ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

 

 

 

บทนำ

              กระจูดเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lepironia articulata Domin จัดอยู่ในวงศ์ Cyperaceae สามารถเจริญเติบโตได้ง่าย และแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว ชอบขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือในระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือบริเวณที่มีน้ำขังตลอดทั้งปี มักกระจายพันธุ์อยู่ในทวีปเอเชียบริเวณคาบสมุทรอินโดจีน เช่น ประเทศเวียดนาม กัมพูชา ไทย ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาะบอร์เนียว เกาะสุมาตรา เป็นต้น สำหรับประเทศไทยพบมากทางภาตใต้และภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง นราธิวาส นครศรีธรรมราช และระยอง แต่เดิมไม่มีการปลูกกระจูด เพราะส่วนมากจะนำกระจูดจากแหล่งธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ โดยในบางพื้นที่ประสบปัญหาด้านการขนส่งและระยะทาง ต่อมาบางหมู่บ้านได้ริเริ่มนำต้นกระจูดมาปลูกในพื้นที่ใกล้หมู่บ้านของตน เรียกว่า การทำนากระจูด (กรมส่งเสริมการเกษตร, มปป.) ต้นกระจูดมี 2 ชนิด คือ ต้นกระจูดใหญ่ และต้นกระจูดหนู ซึ่งเกษตรกรนิยมนำต้นกระจูดใหญ่มาใช้ประโยชน์มากกว่าต้นกระจูดหนู เนื่องจากมีขนาดลำต้นกลมโต และมีความเหนียว (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรม, 2548) กระจูดสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นในภาคใต้ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษเป็นเวลาหลายสิบปี คือ การจักสานกระจูดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น เสื่อ ใบเรือ เชือกผูกมัด กระสอบบรรจุอาหาร สินค้า เป็นต้น โดยรูปแบบของผลิตภัณฑ์ในแต่ละจังหวัดจะมีลักษณะเด่นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของวัตถุดิบ ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ค่านิยม และวัตถุประสงค์การใช้สอย หัตถกรรมจักสานจากกระจูดจึงมีคุณค่าทางวัฒนธรรม และเป็นอาชีพที่สำคัญของคนในภาคใต้

              ปัจจุบันหัตถกรรมจักสานจากกระจูดได้รับการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีคุณภาพดี สวยงาม ทันสมัย ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ และสามารถช่วยเพิ่มมลูค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เช่น เสื่อ กระเป๋า กระเป๋าเดินทาง ตะกร้า หมวก กระเช้า กระบุง เป็นต้น อีกทั้ง ยังถูกยกระดับเป็นสินค้า OTOP ที่สำคัญของชุมชน โดยมีการผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นสินค้ามากขึ้น ทำให้สามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัว ชุมชน และประเทศเพิ่มขึ้นด้วย


ประวัติของกระจูด

              กระจูดเป็นพืชจำพวกกก (Sedge) ชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในสกุล Lepironia และวงศ์ Cyperaceae แต่ละประเทศมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน คือ ประเทศออสเตรเลีย เรียกว่า Grey sedge และ Blue sedge ประเทศมาเลเซีย เรียกว่า Tube sedge มักชอบขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือในระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำตามแนวชายฝั่ง บึงน้ำในแผ่นดิน และป่าบึง ทั่วโลกพบพืชที่จัดอยู่ในสกุลนี้ 5 ชนิด (Species) กระจายพันธุ์อยู่ในทวีปเอเชียบริเวณคาบสมุทรอินโดจีน เช่น เวียดนาม กัมพูชา ไทย ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาะบอร์เนียว เกาะสุมาตรา อินเดีย  ศรีลังกา ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน ชายฝั่งตะวันออกของทวีปออสเตรเลีย ไมโครนีเซีย หมู่เกาะฟิจิ เกาะมาดากัสการ์ และเกาะนิวคาลิโดเนีย ในประเทศไทยพบเพียงชนิดเดียว คือ articulata หรือ กระจูด โดยมีการกระจายพันธุ์ในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออก บริเวณที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ หนองบึงน้ำจืด ตามแนวบริเวณชายฝั่งทะเลที่มีสภาพป่าชายหาดเป็นแนวขวางกั้นระหว่างแหล่งน้ำจืดและทะเล ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำที่กระจูดขึ้นจะมีสภาพน้ำท่วมขังตลอดปี ในภาคตะวันออกพบกระจูดมากในพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติในเขตพื้นที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ส่วนในภาคใต้พบทุกจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับชายฝั่งทะเล และมีสภาพเป็นหนองบึงน้ำจืดในเขตพื้นที่ป่าชายหาดและป่าพรุ มักขึ้นปะปนเป็นพืชพื้นล่างให้กับหมู่ไม้เสม็ดขาว ซึ่งพบกระจูดมากที่สุดในจังหวัดนครศรีธรรมราช รองลงมา คือ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง นราธิวาส และพังงา จังหวัดที่พบกระจูดน้อย ได้แก่ จังหวัดสงขลา ปัตตานี สตูล และภูเก็ต ส่วนจังหวัดที่ไม่พบกระจูดเลย ได้แก่ จังหวัดยะลา กระบี่ ตรัง และระนอง (เปรมฤดี, 2556)     

              ต้นกระจูดที่พบมีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเกิดการปลูก สามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ต้นกระจูดใหญ่ และต้นกระจูดหนู ต้นกระจูดใหญ่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้มาก ส่วนต้นกระจูดหนูมีลำต้นเล็กและสั้น มีความเหนียวน้อยกว่าต้นกระจูดใหญ่ การปลูกต้นกระจูดต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปี ต้นถึงจะโตได้ขนาด สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ คือ ลำต้นยาวไม่ต่ำกว่า 1 เมตร เมื่อถอนไปแล้วหน่อก็จะแตกต้นใหม่ขึ้นมาแทนที่หมุนเวียนกันไป ซึ่งทางภาคใต้นิยมปลูกไว้สำหรับใช้สานเสื่อภายในครอบครัว และจำหน่ายเพิ่มรายได้นอกเหนือจากการประกอบอาชีพหลัก (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรม, 2548)


ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกระจูด (กรมป่าไม้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 11 (สุราษฎร์ธานี) ส่วนจัดการป่าชุมชน, 2553)

              กระจูดเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งที่มีอายุหลายปี สามารถเจริญเติบโตได้ง่าย และแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว ชอบขึ้นในบริเวณน้ำขังตามริมทะเลสาบที่เป็นดินโคลน (ภาพที่ 1) และมีความเป็นกรดสูง ซึ่งเรียกว่า “พรุ” พบมากทางภาตใต้และภาคตะวันออกของประเทศไทย (กรมส่งเสริมการเกษตร, มปป.) กระจูดมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lepironia articulata Domin (Chote, 1978) จัดอยู่ในวงศ์ Cyperaceae มีชื่อท้องถิ่นว่า กกกระจูด (ภาคกลาง)  กก (ระยอง) จูดหรือกระจูด (ภาตใต้) กรือจุ (นราธิวาส) และวิจุ๊ (มลายู) 

(ที่มา : กรมป่าไม้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 11 (สุราษฎร์ธานี) ส่วนจัดการป่าชุมชน, 2553)

