Page 5 of 11
การจำแนกชนิดและพันธุ์
1. ชนิดของมันสำปะหลัง
มันสำปะหลังที่ปลูกในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 ชนิด (มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย, 2543) คือ
(1) มันสำปะหลังชนิดหวาน (Sweet type) เป็นมันสำปะหลังที่มีปริมาณกรดไฮโดรไซยานิก (HCN) ต่ำ เป็นพันธุ์ที่ใช้หัวเพื่อการบริโภคได้โดยตรง รสไม่ขม มีทั้งชนิดเนื้อร่วน นุ่ม และชนิดเนื้อเหนียว แน่น นิยมนำมาเชื่อม ปิ้ง เผา ในประเทศไทยไม่มีการปลูกเป็นพื้นที่ใหญ่ ๆ เนื่องจากมีตลาดจำกัด ส่วนใหญ่จะปลูกรอบๆ บ้าน หรือตามร่องสวน เพื่อบริโภคเองในครัวเรือน หรือเพื่อจำหน่ายตามตลาดสดในท้องถิ่นในปริมาณไม่มาก
(2) มันสำปะหลังชนิดขม (Bitter type) เป็นมันสำปะหลังที่มีปริมาณกรดไฮโดรไซยานิก (HCN) สูงกว่ามันสำปะหลังชนิดหวาน มีรสขม เนื้อหยาบ ไม่เหมาะสำหรับการบริโภคของมนุษย์หรือใช้ หัวมันสดเลี้ยงสัตว์โดยตรง แต่เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่มีปริมาณแป้งสูง จึงนิยมใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆ เช่น แป้งมันสำปะหลัง มันเส้น มันอัดเม็ด และแอลกอฮอล์ การแปรรูปเป็นอาหารโดยใช้ความร้อน ได้แก่ ตากแดด เผา และต้ม ทำให้ไซยาไนด์ในมันสำปะหลังแตกตัวหมดไป ความขมจึงลดลง ซึ่งในประเทศไทยมันสำปะหลังชนิดนี้เป็นพันธุ์ที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด เพื่อส่งโรงงานอุตสาหกรรมนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง และเอทานอล
2. พันธุ์มันสำปะหลัง (ศูนย์สารสนเทศ กรมวิชาการเกษตร, 2551)
(1) การจำแนกพันธุ์มันสำปะหลัง มันสำปะหลังแต่ละพันธุ์มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่แตกต่างกัน ทำให้สามารถจำแนกออกเป็นพันธุ์ต่างๆ ได้ โดยลักษณะประจำพันธุ์ที่นำมาใช้ในการจำแนกเพื่อระบุพันธุ์มันสำปะหลัง (ตารางที่ 4) คือ
- สียอดอ่อน การดูสีของยอดอ่อนสามารถดูได้จากปลายกิ่ง โดยตรวจสอบลักษณะสีของใบยอดที่ยังไม่คลี่ ซึ่งต้องแยกใบที่คลี่ออกจากใบที่ยังไม่คลี่ของส่วนยอด
- สีของใบอ่อน ดูจากสีของเรือนยอดโดยรวม เป็นใบอ่อนที่สามารถสังเกตได้โดยไม่ต้องสัมผัสกับใบมันสำปะหลัง สามารถสังเกตได้จากปลายกิ่ง ตรวจสอบลักษณะสีของใบยอดที่ยังไม่คลี่เต็มที่
- ขนที่ยอดอ่อน สามารถสังเกตได้จากยอดอ่อน ยอดอ่อนที่มีขนสีของยอดอ่อนมักมีลักษณะด้าน ส่วนยอดอ่อนที่ไม่มีขนสีมักมีลักษณะมันเงา หรืออาจใช้การสัมผัส ยอดอ่อนที่มีขนสัมผัสจะนุ่มมือ
- สีก้านใบ สีของก้านใบดูที่ก้านใบ ในตำแหน่งใบที่ 5 จากใบยอดที่คลี่เต็มที่แล้ว 5 ใบจากยอด เมื่ออายุประมาณ 3-6 เดือนหลังปลูก
