ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

 

 

 

บทนำ

              กระจูดเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lepironia articulata Domin จัดอยู่ในวงศ์ Cyperaceae สามารถเจริญเติบโตได้ง่าย และแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว ชอบขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือในระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือบริเวณที่มีน้ำขังตลอดทั้งปี มักกระจายพันธุ์อยู่ในทวีปเอเชียบริเวณคาบสมุทรอินโดจีน เช่น ประเทศเวียดนาม กัมพูชา ไทย ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาะบอร์เนียว เกาะสุมาตรา เป็นต้น สำหรับประเทศไทยพบมากทางภาตใต้และภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง นราธิวาส นครศรีธรรมราช และระยอง แต่เดิมไม่มีการปลูกกระจูด เพราะส่วนมากจะนำกระจูดจากแหล่งธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ โดยในบางพื้นที่ประสบปัญหาด้านการขนส่งและระยะทาง ต่อมาบางหมู่บ้านได้ริเริ่มนำต้นกระจูดมาปลูกในพื้นที่ใกล้หมู่บ้านของตน เรียกว่า การทำนากระจูด (กรมส่งเสริมการเกษตร, มปป.) ต้นกระจูดมี 2 ชนิด คือ ต้นกระจูดใหญ่ และต้นกระจูดหนู ซึ่งเกษตรกรนิยมนำต้นกระจูดใหญ่มาใช้ประโยชน์มากกว่าต้นกระจูดหนู เนื่องจากมีขนาดลำต้นกลมโต และมีความเหนียว (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรม, 2548) กระจูดสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นในภาคใต้ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษเป็นเวลาหลายสิบปี คือ การจักสานกระจูดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น เสื่อ ใบเรือ เชือกผูกมัด กระสอบบรรจุอาหาร สินค้า เป็นต้น โดยรูปแบบของผลิตภัณฑ์ในแต่ละจังหวัดจะมีลักษณะเด่นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของวัตถุดิบ ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ค่านิยม และวัตถุประสงค์การใช้สอย หัตถกรรมจักสานจากกระจูดจึงมีคุณค่าทางวัฒนธรรม และเป็นอาชีพที่สำคัญของคนในภาคใต้

              ปัจจุบันหัตถกรรมจักสานจากกระจูดได้รับการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีคุณภาพดี สวยงาม ทันสมัย ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ และสามารถช่วยเพิ่มมลูค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เช่น เสื่อ กระเป๋า กระเป๋าเดินทาง ตะกร้า หมวก กระเช้า กระบุง เป็นต้น อีกทั้ง ยังถูกยกระดับเป็นสินค้า OTOP ที่สำคัญของชุมชน โดยมีการผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นสินค้ามากขึ้น ทำให้สามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัว ชุมชน และประเทศเพิ่มขึ้นด้วย