ภาพที่ 1 แสดงลักษณะนิเวศวิทยาของแหล่งน้ำที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของต้นกระจูด

              1. อนุกรมวิธานของกระจูด (กรมป่าไม้ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้, 2560)

                                      -  อาณาจักร (Kingdom) : Plantae
                                      -  ดิวิชั่น (Division) : Magnoliophyta
                                      -  ชั้น (Class) : Liliopsida
                                      -  อันดับ (Order) : Poales Small 
                                      -  วงศ์ (Family) : Cyperaceae
                                      -  สกุล (Genus) : Lepironia
 

              2. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกระจูด  

              กระจูดมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่สำคัญ ดังนี้ 

              (1) ลำต้น (Culm) ลักษณะลำต้นคล้ายทรงกระบอก กลม ผิวเรียบ ด้านในกลวง มีผนังกั้นคั่นตามขวาง สีเขียวอ่อน มีขนาดตั้งแต่เท่าก้านไม้ขีดไฟจนถึงแท่งดินสอดำ สูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นแข็งเป็นกลุ่มแน่นตามแนวของเหง้า มีขนาด 10-20 x 0.2-0.7 เซนติเมตร เหง้ามีเกล็ดสีน้ำตาลอมเทาที่ด้านปลายเล็กน้อย (ภาพที่ 2A)
              (2) ใบ (Leave) ใบของกระจูดลดรูปไป แต่มีกาบใบแผ่ออกมา กาบบนสุดยาวประมาณ 12-26 เซนติเมตร ปลายตัดเฉียง (Obliquely truncate) ส่วนใบประดับมีลักษณะเป็นรูปลิ่มแคบคล้ายทรงกระบอก ปลายแหลม มีความยาวประมาณ 2.2-6 เซนติเมตร (ภาพที่ 2B)
 

                                                                      A                                                                                                B   

                           

(ที่มา : http://www.dnp.go.th/botany/detail.aspx?words=กระจูด&typeword=group)

ภาพที่ 2 ลักษณะลำต้น (A) และใบของกระจูด (B) 

              (3) ดอก (Flower) เป็นช่อดอก ประกอบด้วยช่อเชิงลด (Spike) จำนวน 1 ช่อ มีลักษณะเป็นรูปทรงรี หรือรูปขอบขนานคล้ายทรงกระบอก มีขนาด 10-35 x 3-7 มิลลิเมตร สีเขียวถึงสีน้ำตาลกาแฟ หรือสีน้ำตาลออกม่วง กาบประดับ (Spicoid bracts) มีลักษณะเป็นรูปไข่ หรือรูปทรงกลมแกมไข่ มีขนาด 3.2-6.7 x 3-6.2 มิลลิเมตร ปลายมนและมักโค้งลงเล็กน้อย เมื่อแก่เต็มที่จะร่วงง่าย กลุ่มดอกย่อย (Spicoids) พอๆ กับกาบประดับ ส่วนกลีบประดับ (Floral bracts) มีได้ถึง 15 กลีบ น้อยที่สุดมี 2 กลีบ มีลักษณะเป็นรูปหอก แกมแถบ มีความยาว 4-6 มิลลิเมตร สันของกลีบเป็นขนครุย (ภาพที่ 3)
              (4) ผล (Fruit) มีลักษณะเป็นรูปไข่ ผลนูน 2 ด้าน มีขนาด 3-4 x 2-2.8 มิลลิเมตร (ไม่นับจงอยที่ยาว 0.5 มิลลิเมตร) ผลแข็งมีสีน้ำตาล ผิวเรียบตึง เป็นแนวเส้นตามยาวไม่ชัด มักมีหนามละเอียดที่ส่วนปลาย  ของผล  
 

                                        

                                        (ที่มา : file:///C:/Users/SI4-22/Downloads/                                   (ที่มา : http://www.dnp.go.th/botany/detail.
                                              Hudagumjaksangrajood_CS11.pdf)                                         aspx?words=กระจูด&typeword=group)
 
ภาพที่ 3 ลักษณะดอกกระจูด  
 
              3. การขยายพันธุ์ของกระจูด                             
              กระจูดมีเหง้าใต้ดิน สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการแยกกอ หรือแยกหน่อ เมื่อถอนกระจูดต้นเก่าไปแล้วที่เหลือจะแตกหน่อ และเจริญเติบโตเป็นลำต้นใหม่ภายในระยะเวลาประมาณ 3 ปี ลำต้นจะโตเต็มที่ มีความยาวไม่ต่ำกว่า 1 เมตร ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
 
              4. การปลูกกระจูด

              พื้นที่ที่จะปลูกกระจูดต้องมีน้ำขังตลอดปี หรือแห้งสัก 2-3 เดือน การปลูกหรือการทำนากระจูดมีวิธีการคล้ายกับการทำนาข้าว (นาดำ) (ภาพที่ 4) คือ ก่อนปลูกจะต้องตกแต่งพื้นที่ให้เรียบ แต่ไม่ต้องยกคันนา เพียงทำเขตให้มองเห็นเป็นสัดส่วนก็พอ โดยวิธีการปลูกกระจูดมี 2 วิธี  (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรม, 2548) คือ

              (1) การเตรียมพื้นที่สำหรับปลูกกระจูด ควรมีน้ำขังสูงประมาณ 70-80 เซนติเมตร และควรทำลายวัชพืชอื่นๆ ออกให้หมด จากนั้นถอนต้นกระจูดที่มีอยู่เป็นกอๆ มัดรวมกันประมาณ 4-5 ต้น แล้วปักดำ ฝังลึกลงไปในดิน ลึกประมาณ 10 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้ต้นกระจูดหลุดลอยขึ้นมาเหนือน้ำ ระยะห่างระหว่างกอประมาณ 18 นิ้ว บางครั้งอาจมีการใส่ปุ๋ยเพื่อให้กระจูดสามารถเจริญงอกงามได้เร็วขึ้น ซึ่งใช้ปุ๋ยประมาณไร่ละ 5-10 กระสอบ (กระสอบหนึ่งหนักประมาณ 50 กิโลกรัม) อายุของต้นตั้งแต่เริ่มปลูกจนกระทั่งใช้งานได้ประมาณ 2-3 ปี เมื่อถอนต้นกระจูดออกไปแล้วก็จะแตกขึ้นใหม่ และยิ่งระยะเวลานานเข้าต้นกระจูดก็จะแน่นและขนาดต้นจะเล็กลงตามลำดับ
              (2) เมื่อเตรียมพื้นที่ปลูกไว้เรียบร้อยแล้ว ให้ถอนต้นกระจูดเป็นกำๆ รวมกันประมาณ 1 กำมือ จากนั้นใช้ไม้ปักลงในดินที่เตรียมไว้ เป็นระยะห่างกันประมาณ 0.5 เมตร นำมัดกระจูดดังกล่าวไปผูกติดกับไม้ที่ปักไว้อย่างหลวมๆ พอให้ต้นกระจูดขยับขึ้นตามน้ำขึ้น และเลื่อนลงตามน้ำลงได้ ขึ้นอยู่กับความมากน้อยของน้ำ วิธีนี้จะทำให้ต้นกระจูดสามารถแตกแขนงอย่างรวดเร็ว และสามารถถอนใช้งานได้ภายในเวลา 1 ปี แต่มีข้อเสียคือ กอกระจูดจะหยั่งรากลงดินตื้นๆ เมื่อถอนต้นมาใช้มักจะติดขึ้นมาทั้งกอแทนที่จะขึ้นมาเป็นต้นๆ ดังนั้นเวลาถอนต้นกระจูดจึงต้องระมัดระวังโดยใช้เท้าเหยียบโคนต้นไว้ และถอนได้ครั้งละไม่กี่ต้น ทำให้เสียเวลาในการถอนต้นมาใช้งาน
 

