ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

สถานการณ์หัตถกรรมจักสานจากกระจูดในประเทศไทย 

              สมัยก่อนผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดเป็นเพียงอาชีพเสริมของเกษตรกรในภาคใต้ หรือพื้นที่อื่นๆ ที่มีสภาพภูมิอากาศเหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของต้นกระจูด แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดในหลายพื้นที่ได้ปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กลายเป็นสินค้า OTOP ที่มีชื่อเสียงของชุมชน (กระทรวงการคลัง คลินิกภาษี, 2556) และเปลี่ยนรูปแบบการผลิตเพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือนมาเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายมากขึ้น ทำให้สามารถช่วยเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบในท้องถิ่น และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประเทศเป็นจำนวนมาก 

              1. การผลิต 

              ปัจจุบันการผลิตผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จนพัฒนาเป็นสินค้า OTOP ที่มีชื่อเสียงของชุมชน โดยผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดที่สำคัญในประเทศไทย ได้แก่
                    (1) ผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูด จังหวัดพัทลุง เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่ม หรือป่าพรุ มีพืชน้ำหลายชนิด รวมทั้งต้นกระจูด ทำให้เกิดอาชีพเกี่ยวกับการผลิตกระจูด คือ การปลูกกระจูด และการจักสานกระจูด ที่สามารถช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดที่สำคัญในจังหวัดพัทลุง คือ
                         -  กลุ่มสตรีผลิตภัณฑ์กระจูด ตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ คือ มีความนุ่ม สวยงาม คงทน เนื่องจากผลิตจากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น ย้อมสีตามความต้องการ เน้นดอกและลวดลายของผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของตลาด ฝีมือปราณีต และมีรูปแบบทันสมัย ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ผลิต ได้แก่ เสื่อ กระเป๋า กล่อง ตะกร้า และกระบุง (ภาพที่ 17) (สำนักงานจังหวัดพัทลุง, มปป.)
 

                          

(ที่มา : https://sites.google.com/site/phumipayyacanghwadphathlung/phlitphanth-cak-phumipayya-khxng-canghwad-phathlung/phlitphanth-cak-kracud)

ภาพที่ 17 ผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดของกลุ่มสตรีผลิตภัณฑ์กระจูด ตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง
 
                        -  หัตถกรรมกระจูดวรรณี ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ คือ เป็นผลิตภัณฑ์ที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ช่วยรักษาโลกร้อน โดยผลิตตะกร้าด้วยวัตถุดิบทั้งหมดจากธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น ผลิตด้วยมือไม่ใช้เครื่องจักร ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมทั้งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสิ่งปลอมปนที่เป็นพิษ มีรูปทรง สีสัน และลวดลายสวยงาม เน้นการออกแบบที่มีแนวคิดเกี่ยวกับการตกแต่งแบบธรรมชาติอย่างมีรสนิยม ซึ่งเหมาะสำหรับการใช้งานและตกแต่งภายในบ้าน โรงแรม รีสอร์ท สปา และบูติกโฮเต็ล ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ผลิต ได้แก่ ประเภทเครื่องใช้ตกแต่งภายในบ้าน เช่น ตะกร้าผ้า โคมไฟ ถาดใส่สิ่งของต่างๆ เป็นต้น และประเภทผลิตภัณฑ์แฟชั่น เช่น เคสไอแพด กระจาด กระเป๋า กล่อง เสื่อ กระเช้า เป็นต้น (ภาพที่ 18) (หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ, 2554)
 
                           
 
(ที่มา : http://www.4loadfree.com/neonbookmedia-triplesystems/08/10.pdf)
ภาพที่ 18 ผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดของหัตถกรรมกระจูดวรรณี ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง
 
                    (2) ผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูด จังหวัดสุราษฎร์ธานี คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานกระจูดบ้านห้วยลึก ตำบลท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่า บ้านห้วยลึกเป็นแหล่งกระจูดตามธรรมชาติที่สำคัญ ส่งผลให้คนในชุนชนยึดอาชีพจักสานกระจูดสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น และรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มจักสานกระจูดบ้านห้วยลึก เพื่อรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ คือ ลวดลายสวยงาม มีรูปแบบผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด สีสันสดใส และมีความทันสมัย ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ผลิต ได้แก่ หมวก กระเป๋า ที่รองแก้ว ที่รองจาน แฟ้มเอกสาร กระเป๋าเดินทาง และเบาะรองนั่ง (ภาพที่ 19) (กลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานกระจูดบ้านห้วยลึก, มปป.) 

