ประวัติของมันสำปะหลัง
1. แหล่งกำเนิดและการแพร่กระจายของมันสำปะหลัง
มันสำปะหลังเป็นพืชดั้งเดิมของชาวพื้นเมืองในเขตร้อนของทวีปอเมริกาตอนกลาง และทางเหนือของทวีปอเมริกาใต้ จากหลักฐานทางโบราณคดีมีการค้นพบเครื่องปั้นดินเผารูปหัวมันสำปะหลังในประเทศเปรู ซึ่งมีอายุประมาณ 2,500 ปี แสดงให้เห็นว่า มนุษย์รู้จักการเพาะปลูกมันสำปะหลังมาเป็นเวลานาน โดยแหล่งกำเนิดมันสำปะหลังมี 4 แห่ง คือ
2. ความเป็นมาของมันสำปะหลังในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยยังไม่มีหลักฐานที่แน่นอนว่ามีการนำมันสำปะหลังเข้ามาปลูกเมื่อใดแต่สันนิษฐานว่าน่าจะเข้ามาในระยะเดียวกันกับการเข้าสู่ประเทศศรีลังกา และฟิลิปปินส์ คือ ประมาณ ปี พ.ศ. 2329-2383 และคาดว่ามีคนนำมันสำปะหลังจากมาลายูมาปลูกในภาคใต้ ประมาณปี พ.ศ. 2329 มันสำปะหลังเดิมเรียกกันว่า มันสำโรง มันไม้ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า มันต้นเตี้ย ทางภาคใต้เรียกว่า มันเทศ (แต่เรียกมันเทศว่า มันหลา) คำว่า สำปะหลัง คล้ายกับคำในภาษาชวาตะวันตกที่เรียกมันสำปะหลังว่า สัมเปอ (Sampou) ซึ่งมีความหมายเหมือนคำในภาษามาเลย์ที่แปลว่า พืชที่มีรากขยายใหญ่ (สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2560) การปลูกมันสำปะหลังเป็นการค้าเพื่อใช้ทำแป้งและสาคูในภาคใต้ ซึ่งปลูกระหว่างแถวของต้นยางพารากันมากว่า 70 ปีแล้ว โดยเฉพาะที่จังหวัดสงขลามีอุตสาหกรรมทำแป้งและสาคูจำหน่ายไปยังปีนัง และประเทศสิงคโปร์ แต่การปลูกมันสำปะหลังทางภาคใต้ค่อยๆ ลดลงเมื่อมีการขยายการปลูกยางพารา ต่อมามีการปลูกมันสำปะหลังในภาคตะวันออก คือ จังหวัดชลบุรี ระยอง และจังหวัดใกล้เคียง และเมื่อความต้องการของตลาดในด้านผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพื่อใช้ในการเลี้ยงสัตว์และอุตสาหกรรมมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้พื้นที่ในภาคตะวันออกผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงมีการขยายพื้นที่ไปยังจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนในปัจจุบันภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่ปลูกมันสำปะหลังมากที่สุดของประเทศไทย