                          

                                                       (ที่มา : เรวัต และเจษฎา, 2548)                                            (ที่มา : http://www.manager.co.th/South/

                                                                                                                                            ViewNews.aspx?NewsID=9530000082770)
 
ภาพที่ 4 การปลูกหรือการทำนากระจูด
 

แหล่งผลิตกระจูดที่สำคัญในประเทศไทย

              ต้นกระจูดมีแหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย แถบลุ่มทะเลสาบสงขลา คือ บริเวณทะเลน้อย บริเวณพรุควนเคร็งในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช และริมฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย คือ บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี สงขลา และนราธิวาส แหล่งกระจูดในเขตพื้นที่ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติและที่นำมาปลูกทำเป็นนากระจูด รวมพื้นที่ทั้งหมดไม่น้อยกว่า 10,000 ไร่ (เรวัต และเจษฎา, 2548) โดยแหล่งผลิตกระจูดที่สำคัญในภาคใต้ คือ 

              (1) บ้านทอน ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เป็นแหล่งที่มีกระจูดขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก พบว่าคนในชุมชนบ้านทอนสานเสื่อกันน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่นิยมถอนต้นกระจูดไปขายยังที่อื่น
              (2) บ้านทะเลน้อย ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เป็นแหล่งที่มีลักษณะที่ลุ่มรอบๆ ริมทะเลสาบสงขลา พบว่า มีการปลูกต้นกระจูดเป็นจำนวนมาก คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ มีการสานเสื่อกันมาก และทำตลอดทั้งปี
              (3) บ้านควนยาว บ้านควนใน ตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ลักษณะพื้นที่เป็นที่ลุ่ม ทำให้มีกระจูดขึ้นเป็นจำนวนมากทั้งที่ปลูกขึ้นและขึ้นเองโดยธรรมชาติ (ภาพที่ 5A) คนในชุมชนนิยมสานเสื่อกันเกือบทุกครัวเรือน และทำกันตลอดทั้งปี ทั้งนี้ ยังมีการประดิษฐ์ของใช้อื่นๆ เช่น ที่ใส่ซองจดหมาย กระเป๋าถือ เสื่อสำหรับปูโต๊ะ เป็นต้น นอกจากอำเภอชะอวดแล้วยังพบแหล่งผลิตกระจูดที่อำเภอหัวไทร อำเภอเชียรใหญ่  ในจังหวัดนครศรีธรรมราชอีกด้วย
              (4) ตำบลท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี นับเป็นแหล่งกระจูดที่สำคัญในจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ภาพที่ 5B) แต่คนในชุมชนสานเสื่อกันน้อย มักทำกันหลังฤดูเก็บเกี่ยว ส่วนใหญ่จะถอนต้นกระจูดนำไปขายที่อื่นหรือมีผู้มารับซื้อถึงที่ (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรม, 2548)  
 

                                                                           A                                                                                           B  

                           

                                          (ที่มา : http://share.psu.ac.th/media/files/17130)                            (ที่มา : file:///C:/Users/SI4-22/Downloads/

                                                                                                                                                  Hudagumjaksangrajood_CS11.pdf)
 
ภาพที่ 5 แหล่งผลิตกระจูดที่สำคัญของประเทศไทยอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช (A) และจังหวัดสุราษฎร์ธานี (B)
 

การใช้ประโยชน์จากกระจูด

              กระจูดสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ในประเทศออสเตรเลียใช้แง่งเป็นอาหาร ปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกในพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อป้องกันการกัดเซาะ ดูดซึมธาตุอาหารพืชและเป็นพืชกรองน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ในสาธารณรัฐประชาชนจีนใช้ลำต้นจักสานเสื่อและตะกร้า ส่วนในประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์จากกระจูดตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งใช้จักสานเป็นเครื่องใช้ภายในครัวเรือนเพื่อประโยชน์ในชีวิตประจำวัน มีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาเป็นเวลาหลายสิบปี โดยเฉพาะหัตถกรรมกระจูดในภาคใต้ (เปรมฤดี, 2556)        

              ผู้ประกอบการนิยมนำต้นกระจูดมาตากแห้งเพื่อใช้ทอเสื่อและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระเป๋า เครื่องใช้หลากหลายชนิด (ภาพที่ 6) เมื่อถอนต้นกระจูดไปใช้แล้วจะแตกต้นใหม่ขึ้นมาแทนที่หมุนเวียนกันไป ทำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ตลอดทั้งปี (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรม, 2548) โดยก่อนนำกระจูดไปสานเสื่อหรือผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จะต้องนำไปผึ่งแดดให้แห้งสนิท แล้วทุบให้แบนด้วยสากตำข้าวหรือบดด้วยล้อขนาดใหญ่ หากต้องการให้มีสีสันสามารถนำไปย้อมสีก่อนนำมาสาน ปัจจุบันผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดมีหลายรูปแบบ โดยทั่วไปมักนำลำต้นกระจูดมาสานเสื่อปูรองนั่ง ที่เรียกกันว่า เสื่อกระจูด หรือสาดกระจูด 

                            

                                (ที่มา : http://www1.culture.go.th/subculture3/images/stories/         (ที่มา : http://culture.yru.ac.th/index.php/การทำเสื่อกระจูด)
                                     Artist/vudthanathumjungvud/surerdthanee/kajood.pdf)
 

                            

                                             (ที่มา : https://7greens.tourismthailand.org/                                  (ที่มา : https://soclaimon.wordpress.com/
                                                       th/green_attraction/detail/289)                                             2013/09/16/ทำมาหากิน-จักสานกระจูด/)
 
ภาพที่ 6 การนำกระจูดมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จักสาน
 
              หัตถกรรมจักสานจากกระจูดนับเป็นผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญประเภทหนึ่งของภาคใต้ โดยได้รับการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ตะกร้า เสื่อ กระเช้า แจกัน กระบุง รองเท้า หมวก เป็นต้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น จนกลายเป็นสินค้า OTOP ที่สำคัญที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกด้วย                                               
 

ขั้นตอนการผลิตหัตถกรรมจักสานจากกระจูด

              หัตถกรรมจักสานจากกระจูดประกอบด้วยขั้นตอนการผลิต 4 ขั้นตอน (กรมป่าไม้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 11 (สุราษฎร์ธานี) ส่วนจัดการป่าชุมชน, 2553) คือ 

