ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกระจูด (กรมป่าไม้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 11 (สุราษฎร์ธานี) ส่วนจัดการป่าชุมชน, 2553)

              กระจูดเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งที่มีอายุหลายปี สามารถเจริญเติบโตได้ง่าย และแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว ชอบขึ้นในบริเวณน้ำขังตามริมทะเลสาบที่เป็นดินโคลน (ภาพที่ 1) และมีความเป็นกรดสูง ซึ่งเรียกว่า “พรุ” พบมากทางภาตใต้และภาคตะวันออกของประเทศไทย (กรมส่งเสริมการเกษตร, มปป.) กระจูดมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lepironia articulata Domin (Chote, 1978) จัดอยู่ในวงศ์ Cyperaceae มีชื่อท้องถิ่นว่า กกกระจูด (ภาคกลาง)  กก (ระยอง) จูดหรือกระจูด (ภาตใต้) กรือจุ (นราธิวาส) และวิจุ๊ (มลายู) 

(ที่มา : กรมป่าไม้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 11 (สุราษฎร์ธานี) ส่วนจัดการป่าชุมชน, 2553)

ภาพที่ 1 แสดงลักษณะนิเวศวิทยาของแหล่งน้ำที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของต้นกระจูด

              1. อนุกรมวิธานของกระจูด (กรมป่าไม้ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้, 2560)

                                      -  อาณาจักร (Kingdom) : Plantae
                                      -  ดิวิชั่น (Division) : Magnoliophyta
                                      -  ชั้น (Class) : Liliopsida
                                      -  อันดับ (Order) : Poales Small 
                                      -  วงศ์ (Family) : Cyperaceae
                                      -  สกุล (Genus) : Lepironia
 

              2. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกระจูด  

              กระจูดมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่สำคัญ ดังนี้ 

              (1) ลำต้น (Culm) ลักษณะลำต้นคล้ายทรงกระบอก กลม ผิวเรียบ ด้านในกลวง มีผนังกั้นคั่นตามขวาง สีเขียวอ่อน มีขนาดตั้งแต่เท่าก้านไม้ขีดไฟจนถึงแท่งดินสอดำ สูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นแข็งเป็นกลุ่มแน่นตามแนวของเหง้า มีขนาด 10-20 x 0.2-0.7 เซนติเมตร เหง้ามีเกล็ดสีน้ำตาลอมเทาที่ด้านปลายเล็กน้อย (ภาพที่ 2A)
              (2) ใบ (Leave) ใบของกระจูดลดรูปไป แต่มีกาบใบแผ่ออกมา กาบบนสุดยาวประมาณ 12-26 เซนติเมตร ปลายตัดเฉียง (Obliquely truncate) ส่วนใบประดับมีลักษณะเป็นรูปลิ่มแคบคล้ายทรงกระบอก ปลายแหลม มีความยาวประมาณ 2.2-6 เซนติเมตร (ภาพที่ 2B)
 

                                                                      A                                                                                                B   

                           

(ที่มา : http://www.dnp.go.th/botany/detail.aspx?words=กระจูด&typeword=group)

ภาพที่ 2 ลักษณะลำต้น (A) และใบของกระจูด (B) 

              (3) ดอก (Flower) เป็นช่อดอก ประกอบด้วยช่อเชิงลด (Spike) จำนวน 1 ช่อ มีลักษณะเป็นรูปทรงรี หรือรูปขอบขนานคล้ายทรงกระบอก มีขนาด 10-35 x 3-7 มิลลิเมตร สีเขียวถึงสีน้ำตาลกาแฟ หรือสีน้ำตาลออกม่วง กาบประดับ (Spicoid bracts) มีลักษณะเป็นรูปไข่ หรือรูปทรงกลมแกมไข่ มีขนาด 3.2-6.7 x 3-6.2 มิลลิเมตร ปลายมนและมักโค้งลงเล็กน้อย เมื่อแก่เต็มที่จะร่วงง่าย กลุ่มดอกย่อย (Spicoids) พอๆ กับกาบประดับ ส่วนกลีบประดับ (Floral bracts) มีได้ถึง 15 กลีบ น้อยที่สุดมี 2 กลีบ มีลักษณะเป็นรูปหอก แกมแถบ มีความยาว 4-6 มิลลิเมตร สันของกลีบเป็นขนครุย (ภาพที่ 3)
              (4) ผล (Fruit) มีลักษณะเป็นรูปไข่ ผลนูน 2 ด้าน มีขนาด 3-4 x 2-2.8 มิลลิเมตร (ไม่นับจงอยที่ยาว 0.5 มิลลิเมตร) ผลแข็งมีสีน้ำตาล ผิวเรียบตึง เป็นแนวเส้นตามยาวไม่ชัด มักมีหนามละเอียดที่ส่วนปลาย  ของผล  
 