- รูปร่างของแฉกที่อยู่กลาง ใบมันสำปะหลังเป็นแบบใบเดี่ยว แผ่นใบเว้าเป็นแฉกลึก มีรูปร่างและจำนวนแฉกแตกต่างกันไปตามพันธุ์ โดยปกติมี 3-9 แฉก ยาวประมาณ 4-20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1-6 เซนติเมตร รูปทรงของแฉกแตกต่างกัน แต่ค่อนข้างคงที่ในแต่ละพันธุ์ สังเกตเมื่ออายุประมาณ 3-4 เดือนหลังปลูก โดยดูในตำแหน่งใบที่ 5 จากใบยอดที่คลี่เต็มที่
- ลักษณะทรงต้น บางพันธุ์ลำต้นเป็นต้นเดี่ยว ไม่มีการแตกกิ่ง บางพันธุ์มีการแตกกิ่ง 2-3 ระดับ หรือมากกว่า พันธุ์ที่มีการแตกกิ่งมาก และแตกกิ่งหลายระดับจะมีลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย พันธุ์ที่มีการแตกกิ่งน้อยจะสูง จำนวนของการแตกกิ่งแต่ละพันธุ์แตกต่างกัน และการแตกกิ่งครั้งที่ 2 ของต้นจะตรงข้ามกับการแตกกิ่งแรก
- สีของลำต้น ลำต้นมันสำปะหลังมีก้านใบติดอยู่ เมื่อใบมีอายุมากขึ้นก็จะหลุดร่วงไปทิ้งรอยแผลเป็นของก้านใบไว้ เรียกว่า รอยแผลใบ ลักษณะเป็นรอยนูนเด่นออกมาแตกต่างกัน สามารถใช้เป็นลักษณะหนึ่งในการจำแนกได้ ระหว่างรอยแผลใบเรียกว่า ความยาวของชั้น และระยะห่างระหว่างใบก็แตกต่างขึ้นอยู่กับพันธุ์ ระยะการเจริญเติบโต สภาพแวดล้อม ในช่วงฤดูฝนระยะห่างระหว่างใบจะยาวกว่าในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากมีการเจริญเติบโตในฤดูฝนที่รวดเร็วกว่า
- ลักษณะของหูใบ ส่วนของโคนก้านใบที่ติดกับลำต้นมีหูใบ มีรูปร่าง ขนาด และสีเฉพาะ ในพันธุ์ที่มีลักษณะอื่นๆ ใกล้เคียงกันมากอาจจำเป็นต้องใช้หูใบร่วมพิจารณาในการระบุพันธ์ด้วย
- การมีขั้วของหัว สังเกตได้ในระยะเก็บเกี่ยว
- สีผิวเปลือกชั้นนอกของหัว สังเกตได้ในระยะเก็บเกี่ยว โดยสีผิวของเปลือกชั้นนอกของหัวมักมีสีขาวครีม สีน้ำตาล สีน้ำตาลอ่อน จนถึงสีน้ำตาลเข้ม
- สีเนื้อของหัว โดยทั่วไปจะมีสีขาว หรือสีขาวครีม
ทั้งนี้ การตรวจสอบคุณลักษณะของมันสำปะหลังมีข้อกำหนด คือ มันสำปะหลังควรมีอายุมากพอที่จะเห็นลักษณะทรงต้น หรือมีอายุ 3-6 เดือน หากลักษณะที่ใช้ในการจำแนก เช่น สีของลำต้น การแตกกิ่ง ควรใช้มันสำปะหลังที่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ส่วนลักษณะใบ สีใบ สีก้านใบ ควรสังเกตุจากมันสำปะหลังที่อยู่ในระยะกำลังเจริญเติบโต อยู่กลางแจ้งไม่อยู่ใต้ร่มเงาของพืชอื่น และมีอายุไม่เกิน 10 เดือน แต่บางพันธุ์สามารถจำแนกได้ในต้นที่อายุน้อย ซึ่งผู้สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจำแนกและคุณลักษณะประจำพันธุ์ของมันสำปะหลังได้จากศูนย์สารสนเทศ กรมวิชาการเกษตร หรือเว็บไซต์ http://at.doa.go.th/mealybug/download/การจำแนกพันธุ์.pdf
(2) พันธุ์มันสำปะหลังที่สำคัญในประเทศไทย มันสำปะหลังเพื่ออุตสาหกรรมที่นิยมปลูกในประเทศไทยมีหลากหลายพันธุ์ โดยแต่ละพันธุ์ได้รับการปรับปรุงพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดังนี้
