ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

 

 

 

บทนำ

              รังนก (Edible bird’s nest) เป็นผลผลิตที่ได้มาจากน้ำลายของนกแอ่นกินรัง (Edible-nest swiftlet) ปัจจุบันจัดอยู่ในสกุล Aerodramus มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Aerodramus fuciphagus เดิมใช้ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Collocalia fuciphaga รังนกได้รับความนิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะชาวจีนรับประทานมานานกว่า 1000 ปี เพราะเชื่อว่ารังนกมีสรรพคุณในการรักษาโรคและบำรุงร่างกาย ในประเทศไทยรังนกถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญและมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ พบได้ตามถ้ำในเกาะต่างๆ บริเวณริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน เป็นสินค้าส่งออกตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน ปริมาณการส่งออกอยู่ในอันดับสองรองจากประเทศอินโดนีเซีย ทำให้สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านบาทต่อปี (บังอร, 2547) แต่ปริมาณรังนกตามธรรมชาติมีไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดและมีราคาแพง ทำให้มีผู้ผลิตรังนกปลอมเลียนแบบรังนกแท้และนำมาจำหน่ายในท้องตลาดทั้งรูปแบบรังนกแห้ง และแบบสำเร็จรูปพร้อมดื่ม ซึ่งจะมีราคาถูกกว่ารังนกแท้ ทำให้ผู้บริโภคหลายรายเข้าใจผิด เนื่องจากรังนกแท้และรังนกปลอมมีลักษณะภายนอกที่คล้ายคลึงกันมาก ไม่สามารถแยกความแตกต่างได้จากการสังเกตด้วยตาเปล่า การทดสอบรังนกในห้องปฏิบัติการด้วยวิธีทางเคมีและเทคนิคอินฟราเรดสเปกโทรสโกปี (Infrared spectroscopy) ถูกนำมาใช้เพื่อตรวจสอบรังนกแท้ เนื่องจากวิธีนี้สามารถแยกความแตกต่างระหว่างรังนกแท้และรังนกปลอมได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง ผู้ประกอบการไทยยังได้รับผลกระทบจากปัญหาการส่งออกรังนกไปยังประเทศจีน เพราะตรวจพบสารปนเปื้อนไนไตรท์ในรังนกสีแดงจากประเทศมาเลเซียเกินค่ามาตรฐานที่จีนกำหนด กรมวิทยาศาสตร์บริการได้ดำเนินการลงพื้นที่ในภาคใต้ โดยนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพสินค้ารังนก เพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนารังนกของประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมและฟื้นความเชื่อมั่นในการเปิดตลาดรังนกทั้งภายในและต่างประเทศต่อไป (กรมวิทยาศาสตร์บริการ, 2556)

              ดังนั้น การเลือกซื้อรังนกและผลิตภัณฑ์รังนก ผู้บริโภคจึงควรพิจารณาให้รอบคอบจากการดูฉลาก ซึ่งระบุผู้ผลิตจำหน่ายที่ชัดเจน มีเครื่องหมายรับรองของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมีราคาที่เหมาะสม เพื่อผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์คุ้มค่าจากการรับประทานรังนกแท้


ประวัติความเป็นมาของรังนก (จรรยา, 2540)

              รังนก (Edible bird’s nest) เป็นอาหารบำรุงร่างกายชนิดหนึ่งที่ชาวจีนและกลุ่มคนที่มีฐานะดีนิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลาย เพราะเป็นของหายากและมีราคาแพง จนถูกขนานนามว่า ทองคำขาวแห่งท้องทะเล หรือ คาร์เวียแห่งตะวันออก โดยในอดีตรังนกที่ต้มกับน้ำตาลกรวดได้รับการยกย่องว่าเป็นอาหารบำรุงชั้นยอดของฮ่องเต้ ตลอดจนกลุ่มชนชั้นสูงของจีน วัฒนธรรมการรับประทานรังนกในประเทศต่างๆ ทั้งไทย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ รวมถึงประเทศอื่นๆ จึงได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมนี้มาจากชาวจีนด้วย และยังพบว่า ในราชวงศ์   หมิงตอนปลาย เมื่อแพทย์เขียนใบสั่งยามักจะมีรังนกเป็นส่วนประกอบเสมอ เนื่องจากแพทย์จีนเชื่อว่า รังนกสามารถรักษาโรคทางเดินหายใจ ช่วยบำรุงสุขภาพเด็ก สตรีและคนชรา บำรุงผิวพรรณของสตรีให้มีความนุ่มนวลอ่อนเยาว์ บำรุงปอดและเลือด และบำรุงสุขภาพของผู้ป่วยในระยะพักฟื้น รวมทั้งสตรีหลังคลอดบุตร โดยรายละเอียดความเป็นมาของรังนกมีดังนี้

              1. ความหมายของรังนก

              รังนก หมายถึง รังของนกอีแอ่นหรือนกแอ่นกินรังที่สามารถนำมาบริโภค (Edible-nest swiftlet) ได้จากสารคัดหลั่งจากต่อมน้ำลาย (Salivary glands) ของนกอีแอ่นหรือนกแอ่นกินรัง (สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ, 2557) มีลักษณะเป็นสีขาว เหนียว เกาะติดตามซอกหินหรือ หน้าผาได้ดี รังนกแห้งจึงมีคุณค่าทางอาหารสูง เนื่องจากน้ำลายนกมีเอนไซม์ ซึ่งเป็นสารในกลุ่มโปรตีนเป็นองค์ประกอบหลัก ปัจจุบันนกแอ่นกินรังจัดอยู่ในสกุล Aerodramus มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aerodramus fuciphagus เดิมใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Collocalia fuciphaga ในประเทศไทยมีนกแอ่นกินรังที่สำคัญอยู่ 3 ชนิด คือ นกแอ่นกินรัง นกแอ่นกินรังตะโพกขาว และนกแอ่นหางสี่เหลี่ยมหรือนกแอ่นรังดำ (ภาพที่ 1) โดยนกแอ่นกินรัง และนกแอ่นกินรังตะโพกขาวจะให้รังสีขาว ส่วนนกแอ่นหางสี่เหลี่ยมหรือนกแอ่นรังดำจะให้รังสีดำ เนื่องจากมักมีขนนกเป็นส่วนผสมด้วย 

                                                                  (1) นกแอ่นกินรัง                                                                (2) นกแอ่นกินรังตะโพกขาว

                           

 

(3) นกแอ่นหางสี่เหลี่ยม

(ที่มา : http://www.actsthai.com/default.asp?content=contentdetail&id=891)

ภาพที่ 1 นกแอ่นกินรังที่พบในประเทศไทย 3 ชนิด 

 

              2. นกแอ่นกินรัง (Edible-nest swiftlet)

                    (1) การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ 

                                อาณาจักร (Kingdom) : Animalia
                                ไฟลัม (Phylum) : Chordata
                                ชั้น (Class) : Aves
                                อันดับ (Order) : Apodiformes
                                วงศ์ (Family) : Apodidae
                                สกุล (Genus) : Aerodramus
                                ชนิด (Species) : Aerodramus fuciphagus
 

                                                                   (ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Edible-nest_swiftlet)
                                                     ภาพที่ 2 การแพร่กระจายของนกแอ่นกินรังในฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามันของประเทศไทย 
 

