branch เรียกว่า Secondary branch บนลำต้นหรือกิ่งของมันสำปะหลังจะเห็น  รอยหลุดร่วงของก้านใบเรียกว่า รอยแผลใบ (Leaf scar) โดยเป็นรอยต่อระหว่างก้านใบกับลำต้นหรือกิ่ง ระยะระหว่างรอยแผลใบ 2 รอยต่อกันเรียกว่า ความยาวชั้น (Storey length) ด้านบนเหนือ รอยแผลใบจะมีตา (Bud) ซึ่งจะงอกเป็นต้นใหม่เมื่อนำท่อนพันธุ์ไปปลูก
 
                                                
 
                                   (ที่มา : http://www3.rdi.ku.ac.th/?p=18098)                                               (ที่มา : http://at.doa.go.th/cassvar/character4.html)
 
ภาพที่ 2 ลักษณะลำต้นของมันสำปะหลัง
 
              (2) ใบ ใบมันสำปะหลังเป็นแบบใบเดี่ยว (Simple leaf) การเกิดของใบจะหมุนเวียนรอบลำต้น (Spiral) (ภาพที่ 3A) มีการจัดเรียงตัว (Phyllotaxy) ค่อนข้างคงที่แน่นอน คือ 2/5 ก้านใบ (Petiole) ต่อระหว่างลำต้นหรือกิ่งกับตัวแผ่นใบ ก้านใบอาจมีสีเขียว หรือสีแดง ตัวใบหรือแผ่นใบ (Lamina) จะเว้าเป็นหยักลึกเป็นแฉก (Palmately lobe) จำนวนหยักมีตั้งแต่ 3-9 หยัก  และบริเวณโคนก้านใบติดกับลำต้นมีหูใบ (Stipule) 
              (3) ดอก มันสำปะหลังเป็นพืชที่มีช่อดอกแบบ Panicle คือ มีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่บน  ต้นเดียวกัน (Monoecious plant) ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่แยกดอกกัน แต่อยู่ในช่อดอก (Inflorescence) เดียวกัน (ภาพที่ 3B) ช่อดอกจะเกิดตรงปลายยอดของลำต้นหรือกิ่งหรืออาจเกิดตรงรอยต่อที่เกิดการแตกกิ่ง ดอกตัวผู้มักเกิดบริเวณส่วนปลาย หรือยอดของช่อดอก มีก้านดอก กลีบรองดอกหรือกลีบเลี้ยง 5 กลีบ แต่ไม่มีกลีบดอก ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ 10 อัน แบ่งเป็น 2 วงๆ ละ 5 อัน เกสรตัวผู้วงในมีก้านชูเกสรตัวผู้สั้นกว่า วงนอก ดอกตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าดอกตัวผู้ มักเกิดอยู่บริเวณส่วนโคนของช่อดอก ไม่มีกลีบดอก แต่มีกลีบรองดอก หรือกลีบเลี้ยง 5 กลีบ เช่นเดียวกับดอกตัวผู้ ตรงกลางจะเป็นเกสรตัวเมีย รังไข่ (Ovary) มี 3 Carpel ภายในแต่ละ Carpel มีไข่ (Ovule) อยู่ 1 ใบ ในช่อดอกเดียวกันดอกตัวเมียจะบานก่อนดอกตัวผู้ 7-10 วัน
 
                                                               A                                                                                                                B
 
                                                
 
                                            (ที่มา : http://esan.life/?p=689)                                                              (ที่มา : https://medthai.com/มันสำปะหลัง/)
 
ภาพที่ 3 ลักษณะใบ (A) และดอก (B) ของมันสำปะหลัง
 

              (4) ผลและเมล็ด หลังการผสมเกสรแล้วรังไข่ก็จะเจริญเติบโตขยายใหญ่กลายเป็นผลแบบ Capsule ผลขนาดโตเต็มที่จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่งนิ้ว ยาว 1-1.5 เซนติเมตร  ภายในมี 3 ช่อง แต่ละช่องมีเมล็ด 1 เมล็ด รูปร่างยาวรี มีสีน้ำตาล และมีลายดำ (ภาพที่ 4) เมื่อแก่จะแตกดีดเมล็ดกระเด็นออกไป

                                                               A                                                                                                                B 

                                              

(ที่มา : https://medthai.com/มันสำปะหลัง/)

ภาพที่ 4 ลักษณะผล (A) และเมล็ด (B) ของมันสำปะหลัง

              (5) ราก หรือ หัว มันสำปะหลังมีระบบรากเป็นแบบ Adventitious root system แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ รากจริง (True or wiry roots) และรากสะสม (Modified or storages roots) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า หัว (ภาพที่ 5) โดยรากจริงเป็นรากที่งอกจากท่อนพันธุ์ สามารถงอกได้จาก 3 ส่วน คือ รากจากส่วนเนื้อเยื่อ รากจากส่วนตา และรากจากส่วนรอยหลุดร่วงของใบ ส่วนหัว (Tuber) ของมันสำปะหลัง คือ ส่วนรากที่ขยายใหญ่เพื่อสะสมอาหารที่เป็นคาร์โบไฮเดรตในส่วน Parenchyma cell รากสะสมอาหารมีปริมาณแป้งประมาณ 15-40 เปอร์เซ็นต์ มีกรดไฮโดรไซยานิก (HCN) หรือกรดพรัสซิก (Prussic acid) ซึ่งมีพิษ จะมีอยู่มากในส่วนของเปลือกมากกว่าเนื้อของหัว

  

                                           

                            (ที่มา : http://doa.go.th/pibai/pibai/n18/v_1-feb/rai.html)                                        (ที่มา : https://medthai.com/มันสำปะหลัง/)

ภาพที่ 5 ลักษณะรากหรือหัวของมันสำปะหลัง

              3. การขยายพันธุ์มันสำปะหลัง 

              มันสำปะหลังขยายพันธุ์โดยใช้ท่อนพันธุ์ปักลงในดิน คือ ใช้ส่วนของลำต้นที่มีอายุตั้งแต่ 8 เดือนขึ้นไป นำมาตัดเป็นท่อนให้มีขนาดยาว 20-30 เซนติเมตร (มีตาประมาณ 7-10 ตา) แล้วปักลงในดิน  ไม่นิยมปลูกด้วยเมล็ด เนื่องจากมันสำปะหลังไม่ค่อยติดเมล็ด และเก็บเมล็ดลำบาก เมล็ดมีระยะพักตัวกว่า 2 เดือน ต้องเพาะต้นกล้าก่อนย้ายปลูกนาน 1 เดือน และมักเกิดการผสมพันธุ์แบบ Inbreeding ได้ง่าย รวมถึงใช้เวลาปลูกนาน การปลูกด้วยเมล็ดจึงทำเฉพาะในโครงการผสมพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์เท่านั้น (สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2560)

              4. การปลูกมันสำปะหลัง (ศูนย์สารสนเทศ กรมวิชาการเกษตร, 2551)

              (1) ฤดูปลูก มันสำปะหลังเป็นพืชที่สามารถปลูกได้เกือบตลอดทั้งปี อาจแบ่งฤดูปลูกได้เป็น 2 ฤดู คือ ต้นฤดูฝน (เดือนมีนาคม-พฤษภาคม) และปลายฤดูฝน (เดือนกันยายน-พฤศจิกายน) ซึ่งช่วงปลูกที่เหมาะสมควรเลือกวันปลูกเพื่อให้มันสำปะหลังอายุ 1-5 เดือน อยู่ในสภาพที่ขาดน้ำน้อยที่สุด การปลูกเพื่อการผลิตท่อนพันธุ์ควรปลูกต้นฤดูฝน เนื่องจากมันสำปะหลังมีการเจริญเติบโตได้ดี ได้ปริมาณท่อนพันธุ์มาก ส่วนการผลิตหัวมันสดช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสมขึ้นกับสภาพพื้นที่แหล่งปลูกมันสำปะหลัง โดยทั่วไปการปลูกปลายฤดูฝนจะให้ผลผลิตสูงกว่า 
              (2) การเตรียมดิน ควรไถพรวนให้ลึก 20-30 เซนติเมตร โดยไถกลบเศษเหลือของพืช เช่น ลำต้น เหง้า ใบ และยอดของมันสำปะหลังที่เหลือจากการเก็บเกี่ยว ไม่ควรเผาหรือเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่เพาะปลูก เนื่องจากการเผาทิ้งหรือขนย้ายไปทิ้งจะทำให้ธาตุอาหารสูญหายไปเป็นจำนวนมาก การไถควรทำ 1-2 ครั้ง ด้วยผาน 3-4 สลับกับผาน 7 (ภาพที่ 6A) เพื่อพลิกดินชั้นล่างกลับขึ้นมา นอกจากจะทำให้ดินร่วนซุยแล้ว ยังนำเอาธาตุอาหารที่ถูกชะล้างลงไปในดินชั้นล่างกลับขึ้นมาอยู่ในดินชั้นบนให้มันสำปะหลังนำไปใช้ได้อีก
              (3) การคัดเลือกท่อนพันธุ์ปลูก ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่ใช้ปลูกควรได้จากต้นที่มีอายุตั้งแต่ 8 เดือนขึ้นไป และไม่ควรเกิน 18 เดือน ขนาดของท่อนพันธุ์ใหม่สด ไม่บอบช้ำ ปราศจากโรคแมลง ตัดต้นพันธุ์ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร เมื่อปลูกในฤดูฝน และตัดต้นพันธุ์ยาวประมาณ 25 เซนติเมตร เมื่อปลูกในช่วงปลายฤดูฝน โดยท่อนพันธุ์จะต้องมีตาอย่างน้อย 5-7 ตาต่อท่อนพันธุ์ (ภาพที่ 6B)
 