(2.1) พันธุ์มันสำปะหลังของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่
- ระยอง 1 เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตค่อนข้างสูง ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ของประเทศได้ดี ทรงต้นสูงตรง ต้นพันธุ์มีความแข็งแรง มีความงอกดี และเก็บรักษาได้นาน ยอดอ่อนสีม่วง ใบที่เจริญเต็มที่แล้วสีเขียวอมม่วง ก้านใบสีเขียวอมม่วง แตกกิ่งน้อย (ภาพที่ 9) ข้อจำกัด คือ มีปริมาณแป้งต่ำ
- ระยอง 3 เป็นพันธุ์ที่ต้องการสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง ยอดอ่อนสีเขียวอ่อน ใบที่เจริญเต็มที่มีเขียวอ่อน ก้านใบสีเขียวอ่อนปนแดง ลำต้นมีสีน้ำตาลอ่อน มีปริมาณแป้งสูงประมาณ 23-28 เปอร์เซ็นต์ (ภาพที่ 9) ข้อจำกัด คือ ต้นเตี้ยและแตกกิ่ง ไม่สะดวกในการปฏิบัติดูแลรักษา หัวแหลมยาว ทำให้ยากต่อการเก็บเกี่ยว
- ระยอง 60 เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง สะสมน้ำหนักเร็ว เหมาะสำหรับเกษตรกรที่ต้องการเก็บเกี่ยวอายุต่ำกว่า 12 เดือน ต้นพันธุ์คุณภาพดี ทรงต้นสูงตรง แตกกิ่งน้อย สะดวกในการปฏิบัติดูแลรักษา ยอดอ่อนมีเขียวอมม่วง ใบที่เจริญเต็มที่สีเขียว ก้านใบสีเขียวปนแดง ลำต้นสีน้ำตาลอ่อน (ภาพที่ 9)ข้อจำกัด คือ มีปริมาณแป้งต่ำในฤดูฝน เนื้อในของหัวมีสีครีม ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งใช้เป็นข้ออ้างในการตัดราคารับซื้อหัวมันสด
- ระยอง 90 เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง มีปริมาณแป้งสูงประมาณ 24-29 เปอร์เซ็นต์ ยอดอ่อนสีเขียวอ่อน ใบที่เจริญเต็มที่สีเขียวแก่ ก้านใบสีเขียวอ่อน ลำต้นสีน้ำตาลอมส้ม (ภาพที่ 9) ข้อจำกัด คือ ลำต้นโค้ง หากมีการแตกกิ่ง ทำให้ไม่สะดวกในการปฏิบัติดูแลรักษา และต้นพันธุ์เสื่อมคุณภาพเร็ว ไม่ทนแล้ง จึงไม่เหมาะกับการปลูกปลายฤดูฝน
ระยอง 1 ระยอง 3
ระยอง 60 ระยอง 90
(ที่มา : ศูนย์สารสนเทศ กรมวิชาการเกษตร, 2551)
ภาพที่ 9 พันธุ์มันสำปะหลังของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ ระยอง 1 ระยอง 3 ระยอง 60 และระยอง 90
- ระยอง 5 เป็นพันธุ์ที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ให้ผลผลิตสูง ยอดอ่อนสีม่วงอมน้ำตาล ใบที่เจริญเต็มที่สีเขียวแก่ ก้านใบสีแดงเข้ม ลำต้นสีเขียวอมน้ำตาล มีปริมาณแป้งประมาณ 22-27 เปอร์เซ็นต์ (ภาพที่ 10) ข้อจำกัด คือ เป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคใบไหม้ ทรงต้นแตกกิ่ง ได้ต้นพันธุ์น้อย