                    (2) ลักษณะของนกแอ่นกินรัง

                         นกแอ่นกินรังเป็นนกขนาดเล็ก มีขนาดลำตัวยาว 3 นิ้วครึ่ง ถึง 6 นิ้ว หนักประมาณ 15-18 กรัม ชอบทำรังอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ (ภาพที่ 3) ภายในถ้ำบนเกาะกลางทะเลที่ห่างไกลผู้คน เช่น เกาะต่างๆที่เรียงรายอยู่ในน่านน้ำทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ในพื้นที่จังหวัดพังงา กระบี่ โดยเฉพาะเกาะสี่ เกาะห้าของหมู่เกาะในทะเลสาบสงขลา (ภาพที่ 2 ) เวลาบินออกจากถ้ำในตอนเช้า เพื่อไปหากินแมลงต่างๆ จะเห็นเป็นก้อนสีดำยาวยืดออกมาเป็นเวลาหลายนาทีกว่าจะหมด ซึ่งจะบินมิได้หยุดพักตามต้นไม้หรือพื้นดินเหมือนนกอื่นๆ นานถึง 40 ชั่วโมง และมีความเร็วเฉลี่ย 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พอตกเย็นจะกลับมานอนในถ้ำและเกาะประจำที่เดิม โดยนกจะส่งเสียงร้องด้วยความถี่สูงถึง 1,500-5,500 เฮิรตซ์ เสียงสะท้อนจากผนังถ้ำกลับสู่โสตประสาทอันยอดเยี่ยมนี้จะเป็นเครื่องชี้นำทางให้มันกลับรังได้อย่างคล่องแคล่วและแม่นยำ นกชนิดนี้จึงเป็นคนละชนิดกับนกแอ่นบ้าน (Barn swallow) ที่เห็นอยู่ตามสายไฟ ซึ่งจะสร้างรังด้วยเศษหญ้าและโคลน ไม่สามารถนำมารับประทานได้ (บังอร,2547)

(ที่มา : http://www.tlcthai.com)

ภาพที่ 3 ลักษณะทั่วไปของนกแอ่นกินรัง
 
                    (3) วงจรชีวิตและการสืบพันธุ์ 
                         นกแอ่นกินรังจะใช้น้ำลายทำรังเพื่อวางไข่ ฤดูสืบพันธุ์พบได้ในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายนของทุกปี และอาจแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ขึ้นอยู่กับฤดูมรสุมที่มีอิทธิพลต่อการทำรังของนกแอ่นกินรัง โดยในฤดูผสมพันธุ์อวัยวะที่ผลิตวัสดุสร้างรังหรือต่อมน้ำลาย (Sublingual saliva glands) จะขยายขนาดใหญ่ในช่วงผสมพันธุ์ และพัฒนาจนโตในระหว่างเดือนธันวาคมถึงมิถุนายน ปกติเพศเมียจะเป็นผู้สร้างรังโดยลำพัง ยกเว้นรังที่สามที่เพศผู้และเพศเมียจะช่วยกันสร้าง นกจะสร้างรังในเวลากลางคืน น้ำลายของนกเมื่อแห้งและแข็งตัวจะมีลักษณะคล้ายกับวุ้นเส้นที่อัดตัวกันแน่น รังมีลักษณะเป็นรูปเปลหรือรูปถ้วยครึ่งซีก ตัวรังจะถูกตรึงติดกับผนังถ้ำหรือผนังภายในอาคารสิ่งก่อสร้างที่นกอาศัยอยู่ (ภาพที่ 4)

 

                          

                                            (ที่มา : http://www.pacificnorthwestbirds.com)                                   (ที่มา : http://www.manager.co.th)

ภาพที่ 4 วงจรชีวิตและการสืบพันธุ์ของนกแอ่นกินรัง

                         นกแอ่นกินรังเป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมสร้างรังทดแทน (Re-nest) คือ นกจะสร้างรังใหม่ทดแทนรังที่ถูกเก็บเกี่ยวหรือรังที่ถูกทำลายก่อนที่จะวางไข่ แต่หลังจากที่นกวางไข่แล้วแม้รังจะถูกทำลายหรือถูกเก็บเกี่ยวไปนกจะไม่สร้างรังทดแทนอีก โดยทั่วไปรังแรกจะเริ่มสร้างประมาณเดือนมกราคม ใช้เวลาสร้างประมาณ 30-40 วัน รังที่ 2 สร้างประมาณกลางเดือนมีนาคม ใช้เวลาสร้างประมาณ 20-25 วัน และรังที่ 3 สร้างประมาณกลางเดือนเมษายน ใช้เวลาสร้างประมาณ 15-17 วัน นกบางตัวเท่านั้นที่จะสร้างรังที่ 4 แม้จะเก็บเกี่ยวหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้ามีการเก็บเกี่ยวรังที่ 4 ก็สามารถสร้างรังที่ 5 และ 6 ทดแทนได้ รังแรกของนกแอ่นกินรังจะมีสีขาว แต่รังต่อไปมีสีค่อนไปทางเหลือง และรังที่ 3 จะมีสีออกแดงเรื่อๆจนกระทั่งเป็นสีแดง ซึ่งมักมีคำพูดว่า นกต้องกระอักเลือดออกมาสร้างรัง แต่การที่เห็นเป็นสีออกแดงหรือสีแดงนั้น เนื่องจากมีสีสนิมของแร่เหล็กตามผนังถ้ำเจือปน ทั้งนี้ นกแอ่นกินรังจะมีอายุประมาณ 6-7 ปี เชื่อกันว่านกที่มีอายุ 3 ปี จะสร้างรังที่ดีที่สุด ในประเทศไทยรังของนกแอ่นกินรังชนิดรังสีขาวมีปริมาณประมาณ 60-100 รังต่อ 1 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 70,000-100,000 บาท ส่วนชนิดรังสีดำจะมีปริมาณประมาณ 20-30 รังต่อ 1 กิโลกรัม มีราคาอยู่ระหว่าง 6,000-20,000 บาทต่อกิโลกรัม 


ลักษณะของรังนก (บังอร, 2557)

              รังนกนับเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญและมีคุณค่าของประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณถ้ำตามเกาะต่างๆ ของชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน เนื่องจากเป็นสินค้าส่งออกตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน สามารถช่วยสร้างรายได้มูลค่าหลายร้อยล้านบาทต่อปีให้กับประเทศ ปริมาณการส่งออกอยู่ในอันดับสองรองจากประเทศอินโดนีเซีย นกแอ่นกินรังสร้างรังจากน้ำลายที่ขับออกมาเป็นเส้นบางๆ คล้ายวุ้น สานทอเป็นรังรูปครึ่งถ้วยยึดติดกับผนังถ้ำหรือผนังบ้านหรือเพดานของอาคารเหมือนซีเมนต์ที่แห้งเร็ว ลักษณะรังเมื่อรังแห้งจะแข็ง มีรูพรุน มีเศษขนละเอียดบ้างไม่มาก เมื่อมีผู้เก็บรังแรกไป นกจะสร้างรังใหม่เพื่อให้ทันการวางไข่ การสร้างรังเร็วขึ้น ทำให้มีเศษเลือดปะปน และรังมีขนาดเล็กลง ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าครั้งแรก และถ้า  รังนกถูกเก็บไปนกจะรีบทำรังใหม่อีกครั้ง ทำให้คุณภาพของรังยิ่งต่ำลง โดยรังนกที่มีคุณภาพดีมีลักษณะเป็นรังสีขาว ขนาดใหญ่ มีน้ำหนักประมาณ 6-8 กรัม ลึก 2 นิ้ว ส่วนรังเล็กกว่ามีน้ำหนักประมาณ 3-7 กรัม (ภาพที่ 5)

                          

                                                     (ที่มา : http://www.108trips.com)                                               (ที่มา : http://www.quinl.com)