                                                                 A                                                                                                             B
 
                                          
 
                 (ที่มา : http://at.doa.go.th/cassfer/ดินน้ำและการจัดการปลูกมันสำปะหลัง.pdf)                (ที่มา : http://www.tapiocathai.org/pdf/Tapioca%20Plan/
                                                                                                                                                 f_use%20improve%20tapioca%20varieties.pdf)
 
ภาพที่ 6 การเตรียมดิน (A) และการคัดเลือกท่อนพันธุ์ (B) สำหรับปลูกมันสำปะหลัง
 

              (4) วิธีการปลูก การปลูกมันสำปะหลังมีอยู่หลายวิธี ได้แก่ การปลูกแบบวางนอน (ฝัง) เป็นวิธีที่ไม่ค่อยนิยมปลูกกัน และการปลูกแบบปัก เป็นวิธีนี้ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ซึ่งสามารถปลูกแบบ ยกร่อง หรือไม่ยกร่องก็ได้ (ภาพที่ 7) ขึ้นอยู่กับความสะดวก โดยปักท่อนพันธุ์ให้ตั้งตรง ลึกประมาณ 5-10 เซนติเมตร หากปลูกในฤดูแล้งให้ปักลึก 15 เซนติเมตร และปลูกบนพื้นราบ โดยใช้เชือกที่ทำเครื่องหมายบอกระยะวางเป็นแนวในการปลูก วิธีนี้ทำให้ระยะปลูกสม่ำเสมอ 

                                                                A                                                                                                           B  

                                          

(ที่มา : http://at.doa.go.th/cassfer/ดินน้ำและการจัดการปลูกมันสำปะหลัง.pdf)

ภาพที่ 7 การปลูกมันสำปะหลังแบบยกร่อง (A) และแบบไม่ยกร่อง (B)

              (5) ระยะปลูก การปลูกมันสำปะหลังใช้ระยะแตกต่างกัน โดยระยะแถวประมาณ 70 -100 เซนติเมตร ระยะหลุมประมาณ 50-100 เซนติเมตร ส่วนใหญ่ระยะปลูกประมาณ 80 x 100 เซนติเมตร หรือ 100 x 100 เซนติเมตร สามารถปลูกได้ตั้งแต่ 1,600-2,500 ต้นต่อไร่ ทั้งนี้ การปลูกมันสำปะหลังให้แถวถี่ขึ้นจะสิ้นเปลืองท่อนพันธุ์ แต่จะช่วยลดการกัดกร่อนผิวดิน และช่วยเก็บน้ำไว้ในดินเพิ่มขึ้น

 

              5. การเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง

              การเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังควรเลือกเก็บเกี่ยวในช่วงที่เหมาะสมตั้งแต่อายุ 12-18 เดือน ผลผลิตสูงขึ้นเมื่อเก็บเกี่ยวที่อายุมากขึ้น การเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังที่อายุข้ามปีจะได้ผลผลิตสูงขึ้นเกือบเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับเก็บเกี่ยวในปีเดียว แต่หัวมันสำปะหลังที่อายุเกิน 18 เดือน จะให้เปอร์เซ็นต์แป้งในหัวสดต่ำ คุณภาพของแป้งไม่ได้มาตรฐาน มีปริมาณเส้นใยสูง โดยการเก็บเกี่ยวมี 2 วิธี (มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย, 2543) คือ 

              (1) ใช้แรงงานคน โดยตัดต้นมันสำปะหลังให้เหลือส่วนล่างของลำต้นไว้ประมาณ 30-70 เซนติเมตร จากนั้นขุดหัวมันสำปะหลังขึ้นมาด้วยจอบ หรือใช้วิธีถอนในกรณีที่ดินมีความชื้นสูง นำมาสับเหง้าออก และขนส่งไปยังโรงงานเพื่อแปรสภาพ (ภาพที่ 8A)  
              (2) ใช้เครื่องทุ่นแรง ในพื้นที่ที่มีปัญหาขาดแคลนแรงงานจะมีการใช้เครื่องทุ่นแรงติดท้ายรถแทรกเตอร์ สำหรับการพลิกหน้าดินเพื่อให้หัวมันสำปะหลังหลุดจากดิน จากนั้นใช้แรงงานคนเดินตามไปตัดหัวมันออกจากเหง้า และขนส่งไปโรงงานเพื่อแปรสภาพ (ภาพที่ 8B)
 
                                                                A                                                                                                            B   
 
                                            
 
(ที่มา : http://www.tapiocathai.org/pdf/Tapioca%20Plan/n_havests%20&%20crop%20care.pdf)
 
ภาพที่ 8 การเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังโดยวิธีใช้แรงงานคน (A) และวิธีใช้เครื่องทุ่นแรง (B)
 

องค์ประกอบทางเคมี

              มันสำปะหลังเป็นพืชที่เก็บสะสมอาหารไว้ในราก เมื่อพืชมีการสร้างอาหารจากใบและส่วนที่เป็นสีเขียวแล้วจะสะสมในรูปของคาร์โบไฮเดรต คือ แป้งไว้ในราก ความสามารถในการสร้างและสะสมแป้งไว้ในรากมีความแตกต่างกัน เนื่องมาจากพันธุ์มันสำปะหลัง อายุเก็บเกี่ยว ปริมาณน้ำฝนในช่วงแรกก่อนการเก็บเกี่ยว และปัจจัยอื่นๆ จึงทำให้ส่วนประกอบของหัวมันอาจแตกต่างกันไป (ศูนย์รวมข้อมูลอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังไทย, 2553) โดยทั่วไปมันสำปะหลังที่มีอายุ 12 เดือน ที่ได้รับปริมาณน้ำฝนเพียงพอ และไม่มีฝนตกชุกขณะเก็บเกี่ยวจะมีองค์ประกอบแสดงดังตารางที่ 1 และ 2

ตารางที่ 1 องค์ประกอบหลักในหัวมันสำปะหลัง

องค์ประกอบในหัวมัน

ปริมาณ (ต่อ 100 กรัมน้ำหนักหัวมัน)

น้ำ

60.21-75.32

เปลือก

4.08-14.08

เนื้อ (แป้ง)

25.87-41.88

ไซยาไนด์ (ppm)

2.85-39.27

 

 

 

 

 

 

(ที่มา : มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย, 2543)

ตารางที่ 2 องค์ประกอบในเนื้อมันสำปะหลัง

องค์ประกอบในเนื้อมัน

ปริมาณ (ต่อ 100 กรัมน้ำหนักแห้งเนื้อมัน)

แป้ง

71.9-85.0

โปรตีน

1.57-5.78

เยื่อใย

1.77-3.98

เถ้า

1.20-2.80

ไขมัน

0.06-0.43

คาร์โบไฮเดรตที่ไม่ใช่แป้ง

3.59-8.66

(ที่มา : มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย, 2543)

              จากตารางจะเห็นได้ว่า องค์ประกอบส่วนใหญ่ในรากนอกจากน้ำแล้ว ยังมีแป้งอยู่ในปริมาณสูงถึงร้อยละ 70-80 จึงถือว่ามันสำปะหลังเป็นพืชที่เป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานกับคนและสัตว์ได้ดีที่สุด ซึ่งมันสำปะหลังที่มีปริมาณแป้งสูง ปริมาณน้ำจะน้อย และความหนาแน่นของหัวจะสูง เพราะฉะนั้นในการตรวจสอบหรือวัดปริมาณแป้งอย่างเร็วที่นิยมทำกันคือ การตรวจสอบความหนาแน่น โดยการชั่งน้ำหนักหัวมันในน้ำ ถ้าน้ำหนักหัวมันในน้ำน้อย แสดงว่า หัวมันมีปริมาณน้ำมาก และมีแป้งน้อย แต่ถ้าน้ำหนักหัวมันในน้ำมาก ก็แสดงว่า หัวมันมีปริมาณน้ำน้อย และมีแป้งมาก (มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย, 2543)

              นอกจากนี้ การนำหัวมันสำปะหลังไปใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมมักจะต้องทำให้แห้งเพื่อลดความชื้นก่อน เช่น อุตสาหกรรมมันเส้น อุตสาหกรรมมันอัดเม็ด หรือการสกัดเฉพาะส่วนของแป้งออกจากหัวมันสำปะหลัง โดยส่วนประกอบทางเคมีของหัวมันสำปะหลังสด และหัวมันสำปะหลังแห้ง แสดงในตารางที่ 3 

                                        ตารางที่ 3 ส่วนประกอบทางเคมีของหัวมันสำปะหลังสดและหัวมันสำปะหลังแห้ง

ส่วนประกอบ

หัวมันสด

หัวมันแห้ง

ความชื้น (%)

