ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP
การใช้ประโยชน์จากกระจูด

              กระจูดสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ในประเทศออสเตรเลียใช้แง่งเป็นอาหาร ปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกในพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อป้องกันการกัดเซาะ ดูดซึมธาตุอาหารพืชและเป็นพืชกรองน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ในสาธารณรัฐประชาชนจีนใช้ลำต้นจักสานเสื่อและตะกร้า ส่วนในประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์จากกระจูดตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งใช้จักสานเป็นเครื่องใช้ภายในครัวเรือนเพื่อประโยชน์ในชีวิตประจำวัน มีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาเป็นเวลาหลายสิบปี โดยเฉพาะหัตถกรรมกระจูดในภาคใต้ (เปรมฤดี, 2556)        

              ผู้ประกอบการนิยมนำต้นกระจูดมาตากแห้งเพื่อใช้ทอเสื่อและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระเป๋า เครื่องใช้หลากหลายชนิด (ภาพที่ 6) เมื่อถอนต้นกระจูดไปใช้แล้วจะแตกต้นใหม่ขึ้นมาแทนที่หมุนเวียนกันไป ทำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ตลอดทั้งปี (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรม, 2548) โดยก่อนนำกระจูดไปสานเสื่อหรือผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จะต้องนำไปผึ่งแดดให้แห้งสนิท แล้วทุบให้แบนด้วยสากตำข้าวหรือบดด้วยล้อขนาดใหญ่ หากต้องการให้มีสีสันสามารถนำไปย้อมสีก่อนนำมาสาน ปัจจุบันผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดมีหลายรูปแบบ โดยทั่วไปมักนำลำต้นกระจูดมาสานเสื่อปูรองนั่ง ที่เรียกกันว่า เสื่อกระจูด หรือสาดกระจูด 

                            

                                (ที่มา : http://www1.culture.go.th/subculture3/images/stories/         (ที่มา : http://culture.yru.ac.th/index.php/การทำเสื่อกระจูด)
                                     Artist/vudthanathumjungvud/surerdthanee/kajood.pdf)
 

                            

                                             (ที่มา : https://7greens.tourismthailand.org/                                  (ที่มา : https://soclaimon.wordpress.com/
                                                       th/green_attraction/detail/289)                                             2013/09/16/ทำมาหากิน-จักสานกระจูด/)
 
ภาพที่ 6 การนำกระจูดมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จักสาน
 
              หัตถกรรมจักสานจากกระจูดนับเป็นผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญประเภทหนึ่งของภาคใต้ โดยได้รับการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ตะกร้า เสื่อ กระเช้า แจกัน กระบุง รองเท้า หมวก เป็นต้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น จนกลายเป็นสินค้า OTOP ที่สำคัญที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกด้วย