              1. การเตรียมวัตถุดิบ เป็นการเตรียมต้นกระจูด โดยมีวิธีการเตรียมดังนี้

                    (1) การเก็บต้นกระจูด เลือกต้นกระจูดที่ไม่แก่จัด และไม่อ่อนเกินไป ลำต้นยาว เพราะลำต้นยาวสามารถนำไปจักสานได้ปริมาณมากกว่าลำต้นสั้น เมื่อเลือกต้นกระจูดได้ตามต้องการแล้ว ถอนกระจูดโดยใช้มือทั้งสองข้างโอบกระจูดเข้าหาตัวผู้ถอนแล้วดึงขึ้นเรื่อยๆ ห้ามกระตุก เนื่องจากจะทำให้ลำต้นขาดและแตกง่าย ซึ่งถอนต้นกระจูดจากกอครั้งละ 2-3 ต้น เลือกขนาดเท่าๆ กันมากองรวมกัน จากนั้นนำกระจูดที่ถอนได้มามัดเป็นกำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 20-30 เซนติเมตร (ภาพที่ 7)

                

(ที่มา : file:///C:/Users/SI4-22/Downloads/Hudagumjaksangrajood_CS11.pdf)

ภาพที่ 7 การเก็บและการคัดเลือกต้นกระจูด 

                    (2) การคลุกโคลนต้นกระจูด เมื่อมัดต้นกระจูดตามขนาดเป็นกำแล้วให้นำไปคลุกกับน้ำโคลนขาวที่เตรียมไว้ (ภาพที่ 8A) เพื่อทำให้กระจูดมีสีขาวนวล เพิ่มความเหนียวให้กับเส้นใย และทำให้เส้นใยไม่แห้งกรอบ หรือบิดจนใช้การไม่ได้ ซึ่งน้ำโคลนขาวได้มาจากการนำน้ำมาผสมกับดินเหนียวขาว การผสมต้องไม่เหลวหรือข้นจนเกินไป ทดสอบโดยใช้มือจุ่มลงไปให้น้ำโคลนพอเกาะนิ้วมือ
                    (3) การนำไปตากแดด นำกระจูดที่คลุกน้ำโคลนขาวแล้วไปตากบนพื้นที่ราบเรียบ โดยวางกระจายเรียงเส้น (ภาพที่ 8B) เพื่อให้กระจูดแห้งทั่วทั้งลำต้น ซึ่งใช้ระยะเวลาในการตากประมาณ 2-3 แดด วิธีการสังเกตว่ากระจูดแห้งหรือไม่ คือ ดูจากกาบที่ห่อตรงโคนต้น ถ้ากาบแยกออกจากต้นกระจูดแสดงว่าต้นกระจูดแห้งดีแล้ว จากนั้นดึงกาบที่โคนออกให้หมด
 
                                                                           A                                                                                           B
 

                           

(ที่มา : file:///C:/Users/SI4-22/Downloads/Hudagumjaksangrajood_CS11.pdf)

ภาพที่ 8 การคลุกโคลน (A) และการนำต้นกระจูดไปตากแดด (B)

                    (4) การคัดต้นกระจูด โดยแยกต้นที่มีขนาดเล็ก และต้นที่มีขนาดใหญ่ออกจากกันเป็นมัดๆ
                    (5) การรีดกระจูด นำต้นกระจูดที่ตากแห้งแล้วมัดเป็นกำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 15-20 เซนติเมตร มาวางบนพื้นราบ จากนั้นนำลูกกลิ้งทับจนกระจูดเรียบตามความต้องการ ซึ่งการรีดกระจูดมีอยู่ 2 วิธี คือ การใช้เครื่องจักรรีด และการใช้ลูกกลิ้งรีด (ภาพที่ 9) โดยลูกกลิ้งทำจากวัสดุทรงกลมที่มีน้ำหนักพอเหมาะ เช่น ท่อซีเมนต์ ท่อเหล็กกลม ข้อแตกต่างระหว่างเครื่องจักรรีดกับลูกกลิ้ง คือ การใช้ลูกกลิ้งรีดต้นกระจูดจะนิ่มเหมือนตำด้วยสาก จักสานง่าย ส่วนการใช้เครื่องจักรรีดต้นกระจูดจะแบนเรียบเหมือนกัน แต่ไม่นิ่ม ทำให้จักสานยาก
 
                                                                        A                                                                                              B
 

                           

(ที่มา : file:///C:/Users/SI4-22/Downloads/Hudagumjaksangrajood_CS11.pdf)

ภาพที่ 9 การรีดกระจูดด้วยเครื่องจักร (A) และการรีดกระจูดด้วยลูกกลิ้ง (B)

                    (6) การย้อมสีกระจูด นำกระจูดที่รีดแล้วมาย้อมสีเพื่อให้ได้สีตามต้องการ โดยแบ่งกระจูดออกเป็นมัด มัดละ 20-25 เส้น แล้วนำสายยางมัดที่ปลายกระจูดเพื่อไม่ให้เส้นกระจาย นำกระจูดจุ่มในน้ำให้ชุ่ม จากนั้นเอาไปต้มในถังน้ำสีที่ต้มเดือดบนเตาไฟนาน 15-20 นาที เมื่อครบเวลาให้นำกระจูดขึ้นมาล้างสีส่วนเกินออกด้วยน้ำสะอาด แล้วจึงนำไปตากที่ราวเพื่อผึ่งลมให้แห้ง (ภาพที่ 10) และนำเส้นกระจูดที่แห้งมามัดรวมกันแล้วรีดอีกครั้ง เพื่อให้เส้นใยนิ่มและเรียบ สีที่นิยมย้อมกันทั่วไป ได้แก่ สีม่วง สีแดง และสีเขียว (เรวัต และเจษฎา, 2548) 

 

                            

(ที่มา : file:///C:/Users/SI4-22/Downloads/Hudagumjaksangrajood_CS11.pdf)

ภาพที่ 10 การย้อมสีกระจูด

              2. การจักสานกระจูด มีขั้นตอนดังนี้ 

                    (1) นำกระจูดที่ย้อมสีและรีดแล้วมาวางเรียงให้ปลายกับโคนต้นวางสลับกัน เนื่องจากหากไม่สลับจะทำให้ผลิตภัณฑ์เสียรูปทรงได้
                    (2) ผู้จักสานต้องวางเรียงกระจูดสีพื้น และสีอื่นๆ ตามที่คิดไว้ ลวดลายที่ใช้ในการจักสานจะ  บ่งบอกถึงภูมิปัญญาของท้องถิ่น ซึ่งลวดลายพื้นฐานโดยทั่วไป เช่น ลายสอง ลายสาม ลายสี่ เป็นต้น แต่ลายที่นิยมมากที่สุดคือ ลายสอง
                    (3) สานกระจูดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่ จักสานเสื่อ ที่รองจาน เริ่มต้นสานจากปลายด้านใดด้านหนึ่งไปจนสุดปลายอีกด้านหนึ่ง ส่วนจักสานกระบุง กระเป๋า เริ่มต้นสานจากกึ่งกลางของชิ้นงาน เพื่อไม่ให้ผลิตภัณฑ์เสียรูปทรง (ภาพที่ 11)
 
                  
 
(ที่มา : file:///C:/Users/SI4-22/Downloads/Hudagumjaksangrajood_CS11.pdf)
ภาพที่ 11 การจักสานกระจูดเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ

 