63.25

10.63

คาร์โบไฮเดรต (%)

29.73

70.63

โปรตีน (%)

1.18

2.63

ไขมัน (%)

0.08

0.51

เถ้า (%)

0.85

2.20

เยื่อใย (%)

0.99

1.73

โพแทสเซียม (มิลลิกรัม/กิโลกรัม)

0.26

0.43

ฟอสฟอรัส (มิลลิกรัม/กิโลกรัม)

0.04

0.08

กรดไฮโดรไซยานิค (ส่วนในล้านส่วน)

173

100

 

                                     (ที่มา : สำนักวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน, 2552)

              จากตารางจะเห็นได้ว่า เมื่อทำให้หัวมันสำปะหลังแห้งความชื้นจะมีปริมาณลดลงเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ คาร์โบไฮเดรต 70 เปอร์เซ็นต์ โปรตีน 2.63 เปอร์เซ็นต์ และไขมัน 0.51 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ หัวมันสำปะหลังมีปริมาณโปรตีนและไขมันต่ำกว่าธัญพืช หากใช้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพื่อทดแทนธัญพืช จะต้องเพิ่มปริมาณโปรตีนในสูตรอาหารโดยการผสมกากถั่วเหลือง หรือปลาป่น (สำนักวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน, 2552)


การจำแนกชนิดและพันธุ์

              1. ชนิดของมันสำปะหลัง

              มันสำปะหลังที่ปลูกในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 ชนิด (มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย, 2543) คือ

              (1) มันสำปะหลังชนิดหวาน (Sweet type) เป็นมันสำปะหลังที่มีปริมาณกรดไฮโดรไซยานิก (HCN) ต่ำ เป็นพันธุ์ที่ใช้หัวเพื่อการบริโภคได้โดยตรง รสไม่ขม มีทั้งชนิดเนื้อร่วน นุ่ม และชนิดเนื้อเหนียว แน่น นิยมนำมาเชื่อม ปิ้ง เผา ในประเทศไทยไม่มีการปลูกเป็นพื้นที่ใหญ่ ๆ เนื่องจากมีตลาดจำกัด ส่วนใหญ่จะปลูกรอบๆ บ้าน หรือตามร่องสวน เพื่อบริโภคเองในครัวเรือน หรือเพื่อจำหน่ายตามตลาดสดในท้องถิ่นในปริมาณไม่มาก 

              (2) มันสำปะหลังชนิดขม (Bitter type) เป็นมันสำปะหลังที่มีปริมาณกรดไฮโดรไซยานิก (HCN) สูงกว่ามันสำปะหลังชนิดหวาน มีรสขม เนื้อหยาบ ไม่เหมาะสำหรับการบริโภคของมนุษย์หรือใช้ หัวมันสดเลี้ยงสัตว์โดยตรง แต่เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่มีปริมาณแป้งสูง จึงนิยมใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆ เช่น แป้งมันสำปะหลัง มันเส้น มันอัดเม็ด และแอลกอฮอล์ การแปรรูปเป็นอาหารโดยใช้ความร้อน ได้แก่ ตากแดด เผา และต้ม ทำให้ไซยาไนด์ในมันสำปะหลังแตกตัวหมดไป  ความขมจึงลดลง ซึ่งในประเทศไทยมันสำปะหลังชนิดนี้เป็นพันธุ์ที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด เพื่อส่งโรงงานอุตสาหกรรมนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง และเอทานอล

              2. พันธุ์มันสำปะหลัง (ศูนย์สารสนเทศ กรมวิชาการเกษตร, 2551)

              (1) การจำแนกพันธุ์มันสำปะหลัง มันสำปะหลังแต่ละพันธุ์มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่แตกต่างกัน ทำให้สามารถจำแนกออกเป็นพันธุ์ต่างๆ ได้ โดยลักษณะประจำพันธุ์ที่นำมาใช้ในการจำแนกเพื่อระบุพันธุ์มันสำปะหลัง (ตารางที่ 4) คือ

                         -  สียอดอ่อน การดูสีของยอดอ่อนสามารถดูได้จากปลายกิ่ง โดยตรวจสอบลักษณะสีของใบยอดที่ยังไม่คลี่ ซึ่งต้องแยกใบที่คลี่ออกจากใบที่ยังไม่คลี่ของส่วนยอด
                         -  สีของใบอ่อน ดูจากสีของเรือนยอดโดยรวม เป็นใบอ่อนที่สามารถสังเกตได้โดยไม่ต้องสัมผัสกับใบมันสำปะหลัง สามารถสังเกตได้จากปลายกิ่ง ตรวจสอบลักษณะสีของใบยอดที่ยังไม่คลี่เต็มที่
                        -  ขนที่ยอดอ่อน สามารถสังเกตได้จากยอดอ่อน ยอดอ่อนที่มีขนสีของยอดอ่อนมักมีลักษณะด้าน ส่วนยอดอ่อนที่ไม่มีขนสีมักมีลักษณะมันเงา หรืออาจใช้การสัมผัส ยอดอ่อนที่มีขนสัมผัสจะนุ่มมือ
                        -  สีก้านใบ สีของก้านใบดูที่ก้านใบ ในตำแหน่งใบที่ 5 จากใบยอดที่คลี่เต็มที่แล้ว 5 ใบจากยอด เมื่ออายุประมาณ 3-6 เดือนหลังปลูก
                        -  รูปร่างของแฉกที่อยู่กลาง ใบมันสำปะหลังเป็นแบบใบเดี่ยว แผ่นใบเว้าเป็นแฉกลึก มีรูปร่างและจำนวนแฉกแตกต่างกันไปตามพันธุ์ โดยปกติมี 3-9 แฉก ยาวประมาณ 4-20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1-6 เซนติเมตร รูปทรงของแฉกแตกต่างกัน แต่ค่อนข้างคงที่ในแต่ละพันธุ์ สังเกตเมื่ออายุประมาณ 3-4 เดือนหลังปลูก โดยดูในตำแหน่งใบที่ 5 จากใบยอดที่คลี่เต็มที่
                        -  ลักษณะทรงต้น บางพันธุ์ลำต้นเป็นต้นเดี่ยว ไม่มีการแตกกิ่ง บางพันธุ์มีการแตกกิ่ง 2-3 ระดับ หรือมากกว่า พันธุ์ที่มีการแตกกิ่งมาก และแตกกิ่งหลายระดับจะมีลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย พันธุ์ที่มีการแตกกิ่งน้อยจะสูง จำนวนของการแตกกิ่งแต่ละพันธุ์แตกต่างกัน และการแตกกิ่งครั้งที่ 2 ของต้นจะตรงข้ามกับการแตกกิ่งแรก
                        -  สีของลำต้น ลำต้นมันสำปะหลังมีก้านใบติดอยู่ เมื่อใบมีอายุมากขึ้นก็จะหลุดร่วงไปทิ้งรอยแผลเป็นของก้านใบไว้ เรียกว่า รอยแผลใบ ลักษณะเป็นรอยนูนเด่นออกมาแตกต่างกัน สามารถใช้เป็นลักษณะหนึ่งในการจำแนกได้ ระหว่างรอยแผลใบเรียกว่า ความยาวของชั้น และระยะห่างระหว่างใบก็แตกต่างขึ้นอยู่กับพันธุ์ ระยะการเจริญเติบโต สภาพแวดล้อม ในช่วงฤดูฝนระยะห่างระหว่างใบจะยาวกว่าในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากมีการเจริญเติบโตในฤดูฝนที่รวดเร็วกว่า
                        -  ลักษณะของหูใบ ส่วนของโคนก้านใบที่ติดกับลำต้นมีหูใบ มีรูปร่าง ขนาด และสีเฉพาะ ในพันธุ์ที่มีลักษณะอื่นๆ ใกล้เคียงกันมากอาจจำเป็นต้องใช้หูใบร่วมพิจารณาในการระบุพันธ์ด้วย
                        -  การมีขั้วของหัว สังเกตได้ในระยะเก็บเกี่ยว 
                        -  สีผิวเปลือกชั้นนอกของหัว สังเกตได้ในระยะเก็บเกี่ยว โดยสีผิวของเปลือกชั้นนอกของหัวมักมีสีขาวครีม สีน้ำตาล สีน้ำตาลอ่อน จนถึงสีน้ำตาลเข้ม 
                        -  สีเนื้อของหัว โดยทั่วไปจะมีสีขาว หรือสีขาวครีม
              ทั้งนี้ การตรวจสอบคุณลักษณะของมันสำปะหลังมีข้อกำหนด คือ มันสำปะหลังควรมีอายุมากพอที่จะเห็นลักษณะทรงต้น หรือมีอายุ 3-6 เดือน หากลักษณะที่ใช้ในการจำแนก เช่น สีของลำต้น การแตกกิ่ง ควรใช้มันสำปะหลังที่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ส่วนลักษณะใบ สีใบ สีก้านใบ ควรสังเกตุจากมันสำปะหลังที่อยู่ในระยะกำลังเจริญเติบโต อยู่กลางแจ้งไม่อยู่ใต้ร่มเงาของพืชอื่น และมีอายุไม่เกิน 10 เดือน แต่บางพันธุ์สามารถจำแนกได้ในต้นที่อายุน้อย ซึ่งผู้สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจำแนกและคุณลักษณะประจำพันธุ์ของมันสำปะหลังได้จากศูนย์สารสนเทศ กรมวิชาการเกษตร หรือเว็บไซต์ http://at.doa.go.th/mealybug/download/การจำแนกพันธุ์.pdf     
              (2) พันธุ์มันสำปะหลังที่สำคัญในประเทศไทย มันสำปะหลังเพื่ออุตสาหกรรมที่นิยมปลูกในประเทศไทยมีหลากหลายพันธุ์ โดยแต่ละพันธุ์ได้รับการปรับปรุงพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดังนี้ 
                   (2.1) พันธุ์มันสำปะหลังของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่
                        -  ระยอง 1 เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตค่อนข้างสูง ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ของประเทศได้ดี ทรงต้นสูงตรง ต้นพันธุ์มีความแข็งแรง มีความงอกดี และเก็บรักษาได้นาน ยอดอ่อนสีม่วง ใบที่เจริญเต็มที่แล้วสีเขียวอมม่วง ก้านใบสีเขียวอมม่วง แตกกิ่งน้อย (ภาพที่ 9) ข้อจำกัด คือ มีปริมาณแป้งต่ำ
                        -  ระยอง 3 เป็นพันธุ์ที่ต้องการสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง ยอดอ่อนสีเขียวอ่อน ใบที่เจริญเต็มที่มีเขียวอ่อน ก้านใบสีเขียวอ่อนปนแดง ลำต้นมีสีน้ำตาลอ่อน มีปริมาณแป้งสูงประมาณ   23-28 เปอร์เซ็นต์ (ภาพที่ 9) ข้อจำกัด คือ ต้นเตี้ยและแตกกิ่ง ไม่สะดวกในการปฏิบัติดูแลรักษา หัวแหลมยาว   ทำให้ยากต่อการเก็บเกี่ยว
                        -  ระยอง 60 เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง สะสมน้ำหนักเร็ว เหมาะสำหรับเกษตรกรที่ต้องการเก็บเกี่ยวอายุต่ำกว่า 12 เดือน ต้นพันธุ์คุณภาพดี ทรงต้นสูงตรง แตกกิ่งน้อย สะดวกในการปฏิบัติดูแลรักษา ยอดอ่อนมีเขียวอมม่วง ใบที่เจริญเต็มที่สีเขียว ก้านใบสีเขียวปนแดง ลำต้นสีน้ำตาลอ่อน (ภาพที่ 9)ข้อจำกัด คือ มีปริมาณแป้งต่ำในฤดูฝน เนื้อในของหัวมีสีครีม ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งใช้เป็นข้ออ้างในการตัดราคารับซื้อหัวมันสด
                        -  ระยอง 90 เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง มีปริมาณแป้งสูงประมาณ 24-29 เปอร์เซ็นต์ ยอดอ่อนสีเขียวอ่อน ใบที่เจริญเต็มที่สีเขียวแก่ ก้านใบสีเขียวอ่อน ลำต้นสีน้ำตาลอมส้ม (ภาพที่ 9) ข้อจำกัด คือ ลำต้นโค้ง หากมีการแตกกิ่ง ทำให้ไม่สะดวกในการปฏิบัติดูแลรักษา และต้นพันธุ์เสื่อมคุณภาพเร็ว ไม่ทนแล้ง จึงไม่เหมาะกับการปลูกปลายฤดูฝน
 
