ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

สถานการณ์และแนวโน้มมันสำปะหลังในประเทศไทย (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร, 2560)

              1. สถานการณ์ของมันสำปะหลัง

              มันสำปะหลังเป็นพืชอาหารที่สำคัญเป็นอันดับ 5 ของโลก รองจากข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าว และมันฝรั่ง เป็นพืชอาหารที่สำคัญของประเทศในเขตร้อน โดยเฉพาะประเทศในทวีปแอฟริกา และอเมริกาใต้ ส่วนในทวีปเอเซียประเทศที่มีการบริโภคมันสำปะหลังเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย และอินเดีย ในขณะที่ประเทศไทยใช้มันสำปะหลังเพื่อบริโภคน้อย แต่เน้นการส่งออกไปต่างประเทศเป็นสำคัญ โดยสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรมากเป็นอันดับ 4 รองจากยางพารา อ้อย และข้าว ทั้งนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศ 1 ใน 5 ของผู้ผลิตมันสำปะหลังที่สำคัญของโลก แสดงดังตารางที่ 7     

                                           ตารางที่ 7 ประเทศผู้ผลิตมันสำปะหลังที่สำคัญของโลก 5 อันดับแรก ปี พ.ศ. 2556-2560

                                          หมายเหตุ : * FAO Estimate และ ** FAO Forecast

                                         (ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร, 2560)

              (1) การผลิต ปี พ.ศ. 2556-2560 เนื้อที่เก็บเกี่ยว และผลผลิตของมันสำปะหลัง ขยายตัว    เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.31 และร้อยละ 0.84 ต่อปี ตามลำดับ (ตารางที่ 8) เนื่องจากราคามันสำปะหลังอยู่ในเกณฑ์ดี (ยกเว้นในปี พ.ศ. 2559-2560 ที่ราคามันสำปะหลังปรับตัวลดลง) ประกอบกับภาครัฐได้ดำเนินมาตรการและโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูก รวมถึงมีการดูแลรักษาดีขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนผลผลิตต่อไร่ลดลงร้อยละ 0.47 ต่อปี เนื่องจากในปี พ.ศ. 2559-2560 เกิดภาวะภัยแล้งส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง

                                          ตารางที่ 8 เนื้อที่เก็บเกี่ยว ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ของมันสำปะหลังในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2559-2561

                                          หมายเหตุ : *  ประมาณการ ณ กันยายน 2560

                                         (ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร, 2560)

              (2) การตลาด ผลผลิตมันสำปะหลังเข้าสู่กระบวนการแปรรูปทั้งหมด โดยแปรรูปเป็นมันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง และเอทานอล เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อาหาร อาหารสัตว์ สารให้ความหวาน ผงชูรส กระดาษ สิ่งทอ เป็นต้น ซึ่งความต้องการใช้ภายในประเทศในแต่ละปีประมาณร้อยละ 20-25 ที่เหลือร้อยละ 75-80 เป็นการส่งออก

                    -  ความต้องการใช้ในประเทศ ปี พ.ศ. 2556-2560 ความต้องการใช้มันสำปะหลังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะความต้องการใช้เพื่อผลิตเอทานอล สำหรับความต้องการใช้เพื่อผลิตแป้งมันสำปะหลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนความต้องการใช้เพื่อผลิตมันเส้นสำหรับเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์มีแนวโน้มลดลง ซึ่งลดลงมากตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เนื่องจากผู้ประกอบการอาหารสัตว์หันไปใช้กากมันสำปะหลัง หรือพืชทดแทนอื่นๆ เช่น ข้าวสาลี เนื่องจากราคาต่ำกว่ามันเส้น
                    -  การส่งออก ปี พ.ศ. 2556-2560 ปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ได้แก่ มันเส้น มันอัดเม็ด และแป้งมันสำปะหลัง ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.93 ต่อปี (ตารางที่ 9) โดยการส่งออกมันเส้น และแป้ง  มันสำปะหลังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่วนการส่งออกมันอัดเม็ดมีแนวโน้มลดลงมาก เนื่องจากราคา  มันอัดเม็ดของประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันกับธัญพืชของสหภาพยุโรปได้ ส่งผลให้การส่งออกไปสหภาพยุโรปลดลง สำหรับมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังลดลงร้อยละ 1.43 ต่อปี เนื่องจากราคาส่งออกมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2556-2560 ราคาส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังปรับตัวลดลงมาก เนื่องจากจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลัก ลดการนำเข้ามันเส้นจากไทย ประกอบกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ คือ เวียดนาม ขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในราคาที่ต่ำกว่าประเทศไทย ทั้งนี้ ตลาดหลักที่สำคัญของผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย คือ มันเส้น ได้แก่ ประเทศจีน มันอัดเม็ด ได้แก่ ประเทศตุรกี และญี่ปุ่น แป้งมันสำปะหลังดิบ ได้แก่ ประเทศจีน อินโดนีเซีย ไต้หวัน และมาเลเซีย ส่วนแป้งมันสำปะหลังดัดแปร ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น จีน อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้  
 