              3. การตกแต่งผลิตภัณฑ์ หลังจากจักสานกระจูดเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ แล้ว ให้นำผลิตภัณฑ์มาตกแต่งก่อนนำไปใช้งาน เช่น เสื่อ นำมาเก็บริมและตัดหนวด กระเป๋าที่ไม่สามารถนำไปใช้งานได้ เรียกว่า กระเป๋าตัวดิบ นำมาประกอบด้วยโครงพลาสติก ใช้กระดาษชนิดหนาทาด้วยกาวลาเท็กซ์บุที่พื้นด้านใน จากนั้นลงน้ำยาเคลือบเงาเพื่อเพิ่มความคงทนและความสวยงามของผลิตภัณฑ์ โดยอุปกรณ์ที่ใช้เพิ่มความคงทนและความสวยงามให้กับผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กระจูด กระดาษบาง-หนา กาวลาเท็กซ์ กาวเหลือง น้ำยาเคลือบเงา ด้าย ผ้า ซิบ ห่วง สายหนัง กระดุม และโครงพลาสติก (ภาพที่ 12)

                                                                            A                                                                                          B

                           

(ที่มา : file:///C:/Users/SI4-22/Downloads/Hudagumjaksangrajood_CS11.pdf)
ภาพที่ 12 การตกแต่งผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูด ด้วยการทาน้ำยาเคลือบเงา (A) และการประกอบสายหนัง (B)
 
              4. การเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดควรเก็บไว้ในที่แห้ง และหมั่นนำออกมาผึ่งแดดเป็นระยะๆ   
 
              ทั้งนี้ สามารถสรุปขั้นตอนทั่วไปของการผลิตหัตถกรรมจักสานจากกระจูดได้ดังภาพที่ 13   (กระทรวงการคลัง คลินิกภาษี, 2556)

 

(ที่มา : กระทรวงการคลัง คลินิกภาษี, 2556)

ภาพที่ 13 ขั้นตอนทั่วไปของการผลิตหัตถกรรมจักสานจากกระจูด


มาตรฐานหัตถกรรมจักสานจากกระจูด (สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, 2559)

              ผลิตภัณฑ์จากกระจูด หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำกระจูดมาทอ ถักสาน หรือประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป อาจแต่งสีหรือย้อมสี เคลือบด้วยสารเคลือบผิว ประกอบหรือตกแต่งด้วยวัสดุอื่นเพื่อเพิ่มความแข็งแรงหรือความสวยงาม เช่น โลหะ ไม้ ไม้ไผ่ หวาย พลาสติก กระดาษแข็ง เชือก ผ้า เอ็น ดิ้น ลูกปัด ทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เสื่อ กระเป๋า ตะกร้า โดยมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ผลิตภัณฑ์จากกระจูด มาตรฐานเลขที่ มผช. 53-2559 ได้กำหนดคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์จากกระจูดที่ต้องการไว้ดังนี้

              (1) ลักษณะทั่วไป ต้องประณีต สวยงาม มีรูปแบบรูปทรงที่เหมาะสมกับการใช้งาน ไม่มีขอบคมและปลายแหลม ยกเว้นกรณีที่เป็นลักษณะเฉพาะของชิ้นงาน ไม่มีรอยแตก ขาด บิด งอ รา หรือตำหนิที่เกิดจากการทำลายของแมลงปรากฏในชิ้นงานให้เห็นเด่นชัด ยกเว้นรอยที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเป็นลักษณะเฉพาะของชิ้นงาน ซึ่งไม่มีผลเสียต่อการใช้งาน
              (2) การประกอบ (ถ้ามี) ต้องเรียบร้อย ประณีต สวยงาม ติดแน่น เหมาะสมกับชิ้นงาน ไม่มีกลิ่นของสารเคมีและรอยเปรอะเปื้อนของสารที่ใช้ยึดติดชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน
              (3) การเย็บ (ถ้ามี) 
                       -  ต้องเรียบร้อย ประณีต ฝีเข็มสม่ำเสมอทั้งนอกและในตัวผลิตภัณฑ์ ริมต้องเรียบแน่น ไม่ย้วยหรือหลุดลุ่ย
                       -  การบุด้วยแผ่นฟองน้ำ (ถ้ามี) ต้องมีผ้าหุ้มหรือปิดทับและเย็บให้เรียบร้อย แน่น ไม่ย้วยหรือหลุดลุ่ย ฝีเข็มสม่ำเสมอทั้งนอกและในตัวผลิตภัณฑ์
                       -  การเย็บหุ้มริมผ้าหรือกุ้น (ถ้ามี) ต้องเรียบร้อย ประณีต ฝีเข็มสม่ำเสมอทั้งนอกและในตัวผลิตภัณฑ์
                       -  การติดกระดุมหรือซิป (ถ้ามี) ต้องเรียบร้อย แน่น และไม่ย่น กรณีเป็นโลหะต้องไม่มีสนิมขอบคมและปลายแหลม
                       -  กรณีที่มีการซับใน (ถ้ามี) ต้องเย็บเรียบร้อย แน่น ไม่หลุดลุ่ยง่าย สีผ้าซับในต้องสีเดียวกันหรือใกล้เคียงกับสีของผลิตภัณฑ์ ยกเว้นกรณีที่เป็นลักษณะเฉพาะของชิ้นงาน
              (4) ลวดลาย (ถ้ามี) ต้องประณีต เรียบร้อย สม่ำเสมอ การต่อลวดลายต้องตรงตามลักษณะของลวดลาย
              (5) สี (ถ้ามี) ต้องมีสีสม่ำเสมอ ติดแน่น ไม่ด่าง หลุด ลอก หรือเปราะเปื้อน ยกเว้นกรณีที่เป็นลักษณะเฉพาะของชิ้นงาน เมื่อจับหรือสัมผัสแล้วสีต้องไม่ติดมือ
              (6) การเก็บริม (ถ้ามี) ต้องประณีต เรียบร้อย สวยงาม สม่ำเสมอตลอดชิ้นงาน
              (7) การประกอบหรือตกแต่งด้วยวัสดุอื่น (ถ้ามี) ต้องประณีต ติดแน่น สวยงาม กลมกลืน และเหมาะสมกับชิ้นงาน รอยต่อต้องไม่แยกออกจากกัน ไม่มีกลิ่นของสารเคมีและรอยเปราะเปื้อนของสารที่ใช้ยึดติดชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน ไม่มีขอบคมและปลายแหลม ยกเว้นกรณีที่เป็นลักษณะเฉพาะของชิ้นงานน กรณีใช้วัสดุประกอบหรือตกแต่งเป็นโลหะต้องไม่มีสนิม กรณีใช้วัสดุจากธรรมชาติต้องไม่มีรา หรือตำหนิที่เกิดจากการทำลายของแมลง กรณีใช้พลาสติกต้องไม่มีเสี้ยน หรือครีบ
              (8) การเคลือบผิว (ถ้ามี) ต้องเรียบ สม่ำเสมอ ไม่เป็นเม็ด เป็นคราบ แตก หลุด หรือลอก และไม่ทำให้ชิ้นงานขาดความสวยงาม
              (9) การใช้งาน ต้องสามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน
 

 
รูปแบบหัตถกรรมจักสานจากกระจูด (เรวัต, 2554)
 
              ผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่คนในท้องถิ่นสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน ตามสภาพสังคม วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น รูปแบบของผลิตภัณฑ์ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ตลอดจนมีการพัฒนาและคิดค้นผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดรูปแบบใหม่  เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน โดยรูปแบบของผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

              1. ประเภทดั้งเดิม เป็นผลิตภัณฑ์ที่นิยมทำกันมาเป็นเวลาช้านาน แบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ 