                                                               ระยอง 1                                                                                                   ระยอง 3
 

                                             

 

                                                               ระยอง 60                                                                                                ระยอง 90

                                            

 

(ที่มา : ศูนย์สารสนเทศ กรมวิชาการเกษตร, 2551)

ภาพที่ 9 พันธุ์มันสำปะหลังของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ ระยอง 1 ระยอง 3 ระยอง 60 และระยอง 90

                      -  ระยอง 5 เป็นพันธุ์ที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ให้ผลผลิตสูง ยอดอ่อนสีม่วงอมน้ำตาล ใบที่เจริญเต็มที่สีเขียวแก่ ก้านใบสีแดงเข้ม ลำต้นสีเขียวอมน้ำตาล มีปริมาณแป้งประมาณ 22-27 เปอร์เซ็นต์ (ภาพที่ 10) ข้อจำกัด คือ เป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคใบไหม้ ทรงต้นแตกกิ่ง ได้ต้นพันธุ์น้อย
                      -  ระยอง 72 เป็นพันธุ์ที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ผลผลิตหัวสดสูง ต้นพันธุ์คุณภาพดี ทนแล้ง ยอดอ่อนสีม่วง ก้านใบสีแดงเข้ม ลำต้นสีเขียวเงิน แตกกิ่งน้อย (ภาพที่ 10) ข้อจำกัด คือ มีปริมาณแป้งต่ำเมื่อปลูกในภาคตะวันออก และค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคใบไหม้
                      -  ระยอง 7 เป็นพันธุ์ที่เจริญเติบโตเร็วในช่วง 1-2 เดือนแรก มีความงอกสูง ไม่ค่อยแตกกิ่ง ให้ผลผลิตสูง ทนแล้ง ยอดอ่อนสีเขียวอ่อน ก้านใบสีเขียวอ่อนอมชมพู ลำต้นสีน้ำตาลอ่อน (ภาพที่ 10)ข้อจำกัด คือ ไม่ต้านทานโรคใบไหม้ และไรแดง
                      -  ระยอง 9 เป็นพันธุ์ที่มีลำต้นสูงตรง แข็งแรง ให้ผลผลิตสูง มีปริมาณแป้งสูง ต้านทานโรค ยอดอ่อนสีเขียวอ่อน ก้านใบสีเขียวอ่อนอมชมพู ลำต้นสีน้ำตาลอมเหลือง (ภาพที่ 10) ข้อจำกัด คือ ไม่ต้านทานไรแดง ไม่เหมาะสำหรับดินร่วนเหนียว และดินร่วนปนลูกรัง รวมทั้งไม่เหมาะกับการเกี่ยวต่ำกว่า 12 เดือน
                      -  ระยอง 11 เป็นพันธุ์ที่มีปริมาณแป้งสูงในฤดูแล้ง ประมาณ 42.8 เปอร์เซ็นต์ ยอดอ่อนสีน้ำตาลอมเขียว ก้านใบสีเขียวอมแดง ลำต้นสีเขียวเงิน (ภาพที่ 10) ข้อจำกัด คือ ควรเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 12 เดือน เนื่องจากมีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง แต่สะสมน้ำหนักช้า
 
                                                               ระยอง 5                                                                                                   ระยอง 72
 

                                            

 

                                                                ระยอง 7                                                                                                  ระยอง 9  

                                           

 

ระยอง 11

 

(ที่มา : ศูนย์สารสนเทศ กรมวิชาการเกษตร, 2551)

ภาพที่ 10 พันธุ์มันสำปะหลังของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ ระยอง 5 ระยอง 72 ระยอง 7 ระยอง 9 และระยอง 11

                    (2.2) พันธุ์มันสำปะหลังของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่

                          -  เกษตรศาสตร์ 50 เป็นพันธุ์ที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ลำต้นสูงใหญ่ ต้นพันธุ์แข็งแรง มีความงอกดี และเก็บรักษาได้นาน มีปริมาณแป้งสูงประมาณ 23-28 เปอร์เซ็นต์ ให้ผลผลิตสูง ยอดอ่อนสีม่วง ไม่มีขน ก้านใบสีเขียวอมม่วง ลำต้นสีเขียวเงิน (ภาพที่ 11) ข้อจำกัด คือ ในบางพื้นที่พันธุ์นี่จะแตกกิ่ง ทำให้ไม่สะดวกในการปฏิบัติดูแลรักษา 
                          -  ห้วยบง 60 เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง มีปริมาณสูงประมาณ 25.4 เปอร์เซ็นต์  ต้านทานโรคใบจุดปานกลาง ยอดอ่อนสีม่วงอ่อน ก้านใบสีเขียวอมม่วง ลำต้นสีเขียวเงิน (ภาพที่ 11) ข้อจำกัด คือ ควรเก็บเกี่ยวเมื่ออายุไม่น้อยกว่า 10 เดือน 
                          -  ห้วยบง 80 เป็นพันธุ์ที่มีลำต้นสูง มีปริมาณแป้งสูงประมาณ 27.3 เปอร์เซ็นต์ ยอดอ่อนสีเขียวอ่อน ก้านใบสีเขียวอมแดง ลำต้นสีเขียวเงิน (ภาพที่ 11) ข้อจำกัด คือ ควรเก็บเกี่ยวเมื่ออายุไม่น้อยกว่า 10 เดือน  
 
                                                           เกษตรศาสตร์ 50                                                                                         ห้วยบง 60
 
                                          
 
 
ห้วยบง 80
 
 
(ที่มา : ศูนย์สารสนเทศ กรมวิชาการเกษตร, 2551)
 
ภาพที่ 11 พันธุ์มันสำปะหลังของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่ เกษตรศาสตร์ 50 ห้วยบง 60 และห้วยบง 80