ภาพที่ 5 ลักษณะของรังนกแอ่นกินรัง


ชนิดของรังนก

              รังนกสามารถแบ่งออกเป็นหลายชนิด ตามลักษณะเหล่านี้ 

              (1) แบ่งตามสีธรรมชาติของรังนก โดยไม่ผ่านกระบวนการฟอกหรือย้อมสีใดๆ สามารถแบ่งรังนกออกเป็น 4 ชนิด คือ รังนกสีขาว รังนกสีแดง รังนกสีเหลือง และรังนกสีเหลืองทอง (สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ, 2557)
              (2) แบ่งตามลักษณะการเก็บรังนก สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
                       -  รังนกถ้ำ เป็นรังนกที่อาศัยในถ้ำ ในเขตป่าสงวน สวนสาธารณะแห่งชาติ และตามเกาะชายฝั่งทะเล รังนกชนิดนี้ได้รับความนิยมมากในประเทศไทย เนื่องจากเป็นรังนกได้จากนกที่หากินตามธรรมชาติ ซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารและมีราคาสูงกว่ารังนกบ้าน ตัวอย่างรังนกถ้ำที่พบมากในประเทศไทย ได้แก่
                                จังหวัดพัทลุง รังนกคุณภาพดีที่สุดของไทยเก็บจากเกาะสี่ เกาะห้า หรือเรียกกันว่า เกาะรังนก อยู่ในทะเลสาบสงขลา-พัทลุง เป็นเกาะที่งดงามมากแห่งหนึ่งของจังหวัดพัทลุง
                                จังหวัดชุมพร ได้รับอากรรังนกแอ่นจากส่วนท้องถิ่นต่างๆ พบมากที่เกาะเวียง เกาะง่ามใหญ่ เกาะง่ามน้อย เกาะมะพร้าว และเกาะรังกาจิ๋ว
                                จังหวัดพังงา นกแอ่นกินรังพบมากที่เกาะต่างๆในอ่าวพังงา ฤดูการเก็บรังนก คือ ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน
                       -  รังนกบ้าน เป็นรังที่นกมาสร้างไว้ตามชายคาบ้านหรืออาคารที่มนุษย์สร้างให้นกอาศัยอยู่ทำรัง และออกไข่ทั้งปี รังนกชนิดนี้มีสีขาวจัด ขนาดเล็ก และบาง ไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคจึงมีราคาถูกกว่ารังนกตามธรรมชาติ (ภาพที่ 6)
 
            
 
(ที่มา : http://www.vcharkarn.com/varticle/43171)
ภาพที่ 6 ชนิดของรังนก
 

แหล่งของรังนก

              ในประเทศไทยรังนกที่มีคุณภาพดีที่สุดอยู่ที่ภาคใต้ตามเกาะแก่งต่าง ๆ ตั้งแต่เขตชุมพรลงไปถึงจังหวัดสตูล โดยแหล่งรังนกที่สำคัญ ได้แก่

              (1) อุทยานชุมชนเกาะไข่ ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 6 บ้านบ่อเมา ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เป็นเกาะที่เงียบสงบ คงความเป็นธรรมชาติ เป็นแหล่งชมปะการังน้ำตื้นนานาชนิด มีถ้ำชมค้างคาว รังนกแอ่นกินรัง และปูไก่ อยู่ห่างจากชายฝั่งระยะทาง 4.5 กิโลเมตร
              (2) เกาะสี่ เกาะห้า เป็นหมู่เกาะหินปูนอยู่ในทะเลสาบสงขลา สภาพภูมิประเทศทั่วไปเป็นเนินเขา เนื้อที่รวมทั้งหมดประมาณ 1,400 ไร่ ปัจจุบันอยู่ในเขตการปกครองของตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ห่างจากเกาะหมากไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1.6 กิโลเมตร ตามเกาะต่างๆ มีโพรงถ้ำอยู่มากมาย ถ้ำเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยของนกแอ่นกินรัง รังนกถือว่ามีคุณภาพดีที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากหมู่เกาะนี้ตั้งอยู่กลางทะเลสาบ ทำให้รังนกขาวสะอาด และมีขนาดใหญ่ เกาะสี่ เกาะห้า จึงเป็นแหล่งที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย (ภาพที่ 7) 
 
                         
 
(ที่มา : http://www.muanglung.com)
ภาพที่ 7 เกาะสี่ เกาะห้า แหล่งรังนกที่สำคัญในประเทศไทย

 


การเก็บรังนก

              ผู้ที่จะเก็บรังนกได้ต้องได้รับสัมปทานจากกระทรวงการคลังก่อน และมีสิทธิเก็บรังนกจากเกาะนั้น ๆ ได้ปีละ 3 ครั้ง (ภาพที่ 8) ในช่วงเวลาที่เหมาะสม (ภาสกิจ, 2554) ดังนี้ 

              -  ครั้งที่ 1 อยู่ในช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ รังนกที่เก็บในช่วงเวลานี้จะเป็นรังนกที่มีคุณภาพดีที่สุด เนื่องจากสภาพร่างกายของนกมีการสะสมอาหารบำรุงในช่วงเวลาที่ยาวนานมาก่อน น้ำลายที่สำรอกออกมาจึงมีสีขาว เหนียวข้น มักไม่มีขนนกเจือปน และมีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน
              -  ครั้งที่ 2 อยู่ในช่วงประมาณกลางเดือนมีนาคม โดยหลังจากคนเก็บรังนกไปทำให้นกต้องรีบเร่งในการสร้างรังใหม่ สภาพร่างกายของนกก็ไม่สมบูรณ์เหมือนรังแรก น้ำลายที่สำรอกออกมาความเหนียวข้นจึงน้อยกว่าเดิม และยังมีขนอ่อนของนกเจือปน รังนกจึงมีลักษณะหยาบและมีส่วนประกอบของขนอ่อน
              -  ครั้งที่ 3 อยู่ในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมจนกระทั่งเดือนธันวาคม เนื่องจากต้องทอดระยะให้นกได้สร้างรัง วางไข่ และเลี้ยงดูลูกนกจนโตพร้อมที่จะบินจากไป นกจะบินกลับมาสร้างรังใหม่อีก และมักจะมาทำรังอยู่ที่เดิมไม่เคยคลาดเคลื่อน รวมถึงเริ่มทำรังพร้อมกันหมดทุกปี รังนกที่เก็บได้ในครั้งท้ายนี้ก็จะมีคุณภาพลดลงตามลำดับ (จรรยา, 2540)
 
                          
 
                                              (ที่มา : http://www.matichon.co.th/online)                                      (ที่มา : http://www.prachachat.net)
ภาพที่ 8 การเก็บรังนกสามารถเก็บได้ปีละ 3 ครั้ง

 

              ทั้งนี้ ผู้ได้รับสัมปทานจะต้องดูแลไม่ให้มีการรบกวนนก และดูแลสภาพแวดล้อมอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อจำนวนนกแอ่นกินรัง เพราะอาจส่งผลต่อปริมาณรายได้ในปีต่อๆ ไป