                                        

                                        (ที่มา : file:///C:/Users/SI4-22/Downloads/                                   (ที่มา : http://www.dnp.go.th/botany/detail.
                                              Hudagumjaksangrajood_CS11.pdf)                                         aspx?words=กระจูด&typeword=group)
 
ภาพที่ 3 ลักษณะดอกกระจูด  
 
              3. การขยายพันธุ์ของกระจูด                             
              กระจูดมีเหง้าใต้ดิน สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการแยกกอ หรือแยกหน่อ เมื่อถอนกระจูดต้นเก่าไปแล้วที่เหลือจะแตกหน่อ และเจริญเติบโตเป็นลำต้นใหม่ภายในระยะเวลาประมาณ 3 ปี ลำต้นจะโตเต็มที่ มีความยาวไม่ต่ำกว่า 1 เมตร ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
 
              4. การปลูกกระจูด

              พื้นที่ที่จะปลูกกระจูดต้องมีน้ำขังตลอดปี หรือแห้งสัก 2-3 เดือน การปลูกหรือการทำนากระจูดมีวิธีการคล้ายกับการทำนาข้าว (นาดำ) (ภาพที่ 4) คือ ก่อนปลูกจะต้องตกแต่งพื้นที่ให้เรียบ แต่ไม่ต้องยกคันนา เพียงทำเขตให้มองเห็นเป็นสัดส่วนก็พอ โดยวิธีการปลูกกระจูดมี 2 วิธี  (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรม, 2548) คือ

              (1) การเตรียมพื้นที่สำหรับปลูกกระจูด ควรมีน้ำขังสูงประมาณ 70-80 เซนติเมตร และควรทำลายวัชพืชอื่นๆ ออกให้หมด จากนั้นถอนต้นกระจูดที่มีอยู่เป็นกอๆ มัดรวมกันประมาณ 4-5 ต้น แล้วปักดำ ฝังลึกลงไปในดิน ลึกประมาณ 10 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้ต้นกระจูดหลุดลอยขึ้นมาเหนือน้ำ ระยะห่างระหว่างกอประมาณ 18 นิ้ว บางครั้งอาจมีการใส่ปุ๋ยเพื่อให้กระจูดสามารถเจริญงอกงามได้เร็วขึ้น ซึ่งใช้ปุ๋ยประมาณไร่ละ 5-10 กระสอบ (กระสอบหนึ่งหนักประมาณ 50 กิโลกรัม) อายุของต้นตั้งแต่เริ่มปลูกจนกระทั่งใช้งานได้ประมาณ 2-3 ปี เมื่อถอนต้นกระจูดออกไปแล้วก็จะแตกขึ้นใหม่ และยิ่งระยะเวลานานเข้าต้นกระจูดก็จะแน่นและขนาดต้นจะเล็กลงตามลำดับ
              (2) เมื่อเตรียมพื้นที่ปลูกไว้เรียบร้อยแล้ว ให้ถอนต้นกระจูดเป็นกำๆ รวมกันประมาณ 1 กำมือ จากนั้นใช้ไม้ปักลงในดินที่เตรียมไว้ เป็นระยะห่างกันประมาณ 0.5 เมตร นำมัดกระจูดดังกล่าวไปผูกติดกับไม้ที่ปักไว้อย่างหลวมๆ พอให้ต้นกระจูดขยับขึ้นตามน้ำขึ้น และเลื่อนลงตามน้ำลงได้ ขึ้นอยู่กับความมากน้อยของน้ำ วิธีนี้จะทำให้ต้นกระจูดสามารถแตกแขนงอย่างรวดเร็ว และสามารถถอนใช้งานได้ภายในเวลา 1 ปี แต่มีข้อเสียคือ กอกระจูดจะหยั่งรากลงดินตื้นๆ เมื่อถอนต้นมาใช้มักจะติดขึ้นมาทั้งกอแทนที่จะขึ้นมาเป็นต้นๆ ดังนั้นเวลาถอนต้นกระจูดจึงต้องระมัดระวังโดยใช้เท้าเหยียบโคนต้นไว้ และถอนได้ครั้งละไม่กี่ต้น ทำให้เสียเวลาในการถอนต้นมาใช้งาน
 

                          

                                                       (ที่มา : เรวัต และเจษฎา, 2548)                                            (ที่มา : http://www.manager.co.th/South/

                                                                                                                                            ViewNews.aspx?NewsID=9530000082770)
 
ภาพที่ 4 การปลูกหรือการทำนากระจูด