ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP
ขั้นตอนการผลิตหัตถกรรมจักสานจากกระจูด

              หัตถกรรมจักสานจากกระจูดประกอบด้วยขั้นตอนการผลิต 4 ขั้นตอน (กรมป่าไม้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 11 (สุราษฎร์ธานี) ส่วนจัดการป่าชุมชน, 2553) คือ 

              1. การเตรียมวัตถุดิบ เป็นการเตรียมต้นกระจูด โดยมีวิธีการเตรียมดังนี้

                    (1) การเก็บต้นกระจูด เลือกต้นกระจูดที่ไม่แก่จัด และไม่อ่อนเกินไป ลำต้นยาว เพราะลำต้นยาวสามารถนำไปจักสานได้ปริมาณมากกว่าลำต้นสั้น เมื่อเลือกต้นกระจูดได้ตามต้องการแล้ว ถอนกระจูดโดยใช้มือทั้งสองข้างโอบกระจูดเข้าหาตัวผู้ถอนแล้วดึงขึ้นเรื่อยๆ ห้ามกระตุก เนื่องจากจะทำให้ลำต้นขาดและแตกง่าย ซึ่งถอนต้นกระจูดจากกอครั้งละ 2-3 ต้น เลือกขนาดเท่าๆ กันมากองรวมกัน จากนั้นนำกระจูดที่ถอนได้มามัดเป็นกำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 20-30 เซนติเมตร (ภาพที่ 7)

                

(ที่มา : file:///C:/Users/SI4-22/Downloads/Hudagumjaksangrajood_CS11.pdf)

ภาพที่ 7 การเก็บและการคัดเลือกต้นกระจูด 

                    (2) การคลุกโคลนต้นกระจูด เมื่อมัดต้นกระจูดตามขนาดเป็นกำแล้วให้นำไปคลุกกับน้ำโคลนขาวที่เตรียมไว้ (ภาพที่ 8A) เพื่อทำให้กระจูดมีสีขาวนวล เพิ่มความเหนียวให้กับเส้นใย และทำให้เส้นใยไม่แห้งกรอบ หรือบิดจนใช้การไม่ได้ ซึ่งน้ำโคลนขาวได้มาจากการนำน้ำมาผสมกับดินเหนียวขาว การผสมต้องไม่เหลวหรือข้นจนเกินไป ทดสอบโดยใช้มือจุ่มลงไปให้น้ำโคลนพอเกาะนิ้วมือ
                    (3) การนำไปตากแดด นำกระจูดที่คลุกน้ำโคลนขาวแล้วไปตากบนพื้นที่ราบเรียบ โดยวางกระจายเรียงเส้น (ภาพที่ 8B) เพื่อให้กระจูดแห้งทั่วทั้งลำต้น ซึ่งใช้ระยะเวลาในการตากประมาณ 2-3 แดด วิธีการสังเกตว่ากระจูดแห้งหรือไม่ คือ ดูจากกาบที่ห่อตรงโคนต้น ถ้ากาบแยกออกจากต้นกระจูดแสดงว่าต้นกระจูดแห้งดีแล้ว จากนั้นดึงกาบที่โคนออกให้หมด
 
                                                                           A                                                                                           B
 

                           

(ที่มา : file:///C:/Users/SI4-22/Downloads/Hudagumjaksangrajood_CS11.pdf)

ภาพที่ 8 การคลุกโคลน (A) และการนำต้นกระจูดไปตากแดด (B)

                    (4) การคัดต้นกระจูด โดยแยกต้นที่มีขนาดเล็ก และต้นที่มีขนาดใหญ่ออกจากกันเป็นมัดๆ
                    (5) การรีดกระจูด นำต้นกระจูดที่ตากแห้งแล้วมัดเป็นกำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 15-20 เซนติเมตร มาวางบนพื้นราบ จากนั้นนำลูกกลิ้งทับจนกระจูดเรียบตามความต้องการ ซึ่งการรีดกระจูดมีอยู่ 2 วิธี คือ การใช้เครื่องจักรรีด และการใช้ลูกกลิ้งรีด (ภาพที่ 9) โดยลูกกลิ้งทำจากวัสดุทรงกลมที่มีน้ำหนักพอเหมาะ เช่น ท่อซีเมนต์ ท่อเหล็กกลม ข้อแตกต่างระหว่างเครื่องจักรรีดกับลูกกลิ้ง คือ การใช้ลูกกลิ้งรีดต้นกระจูดจะนิ่มเหมือนตำด้วยสาก จักสานง่าย ส่วนการใช้เครื่องจักรรีดต้นกระจูดจะแบนเรียบเหมือนกัน แต่ไม่นิ่ม ทำให้จักสานยาก
 
                                                                        A                                                                                              B
 

                           

(ที่มา : file:///C:/Users/SI4-22/Downloads/Hudagumjaksangrajood_CS11.pdf)

ภาพที่ 9 การรีดกระจูดด้วยเครื่องจักร (A) และการรีดกระจูดด้วยลูกกลิ้ง (B)

                    (6) การย้อมสีกระจูด นำกระจูดที่รีดแล้วมาย้อมสีเพื่อให้ได้สีตามต้องการ โดยแบ่งกระจูดออกเป็นมัด มัดละ 20-25 เส้น แล้วนำสายยางมัดที่ปลายกระจูดเพื่อไม่ให้เส้นกระจาย นำกระจูดจุ่มในน้ำให้ชุ่ม จากนั้นเอาไปต้มในถังน้ำสีที่ต้มเดือดบนเตาไฟนาน 15-20 นาที เมื่อครบเวลาให้นำกระจูดขึ้นมาล้างสีส่วนเกินออกด้วยน้ำสะอาด แล้วจึงนำไปตากที่ราวเพื่อผึ่งลมให้แห้ง (ภาพที่ 10) และนำเส้นกระจูดที่แห้งมามัดรวมกันแล้วรีดอีกครั้ง เพื่อให้เส้นใยนิ่มและเรียบ สีที่นิยมย้อมกันทั่วไป ได้แก่ สีม่วง สีแดง และสีเขียว (เรวัต และเจษฎา, 2548) 

 

                            

(ที่มา : file:///C:/Users/SI4-22/Downloads/Hudagumjaksangrajood_CS11.pdf)

ภาพที่ 10 การย้อมสีกระจูด

              2. การจักสานกระจูด มีขั้นตอนดังนี้ 

                    (1) นำกระจูดที่ย้อมสีและรีดแล้วมาวางเรียงให้ปลายกับโคนต้นวางสลับกัน เนื่องจากหากไม่สลับจะทำให้ผลิตภัณฑ์เสียรูปทรงได้
                    (2) ผู้จักสานต้องวางเรียงกระจูดสีพื้น และสีอื่นๆ ตามที่คิดไว้ ลวดลายที่ใช้ในการจักสานจะ  บ่งบอกถึงภูมิปัญญาของท้องถิ่น ซึ่งลวดลายพื้นฐานโดยทั่วไป เช่น ลายสอง ลายสาม ลายสี่ เป็นต้น แต่ลายที่นิยมมากที่สุดคือ ลายสอง
                    (3) สานกระจูดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่ จักสานเสื่อ ที่รองจาน เริ่มต้นสานจากปลายด้านใดด้านหนึ่งไปจนสุดปลายอีกด้านหนึ่ง ส่วนจักสานกระบุง กระเป๋า เริ่มต้นสานจากกึ่งกลางของชิ้นงาน เพื่อไม่ให้ผลิตภัณฑ์เสียรูปทรง (ภาพที่ 11)
 
                  
 
(ที่มา : file:///C:/Users/SI4-22/Downloads/Hudagumjaksangrajood_CS11.pdf)
ภาพที่ 11 การจักสานกระจูดเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ

 

              3. การตกแต่งผลิตภัณฑ์ หลังจากจักสานกระจูดเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ แล้ว ให้นำผลิตภัณฑ์มาตกแต่งก่อนนำไปใช้งาน เช่น เสื่อ นำมาเก็บริมและตัดหนวด กระเป๋าที่ไม่สามารถนำไปใช้งานได้ เรียกว่า กระเป๋าตัวดิบ นำมาประกอบด้วยโครงพลาสติก ใช้กระดาษชนิดหนาทาด้วยกาวลาเท็กซ์บุที่พื้นด้านใน จากนั้นลงน้ำยาเคลือบเงาเพื่อเพิ่มความคงทนและความสวยงามของผลิตภัณฑ์ โดยอุปกรณ์ที่ใช้เพิ่มความคงทนและความสวยงามให้กับผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กระจูด กระดาษบาง-หนา กาวลาเท็กซ์ กาวเหลือง น้ำยาเคลือบเงา ด้าย ผ้า ซิบ ห่วง สายหนัง กระดุม และโครงพลาสติก (ภาพที่ 12)

                                                                            A                                                                                          B

                           

(ที่มา : file:///C:/Users/SI4-22/Downloads/Hudagumjaksangrajood_CS11.pdf)
ภาพที่ 12 การตกแต่งผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูด ด้วยการทาน้ำยาเคลือบเงา (A) และการประกอบสายหนัง (B)
 
              4. การเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดควรเก็บไว้ในที่แห้ง และหมั่นนำออกมาผึ่งแดดเป็นระยะๆ   
 
              ทั้งนี้ สามารถสรุปขั้นตอนทั่วไปของการผลิตหัตถกรรมจักสานจากกระจูดได้ดังภาพที่ 13   (กระทรวงการคลัง คลินิกภาษี, 2556)

 

(ที่มา : กระทรวงการคลัง คลินิกภาษี, 2556)

ภาพที่ 13 ขั้นตอนทั่วไปของการผลิตหัตถกรรมจักสานจากกระจูด