 

                           

(ที่มา : http://www.kajood.com)

ภาพที่ 19 ผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดของกลุ่มจักสานกระจูดบ้านห้วยลึก ตำบลท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
 

                    (3) ผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูด จังหวัดนราธิวาส คือ กลุ่มกระจูดบ้านทอน ตำบลโคกเคียนอำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส พบว่า ในพื้นที่บ้านทอนเป็นทั้งแหล่งผลิตและแหล่งวัสดุในการทำจักสานกระจูดมาช้านาน โดยในปี พ.ศ. 2516 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส เพื่อทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในท้องถิ่น และได้ทอดพระเนตรเห็นเสื่อกระจูดที่ราษฎรนำมาปูเป็นลาดพระบาทในการรับเสด็จฯ ก็ทรงสนพระทัยมาก เนื่องจากมีลวดลายสีสันสวยงามแปลกตา จึงทรงตั้งกลุ่ม   จักสานกระจูดขึ้น และโปรดให้เก็บรักษาลวดลายโบราณต่างๆ ไว้ ซึ่งมีศูนย์ศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นหน่วยงานสนับสนุนหลัก จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ คือ เส้นกระจูดละเอียดเล็ก แต่มีความคงทน เมื่อใช้ไปนานๆ จะมีความแวววาว และที่สำคัญลวดลายของผลิตภัณฑ์เป็นลายโบราณของท้องถิ่นที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ในพื้นที่อื่น เช่น ลายขัด ลายสอง และลายสาม ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ผลิต ได้แก่ เสื่อ กระเป๋า กล่อง ที่ใส่ซองจดหมาย และหมวก (ภาพที่ 20) (อนุชา, 2556) 

                                            

(ที่มา : http://www.thaitambon.com/shop/071029151033-กลุ่มกระจูดบ้านทอนอามาน)

ภาพที่ 20 ผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดของกลุ่มกระจูดบ้านทอนตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส
 

              2. การตลาด และการส่งออก

              ผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดไม่เพียงแต่เป็นที่นิยมของคนในประเทศ แต่ยังเป็นผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยที่สามารถดึงดูดความสนใจจากชาวต่างชาติ ทำให้สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ไปสู่ตลาดต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น ดังตารางที่ 1

                                       ตารางที่ 1 สถิติการส่งออกของผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูด ในปี พ.ศ. 2553-2555

ปี พ.ศ.

ประเภท

มูลค่าการส่งออก (ล้านบาท)

2553

การส่งออก

551,753.33

                          2554                         

การส่งออก

57,270.00

2555

การส่งออก

15,008.10

รวมทั้งหมด

 

624,031.43

 

                                      (ที่มา : กระทรวงการคลัง คลินิกภาษี, 2556)

 

              3. การพัฒนาหัตถกรรมจักสานจากกระจูด

              แนวโน้มการบริโภควัสดุที่ผลิตจากธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น ผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดจึงได้รับความนิยมจากผู้ใช้มากขึ้นด้วย ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพที่ดี มีประโยชน์สำหรับการใช้สอย ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ สวยงาม และทันสมัย  มากขึ้น ภายใต้เอกลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ กรมวิทยาศาสตร์บริการจึงได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรต่างๆ ได้แก่ หลักสูตร การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์จากต้นกระจูด ให้แก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดในจังหวัดพัทลุง ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ (กรมวิทยาศาสตร์บริการ ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP, 2560) (ภาพที่ 21) หลักสูตร การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์จักสานสู่มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และหลักสูตร การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทของใช้ ของประดับ และของที่ระลึก (ผลิตภัณฑ์จักสานจากต้นกระจูด) ตลอดจนให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการเพื่อแก้ปัญหาผลิตภัณฑ์ เช่น เทคโนโลยีป้องกันการเกิดเชื้อราในผลิตภัณฑ์ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ (กรมวิทยาศาสตร์บริการ, 2559) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำความรู้ไปพัฒนาคุณภาพและออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีรูปแบบที่หลากหลาย ทันสมัย เป็นที่นิยมของผู้ใช้ เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมให้เข้าสู่กระบวนการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) อีกด้วย

                          

 

                                                                                                                                

(ที่มา : กรมวิทยาศาสตร์บริการ ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP, 2560)

ภาพที่ 21 การจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์จากต้นกระจูด 
ให้แก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดในจังหวัดพัทลุง ในวันที่ 30-31 มีนาคม พ.ศ. 2560
 

              สนใจขอรับการฝึกอบรม/ถ่ายทอดเทคโนโลยี ติดต่อได้ที่ กลุ่มงานของใช้และสิ่งทอ สำนักเทคโนโลยีชุมชน กรมวิทยาศาสตร์บริการ โทร. 02-201-7305 อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

              นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการยังได้จัดทำสื่อมัลติมีเดียที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการเกิดเชื้อราในผลิตภัณฑ์จักสาน ที่ทำมาจากพืชชนิดต่างๆ เช่น กก ผักตบชวา และไม้ไผ่ ซึ่งเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ สามารถติดตามดูได้จากเว็บไซต์ http://siweb.dss.go.th และ QR Code (ภาพที่ 22)

(ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=pyAksMSHlzE)

ภาพที่ 22 สื่อมัลติมีเดียเรื่อง การป้องกันการเกิดเชื้อราในผลิตภัณฑ์จักสาน และ QR Code