สรรพคุณของรังนก 

              แพทย์แผนจีนเชื่อว่ารังนกสามารถช่วยรักษาโรคต่างๆ ได้ดังนี้

              (1) ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นจากไข้ ตัวร้อน ไข้หวัด ปอดอักเสบ ความดันสูง ประสาทพิการ ธาตุพิการ โลหิตจาง เบาหวาน วิงเวียนศีรษะ โรคปวดเมื่อยบั้นเอว เป็นลมหน้ามืด อ่อนเพลีย
              (2) ทำให้ร่างกายแข็งแรง ต่อต้านเชื้อโรค เสริมภูมิคุ้มกัน บำรุงทารกในครรภ์มารดา เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคปอด บรรเทาอาการของระบบย่อยอาหาร
              (3) บำรุงร่างกายให้สดชื่น แข็งแรง แก้อาการอ่อนเพลีย แก้ไอ ขับเสมหะ ไอเป็นเลือด ฟอกปอด ยับยั้งการติดเชื้อไข้หวัดยับยั้งการเกิดโรคมะเร็ง บำรุงผิวพรรณให้อ่อนกว่าวัย ชะลอความแก่  ทำให้อายุยืน
              (4) รักษาโรคทางเดินหายใจ บำรุงปอด เพิ่มโลหิต บำรุงพลังทางเพศ มีคุณสมบัติยับยั้ง การตกตะกอนของเม็ดเลือดซึ่งลดโอกาสการอุดตันในเส้นเลือด
 
              แต่ในมุมมองของแพทย์แผนปัจจุบันมีความเห็นที่แตกต่างจากความเชื่อดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับคุณค่าของรังนก 1 ขวด ที่มีวางจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด พบว่า มีปริมาณโปรตีนน้อยมาก เมื่อเทียบกับไข่ไก่ 1 ฟอง (มีโปรตีน 6.5 กรัม) หรือนมหนึ่งกล่อง (8.5 กรัม) จะพบว่าการกินรังนก 1 ขวดจะได้ปริมาณโปรตีนเท่ากับการดื่มนม 1/64 กล่องเท่านั้น ซึ่งไม่คุ้มค่าทั้งในแง่คุณภาพและราคาต่อการบำรุงสุขภาพ เพราะรังนกมีราคาแพงมาก ในทางกลับกัน แพทย์แผนจีนมีมุมมองที่ต่างจากแพทย์แผน ปัจจุบันในการมองสรรพคุณของรังนก หรือสมุนไพร อาหารต่างๆ ไม่ได้ยึดถือเอาเฉพาะส่วนประกอบทางโภชนาการของตัวอาหารหรือสมุนไพรมาชี้ขาดคุณสมบัติและประโยชน์เท่านั้น แต่ยังอธิบายตัวฤทธิ์ร้อน เย็น รสชาติ การเข้าสู่อวัยวะอะไร และสามารถปรับสมดุลกลไกได้อย่างไร (ภาสกิจ, 2554)
 

ส่วนประกอบและคุณค่าทางโภชนาการของรังนก (บังอร, 2547)

              รังนกแห้งมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เนื่องจากเป็นผลิตผลจากน้ำลายนกที่มีเอนไซม์ซึ่งเป็นโปรตีนประเภทหนึ่งเป็นส่วนประกอบหลัก รังนกจึงเป็นอาหารในกลุ่มโปรตีนที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย โดยพบปริมาณโปรตีนสูงถึงร้อยละ 50-60 และมีแร่ธาตุหลายชนิด (จรรยา, 2540) การวิเคราะห์ส่วนประกอบและคุณค่าทางโภชนาการของรังนกสามารถสรุปได้ดังนี้

              (1) การสำรวจโภคกิจ เมื่อปี พ.ศ. 2473-2474 โดย ดร.คาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน รายงานผลการวิเคราะห์ส่วนประกอบของรังนกจากจังหวัดชุมพร พบว่า ส่วนประกอบของรังนกมีเถ้าปูนอยู่เป็นจำนวนมาก โปรตีนร้อยละ 49.8 ความชื้นร้อยละ 16.3 และไขมันร้อยละ 0.06
              (2) การวิเคราะห์รังนก ในปี พ.ศ.2479 โดยบริษัทไทยรังนก ถนนราชวงศ์ กรุงเทพมหานคร ส่งรังนกให้นักเคมีชาวเยอรมันวิเคราะห์ พบว่า ส่วนประกอบของรังนกมีโปรตีนเป็นส่วนประกอบหลักร้อยละ 53.69 และความชื้นร้อยละ 10.4
              (3) การวิเคราะห์รังนก ในปี พ.ศ.2543 โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พบว่า ส่วนประกอบของรังนกประกอบด้วย ความชื้นร้อยละ 5.11 โปรตีนร้อยละ 60.9 แคลเซียมร้อยละ 0.85 และโพแทสเซียมร้อยละ 0.03 ส่วนรังนกสำเร็จรูปพร้อมบริโภคที่มีจำหน่ายในท้องตลาดประกอบด้วย รังนกร้อยละ 1 และน้ำตาลกรวดประมาณร้อยละ 12 
              (4) การวิเคราะห์รังนก ในปี พ.ศ.2545 โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้นำรังนกถ้ำจากบริษัทรังนกแหลมทองสยาม ซึ่งเป็นรังนกจากภาคใต้มาวิเคราะห์ส่วนประกอบ แสดงผลดังตารางที่ 1
 

                                 ตารางที่ 1 การวิเคราะห์ส่วนประกอบของรังนก 

รายการ

หน่วย

*รังนก รังสีขาว

**รังนก รังสีแดง

***รังนก รังสีแดง

ความชื้น

ร้อยละ

17.8

18.2

18.1

คาร์โบไฮเดรต

ร้อยละ

22.3

22.7

21.0

(โดยการคำนวณ)

โปรตีน

ร้อยละ

52.8

56.9

56.6

ไขมัน

ร้อยละ

ไม่พบ

ไม่พบ

ไม่พบ

เถ้า

ร้อยละ

7.03

8.08

1.02

กาก

ร้อยละ

0.08

0.08

0.07

โซเดียม

มิลลิกรัม/100กรัม

1 572.1

1 282.5

1 182.9

โพแทสเซียม

มิลลิกรัม/100กรัม

11.5

28.7

60.1

แคลเซียม

มิลลิกรัม/100กรัม

814.0

1 569.4

2 115.2

ฟอสฟอรัส

มิลลิกรัม/100กรัม

9.04

8.50

13.8

เหล็ก

มิลลิกรัม/กิโลกรัม

11.7

36.8

56.3

ทองแดง

มิลลิกรัม/กิโลกรัม

3.81

4.52

5.48

สังกะสี

มิลลิกรัม/กิโลกรัม

1.60

2.58

2.71

ตะกั่ว

มิลลิกรัม/กิโลกรัม

ไม่พบ

0.04

ไม่พบ

สารหนู

มิลลิกรัม/กิโลกรัม

0.07

0.07

0.21

แมงกานีส

มิลลิกรัม/กิโลกรัม

1.47

11.6

5.51

แคดเมียม

มิลลิกรัม/กิโลกรัม

ไม่พบ

ไม่พบ

ไม่พบ

                                    (ที่มา : บังอร, 2547)

                                                             หมายเหตุ *รังนก รังสีขาว       จังหวัดชุมพร
                                                                               **รังนก รังสีแดง      จังหวัดชุมพร
                                                                                ***รังนก รังสีแดง    จังหวัดสงขลา
 
              ทั้งนี้ กองวิทยาศาสตร์ชีวภาพได้ทำการวิเคราะห์เครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูป พบโปรตีน ร้อยละ 0.53-1.45 และเป็นโปรตีนขนาดใหญ่ไม่ละลายน้ำ เมื่อทำการย่อยโปรตีนในเครื่องรังนกเช่นเดียวกับกระบวนการย่อยของร่างกาย แล้ววิเคราะห์ชนิดและปริมาณกรดอะมิโนจำเป็นในเครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูป และนำมาเปรียบเทียบกับกรดอะมิโนจำเป็นที่กำหนดการจัดรูปแบบโดยคณะกรรมการร่วม FAO/WHO ดังตารางที่ 2
 