                    (1) เสื่อกระจูด หรือที่คนภาคใต้เรียกว่า “สาดจูด” ส่วนใหญ่นิยมสานลายมาตรฐาน คือ ลายขัดลายสอง ลายสาม (ภาพที่ 14) เพราะใช้เวลาในการสานไม่นาน และเป็นที่นิยมของกลุ่มลูกค้า สำหรับใช้ประดับตกแต่งบ้าน หรือใช้ปูลาดในหลายโอกาส เช่น ตากข้าวหรือสิ่งของอื่น งานประเพณีต่างๆ ในหลากหลายสถานที่ ทั้งห้องนอน ห้องรับแขก และหน้าโรงมหรสพ รวมถึงอาจใช้ประกอบทำเป็นฝาบ้าน หรือเพดานบ้านได้ ซึ่งชาวบ้านทั่วไปนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีความทนทาน คุ้มค่า และราคาถูก (ภาพที่ 15A) ทั้งนี้ ในเวลาต่อมาได้มีการพัฒนาลวดลายของเสื่อกระจูดเพิ่มขึ้น โดยพัฒนามาจากลวดลายธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ และรูปสัตว์ต่างๆ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
                         -  ลวดลายเสื่อกระจูดของชาวไทยมุสลิม มีลักษณะเป็นลวดลายสวยงามสลับซับซ้อนดัดแปลงมาจากลวดลายไทยในธรรมชาติ เอกลักษณ์พิเศษคือ ช่างสานชาวไทยมุสลิมจะไม่สานรูปเหมือนจริง เช่น รูปคน หรือรูปสัตว์ เนื่องจากข้อห้ามตามคตินิยมของศาสนาอิสลาม ลวดลายจึงเป็นสัญลักษณ์ และสามารถพัฒนาลวดลายได้หลายรูปแบบ มีชื่อเรียกต่างกันตามภาษาพื้นเมืองท้องถิ่น 
                         -  ลวดลายเสื่อกระจูดของชาวพุทธ มีลักษณะลวดลายสวยงาม พัฒนามาจากลายไทย เช่น ลายลูกแก้ว ลายดอกจันทร์ ลายก้านต่อดอก ลายดาวล้อมเดือน เป็นต้น ลวดลายบางประเภทมีลักษณะเหมือนกับลวดลายของชาวไทยมุสลิมแต่ชื่อเรียกต่างกัน ลักษณะลวดลายเสื่อกระจูดของชาวพุทธไม่จำกัดรูปแบบลวดลาย โดยจะสานเลียนแบบรูปเหมือนจริงเป็นรูปคน หรือสัตว์ก็ได้ เนื่องจากไม่มีข้อห้ามทางพระพุทธศาสนา 
 
 
                                                                                  A                                                                            B 
 
                         
 
(ที่มา : http://www.sookjai.com/index.php?topic=71263.0)
ภาพที่ 14 ลักษณะลายสอง (A) และลายสาม (B)
 
                    (2) กระสอบ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ (ภาพที่ 15B) มีหลายชนิด เช่น กระสอบนั่ง กระสอบหมาก สมุก เป็นต้น แต่ละชนิดมีลักษณะ รูปแบบ ขนาด และประโยชน์ใช้สอยที่แตกต่างกัน
 
                                                                                     A                                                                          B  
                        
 
                                                         (ที่มา : http://www.thaitambon.com/shop/        (ที่มา : http://www.thaitambon.com/thailand/nakhonsithammarat/
                                                        071029151033-กลุ่มกระจูดบ้านทอนอามาน)                          800704/03123142230/h9_2752_9110a.jpg)
ภาพที่ 15 ผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดประเภทดั้งเดิม ได้แก่ เสื่อกระจูด (A) และกระสอบ (B)
 
              2. ประเภทพัฒนาส่งเสริม เป็นผลิตภัณฑ์ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปให้คำแนะนำกรรมวิธีในการผลิต ช่วยส่งเสริมแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ เพื่อให้สามารถขยายตลาดให้กว้างขึ้นกว่าเดิม เช่น ผลิตเป็นเสื่อสำหรับใช้ในการเดินทางท่องเที่ยว กระเป๋าถือ หมวกต่างๆ เป็นต้น (ภาพที่ 16) รูปแบบของผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มี 3 แบบ ได้แก่
                    (1) การนำเสื่อกระจูดมาตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ เสริมด้วยกระดาษแข็ง เข้าขอบและขึ้นรูปด้วยการกุ๊นริมด้วยผ้า กุ๊นธรรมดา หรือวัสดุอย่างอื่น เช่น หนัง วัสดุสังเคราะห์
                    (2) การขึ้นรูปด้วยการสานโดยใช้โครงสร้างในตัวเอง ยึดเกาะกันด้วยแรงขัดจะทรงตัวได้ดีเฉพาะทรงกระบอก และส่วนก้นมักมีมุมคล้ายกรวยเป็นมุมสำหรับรับน้ำหนัก
                    (3) ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการออกแบบและประยุกต์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการปรับปรุงแบบตามความสร้างสรรค์ของชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมพัฒนารูปแบบ เพื่อให้สอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอยและความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน
 
                          
 
(ที่มา : http://www.thaitambon.com/tambon/930502/product)
ภาพที่ 16 ผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดประเภทพัฒนาส่งเสริม ได้แก่ กระเช้า และหมวก
                                                                                                                                                                                                                                  

สถานการณ์หัตถกรรมจักสานจากกระจูดในประเทศไทย 

              สมัยก่อนผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดเป็นเพียงอาชีพเสริมของเกษตรกรในภาคใต้ หรือพื้นที่อื่นๆ ที่มีสภาพภูมิอากาศเหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของต้นกระจูด แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดในหลายพื้นที่ได้ปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กลายเป็นสินค้า OTOP ที่มีชื่อเสียงของชุมชน (กระทรวงการคลัง คลินิกภาษี, 2556) และเปลี่ยนรูปแบบการผลิตเพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือนมาเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายมากขึ้น ทำให้สามารถช่วยเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบในท้องถิ่น และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประเทศเป็นจำนวนมาก 

              1. การผลิต 

              ปัจจุบันการผลิตผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จนพัฒนาเป็นสินค้า OTOP ที่มีชื่อเสียงของชุมชน โดยผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดที่สำคัญในประเทศไทย ได้แก่
                    (1) ผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูด จังหวัดพัทลุง เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่ม หรือป่าพรุ มีพืชน้ำหลายชนิด รวมทั้งต้นกระจูด ทำให้เกิดอาชีพเกี่ยวกับการผลิตกระจูด คือ การปลูกกระจูด และการจักสานกระจูด ที่สามารถช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดที่สำคัญในจังหวัดพัทลุง คือ
                         -  กลุ่มสตรีผลิตภัณฑ์กระจูด ตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ คือ มีความนุ่ม สวยงาม คงทน เนื่องจากผลิตจากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น ย้อมสีตามความต้องการ เน้นดอกและลวดลายของผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของตลาด ฝีมือปราณีต และมีรูปแบบทันสมัย ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ผลิต ได้แก่ เสื่อ กระเป๋า กล่อง ตะกร้า และกระบุง (ภาพที่ 17) (สำนักงานจังหวัดพัทลุง, มปป.)
 