- ระยอง 72 เป็นพันธุ์ที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ผลผลิตหัวสดสูง ต้นพันธุ์คุณภาพดี ทนแล้ง ยอดอ่อนสีม่วง ก้านใบสีแดงเข้ม ลำต้นสีเขียวเงิน แตกกิ่งน้อย (ภาพที่ 10) ข้อจำกัด คือ มีปริมาณแป้งต่ำเมื่อปลูกในภาคตะวันออก และค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคใบไหม้
- ระยอง 7 เป็นพันธุ์ที่เจริญเติบโตเร็วในช่วง 1-2 เดือนแรก มีความงอกสูง ไม่ค่อยแตกกิ่ง ให้ผลผลิตสูง ทนแล้ง ยอดอ่อนสีเขียวอ่อน ก้านใบสีเขียวอ่อนอมชมพู ลำต้นสีน้ำตาลอ่อน (ภาพที่ 10)ข้อจำกัด คือ ไม่ต้านทานโรคใบไหม้ และไรแดง
- ระยอง 9 เป็นพันธุ์ที่มีลำต้นสูงตรง แข็งแรง ให้ผลผลิตสูง มีปริมาณแป้งสูง ต้านทานโรค ยอดอ่อนสีเขียวอ่อน ก้านใบสีเขียวอ่อนอมชมพู ลำต้นสีน้ำตาลอมเหลือง (ภาพที่ 10) ข้อจำกัด คือ ไม่ต้านทานไรแดง ไม่เหมาะสำหรับดินร่วนเหนียว และดินร่วนปนลูกรัง รวมทั้งไม่เหมาะกับการเกี่ยวต่ำกว่า 12 เดือน
- ระยอง 11 เป็นพันธุ์ที่มีปริมาณแป้งสูงในฤดูแล้ง ประมาณ 42.8 เปอร์เซ็นต์ ยอดอ่อนสีน้ำตาลอมเขียว ก้านใบสีเขียวอมแดง ลำต้นสีเขียวเงิน (ภาพที่ 10) ข้อจำกัด คือ ควรเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 12 เดือน เนื่องจากมีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง แต่สะสมน้ำหนักช้า
ระยอง 5 ระยอง 72
ระยอง 7 ระยอง 9
ระยอง 11
(ที่มา : ศูนย์สารสนเทศ กรมวิชาการเกษตร, 2551)
ภาพที่ 10 พันธุ์มันสำปะหลังของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ ระยอง 5 ระยอง 72 ระยอง 7 ระยอง 9 และระยอง 11
(2.2) พันธุ์มันสำปะหลังของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่
- เกษตรศาสตร์ 50 เป็นพันธุ์ที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ลำต้นสูงใหญ่ ต้นพันธุ์แข็งแรง มีความงอกดี และเก็บรักษาได้นาน มีปริมาณแป้งสูงประมาณ 23-28 เปอร์เซ็นต์ ให้ผลผลิตสูง ยอดอ่อนสีม่วง ไม่มีขน ก้านใบสีเขียวอมม่วง ลำต้นสีเขียวเงิน (ภาพที่ 11) ข้อจำกัด คือ ในบางพื้นที่พันธุ์นี่จะแตกกิ่ง ทำให้ไม่สะดวกในการปฏิบัติดูแลรักษา
- ห้วยบง 60 เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง มีปริมาณสูงประมาณ 25.4 เปอร์เซ็นต์ ต้านทานโรคใบจุดปานกลาง ยอดอ่อนสีม่วงอ่อน ก้านใบสีเขียวอมม่วง ลำต้นสีเขียวเงิน (ภาพที่ 11) ข้อจำกัด คือ ควรเก็บเกี่ยวเมื่ออายุไม่น้อยกว่า 10 เดือน
- ห้วยบง 80 เป็นพันธุ์ที่มีลำต้นสูง มีปริมาณแป้งสูงประมาณ 27.3 เปอร์เซ็นต์ ยอดอ่อนสีเขียวอ่อน ก้านใบสีเขียวอมแดง ลำต้นสีเขียวเงิน (ภาพที่ 11) ข้อจำกัด คือ ควรเก็บเกี่ยวเมื่ออายุไม่น้อยกว่า 10 เดือน
เกษตรศาสตร์ 50 ห้วยบง 60
ห้วยบง 80
(ที่มา : ศูนย์สารสนเทศ กรมวิชาการเกษตร, 2551)
ภาพที่ 11 พันธุ์มันสำปะหลังของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่ เกษตรศาสตร์ 50 ห้วยบง 60 และห้วยบง 80