                      ตารางที่ 2 การวิเคราะห์ชนิดและปริมาณกรดอะมิโนจำเป็นในเครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูปเปรียบเทียบกับ กรดอะมิโนจำเป็นที่กำหนดการจัดรูปแบบโดย FAO/WHO
 

กรดอะมิโนจำเป็น

FAO/WHO, 1973

เครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูป

มิลลิกรัม/กรัมโปรตีน

มิลลิกรัม/กรัมโปรตีน

Amino acid score

          ไอโซลิวซีน

40

21.78

54

          ลิวซีน

70

57.86

83

          ไลซีน

55

25.61

47

          เมโทโอนีน + ซีสตีน

35

42.52

121

          (5-containing amino acids)

 

 

 

          ฟีนิลอะลานีน + ไทโรซีน

60

137.02

228

          (Aromatic amino acids)

 

 

 

          ทรีโอนีน

40

53.33

133

          ทริพโตเฟน

10

13.55

136

          วาลีน

50

47.62

95

รวม

360

399.28

111

                                               (ที่มา : จรรยา และคณะ, 2540)

              จากตารางจะเห็นได้ว่า เครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูปมีกรดอะมิโนจำเป็นหลายชนิดที่มีปริมาณสูงกว่าค่าอ้างอิง ได้แก่  ทรีโอนีน ทริพโตเฟน เมไทโอนีน ซีสตีน ฟีนิลอะลานีน และไทโรซีน ส่วนกรดอะมิโนจำเป็นที่มีปริมาณต่ำกว่าค่าอ้างอิง ได้แก่  ไอโซลิวซีน ลิวซีน และไลซีน ส่วนวาลีนมีค่าใกล้เคียงกัน นั่นคือ รังนกให้โปรตีนไม่สมบูรณ์เท่ากับโปรตีนจากไข่ 

              นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างสารอาหารในรังนกสำเร็จรูป 2 ยี่ห้อ กับไข่ไก่และนม โดยสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ผลดังตารางที่ 3

 

                                     ตารางที่ 3 การเปรียบเทียบสารอาหารระหว่างรังนก ไข่ไก่ และนม

สารอาหาร

ยี่ห้อที่ 1

ยี่ห้อที่ 2

ไข่ไก่

นม

(70 มิลลิลิตร)

(75 มิลลิลิตร)

(1 ฟอง)

(250 มิลลิลิตร)

พลังงาน(กิโลแคลอรี)

52

52

81

155

ความชื้น(%)

57

62

37

88

โปรตีน(กรัม)

0.28

0.22

6.5

8.5

ไขมัน(กรัม)

0.01

0.02

5.8

8

คาร์โบไฮเดรต(กรัม)

11.8

12.6

0.4

12.2

เถ้า(กรัม)

0.18

0.19

 

 

วิตามิน

 

 

 

 

     บี 1 (มิลลิกรัม)

0.001

0.001

0.05

0.1

     บี 2 (มิลลิกรัม)

0.018

0.014

0.19

0.4

แร่ธาตุ

 

 

 

 

     แคลเซียม (มิลลิกรัม)

17.0

23.8

30

29.5

     ฟอสฟอรัส (มิลลิกรัม)

2.3

1.5

111

248

     เหล็ก (มิลลิกรัม)

0.06

0.05

1.6

0.25

                                          (ที่มา : ประไพศรี, 2554)
 
              จากตารางที่ 3 จะเห็นได้ว่า พลังงานที่ได้จากรังนกสำเร็จรูปที่ได้จากน้ำตาลกรวดนั้น มีปริมาณน้อยกว่า ไข่ไก่ 1 ฟอง หรือประมาณ 1 ใน 3 ของนม 1 กล่อง และถ้าต้องการได้โปรตีนจากรังนกสำเร็จรูปเท่ากับ ไข่ไก่ 1 ฟอง และนม 1 กล่อง จะต้องรับประทานรังนกมากถึง 296 ขวด และ 34 ขวด ตามลำดับ นั่นคือ ปริมาณโปรตีนในรังนกสำเร็จรูป 1 ขวด (70-75 มิลลิลิตร) เท่ากับนมคิดเป็นประมาณครึ่งช้อนโต๊ะ หรือถั่วลิสง 2 เมล็ด
(ประไพศรี, 2554)
 

คุณภาพของรังนก
              รังนกที่มีคุณภาพดีที่สุดพบอยู่ตามเกาะต่างๆ ในภาคใต้ของประเทศไทย นับเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีคุณค่าและเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศหลายร้อยล้านบาทต่อปี รังนกและผลิตภัณฑ์รังนกมีจำหน่ายในท้องตลาดหลายรูปแบบ โดยรังนกที่มีคุณภาพดี ได้มาตรฐาน และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมีลักษณะ คือ 

              1. รังนก เป็นรังนกที่ผ่านกระบวนการเตรียมขั้นต้น ได้แก่ คัดแยกรัง ทำความสะอาด ทำให้แห้ง โดยอาจมีการขึ้นรูป พร้อมจำหน่ายเพื่อการบริโภค มาตรฐานสินค้าเกษตร รังนก มาตรฐานเลขที่ มกษ. 6705-2557 (สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ, 2557) ได้กำหนดคุณภาพของรังนกไว้ ดังนี้

                  (1) เป็นรังนกแท้
                  (2) มีสีและกลิ่นตามธรรมชาติของรังนก ไม่มีสีหรือกลิ่นผิดปกติ
                  (3) สะอาด ปราศจากสิ่งแปลกปลอมที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
                  (4) มีปริมาณความชื้น ไม่เกิน 15% โดยน้ำหนัก
                  (5) วัตถุเจือปนอาหาร ห้ามใช้วัตถุเจือปนอาหารและสารปรุงแต่งกลิ่นรส
                  (6) สารพิษติดค้าง ชนิดและปริมาณสารพิษตกค้างในรังนก ให้เป็นตามข้อกำหนดในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มกษ. 9002 มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องสารพิษตกค้าง : ปริมาณสารตกค้างสูงสุด และ มกษ. 9003 มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องสารพิษตกค้าง: ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่ปนเปื้อนจากสาเหตุที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
                  (7) สารปนเปื้อน
                         (7.1) ชนิดและปริมาณสารปนเปื้อนในรังนก ให้เป็นไปตามข้อกำหนดในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
                         (7.2) ไนไตรท์ (Nitrite) ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ (คำนวณเป็นโซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite)) พบได้ ไม่เกิน 30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
                  (8) จุลินทรีย์
                         (8.1) จำนวน Escherichia coli ไม่เกิน 100 cfu/g
                         (8.2) จำนวน Bacillus cereus ไม่เกิน 1,000 cfu/g
                         (8.3) จำนวน Staphylococcus aureus ไม่เกิน 1,000 cuf/g
                         (8.4) จำนวนเชื้อรา ไม่เกิน 1,000 cfu/g
 
