ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

ประวัติของกระจูด

              กระจูดเป็นพืชจำพวกกก (Sedge) ชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในสกุล Lepironia และวงศ์ Cyperaceae แต่ละประเทศมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน คือ ประเทศออสเตรเลีย เรียกว่า Grey sedge และ Blue sedge ประเทศมาเลเซีย เรียกว่า Tube sedge มักชอบขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือในระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำตามแนวชายฝั่ง บึงน้ำในแผ่นดิน และป่าบึง ทั่วโลกพบพืชที่จัดอยู่ในสกุลนี้ 5 ชนิด (Species) กระจายพันธุ์อยู่ในทวีปเอเชียบริเวณคาบสมุทรอินโดจีน เช่น เวียดนาม กัมพูชา ไทย ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาะบอร์เนียว เกาะสุมาตรา อินเดีย  ศรีลังกา ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน ชายฝั่งตะวันออกของทวีปออสเตรเลีย ไมโครนีเซีย หมู่เกาะฟิจิ เกาะมาดากัสการ์ และเกาะนิวคาลิโดเนีย ในประเทศไทยพบเพียงชนิดเดียว คือ articulata หรือ กระจูด โดยมีการกระจายพันธุ์ในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออก บริเวณที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ หนองบึงน้ำจืด ตามแนวบริเวณชายฝั่งทะเลที่มีสภาพป่าชายหาดเป็นแนวขวางกั้นระหว่างแหล่งน้ำจืดและทะเล ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำที่กระจูดขึ้นจะมีสภาพน้ำท่วมขังตลอดปี ในภาคตะวันออกพบกระจูดมากในพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติในเขตพื้นที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ส่วนในภาคใต้พบทุกจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับชายฝั่งทะเล และมีสภาพเป็นหนองบึงน้ำจืดในเขตพื้นที่ป่าชายหาดและป่าพรุ มักขึ้นปะปนเป็นพืชพื้นล่างให้กับหมู่ไม้เสม็ดขาว ซึ่งพบกระจูดมากที่สุดในจังหวัดนครศรีธรรมราช รองลงมา คือ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง นราธิวาส และพังงา จังหวัดที่พบกระจูดน้อย ได้แก่ จังหวัดสงขลา ปัตตานี สตูล และภูเก็ต ส่วนจังหวัดที่ไม่พบกระจูดเลย ได้แก่ จังหวัดยะลา กระบี่ ตรัง และระนอง (เปรมฤดี, 2556)     

              ต้นกระจูดที่พบมีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเกิดการปลูก สามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ต้นกระจูดใหญ่ และต้นกระจูดหนู ต้นกระจูดใหญ่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้มาก ส่วนต้นกระจูดหนูมีลำต้นเล็กและสั้น มีความเหนียวน้อยกว่าต้นกระจูดใหญ่ การปลูกต้นกระจูดต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปี ต้นถึงจะโตได้ขนาด สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ คือ ลำต้นยาวไม่ต่ำกว่า 1 เมตร เมื่อถอนไปแล้วหน่อก็จะแตกต้นใหม่ขึ้นมาแทนที่หมุนเวียนกันไป ซึ่งทางภาคใต้นิยมปลูกไว้สำหรับใช้สานเสื่อภายในครอบครัว และจำหน่ายเพิ่มรายได้นอกเหนือจากการประกอบอาชีพหลัก (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรม, 2548)