                          

(ที่มา : https://sites.google.com/site/phumipayyacanghwadphathlung/phlitphanth-cak-phumipayya-khxng-canghwad-phathlung/phlitphanth-cak-kracud)

ภาพที่ 17 ผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดของกลุ่มสตรีผลิตภัณฑ์กระจูด ตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง
 
                        -  หัตถกรรมกระจูดวรรณี ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ คือ เป็นผลิตภัณฑ์ที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ช่วยรักษาโลกร้อน โดยผลิตตะกร้าด้วยวัตถุดิบทั้งหมดจากธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น ผลิตด้วยมือไม่ใช้เครื่องจักร ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมทั้งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสิ่งปลอมปนที่เป็นพิษ มีรูปทรง สีสัน และลวดลายสวยงาม เน้นการออกแบบที่มีแนวคิดเกี่ยวกับการตกแต่งแบบธรรมชาติอย่างมีรสนิยม ซึ่งเหมาะสำหรับการใช้งานและตกแต่งภายในบ้าน โรงแรม รีสอร์ท สปา และบูติกโฮเต็ล ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ผลิต ได้แก่ ประเภทเครื่องใช้ตกแต่งภายในบ้าน เช่น ตะกร้าผ้า โคมไฟ ถาดใส่สิ่งของต่างๆ เป็นต้น และประเภทผลิตภัณฑ์แฟชั่น เช่น เคสไอแพด กระจาด กระเป๋า กล่อง เสื่อ กระเช้า เป็นต้น (ภาพที่ 18) (หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ, 2554)
 
                           
 
(ที่มา : http://www.4loadfree.com/neonbookmedia-triplesystems/08/10.pdf)
ภาพที่ 18 ผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดของหัตถกรรมกระจูดวรรณี ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง
 
                    (2) ผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูด จังหวัดสุราษฎร์ธานี คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานกระจูดบ้านห้วยลึก ตำบลท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่า บ้านห้วยลึกเป็นแหล่งกระจูดตามธรรมชาติที่สำคัญ ส่งผลให้คนในชุนชนยึดอาชีพจักสานกระจูดสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น และรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มจักสานกระจูดบ้านห้วยลึก เพื่อรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ คือ ลวดลายสวยงาม มีรูปแบบผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด สีสันสดใส และมีความทันสมัย ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ผลิต ได้แก่ หมวก กระเป๋า ที่รองแก้ว ที่รองจาน แฟ้มเอกสาร กระเป๋าเดินทาง และเบาะรองนั่ง (ภาพที่ 19) (กลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานกระจูดบ้านห้วยลึก, มปป.) 

 

                           

(ที่มา : http://www.kajood.com)

ภาพที่ 19 ผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดของกลุ่มจักสานกระจูดบ้านห้วยลึก ตำบลท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
 

                    (3) ผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูด จังหวัดนราธิวาส คือ กลุ่มกระจูดบ้านทอน ตำบลโคกเคียนอำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส พบว่า ในพื้นที่บ้านทอนเป็นทั้งแหล่งผลิตและแหล่งวัสดุในการทำจักสานกระจูดมาช้านาน โดยในปี พ.ศ. 2516 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส เพื่อทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในท้องถิ่น และได้ทอดพระเนตรเห็นเสื่อกระจูดที่ราษฎรนำมาปูเป็นลาดพระบาทในการรับเสด็จฯ ก็ทรงสนพระทัยมาก เนื่องจากมีลวดลายสีสันสวยงามแปลกตา จึงทรงตั้งกลุ่ม   จักสานกระจูดขึ้น และโปรดให้เก็บรักษาลวดลายโบราณต่างๆ ไว้ ซึ่งมีศูนย์ศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นหน่วยงานสนับสนุนหลัก จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ คือ เส้นกระจูดละเอียดเล็ก แต่มีความคงทน เมื่อใช้ไปนานๆ จะมีความแวววาว และที่สำคัญลวดลายของผลิตภัณฑ์เป็นลายโบราณของท้องถิ่นที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ในพื้นที่อื่น เช่น ลายขัด ลายสอง และลายสาม ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ผลิต ได้แก่ เสื่อ กระเป๋า กล่อง ที่ใส่ซองจดหมาย และหมวก (ภาพที่ 20) (อนุชา, 2556) 

                                            

(ที่มา : http://www.thaitambon.com/shop/071029151033-กลุ่มกระจูดบ้านทอนอามาน)

ภาพที่ 20 ผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดของกลุ่มกระจูดบ้านทอนตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส
 

              2. การตลาด และการส่งออก

              ผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดไม่เพียงแต่เป็นที่นิยมของคนในประเทศ แต่ยังเป็นผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยที่สามารถดึงดูดความสนใจจากชาวต่างชาติ ทำให้สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ไปสู่ตลาดต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น ดังตารางที่ 1

                                       ตารางที่ 1 สถิติการส่งออกของผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูด ในปี พ.ศ. 2553-2555

ปี พ.ศ.

ประเภท

มูลค่าการส่งออก (ล้านบาท)

2553

การส่งออก

551,753.33

                          2554                         

การส่งออก

57,270.00

2555

การส่งออก

15,008.10

รวมทั้งหมด

 

624,031.43

 

                                      (ที่มา : กระทรวงการคลัง คลินิกภาษี, 2556)

 

              3. การพัฒนาหัตถกรรมจักสานจากกระจูด

              แนวโน้มการบริโภควัสดุที่ผลิตจากธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น ผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดจึงได้รับความนิยมจากผู้ใช้มากขึ้นด้วย ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพที่ดี มีประโยชน์สำหรับการใช้สอย ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ สวยงาม และทันสมัย  มากขึ้น ภายใต้เอกลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ กรมวิทยาศาสตร์บริการจึงได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรต่างๆ ได้แก่ หลักสูตร การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์จากต้นกระจูด ให้แก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดในจังหวัดพัทลุง ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ (กรมวิทยาศาสตร์บริการ ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP, 2560) (ภาพที่ 21) หลักสูตร การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์จักสานสู่มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และหลักสูตร การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทของใช้ ของประดับ และของที่ระลึก (ผลิตภัณฑ์จักสานจากต้นกระจูด) ตลอดจนให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการเพื่อแก้ปัญหาผลิตภัณฑ์ เช่น เทคโนโลยีป้องกันการเกิดเชื้อราในผลิตภัณฑ์ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ (กรมวิทยาศาสตร์บริการ, 2559) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำความรู้ไปพัฒนาคุณภาพและออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีรูปแบบที่หลากหลาย ทันสมัย เป็นที่นิยมของผู้ใช้ เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมให้เข้าสู่กระบวนการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) อีกด้วย

                          

 

                                                                                                                                

(ที่มา : กรมวิทยาศาสตร์บริการ ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP, 2560)

ภาพที่ 21 การจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์จากต้นกระจูด 
ให้แก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดในจังหวัดพัทลุง ในวันที่ 30-31 มีนาคม พ.ศ. 2560
 

              สนใจขอรับการฝึกอบรม/ถ่ายทอดเทคโนโลยี ติดต่อได้ที่ กลุ่มงานของใช้และสิ่งทอ สำนักเทคโนโลยีชุมชน กรมวิทยาศาสตร์บริการ โทร. 02-201-7305 อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

              นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการยังได้จัดทำสื่อมัลติมีเดียที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการเกิดเชื้อราในผลิตภัณฑ์จักสาน ที่ทำมาจากพืชชนิดต่างๆ เช่น กก ผักตบชวา และไม้ไผ่ ซึ่งเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ สามารถติดตามดูได้จากเว็บไซต์ http://siweb.dss.go.th และ QR Code (ภาพที่ 22)

(ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=pyAksMSHlzE)

ภาพที่ 22 สื่อมัลติมีเดียเรื่อง การป้องกันการเกิดเชื้อราในผลิตภัณฑ์จักสาน และ QR Code


บทสรุป 

              กระจูดเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งสามารถเจริญเติบโตได้ง่าย และแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว ชอบขึ้นในบริเวณน้ำขังตามริมทะเลสาบที่เป็นดินโคลน หรือบริเวณที่มีน้ำขังตลอดปี พบมากทางภาคใต้และภาคตะวันออกของประเทศไทย สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย โดยเฉพาะหัตถกรรมกระจูดในภาคใต้ ซึ่งนับเป็นผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ สมัยก่อนนิยมนำต้นกระจูดมาตากแห้งเพื่อใช้จักสานเป็นเสื่อ และผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ สำหรับใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน แต่ปัจจุบันผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ใช้มากขึ้น จึงได้รับการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์จากต้นกระจูดให้แก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดในจังหวัดพัทลุง ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ เพื่อให้ผู้ประกอบการนำความรู้ไปพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดให้มีรูปแบบที่สวยงาม ทันสมัย ตอบสนองความต้องการของตลาด และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ จนสามารถยกระดับเป็นสินค้า OTOP ที่สำคัญของชุมชนได้ 


อ้างอิง

กรมป่าไม้.  สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 11 (สุราษฎร์ธานี) ส่วนจัดการป่าชุมชน.  รายงานสรุปผลภูมิปัญญาท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ 2553
       เรื่อง หัตถกรรมจักสานกระจูด [ออนไลน์].  กรุงเทพฯ : กรม, 2555.  [อ้างถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2560].  เข้าถึงจาก:
       http://www.forest.go.th/community_development/index.php?option=com_content&view=article&id=387&Itemid=490&lang=th
กรมวิทยาศาสตร์บริการ.  โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผลิตภัณฑ์จักสานในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้. 
       ใน: รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2559 โครงการทดสอบสินค้า OTOP เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยของผู้บริโภค
       กรุงเทพฯ : กรมวิทยาศาสตร์บริการ, 2559, หน้า 99-106.
กรมส่งเสริมการเกษตร.  กระจูด [ออนไลน์].  ศูนย์วิทยบริการเพื่อส่งเสริมการเกษตร, 2560.[อ้างถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2560].  เข้าถึงจาก:
       http://esc.agritech.doae.go.th/ebooks/download-pdf/แผ่นพับกระจูด.pdf
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม.  สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรม.  จักสานกระจูด [ออนไลน์].กรุงเทพฯ : กรม, 2548.  [อ้างถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2560]. 
       เข้าถึงจาก: http://library.dip.go.th/multim1/ebook/IH%20%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%AD14%20%E0%B8%884.pdf
กระจูด [ออนไลน์].  สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้, 2560.  [อ้างถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2560]. 
       เข้าถึงจาก: http://biodiversity.forest.go.th/ index.php?option=com_dofplant&id=1712&view=showone&Itemid=59
“กระจูดวรรณี” เมืองลุง เพิ่มมูลค่าพืชท้องถิ่นแต่งแต้มลวดลายบนผืนกระจูด [ออนไลน์]. หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ, 2560.  [อ้างถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2560].  
       เข้าถึงจาก: http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9540000116551
กลุ่มจักสานกระจูดบ้านห้วยลึก สอดสานอย่างมีดีไซน์ [ออนไลน์].  กลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานกระจูดบ้านห้วยลึกจังหวัดสุราษฎร์ธานี, 2557-2560. 
       [อ้างถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2560].  เข้าถึงจาก: http://www.kajood.com/DownloadDoc/หัตถกรรมจักสานกระจูด%20Thai%20Handicraft.pdf
เปรมฤดี  ดำยศ.  การขยายพันธุ์และการอนุรักษ์พันธุกรรมกระจูด (Lepironia articulate (Retz.) Domin) ในพื้นที่ชุ่มน้ำพรุควนเคร็ง จังหวัดนครศรีธรรมราช [ออนไลน์]. 
       คลังปัญญามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2545-2550.  [อ้างถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2560].  เข้าถึงจาก: http://kb.psu.ac.th/psukb/bitstream/2010/9617/1/385124.pdf
ผลิตภัณฑ์กระจูด [ออนไลน์].  คลินิกภาษี กระทรวงการคลัง, 2559.  [อ้างถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2560].  
       เข้าถึงจาก: http://taxclinicthailand.com/pdf/5850742F_F881_2F7F_EC27_443E045FE915.pdf
ผลิตภัณฑ์จากกระจูด [ออนไลน์].  สำนักงานจังหวัดพัทลุง : ผลิตภัณฑ์ OTOP, 2556. [อ้างถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2560].   
       เข้าถึงจาก: http://www.phatthalung.go.th/otop/detail/4
เรวัต  สุขสิกาญจน์.  ผลิตภัณฑ์จักสานกระจูดในจังหวัดนครศรีธรรมราช.  วารสารศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น [ออนไลน์]. 
       Thai Journals Online (ThaiJO), 2017.  ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2554.  [อ้างถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2560].  เข้าถึงจาก: 
       http://www.tci-thaijo.org/index.php/fakku/article/viewFile/27208/23119   
เรวัต  สุขสิกาญจน์ และ เจษฎา  พัตรานนท์.  รายงานการวิจัย “การออกแบบบรรจุภัณฑ์ผ้าทอเมืองนครจากกระจูด” [ออนไลน์].  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ : เครือข่ายหน่วยวิจัย, 2560. 
       [อ้างถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2560].  เข้าถึงจาก: http://mua.wu.ac.th/mua/pdf/file-168.pdf
วศ./ก.วิทย์ ดำเนินการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์จักสานในพื้นที่จังหวัดพัทลุง [ออนไลน์].  ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP กรมวิทยาศาสตร์, 2560.  
       [อ้างถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2560].  เข้าถึงจาก: http://otop.dss.go.th/index.php/en/new/129-30-1-2017
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม.  มผช.53/2559 มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ผลิตภัณฑ์จากกระจูด  [ออนไลน์].  [อ้างถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2560]. 
       เข้าถึงจาก: http://tcps.tisi.go.th/pub/tcps0053_59(ผลิตภัณฑ์จากกระจูด).pdf
อนุชา  ลือแมะ.  รายงานผลการคัดเลือกสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม [ออนไลน์].  สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนราธิวาส, 2558.  [อ้างถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2560]. 
       เข้าถึงจาก: http://www.m-culture.go.th/narathiwat/article_attach/article_fileattach_20160427153630.pdf
Suvatti, Chote.  Lepironia articulata Domin.  In: Flora of Thailand, Bangkok, Thailand : Royal Institute, 1978, pp. 328. 
 
 
 
                                                                                     A                                                                            B