              2. น้ำรังนก หมายถึง เครื่องดื่มที่ได้จากการนำรังนกที่อยู่สภาพดีมาล้างให้สะอาด แช่น้ำ แยกสิ่งสกปรกออก ทำให้สุก เติมน้ำเชื่อมที่อาจมีส่วนประกอบอื่น เช่น น้ำใบเตย น้ำดอกคำฝอย น้ำเก๊กฮวย ในอัตราส่วนที่เหมาะสม นำไปให้ความร้อนที่อุณหภูมิ และระยะเวลาที่เหมาะสม บรรจุในภาชนะบรรจุขณะร้อน แล้วทำให้เย็นทันที มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำรังนก มาตรฐานเลขที่ มผช.1083/2552 (สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, 2552) ได้กำหนดคุณลักษณะที่ต้องการของรังนกไว้ ดังนี้
                 (1) ลักษณะทั่วไป ต้องเป็นของเหลวใส มีเนื้อรังนกปนอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม อาจตกตะกอนเมื่อตั้งทิ้งไว้
                 (2) สี ต้องมีสีที่ดีตามธรรมชาติของน้ำรังนก และส่วนประกอบที่ใช้
                 (3) กลิ่น ต้องมีกลิ่นที่ดีตามธรรมชาติของน้ำรังนก และส่วนประกอบที่ใช้ ปราศจากกลิ่นอื่นที่ไม่พึงประสงค์ เช่น กลิ่นบูด
                 (4) กลิ่นรส ต้องมีกลิ่นรสที่ดีตามธรรมชาติของน้ำรังนก และส่วนประกอบที่ใช้ปราศจากกลิ่นรสอื่นที่ไม่พึ่งประสงค์ เช่น กลิ่นรสเปรี้ยวบูด
                 (5) สิ่งแปลกปลอม ต้องไม่พบสิ่งแปลกปลอมที่ไม่ใช่ส่วนประกอบที่ใช้ เช่น เส้นผม ดิน ทราย กรวด ชิ้นส่วนหรือสิ่งปฏิกูลจากสัตว์
                 (6) โปรตีน ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.9 โดยน้ำหนัก
                 (7) น้ำหนักเนื้อ ( Drained weight) ต้องไม่น้อยกว่า 1 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร
                 (8) วัตถุเจือปนอาหาร
                        (8.1) ห้ามใช้สีสังเคราะห์ทุกชนิด
                        (8.2) หากมีการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลและวัตถุกันเสีย ให้ใช้ได้ตามชนิดและปริมาณที่กฎหมายกำหนด
                 (9) จุลินทรีย์
                        (9.1) จุลินทรีย์ทั้งหมด ต้องไม่เกิน 1x104 โคโลนีต่อตัวอย่าง 1 มิลลิลิตร
                        (9.2) ซาลโมเนลลา ต้องไม่พบในตัวอย่าง 25 มิลลิลิตร
                        (9.3) สตาฟิโลค็อกคัส ออเรียส ต้องไม่พบในตัวอย่าง 0.1 มิลลิลิตร
                        (9.4) บาซิลลัส ซีเรียส ต้องไม่เกิน 100 โคโลนีต่อตัวอย่าง 1 มิลลิลิตร
                        (9.5) คลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ ต้องไม่เกิน 1,000 โคโลนีต่อตัวอย่าง 1 มิลลิลิตร
                        (9.6) โคลิฟอร์ม โดยวิธีเอ็มพีเอ็น ต้องไม่น้อยกว่า 2.2 ต่อตัวอย่าง 100 มิลลิลิตร
                        (9.7) เอสเชอริเชีย โคไล ต้องไม่พบในตัวอย่าง 100 มิลลิลิตร
                        (9.8) ยีสต์และรา ต้องไม่พบในตัวอย่าง 1 มิลลิตร
 
              นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการเก็บรังนกและผลิตภัณฑ์รังนกอื่นๆ ได้แก่
               (1) พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 นกอีแอ่น หรือนกแอ่นกินรัง ถือเป็นสัตว์คุ้มครองในกลุ่มของสัตว์ปีก ถูกจัดไว้ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ลำดับที่ 97
               (2) พระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2540 มีผลบังคับใช้เมื่อ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2540 โดยปรับปรุงให้ราชการส่วนท้องถิ่นเข้ามาดูแลและจัดการการเก็บรังนกอีแอ่นอันเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น และให้เงินอากรรังนกอีแอ่นตกเป็นรายได้ของท้องถิ่นที่มีรังนกอยู่ และปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการที่จะให้เอกชนดำเนินการเก็บรังนกอีแอ่นอย่างเหมาะสม
               (3) เครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูป ต้องขึ้นทะเบียนอาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 356 พ.ศ. 2556 เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ซึ่งจัดเป็นอาหารที่กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข, 2556) อยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ตามคู่มือประชาชนสำหรับการติดต่อของอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ อาหาร ยา เครื่องสำอาง วัตถุอันตราย ต้องส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และต้องขออนุญาตใช้ฉลากอาหารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
 

รังนกปลอม
              รังนกเป็นผลิตภัณฑ์ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น แต่ปริมาณรังนกตามธรรมชาติมีไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดและมีราคาแพง รังนกแห้งมีราคาหลายหมื่นบาทถึง 1 แสนบาทต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับคุณภาพ ทำให้มีผู้ผลิตรังนกปลอมเลียนแบบรังนกแท้และนำมาจำหน่ายในท้องตลาด ทั้งรูปแบบที่เป็นรังนกแห้ง และแบบสำเร็จรูปพร้อมดื่ม ซึ่งรังนกปลอมมีราคาถูกกว่ารังนกแท้มาก ประมาณกิโลกรัมละ 2,000-4,000 บาท  
              1. รังนกปลอมคืออะไร (บังอร, 2547)
              รังนกปลอมส่วนใหญ่ผลิตมาจากยางคารายา (Gum karaya) เป็นยางจากไม้ยืนต้นชื่อ Sterculia urens มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ยางคารายามีสีขาว สีเหลืองอมชมพู จนถึงสีน้ำตาลเข้ม (ภาพที่ 9) มีกลิ่นคล้ายน้ำส้มสายชู รูปร่างไม่แน่นอน ไม่ละลายน้ำ แต่ดูดซับน้ำและพองตัวคล้ายรังนก เมื่อนำมาต้มจะคล้ายรังนก แต่มีสีขาวกว่า และมีความกระด้างไม่อ่อนตัวเท่ารังนกแท้ 
 
                          
 
(ที่มา : http://th.openrice.com)
ภาพที่ 9 ยางคารายา 
 
              ยางคารายาเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น การทำฟัน ยา อาหาร สิ่งทอ กระดาษ ยางชนิดนี้ใช้ในอาหารได้อย่างปลอดภัย เมื่อย่อยแล้วจะได้กรดกาแลคทูโรนิค (Galacturonic acid) น้ำตาลกาแลคโทส (Galactose) น้ำตาลแรมโนส (Rhamnose) รังนกปลอมจากยางคารายาแม้ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแต่ก็ไม่เกิดประโยชน์ เมื่อนำมาผลิตเป็นเครื่องดื่มจะมีราคาถูกกว่าเครื่องดื่มจากรังนกแท้มาก (สุวรรณี และอุมา, 2553) (ภาพที่ 10)
 
 
(ที่มา : http://www.manager.co.th)
ภาพที่ 10 รังนกปลอมจากยางคารายา
 
              2. ความแตกต่างระหว่างรังนกแท้และรังปลอม
              รังนกแท้และรังนกปลอมมีลักษณะภายนอกที่คล้ายคลึงกันมาก ไม่สามารถแยกความแตกต่างได้จากการสังเกตด้วยตาเปล่า (ภาพที่ 11) ทำให้ผู้บริโภคหลายคนเข้าใจผิดได้ ซึ่งรังนกปลอมที่ผลิตจากยางคารายามีลักษณะเหนียวหนืดคล้ายวุ้น เมื่อนำไปต้มจะมีลักษณะคล้ายรังนกแท้มาก แต่จะไม่มีกลิ่นคาวตามธรรมชาติเหมือนรังนกแท้ ยางคารายาจะให้สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ชนิดที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมได้ ซึ่งแตกต่างจากรังนกแท้อย่างสิ้นเชิง เพราะในรังนกแท้จะให้สารอาหารประเภทโปรตีนสูงถึง 50-60 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือคาร์โบไฮเดรต ทำให้รังนกแท้กลายเป็นอาหารชั้นสูงเทียบเท่ากับโสม ปลิงทะเล และหูฉลาม  
 
 
(ที่มา : http://www.thaieditorial.com)
ภาพที่ 11 รังนกแท้และรังนกปลอมมีลักษณะภายนอกมากคล้ายคลึงกัน
 
              นอกจากนี้ ประเทศไทยยังประสบปัญหาการส่งออกรังนกไปยังประเทศจีน เนื่องจากตรวจพบสารปนเปื้อนไนไตรท์ในรังนกสีแดงจากประเทศมาเลเซียเกินค่ามาตรฐานที่จีนกำหนด จึงห้ามการนำเข้ารังนกจากประเทศคู่ค้าทั้งหมด จึงต้องมีการเพิ่มการควบคุมคุณภาพรังนกให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและได้มาตรฐานเพื่อการส่งออกต่อไป 
 

การตรวจสอบคุณภาพของรังนก 
              การผลิตรังนกปลอมเลียนแบบรังนกแท้จำหน่ายในท้องตลาด ทำให้ผู้บริโภคหลายรายหลงเชื่อว่าเป็นรังนกแท้จากธรรมชาติ เนื่องจากมีลักษณะภายนอกที่คล้ายคลึงกันมากจนไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างรังนกแท้และรังนกปลอมจากการสังเกตด้วยตาเปล่า จึงจำเป็นต้องอาศัยการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการด้วยวิธีการที่เหมาะสม ถูกต้อง และเป็นที่น่าเชื่อถือ เพื่อช่วยควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐาน และเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค การตรวจสอบคุณภาพรังนก มีรายละเอียดดังนี้
              1. การตรวจสอบรังนกแท้
              กรมวิทยาศาสตร์บริการให้บริการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบต่างๆ มากมาย รวมทั้งรังนกและผลิตภัณฑ์จากรังนกด้วยเทคนิคและเครื่องมือที่ทันสมัย โดยการทดสอบรังนกในห้องปฏิบัติการใช้วิธีทางเคมีและเทคนิคอินฟราเรดสเปกโทรสโกปี (Infrared spectroscopy) เพื่อพิสูจน์ความเป็นรังนกแท้ สามารถบอกได้ว่ารังนกแท้ทำมาจากรังนกแอ่นกินรัง  เนื่องจากมีส่วนประกอบหลักเป็นโปรตีน และมีคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนประกอบรอง (ภาพที่ 12) 
 
                          
 
(ที่มา : http://www.manager.co.th)
ภาพที่ 12 การตรวจสอบรังนกแท้ในห้องปฏิบัติการ
 
              รังนกแอ่นกินทุกชนิดจะมีลักษณะพิเศษคือ มีรูปแบบของลายพิมพ์อินฟราเรดสเปกตรัม (Infrared spectrum) และส่วนประกอบของกรดอะมิโน (Amino acids profile) ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างจากวัตถุชนิดอื่นอย่างชัดเจน (บังอร, 2547) ทำให้สามารถแยกความแตกต่างของรังนกแท้และรังนกปลอมได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ภาพที่ 13)
 
(ที่มา : บังอร, 2547)
ภาพที่ 13 แสดงอินฟราเรดสเปกตรัมของรังนกแท้
 
              นอกจากนี้ การตรวจสอบคุณภาพเครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูป ใช้หลักเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 356 พ.ศ. 2556 เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท เพื่อตรวจสอบคุณภาพของเครื่องดื่มรังนกให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด หากผู้ประกอบการจะผลิตเครื่องดื่มรังนกเพื่อจำหน่ายจะต้องขออนุญาตก่อนให้ถูกต้อง โดยอาหารสูตรที่มีการใส่รังนกต้องมีผลวิเคราะห์ปริมาณโปรตีน ชนิดและปริมาณกรดอะมิโน และผลวิเคราะห์ที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีรังนกเป็นส่วนประกอบอยู่จริง หากฝ่าฝืนโดยไม่ขออนุญาตก่อนจะถูกดำเนินการตามกฎหมายรวมทั้ง หากตรวจพบว่า มีคุณภาพที่เข้าข่ายลักษณะอาหารปลอม จะต้องถูกระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,00 บาท ถึง 100,000 บาท (กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค, 2553)
              2. การควบคุมการปนเปื้อนสารไนไตรท์ (กรมวิทยาศาสตร์บริการ, 2556)
              ผู้ประกอบการรังนกในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากกรณีปัญหาที่ประเทศจีนห้ามนำเข้ารังนกเนื่องจากตรวจพบสารปนเปื้อนไนไตรท์ในรังนกสีแดงจากประเทศมาเลเซียเกินค่ามาตรฐานที่จีนกำหนด (ภาพที่ 14) จึงประกาศห้ามนำเข้ารังนกจากประเทศคู่ค้าทั้งหมด เป็นการชั่วคราว ได้แก่ ประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย โดยประเทศจีนได้กำหนดมาตรฐานชั่วคราวของปริมาณไนไตรท์ที่พบในรังนกไม่เกิน 30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และประเทศมาเลเซียกำหนดให้รังนกที่ไม่ผ่านการทำความสะอาดมีปริมาณ  ไนไตรท์ไม่เกิน 70 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และกำหนดให้รังนกที่ผ่านการทำความสะอาดมีปริมาณไนไตรท์ไม่เกิน 30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สำหรับประเทศไทยยังไม่มีเกณฑ์กำหนดนั้น ในเบื้องต้น การบริโภครังนกสีแดงที่ปนเปื้อนสารไนไตรท์จะทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจน ส่งผลให้ริมฝีปากและผิวหนังเป็นสีฟ้าหรือสีม่วง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง อุจจาระเป็นสีเลือด ปวดศีรษะ และไตวายในที่สุด ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ไม่ให้เด็กทารกตั้งแต่แรกเกิดถึง 3 เดือน บริโภครังนก ส่งผลให้ราคารังนกสีแดงลดลงจากเดิมกิโลกรัมละ 60,000-90,000 บาท เหลือเพียงกิโลกรัมละ 10,000-20,000 บาท 
 
 
(ที่มา : http://www.sptn.dss.go.th)
ภาพที่ 14 การปนเปื้อนสารไนไตรท์ในรังนกสีแดง
 
              กรมวิทยาศาสตร์บริการได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยลงพื้นที่ในภาคใต้เพื่อนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพสินค้ารังนก จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การส่งเสริมคุณภาพสินค้าเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในการรับรองการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในจังหวัดภาคใต้ โดยมีผู้ประกอบการรังนกบ้าน ตั้งแต่ ผู้สร้างบ้านสำหรับนก ผู้ทำธุรกิจทำความสะอาดรังนก ผู้ส่งออกรังนก ผู้ผลิตเครื่องดื่มรังนก จากจังหวัดจันทบุรี ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง กระบี่ สตูล พังงา ตรัง นราธิวาส และปัตตานี เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนารังนกของประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมและฟื้นความเชื่อมั่นในการเปิดตลาดรังนกทั้งภายในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังสุ่มเก็บตัวอย่างรังนกและผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มรังนกในพื้นที่มาตรวจสอบปริมาณไนไตรท์ จำนวน 27 ตัวอย่าง พบว่า รังนกและผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มรังนกส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ยกเว้นรังนกสีแดงที่ไม่ได้ผ่านการทำ  ความสะอาด มีปริมาณไนไตรท์เกินเกณฑ์ 42.3-1,574 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เกินค่ามาตรฐานของประเทศจีนที่กำหนด 
 