แหล่งปลูกมันสำปะหลังในประเทศไทย 

              มันสำปะหลังเป็นพืชที่ปลูกในเขตร้อน สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย ที่มีการระบายน้ำดี ปริมาณธาตุอาหารในดินไม่สูงมาก ความเป็นกรด-ด่างอยู่ระหว่าง 5-6 และไม่เป็นดินเค็ม พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ผลผลิตในแต่ละพื้นที่จึงขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน และคุณลักษณะของดินที่ปลูกเป็นสำคัญ (ศูนย์สารสนเทศ กรมวิชาการเกษตร, 2551) สำหรับประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2559 พบว่า มีเนื้อที่เพาะปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศประมาณ 9,315,012 ไร่ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2560) สามารถทำรายได้ให้กับเกษตรกรหลายล้านบาทต่อปี โดยแหล่งปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญในประเทศไทย ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือ (ภาพที่ 12) (ตารางที่ 5)

 

(ที่มา : http://www3.rdi.ku.ac.th/?p=18045)

ภาพที่ 12 แหล่งปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญในประเทศไทย

 

                                           ตารางที่ 5 แหล่งปลูก เนื้อที่เพาะปลูก เนื้อที่เก็บเกี่ยว และผลผลิตมันสำปะหลังในแต่ละภาคของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2559
 

ภาค

เนื้อที่เพาะปลูก

เนื้อที่เก็บเกี่ยว

ผลผลิต

(ไร่)

(ไร่)

(ตัน)

  ภาคเหนือ

2,099,453

1,965,619

6,662,330

  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

4,867,828

4,829,961

16,956,704

  ภาคกลาง

2,347,731

2,269,697

7,542,069

  รวมทั้งประเทศ

9,315,012

9,065,277

31,161,103

 
                                           (ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2560)

 

                                            ตารางที่ 6 แหล่งปลูก เนื้อที่เพาะปลูก เนื้อที่เก็บเกี่ยว และผลผลิตมันสำปะหลังในจังหวัดที่สำคัญของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2559
 

ลำดับ

จังหวัด

เนื้อที่เพาะปลูก

เนื้อที่เก็บเกี่ยว

ผลผลิต

(ไร่)

(ไร่)

(ตัน)

1

  นครราชสีมา

1,523,512

1,522,905

5,572,432

2

  กำแพงเพชร

701,222

654,847

2,337,078

3

  ชัยภูมิ

541,038

540,780

1,818,426

4

  กาญจนบุรี

485,617

473,917

1,512,391

5

  อุบลราชธานี

453,032

441,454

1,493,664

6

  สระแก้ว

448,730

431,891

1,378,555

7

  นครสวรรค์

392,039

368,453

1,244,435

8

  เลย

354,728

349,315

1,145,494

9

  อุดรธานี

311,802

307,248

1,130,567

10

  ลพบุรี

292,796

272,090

927,304

 

                                             (ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2560)

              จากตารางที่ 5-6 จะเห็นได้ว่า ในปี พ.ศ. 2559 พื้นที่ที่มีการปลูกมันสำปะหลังมากที่สุดในประเทศไทย คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเนื้อที่เพาะปลูกประมาณ 4,867,828 ไร่ รองลงมา คือ ภาคกลาง มีเนื้อที่เพาะปลูกประมาณ 2,347,731 ไร่ และภาคเหนือ มีเนื้อที่เพาะปลูกประมาณ 2,099,453 ไร่ โดยจังหวัดที่มีการปลูกมันสำปะหลังมากที่สุด คือ จังหวัดนครราชสีมา รองลงมา คือ จังหวัดกำแพงเพชร ชัยภูมิ กาญจนบุรี อุบลราชธานี สระแก้ว นครสวรรค์ เลย และอุดรธานี


การใช้ประโยชน์

              มันสำปะหลังเป็นพืชที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ทั้งในครัวเรือนและในภาคอุตสาหกรรม โดยสามารถสรุปประโยชน์จากมันสำปะหลังได้ 2 กลุ่ม คือ

              1. การใช้บริโภคโดยตรง แยกตามส่วนต่างๆ ของมันสำปะหลังได้ (กรมพัฒนาที่ดิน สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กลุ่มอนุรักษ์ดินและน้ำ, 2559.) ดังนี้

                    (1) หัวสด

                          -  ใช้เป็นอาหารมนุษย์ โดยรับประทานสด ต้ม นึ่ง  ย่าง อบ เชื่อม (ภาพที่ 13A) ทำเป็นแป้ง แล้วแปรรูปเป็นอาหารชนิดต่างๆ ตลอดจนนำมาฝานเป็นแผ่นบางๆ แล้วทอด
                          -  ใช้เป็นอาหารสัตว์ 
                    (2) ใบ  
                          -  ใช้เป็นอาหารมนุษย์ รับประทานสด ต้มจิ้มน้ำพริก นำมาแกง
                          -  ใช้เป็นอาหารสัตว์ ในรูปใบสด ตากแห้งป่นผสมกับอาหารข้นเลี้ยงสัตว์ และเป็นอาหารผสม (ภาพที่ 13B)
                    (3) ลำต้น
                         -  ใช้ทำเป็นท่อนพันธุ์ โดยตัดออกเป็นท่อนๆ นำไปปลูกได้
                         -  ใช้เป็นอาหารสัตว์ โดยตัดส่วนยอดผสมกับใบสดใช้เลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้อง ตากแห้งเป็นอาหารหยาบ
                    (4) เมล็ด
                         -  ใช้สกัดน้ำมันที่มีคุณภาพดี สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมยาได้
 
                                                                 A                                                                                                              B
 

                                          

                                   (ที่มา : http://www.isangate.com/new/firstpage/                        (ที่มา : http://m.matichon.co.th/readnews.php?newsid=1441877315)
                                32-art-culture/knowledge/460-man-sam-pa-lang.html)
 
ภาพที่ 13 มันสำปะหลังใช้เป็นอาหารมนุษย์ (A) และอาหารสัตว์ (B)
 
              2. การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลักได้ 3 ชนิด (มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย, 2543) คือ 
                    (1) มันเส้น (Tapioca chips) เป็นผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังที่ถือได้ว่าเป็นการแปรรูปที่ใกล้ตัวเกษตรกรมากที่สุด เพราะเมื่อเก็บเกี่ยวหัวมันสดแล้วจะนำส่งลานมัน เกษตรกรบางรายมีลานมันเป็นของตัวเอง จึงสามารถแปรรูปโดยใช้เครื่องตัดหัวมันเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปตากบนลานซีเมนต์ เมื่อแห้งดีแล้วก็ทำการเก็บเพื่อส่งขายเป็นวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ หรืออุตสาหกรรมมันอัดเม็ดต่อไป (ภาพที่ 14A) ปกติมันสดจำนวน 2.5 กิโลกรัม สามารถผลิตเป็นมันเส้นได้ 1 กิโลกรัม
                    (2) มันอัดเม็ด (Tapioca pellets) เป็นผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังที่ได้จากการอัดมันเส้น โดยใช้เครื่องอัดภายใต้สภาวะความร้อนและความดัน หลังจากอัดแล้วจะมีลักษณะเป็นท่อนยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร (ภาพที่ 14B) เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ความชื้นประมาณร้อยละ 14 มันอัดเม็ดมักส่งออกไปยังต่างประเทศเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอาหารสัตว์ เนื่องจากมีปริมาณแป้งสูง เหมาะสำหรับใช้เป็นแหล่งอาหารให้พลังงานของสัตว์ ปกติมันเส้น 1 กิโลกรัม สามารถผลิตเป็นมันอัดเม็ดได้ประมาณ 0.89-0.93 กิโลกรัม
 
                                                                 A                                                                                                            B

 

                                         

(ที่มา : http://www.ccetapioca.com/product.html)

ภาพที่ 14 ผลิตภัณฑ์มันเส้น (A) และมันอัดเม็ด (B)

 

              ทั้งนี้ มันเส้นและมันอัดเม็ดยังสามารถนำมาผลิตแอลกอฮอล์ เพื่อใช้สำหรับการผลิตสุรา และ ยาฆ่าเชื้อโรค รวมถึงเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลอีกด้วย 

                    (3) แป้งมันสำปะหลัง (Tapioca starch) ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดของโลก แป้งมันสำปะหลังจึงถือได้ว่าเป็น “แป้งไทย” เป็นแป้งของคนไทย เนื่องจากคนไทยสามารถผลิตได้มากที่สุด มีคุณภาพสูง และราคาถูกที่สุด โดยผลิตจากการใช้หัวมันสดมาล้างน้ำทำความสะอาด แล้วนำไปขูดเปลือกออกพร้อมกับสับให้มีขนาดเล็กลง จากนั้นนำไปบดย่อยจะได้น้ำแป้งและกากมันสำปะหลัง แยกทั้ง 2 ส่วนนี้ออกจากกัน โดยนำกากมันสำปะหลังที่ถูกแยกออกมาไปตากให้แห้ง เพื่อนำไปจำหน่าย หรือนำไป ผสมกับมันเส้นเพื่ออัดเป็นมันอัดเม็ด ส่วนน้ำแป้งที่แยกออกมาได้จะถูกส่งไปทำให้แห้ง เพื่อผลิตเป็นแป้งมันสำปะหลัง ปกติหัวมันสด 1 กิโลกรัม สามารถผลิตเป็นแป้งมันสำปะหลังได้ประมาณ 0.20 กิโลกรัม และได้กากมันสำปะหลังประมาณ 0.40-0.90 กิโลกรัม โดยแป้งมันสำปะหลังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในครัวเรือน และในทางอุตสาหกรรมต่างๆ (ภาพที่ 16) ได้แก่ 