                         ตารางที่ 9 ปริมาณ และมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2556-2560

                                                                                                                                                                               ปริมาณ : ล้านตัน  มูลค่า : ล้านบาท

                        หมายเหตุ : * ประมาณการ ณ ตุลาคม 2560

                        (ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร, 2560)

                    -  การนำเข้า ปี พ.ศ. 2556-2560 การนำเข้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ มันสำปะหลังสด มันเส้น/มันฝาน และแป้งมันสำปะหลัง มีปริมาณ และมูลค่าการนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 61.88 และร้อยละ 54.79 ต่อปี ตามลำดับ (ตารางที่ 10) โดยปริมาณการนำเข้าแป้งมันสำปะหลังใกล้เคียงกันทุกปี แต่การนำเข้ามันสำปะหลังสด และมันเส้น/มันฝานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากผลผลิตมันสำปะหลังภายในประเทศไม่เพียงพอสำหรับการแปรรูปเพื่อส่งออก ส่งผลให้ผู้ประกอบมันเส้นไทยต้องนำเข้ามันเส้น/มันฝานจากประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับมันสำปะหลังสด ส่วนใหญ่จะนำเข้าโดยผู้ประกอบการโรงงานแป้งมันสำปะหลัง เพื่อนำมาแปรรูปเป็นแป้งมันสำปะหลัง 
 
                        ตารางที่ 10 ปริมาณ และมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2556-2560

                                                                                                                                                                              ปริมาณ : ล้านตัน  มูลค่า : ล้านบาท

                         หมายเหตุ : * ประมาณการ ณ ตุลาคม 2560

                        (ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร, 2560)

                    -  ราคา ปี พ.ศ. 2556-2560 ราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้ ราคาส่งออกมันเส้น ราคาส่งออกมันอัดเม็ด และราคาส่งออกแป้งมันสำปะหลัง ลดลงร้อยละ 9.41, 5.29, 3.72 และ 5.84 ต่อปี ตามลำดับ (ตารางที่ 11) เนื่องจากในปี 2554-2558 ประเทศคู่ค้ามีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้ และราคาส่งออกผลิตภัณฑ์  มันสำปะหลังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ในปี พ.ศ. 2559-2560 ประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีน ลดการนำเข้ามันเส้นจากประเทศไทย และพยายามกดดันด้านราคา เพื่อให้ได้ราคามันเส้น และแป้งมันสำปะหลังที่ต่ำที่สุด ทำให้ราคา  มันสำปะหลังลดต่ำลงมาก นอกจากนี้ ราคามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ยังขึ้นอยู่กับราคาพืชทดแทน เช่น ข้าวสาลี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น 
 
                                 ตารางที่ 11 ราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2556-2560

                                                                                                                                                                                             หน่วย : บาท/กก.

                               หมายเหตุ : * ประมาณการ ณ ตุลาคม 2560

                              (ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร, 2560)

 

              2. แนวโน้มของมันสำปะหลัง 

              (1) การผลิต ปี พ.ศ. 2561 คาดว่า จะมีเนื้อที่เก็บเกี่ยว และผลผลิตลดลง เนื่องจากราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้ลดต่ำอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงบางพื้นที่ปล่อยพื้นที่ว่างเปล่า สำหรับผลผลิตต่อไร่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวย ทำให้ต้นมันสำปะหลังเจริญเติบโตดี

              (2) การตลาด

                    -  ความต้องการใช้ในประเทศ ปี พ.ศ. 2561 คาดว่าความต้องการใช้ในประเทศจะเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2560 โดยความต้องการใช้มันสำปะหลังเพื่อผลิตเอทานอล และความต้องการใช้เพื่อผลิตแป้งมันสำปะหลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนความต้องการใช้เพื่อผลิตมันเส้นใกล้เคียงเดิม
                    -  การส่งออก ปี พ.ศ. 2561 คาดว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังใกล้เคียงกับปี พ.ศ. 2560 เนื่องจากประเทศคู่ค้ามีความต้องการผลิตภัณฑ์ใกล้เคียงเดิม ทั้งในรูปของมันเส้น และแป้งมันสำปะหลัง ทั้งนี้ ประเทศจีนยังคงเป็นประเทศผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่สำคัญของไทย
                    -  การนำเข้า ปี พ.ศ. 2561 คาดว่าการนำเข้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ใกล้เคียงกับปี พ.ศ. 2560 เนื่องจากมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกมันสำปะหลัง ส่งผลให้มีการนำเข้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกัมพูชา และลาว สำหรับนำมาแปรรูปเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ
                    -  ราคา ปี พ.ศ. 2560 คาดว่าราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้ ราคาส่งออกมันเส้นราคาส่งออกมันอัดเม็ด และราคาส่งออกแป้งมันสำปะหลัง จะเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2560 เนื่องจากผลผลิตมันสำปะหลังของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านลดลงจากปีที่ผ่านมา แต่ประเทศคู่ค้ามีความต้องการใช้  มันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง