ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP
 
รูปแบบหัตถกรรมจักสานจากกระจูด (เรวัต, 2554)
 
              ผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่คนในท้องถิ่นสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน ตามสภาพสังคม วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น รูปแบบของผลิตภัณฑ์ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ตลอดจนมีการพัฒนาและคิดค้นผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดรูปแบบใหม่  เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน โดยรูปแบบของผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

              1. ประเภทดั้งเดิม เป็นผลิตภัณฑ์ที่นิยมทำกันมาเป็นเวลาช้านาน แบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ 

                    (1) เสื่อกระจูด หรือที่คนภาคใต้เรียกว่า “สาดจูด” ส่วนใหญ่นิยมสานลายมาตรฐาน คือ ลายขัดลายสอง ลายสาม (ภาพที่ 14) เพราะใช้เวลาในการสานไม่นาน และเป็นที่นิยมของกลุ่มลูกค้า สำหรับใช้ประดับตกแต่งบ้าน หรือใช้ปูลาดในหลายโอกาส เช่น ตากข้าวหรือสิ่งของอื่น งานประเพณีต่างๆ ในหลากหลายสถานที่ ทั้งห้องนอน ห้องรับแขก และหน้าโรงมหรสพ รวมถึงอาจใช้ประกอบทำเป็นฝาบ้าน หรือเพดานบ้านได้ ซึ่งชาวบ้านทั่วไปนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีความทนทาน คุ้มค่า และราคาถูก (ภาพที่ 15A) ทั้งนี้ ในเวลาต่อมาได้มีการพัฒนาลวดลายของเสื่อกระจูดเพิ่มขึ้น โดยพัฒนามาจากลวดลายธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ และรูปสัตว์ต่างๆ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
                         -  ลวดลายเสื่อกระจูดของชาวไทยมุสลิม มีลักษณะเป็นลวดลายสวยงามสลับซับซ้อนดัดแปลงมาจากลวดลายไทยในธรรมชาติ เอกลักษณ์พิเศษคือ ช่างสานชาวไทยมุสลิมจะไม่สานรูปเหมือนจริง เช่น รูปคน หรือรูปสัตว์ เนื่องจากข้อห้ามตามคตินิยมของศาสนาอิสลาม ลวดลายจึงเป็นสัญลักษณ์ และสามารถพัฒนาลวดลายได้หลายรูปแบบ มีชื่อเรียกต่างกันตามภาษาพื้นเมืองท้องถิ่น 
                         -  ลวดลายเสื่อกระจูดของชาวพุทธ มีลักษณะลวดลายสวยงาม พัฒนามาจากลายไทย เช่น ลายลูกแก้ว ลายดอกจันทร์ ลายก้านต่อดอก ลายดาวล้อมเดือน เป็นต้น ลวดลายบางประเภทมีลักษณะเหมือนกับลวดลายของชาวไทยมุสลิมแต่ชื่อเรียกต่างกัน ลักษณะลวดลายเสื่อกระจูดของชาวพุทธไม่จำกัดรูปแบบลวดลาย โดยจะสานเลียนแบบรูปเหมือนจริงเป็นรูปคน หรือสัตว์ก็ได้ เนื่องจากไม่มีข้อห้ามทางพระพุทธศาสนา 
 
 
                                                                                  A                                                                            B 
 
                         
 
(ที่มา : http://www.sookjai.com/index.php?topic=71263.0)
ภาพที่ 14 ลักษณะลายสอง (A) และลายสาม (B)
 
                    (2) กระสอบ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ (ภาพที่ 15B) มีหลายชนิด เช่น กระสอบนั่ง กระสอบหมาก สมุก เป็นต้น แต่ละชนิดมีลักษณะ รูปแบบ ขนาด และประโยชน์ใช้สอยที่แตกต่างกัน
 
                                                                                     A                                                                          B  
                        
 
                                                         (ที่มา : http://www.thaitambon.com/shop/        (ที่มา : http://www.thaitambon.com/thailand/nakhonsithammarat/
                                                        071029151033-กลุ่มกระจูดบ้านทอนอามาน)                          800704/03123142230/h9_2752_9110a.jpg)
ภาพที่ 15 ผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดประเภทดั้งเดิม ได้แก่ เสื่อกระจูด (A) และกระสอบ (B)
 
              2. ประเภทพัฒนาส่งเสริม เป็นผลิตภัณฑ์ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปให้คำแนะนำกรรมวิธีในการผลิต ช่วยส่งเสริมแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ เพื่อให้สามารถขยายตลาดให้กว้างขึ้นกว่าเดิม เช่น ผลิตเป็นเสื่อสำหรับใช้ในการเดินทางท่องเที่ยว กระเป๋าถือ หมวกต่างๆ เป็นต้น (ภาพที่ 16) รูปแบบของผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มี 3 แบบ ได้แก่
                    (1) การนำเสื่อกระจูดมาตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ เสริมด้วยกระดาษแข็ง เข้าขอบและขึ้นรูปด้วยการกุ๊นริมด้วยผ้า กุ๊นธรรมดา หรือวัสดุอย่างอื่น เช่น หนัง วัสดุสังเคราะห์
                    (2) การขึ้นรูปด้วยการสานโดยใช้โครงสร้างในตัวเอง ยึดเกาะกันด้วยแรงขัดจะทรงตัวได้ดีเฉพาะทรงกระบอก และส่วนก้นมักมีมุมคล้ายกรวยเป็นมุมสำหรับรับน้ำหนัก
                    (3) ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการออกแบบและประยุกต์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการปรับปรุงแบบตามความสร้างสรรค์ของชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมพัฒนารูปแบบ เพื่อให้สอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอยและความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน
 
                          
 
(ที่มา : http://www.thaitambon.com/tambon/930502/product)
ภาพที่ 16 ผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดประเภทพัฒนาส่งเสริม ได้แก่ กระเช้า และหมวก