ผลิตภัณฑ์จากรังนก 
              ปัจจุบันผู้บริโภคนิยมรับประทานรังนกกันมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการนำรังนกมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปออกมาจำหน่ายในท้องตลาดหลายรูปแบบ เพื่อให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค โดยตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากรังนกเหล่านี้ ได้แก่ รังนกแห้ง รังนกแห้งกึ่งสำเร็จรูป รังนกสดพร้อมปรุง เครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูป รังนกแคปซูล และเครื่องสำอางจากรังนก (ภาพที่ 15)
 
                                                                      รังนกแห้ง                                                                             รังนกสดพร้อมปรุง
 
                           
 
                                                 (ที่มา :  http://www.birdnestthai.net)                                        (ที่มา :  http://www.stampbirdnest.com)
 
                                                                เครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูป                                                                   ผลิตภัณฑ์รังนกแคปซูล
                                                   
                                                              (ที่มา :  http://www.tops.co.th)                                                   (ที่มา :  http://www.paochin.com)
 
ภาพที่ 15 ผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ จากรังนก
 
              นอกจากนี้ การเลือกซื้อรังนกและผลิตภัณฑ์จากรังนกเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพ ผู้บริโภคควรคำนึงและพิจารณาความเหมาะสม ดังนี้ 
                    (1) เลือกซื้อรังนกหรือผลิตภัณฑ์รังนกจากกลุ่มผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะผ่านการรับรองในการตรวจสอบรังนกแท้ 
                    (2) สังเกตฉลากว่า มีการระบุผู้ผลิตจำหน่าย เครื่องหมายรับรองของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  
                    (3) มีราคาที่เหมาะสม ไม่ควรเลือกซื้อรังนกที่มีราคาถูกเกินไป เพราะผลิตภัณฑ์รังนกแท้มักมีราคาสูง
 

บทสรุป
              รังนกเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เนื่องจากมีโปรตีนเป็นส่วนประกอบหลัก ผู้บริโภคนิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลาย เพราะเชื่อว่ามีสรรพคุณในการรักษาโรคและบำรุงร่างกาย รวมถึงเป็นสินค้าส่งออกที่ช่วยสร้างรายได้มูลค่าสูงให้กับประเทศไทย แต่เมื่อความนิยมรับประทานรังนกเพิ่มมากขึ้น รังนกแท้ตามธรรมชาติมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดและมีราคาแพง ทำให้มีผู้ผลิตรังนกปลอมเลียนแบบรังนกแท้และนำมาจำหน่ายในท้องตลาด ผู้บริโภคหลายรายอาจหลงเชื่อ เนื่องจากรังนกแท้และรังนกปลอมมีลักษณะภายนอกที่คล้ายคลึงกันมากจนไม่สามารถแยกความแตกต่างได้จากการสังเกต การทดสอบรังนกในห้องปฏิบัติการด้วยวิธีทางเคมีและเทคนิคอินฟราเรดสเปกโทรสโกปี (Infrared spectroscopy) ถูกนำใช้เพื่อตรวจสอบรังนกแท้ และจากกรณีประเทศจีนสั่งห้ามนำเข้ารังนกจากประเทศคู่ค้า เนื่องจากตรวจพบสารปนเปื้อนไนไตรท์ในรังนกสีแดงจากประเทศมาเลเซียเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกรังนกของไทยตกต่ำ กรมวิทยาศาสตร์บริการได้ดำเนินการลงพื้นที่ในภาคใต้ โดยนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาช่วยปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพรังนก เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ ปลอดภัย และได้มาตรฐานการส่งออกมากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในรังนกไทยให้กับตลาดต่างประเทศอีกด้วย ดังนั้น ในการเลือกซื้อรังนกผู้บริโภคควรพิจารณาฉลากให้ละเอียดและรอบคอบ เพื่อประโยชน์อันคุ้มค่าจากการบริโภครังนกแท้
 

อ้างอิง
กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. จุรินทร์ สั่งจัดการเครื่องดื่มรังนกปลอม. [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558] 
       เข้าถึงจาก : http://www.fda.moph.go.th/www_fda/data_center/ifm_mod/nw/%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%81_1_.pdf
จรรยา  วัฒนทวีกุล  และคณะ. เครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูป. วารสารกรมวิทยาศาสตร์บริการ, พฤษภาคม, 2540, ปีที่ 46, ฉบับที่ 144, หน้า 25-28. 
       (แฟ้มประมวลสารสนเทศเฉพาะเรื่อง (CF 57), A2) 
บังอร  บุญชู. การตรวจพิสูจน์รังนกแท้. เอกสารผลงานที่เสนอให้ประเมินเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ 8 ว. โครงการวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กรมวิทยาศาสตร์บริการ, 2547,
       หน้า 1-11.  (วศ วช อว 4)
บังอร  บุญชู. รังนกอีแอ่น และการตรวจสอบ. วารสารกรมวิทยาศาสตร์บริการ, กันยายน, 2547, ปีที่ 52, ฉบับที่ 166, หน้า 1-4.  (แฟ้มประมวลสารสนเทศเฉพาะเรื่อง (CF 57), A7) 
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 356) พ.ศ. 2556. เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท.  [ออนไลน์] [อ้างถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558] 
       เข้าถึงจาก : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2556/E/087/93.PDF 
ประไพศรี  ศิริจักรวาล. รังนก. หมอชาวบ้าน, กันยายน, 2554, ปีที่ 33, ฉบับที่ 389, หน้า 16-18.  (แฟ้มประมวลสารสนเทศเฉพาะเรื่อง (CF 57), A8)
ภาสกิจ  วัณนาวิบูล. รังนก ทรรศนะแพทย์แผนจีน. หมอชาวบ้าน, กันยายน, 2554, ปีที่ 33, ฉบับที่ 389, หน้า 10-13. (แฟ้มประมวลสารสนเทศเฉพาะเรื่อง (CF 57), A12) 
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม. มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำรังนก มผช.1083/2552.  [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 23 ตุลาคม 2558] 
       เข้าถึงจาก : http://tcps.tisi.go.th/pub/tcps1083_52.pdf
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ. มาตรฐานสินค้าเกษตร รังนก Bird’s nest มกษ.6705-2557.  [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 23 ตุลาคม 2558] 
       เข้าถึงจาก :  http://www.acfs.go.th/standard/download/BIRDS_NEST.pdf
สุวรรณี  ธีรภาพธรรมกุล และ อุมา  บริบูรณ์. รังนกแท้ : รังนกปลอม. จดหมายข่าวกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์,พฤษภาคม, 2553, ปีที่ 24, ฉบับที่ 5, หน้า 8.
       (แฟ้มประมวลสารสนเทศเฉพาะเรื่อง (CF 57), A14) 
หนังสือพิมพ์ข่าวสด. เตือนภัย “รังนกสีแดง” ปนสารไนไตรต์ เร่งลงพื้นที่เผยแพร่ข้อมูล-พลิกวิกฤตจีนยกเลิกนำเข้า.  [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2558] 
       เข้าถึงจาก :http://www.sptn.dss.go.th/project/index.php?option=com_content&view=article&id=145%3A2013-07-19-16-24-00&catid=89%3Anew&Itemid=123&lang=th
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ. เร่งพิสูจน์ “สารไนไตรท์” ในรังนกสร้างความเชื่อมั่นแก้ปัญหาจีน-มาเลเซีย ห้ามนำเข้า.  [ออนไลน์]  [อ้างถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2558] 
       เข้าถึงจาก :http://www.sptn.dss.go.th/project/index.php?option=com_content&view=article&id=143%3A-qq---&catid=89%3Anew&Itemid=123&lang=th