                         -  อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม แป้งมันสำปะหลังสามารถนำมาใช้ได้ทั้งในรูปของแป้งแท้ๆ และแป้งดัดแปร (Modified starch) เช่น ใช้แป้งมันสำปะหลังประกอบอาหารโดยตรง ผลิตอาหารเด็ก ขนมปัง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว วุ้นเส้น (ภาพที่ 15A) สาคู ซอสปรุงรสต่างๆ รวมถึงใช้เป็นสารให้ความหวานในเครื่องดื่ม
                         -  สารให้ความหวาน เช่น น้ำตาลกลูโคส น้ำเชื่อมฟรุกโตส และใช้แทนซูโครส ในผลไม้กระป๋อง แยม และอื่นๆ 
                         -  อุตสาหกรรมสิ่งทอ ใช้เคลือบเส้นใยของผ้า เพื่อให้ไม่มีขนเวลาทอ ทำให้เส้นใยแข็งแรง ทนต่อแรงเสียดสีระหว่างทอ
                         -  อุตสาหกรรมกระดาษ ใช้ในขั้นตอนการบดเยื่อกระดาษก่อนทำเป็นแผ่น เพื่อให้กระดาษมีความเหนียว และใช้ในขั้นตอนการรีดและขัดมันหน้ากระดาษ รวมทั้งใช้เป็นตัวยึดและเพิ่มความหนาของกระดาษบางประเภท (ภาพที่ 15B) เช่น กระดาษปฏิทิน กระดาษกล่อง
 

                                                                  A                                                                                                           B

                                          

                         (ที่มา : http://www.goosiam.com/health/html/0008561.html)                               (ที่มา : http://mediamonitor.in.th/archives/17382)

ภาพที่ 15 การใช้แป้งมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหาร (A) และอุตสาหกรรมกระดาษ (B)

 
                       -  อุตสาหกรรมกาว เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตกาว
                       -  อุตสาหกรรมไม้อัด ใช้ผสมกาว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตไม้อัด โดยคุณภาพความแข็งแรงทนทานของไม้อัดขึ้นอยู่กับกาวเป็นสำคัญ
                       -  วัสดุภัณฑ์ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ นำมาแปรสภาพคล้ายพลาสติก ซึ่งเมื่อเติมสารโพลิเมอร์ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ทำให้เกิดเป็นสารผสมที่สามารถนำไปใช้เป็นวัสดุภัณฑ์ เพื่อใช้ทดแทนพลาสติกได้
                       -  ยารักษาโรค ใช้เป็นตัวเจือจางในยาประเภทแคปซูล 
                       -  ผงชูรสและไลซีน เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตผงชูรสและไลซีน
                       -  อุตสาหกรรมกรดมะนาว ผลิตกรดมะนาว ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้กระป๋อง เครื่องดื่มชูกำลัง และใช้ในอุตสาหกรรมยา เช่น วิตามินซี
                       -  อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ใช้แป้งมันสำปะหลังในการผลิตเอทานอล เพื่อเป็นส่วนผสมในการผลิตแก๊สโซฮอลล์ 
 

(ที่มา : http://www.tapiocathai.org/O1.html)

ภาพที่ 16 ประโยชน์ของมันสำปะหลังในด้านต่างๆ

 


คุณภาพตามมาตรฐานของผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง

              1. มาตรฐานของผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (ราชกิจจานุเบกษา, 2545)

              ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรสภาพหัวมันสำปะหลัง ไม่ว่าจะมีลักษณะป่น หรือเป็นชิ้น แผ่น ก้อน แท่ง เม็ด หรือลักษณะอื่นใดที่ไม่ใช่สำหรับบริโภค และไม่หมายความรวมถึงแป้งมันสำปะหลัง กากมันสำปะหลัง และมันสำปะหลังที่ปอกเปลือกให้สะอาด แล้วบรรจุในภาชนะที่เหมาะสมที่แสดงให้เห็นว่าใช้สำหรับบริโภค โดยประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นสินค้ามาตรฐาน และมาตรฐานสินค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2545 ได้กำหนดคุณภาพของผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไว้ดังนี้

                   (1) มีแป้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 65.0 โดยน้ำหนัก
                   (2) มีเส้นใยของหัวมันสำปะหลังไม่เกินร้อยละ 5.0 โดยน้ำหนัก
                   (3) มีความชื้นไม่เกินร้อยละ 14.0 โดยน้ำหนัก เว้นแต่ในระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน    ไม่เกินร้อยละ 14.3 โดยน้ำหนัก
                   (4) ไม่มีวัตถุอื่นเจือปน เว้นแต่ดินทรายที่ติดมากับหัวมันสำปะหลังตามสภาพปกติไม่เกินร้อยละ 3.0 โดยน้ำหนัก หรือในกรณีที่มีการผสมกากน้ำตาลหรือผสมน้ำมันพืชหรือสิ่งอื่นๆ ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงเป็นสารตัวเชื่อม (Binder) กากน้ำตาลหรือน้ำมันพืชหรือสิ่งอื่นๆ นั้น รวมกันหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ยกเว้นสิ่งอื่นๆ ต้องมีปริมาณไม่เกินร้อยละ 3.0 โดยน้ำหนัก สำหรับสิ่งอื่นๆ ไม่ว่าจะผสมร่วมกับสารตัวเชื่อมชนิดอื่นหรือไม่ก็ตามต้องมีปริมาณไม่เกินร้อยละ 0.5 โดยน้ำหนัก
                   (5) ไม่มีกลิ่นและสีผิดปกติ
                   (6) ไม่บูด เน่า หรือขึ้นรา
                   (7) ไม่มีแมลงที่ยังมีชีวิตอยู่
              ในกรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเม็ดแข็ง นอกจากต้องมีคุณภาพตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะต้องมีความแข็งเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 12.0 กิโลกรัม โดยเครื่องมือทดสอบความแข็งของคาห์ล (Kahl hardness  tester) หรือเครื่องมืออื่นที่เปรียบเทียบค่าความแข็งกันได้ และมีฝุ่นไม่เกินร้อยละ 8.0 โดยน้ำหนัก รวมทั้งในกรณีที่ส่งผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังออกโดยมีการบรรจุหรือหุ้มห่อ ภาชนะที่ใช้ในการบรรจุหุ้มห่อผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังต้องอยู่ในสภาพเรียบร้อย แข็งแรง ไม่ขาด ไม่รั่ว ไม่มีกลิ่นเหม็น เหมาะสำหรับการส่งออก และผู้ทำการค้าขาออกได้แจ้งรายละเอียดดังกล่าวไว้ในคำร้องขอให้ออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าแล้ว
 

              2. มาตรฐานของแป้งมันสำปะหลัง (ราชกิจจานุเบกษา, 2549)

              แป้งมันสำปะหลัง หมายถึง แป้งมันสำปะหลังประเภทสตาร์ช (Tapioca starch) และแป้งมันสำปะหลังประเภทโมดิไฟด์สตาร์ช (Tapioca modified starch) ซึ่งแป้งมันสำปะหลังประเภทสตาร์ชเป็นแป้งที่ได้จากหัวมันสำปะหลัง เมื่อผ่านกระบวนการผลิตมีสีขาวหรือสีครีมอ่อน ส่วนแป้งมันสำปะหลังประเภทโมดิไฟด์สตาร์ชเป็นแป้งที่ได้จากการนำแป้งมันสำปะหลังมาเปลี่ยนสมบัติทางเคมี และ/หรือทางฟิสิกส์ จากเดิมด้วยความร้อน และ/หรือเอนไซม์ และ/หรือสารเคมีชนิดต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับการนำไปใช้ โดยประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้แป้งมันสำปะหลังเป็นสินค้ามาตรฐาน และมาตรฐานสินค้าแป้งมันสำปะหลัง ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้กำหนดคุณภาพของแป้งมันสำปะหลัง ไว้ดังนี้

                    (1) แป้งมันสำปะหลังประเภทสตาร์ช ให้แบ่งมาตรฐานออกเป็น 3 ชั้น ดังนี้

                          -  แป้งมันสำปะหลังประเภทสตาร์ช ชั้น พิเศษ (Tapioca starch premium grade)
                          -  แป้งมันสำปะหลังประเภทสตาร์ช ชั้น 1 (Tapioca starch first grade)
                          -  แป้งมันสำปะหลังประเภทสตาร์ช ชั้น 2 (Tapioca starch second grade)
                    (2) แป้งมันสำปะหลังสตาร์ชแต่ละชั้น ให้กำหนดมาตรฐานไว้ ดังนี้

                         (2.1) แป้งมันสำปะหลังประเภทสตาร์ช ชั้น พิเศษ ต้องมี

                          -  แป้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 โดยน้ำหนัก
                          -  ความชื้นไม่เกินร้อยละ 13 โดยน้ำหนัก
                          -  เถ้าไม่เกินร้อยละ 0.20 โดยน้ำหนัก
                          -  เยื่อไม่เกิน 0.2 ลูกบาศก์เซนติเมตร ต่อน้ำหนักแป้ง 50 กรัม
                          -  ความเป็นกรด-ด่าง ตั้งแต่ 4.5 ถึง 7.0 
                          -  ส่วนของแป้งที่สามารถผ่านตะแกรงขนาด 150 ไมโครเมตร ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 โดยน้ำหนัก
                        (2.2) แป้งมันสำปะหลังประเภทสตาร์ช ชั้น 1 ต้องมี
                          -  แป้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 83 โดยน้ำหนัก
                          -  ความชื้นไม่เกินร้อยละ 14 โดยน้ำหนัก
                          -  เถ้าไม่เกินร้อยละ 0.30 โดยน้ำหนัก
                          -  เยื่อไม่เกิน 0.5 ลูกบาศก์เซนติเมตร ต่อน้ำหนักแป้ง 50 กรัม
                          -  ความเป็นกรด-ด่าง ตั้งแต่ 4.5 ถึง 7.0 
                          -  ส่วนของแป้งที่สามารถผ่านตะแกรงขนาด 150 ไมโครเมตร ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 โดยน้ำหนัก
                        (2.3) แป้งมันสำปะหลังประเภทสตาร์ช ชั้น 2 ต้องมี
                          -  แป้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 โดยน้ำหนัก
                          -  ความชื้นไม่เกินร้อยละ 14 โดยน้ำหนัก
                          -  เถ้าไม่เกินร้อยละ 0.50 โดยน้ำหนัก
                          -  เยื่อไม่เกิน 1.0 ลูกบาศก์เซนติเมตร ต่อน้ำหนักแป้ง 50 กรัม
                          -  ความเป็นกรด-ด่าง ตั้งแต่ 4.5 ถึง 7.0 
                          -  ส่วนของแป้งที่สามารถผ่านตะแกรงขนาด 150 ไมโครเมตร ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 โดยน้ำหนัก

                    (3) มาตรฐานแป้งมันสำปะหลังประเภทโมดิไฟด์สตาร์ช

                          แป้งมันสำปะหลังประเภทโมดิไฟด์สตาร์ช ต้องผลิตจากโรงงานที่มีเครื่องมือและอุปกรณ์การผลิตที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการโมดิไฟด์แป้ง โดยกระบวนการผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน     ระบบบริหารคุณภาพในระดับสากล และผลิตภัณฑ์มีสมบัติทางเคมีหรือฟิสิกส์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากแป้งมันสำปะหลังประเภทสตาร์ช อันเนื่องมาจากผลของการโมดิไฟด์

                          แป้งมันสำปะหลังทุกประเภททุกชั้น ต้องไม่บูด เน่า หรือขึ้นรา ไม่มีกลิ่น และ/หรือสีผิดปกติ ไม่มีแมลงและวัตถุอื่น เว้นแต่วัตถุหรือสารอันจะพึงมีได้ในกรรมวิธีการผลิตแป้งมันสำปะหลังตามปกติเท่านั้น รวมทั้ง แป้งมันสำปะหลังให้บรรจุในภาชนะที่เหมาะสม สะอาด และปิดผนึกภาชนะที่บรรจุให้เรียบร้อย และต้องแสดงข้อความ Product of Thailand  หรือชื่อผู้ผลิต หรือเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในประเทศไทย เว้นแต่ผู้ซื้อไม่ต้องการให้แสดงข้อความดังกล่าว 


สถานการณ์และแนวโน้มมันสำปะหลังในประเทศไทย (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร, 2560)

              1. สถานการณ์ของมันสำปะหลัง

              มันสำปะหลังเป็นพืชอาหารที่สำคัญเป็นอันดับ 5 ของโลก รองจากข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าว และมันฝรั่ง เป็นพืชอาหารที่สำคัญของประเทศในเขตร้อน โดยเฉพาะประเทศในทวีปแอฟริกา และอเมริกาใต้ ส่วนในทวีปเอเซียประเทศที่มีการบริโภคมันสำปะหลังเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย และอินเดีย ในขณะที่ประเทศไทยใช้มันสำปะหลังเพื่อบริโภคน้อย แต่เน้นการส่งออกไปต่างประเทศเป็นสำคัญ โดยสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรมากเป็นอันดับ 4 รองจากยางพารา อ้อย และข้าว ทั้งนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศ 1 ใน 5 ของผู้ผลิตมันสำปะหลังที่สำคัญของโลก แสดงดังตารางที่ 7     

                                           ตารางที่ 7 ประเทศผู้ผลิตมันสำปะหลังที่สำคัญของโลก 5 อันดับแรก ปี พ.ศ. 2556-2560

                                          หมายเหตุ : * FAO Estimate และ ** FAO Forecast

                                         (ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร, 2560)

              (1) การผลิต ปี พ.ศ. 2556-2560 เนื้อที่เก็บเกี่ยว และผลผลิตของมันสำปะหลัง ขยายตัว    เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.31 และร้อยละ 0.84 ต่อปี ตามลำดับ (ตารางที่ 8) เนื่องจากราคามันสำปะหลังอยู่ในเกณฑ์ดี (ยกเว้นในปี พ.ศ. 2559-2560 ที่ราคามันสำปะหลังปรับตัวลดลง) ประกอบกับภาครัฐได้ดำเนินมาตรการและโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูก รวมถึงมีการดูแลรักษาดีขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนผลผลิตต่อไร่ลดลงร้อยละ 0.47 ต่อปี เนื่องจากในปี พ.ศ. 2559-2560 เกิดภาวะภัยแล้งส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง

                                          ตารางที่ 8 เนื้อที่เก็บเกี่ยว ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ของมันสำปะหลังในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2559-2561

                                          หมายเหตุ : *  ประมาณการ ณ กันยายน 2560

                                         (ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร, 2560)

              (2) การตลาด ผลผลิตมันสำปะหลังเข้าสู่กระบวนการแปรรูปทั้งหมด โดยแปรรูปเป็นมันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง และเอทานอล เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อาหาร อาหารสัตว์ สารให้ความหวาน ผงชูรส กระดาษ สิ่งทอ เป็นต้น ซึ่งความต้องการใช้ภายในประเทศในแต่ละปีประมาณร้อยละ 20-25 ที่เหลือร้อยละ 75-80 เป็นการส่งออก

                    -  ความต้องการใช้ในประเทศ ปี พ.ศ. 2556-2560 ความต้องการใช้มันสำปะหลังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะความต้องการใช้เพื่อผลิตเอทานอล สำหรับความต้องการใช้เพื่อผลิตแป้งมันสำปะหลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนความต้องการใช้เพื่อผลิตมันเส้นสำหรับเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์มีแนวโน้มลดลง ซึ่งลดลงมากตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เนื่องจากผู้ประกอบการอาหารสัตว์หันไปใช้กากมันสำปะหลัง หรือพืชทดแทนอื่นๆ เช่น ข้าวสาลี เนื่องจากราคาต่ำกว่ามันเส้น
                    -  การส่งออก ปี พ.ศ. 2556-2560 ปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ได้แก่ มันเส้น มันอัดเม็ด และแป้งมันสำปะหลัง ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.93 ต่อปี (ตารางที่ 9) โดยการส่งออกมันเส้น และแป้ง  มันสำปะหลังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่วนการส่งออกมันอัดเม็ดมีแนวโน้มลดลงมาก เนื่องจากราคา  มันอัดเม็ดของประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันกับธัญพืชของสหภาพยุโรปได้ ส่งผลให้การส่งออกไปสหภาพยุโรปลดลง สำหรับมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังลดลงร้อยละ 1.43 ต่อปี เนื่องจากราคาส่งออกมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2556-2560 ราคาส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังปรับตัวลดลงมาก เนื่องจากจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลัก ลดการนำเข้ามันเส้นจากไทย ประกอบกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ คือ เวียดนาม ขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในราคาที่ต่ำกว่าประเทศไทย ทั้งนี้ ตลาดหลักที่สำคัญของผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย คือ มันเส้น ได้แก่ ประเทศจีน มันอัดเม็ด ได้แก่ ประเทศตุรกี และญี่ปุ่น แป้งมันสำปะหลังดิบ ได้แก่ ประเทศจีน อินโดนีเซีย ไต้หวัน และมาเลเซีย ส่วนแป้งมันสำปะหลังดัดแปร ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น จีน อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้  
 
                         ตารางที่ 9 ปริมาณ และมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2556-2560

                                                                                                                                                                               ปริมาณ : ล้านตัน  มูลค่า : ล้านบาท

                        หมายเหตุ : * ประมาณการ ณ ตุลาคม 2560

                        (ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร, 2560)

                    -  การนำเข้า ปี พ.ศ. 2556-2560 การนำเข้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ มันสำปะหลังสด มันเส้น/มันฝาน และแป้งมันสำปะหลัง มีปริมาณ และมูลค่าการนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 61.88 และร้อยละ 54.79 ต่อปี ตามลำดับ (ตารางที่ 10) โดยปริมาณการนำเข้าแป้งมันสำปะหลังใกล้เคียงกันทุกปี แต่การนำเข้ามันสำปะหลังสด และมันเส้น/มันฝานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากผลผลิตมันสำปะหลังภายในประเทศไม่เพียงพอสำหรับการแปรรูปเพื่อส่งออก ส่งผลให้ผู้ประกอบมันเส้นไทยต้องนำเข้ามันเส้น/มันฝานจากประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับมันสำปะหลังสด ส่วนใหญ่จะนำเข้าโดยผู้ประกอบการโรงงานแป้งมันสำปะหลัง เพื่อนำมาแปรรูปเป็นแป้งมันสำปะหลัง 
 
                        ตารางที่ 10 ปริมาณ และมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2556-2560

                                                                                                                                                                              ปริมาณ : ล้านตัน  มูลค่า : ล้านบาท

                         หมายเหตุ : * ประมาณการ ณ ตุลาคม 2560

                        (ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร, 2560)

                    -  ราคา ปี พ.ศ. 2556-2560 ราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้ ราคาส่งออกมันเส้น ราคาส่งออกมันอัดเม็ด และราคาส่งออกแป้งมันสำปะหลัง ลดลงร้อยละ 9.41, 5.29, 3.72 และ 5.84 ต่อปี ตามลำดับ (ตารางที่ 11) เนื่องจากในปี 2554-2558 ประเทศคู่ค้ามีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้ และราคาส่งออกผลิตภัณฑ์  มันสำปะหลังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ในปี พ.ศ. 2559-2560 ประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีน ลดการนำเข้ามันเส้นจากประเทศไทย และพยายามกดดันด้านราคา เพื่อให้ได้ราคามันเส้น และแป้งมันสำปะหลังที่ต่ำที่สุด ทำให้ราคา  มันสำปะหลังลดต่ำลงมาก นอกจากนี้ ราคามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ยังขึ้นอยู่กับราคาพืชทดแทน เช่น ข้าวสาลี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น 
 
                                 ตารางที่ 11 ราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2556-2560

                                                                                                                                                                                             หน่วย : บาท/กก.

                               หมายเหตุ : * ประมาณการ ณ ตุลาคม 2560

                              (ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร, 2560)

 

              2. แนวโน้มของมันสำปะหลัง 

              (1) การผลิต ปี พ.ศ. 2561 คาดว่า จะมีเนื้อที่เก็บเกี่ยว และผลผลิตลดลง เนื่องจากราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้ลดต่ำอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงบางพื้นที่ปล่อยพื้นที่ว่างเปล่า สำหรับผลผลิตต่อไร่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวย ทำให้ต้นมันสำปะหลังเจริญเติบโตดี

              (2) การตลาด

                    -  ความต้องการใช้ในประเทศ ปี พ.ศ. 2561 คาดว่าความต้องการใช้ในประเทศจะเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2560 โดยความต้องการใช้มันสำปะหลังเพื่อผลิตเอทานอล และความต้องการใช้เพื่อผลิตแป้งมันสำปะหลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนความต้องการใช้เพื่อผลิตมันเส้นใกล้เคียงเดิม
                    -  การส่งออก ปี พ.ศ. 2561 คาดว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังใกล้เคียงกับปี พ.ศ. 2560 เนื่องจากประเทศคู่ค้ามีความต้องการผลิตภัณฑ์ใกล้เคียงเดิม ทั้งในรูปของมันเส้น และแป้งมันสำปะหลัง ทั้งนี้ ประเทศจีนยังคงเป็นประเทศผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่สำคัญของไทย
                    -  การนำเข้า ปี พ.ศ. 2561 คาดว่าการนำเข้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ใกล้เคียงกับปี พ.ศ. 2560 เนื่องจากมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกมันสำปะหลัง ส่งผลให้มีการนำเข้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกัมพูชา และลาว สำหรับนำมาแปรรูปเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ
                    -  ราคา ปี พ.ศ. 2560 คาดว่าราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้ ราคาส่งออกมันเส้นราคาส่งออกมันอัดเม็ด และราคาส่งออกแป้งมันสำปะหลัง จะเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2560 เนื่องจากผลผลิตมันสำปะหลังของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านลดลงจากปีที่ผ่านมา แต่ประเทศคู่ค้ามีความต้องการใช้  มันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง 
 

บทสรุป

              มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย เป็นพืชที่ปลูกง่าย ทนแล้ง สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความอุดมสมบูณ์ต่ำ และให้ผลผลิตเร็ว โดยพื้นที่ที่มีการปลูกมันสำปะหลังมากที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมา คือ ภาคกลาง และภาคเหนือ ตามลำดับ และจังหวัดที่มีการปลูกมันสำปะหลังมากที่สุด คือ จังหวัดนครราชสีมา มันสำปะหลังเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานกับคนและสัตว์ได้ดี แต่มีปริมาณโปรตีน และไขมันน้อย  สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนทั้ง หัวสด ใบ ลำต้น และเมล็ด นิยมนำมาบริโภคเป็นอาหารโดยตรง และนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง ได้แก่ มันเส้น (Tapioca chips) มันอัดเม็ด (Tapioca pellets) และแป้งมันสำปะหลัง (Tapioca starch) เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง พบว่า เป็นสินค้าส่งออกที่มีความต้องการสูงในตลาดต่างประเทศ โดย มีปริมาณการส่งออกมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ส่งผลให้สามารถสร้างรายได้เป็นจำนวนมาก และส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศให้ดียิ่งขึ้น และในอนาคตคาดว่าความต้องการใช้มันสำปะหลังในประเทศจะมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากมีการนำมันสำปะหลังมาผลิตเอทานอลในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้นด้วย

 


อ้างอิง

กรมพัฒนาที่ดิน สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กลุ่มอนุรักษ์ดินและน้ำ.  (2559).  เอกสารวิชาการมันสำปะหลัง.  สืบค้น 2560, พฤศจิกายน 21,    
       จาก http://www.ldd.go.th/Lddwebsite/web_ord/Technical/pdf/P_Technical06013.pdf
คณาจารย์ภาควิชาพืชไร่นา ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน.  (2547).  พืชเศรษฐกิจ  (พิมพ์ครั้งที่ 2). 
       กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (633 ก 58 2547)
ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นสินค้ามาตรฐาน และมาตรฐานสินค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2545. 
       (2545).  ราชกิจจานุเบกษา.  เล่มที่ 119 ตอนพิเศษ 21 ง, น. 1-3.
ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้แป้งมันสำปะหลังเป็นสินค้ามาตรฐาน และมาตรฐานสินค้าแป้งมันสำปะหลัง.  (2549).  ราชกิจจานุเบกษา.  เล่มที่ 123 ตอนที่ 125 ง, น. 1-4.
มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย.  (2543).  ข้อมูลทั่วไป และการปลูกมันสำปะหลังที่ดี. สืบค้น 2560, พฤศจิกายน 21, จาก http://www.tapiocathai.org/Mainpage.html
ศูนย์รวมข้อมูลอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังไทย.  (2553).  การแปรรูปและการใช้ประโยชน์จากมันสำปะหลัง.  สืบค้น 2560, พฤศจิกายน 22, 
       จาก http://www.thailandtapiocastarch.net/download/download-th-17.pdf
ศูนย์สารสนเทศ กรมวิชาการเกษตร.  (2551).  การจำแนกพันธุ์มันสำปะหลัง.  สืบค้น 2560, พฤศจิกายน 22, จาก http://at.doa.go.th/mealybug/download/การจำแนกพันธุ์.pdf
ศูนย์สารสนเทศ กรมวิชาการเกษตร.  (2551).  ดิน น้ำ และการจัดการการปลูกมันสำปะหลัง.  สืบค้น 2560, พฤศจิกายน 22,
       จาก http://at.doa.go.th/cassfer/ดินน้ำและการจัดการปลูกมันสำปะหลัง.pdf
สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน.  (2552).  องค์ประกอบทางเคมีของหัวมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์.  สืบค้น 2560, พฤศจิกายน 21,
       จาก http://www.doa.go.th/fcri/images/files/casava/p001.pdf
สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  (2560).  มันสำปะหลัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  สืบค้น 2560, พฤศจิกายน 21,
       จาก http://www3.rdi.ku.ac.th/?tag=มันสำปะหลัง-มหาวิทยาลัย
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร.  (2560).  มันสำปะหลังโรงงาน : เนื้อที่เพาะปลูก เนื้อที่เก็บเกี่ยว ผลผลิต ผลผลิตต่อไร่ รายจังหวัด ปี 2559.  สืบค้น 2560, พฤศจิกายน 21,
       จาก http://www.oae.go.th/download/prcai/DryCrop/casava/2-59.pdf
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร.  (2560).  สถานการณ์สินค้าเกษตรที่สำคัญและแนวโน้ม ปี 2561.  สืบค้น 2561, มีนาคม 14,
       จาก http://www.oae.go.th/download/document_tendency/agri_situation2561.pdf
อนุชิต  ชุ่มใจ.  (2560).  การเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง.  สืบค้น 2560, พฤศจิกายน 22, จาก http://www.agriman.doae.go.th/home/Research/FieldCrop/Cassava.pdf