ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

ประวัติความเป็นมาของรังนก (จรรยา, 2540)

              รังนก (Edible bird’s nest) เป็นอาหารบำรุงร่างกายชนิดหนึ่งที่ชาวจีนและกลุ่มคนที่มีฐานะดีนิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลาย เพราะเป็นของหายากและมีราคาแพง จนถูกขนานนามว่า ทองคำขาวแห่งท้องทะเล หรือ คาร์เวียแห่งตะวันออก โดยในอดีตรังนกที่ต้มกับน้ำตาลกรวดได้รับการยกย่องว่าเป็นอาหารบำรุงชั้นยอดของฮ่องเต้ ตลอดจนกลุ่มชนชั้นสูงของจีน วัฒนธรรมการรับประทานรังนกในประเทศต่างๆ ทั้งไทย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ รวมถึงประเทศอื่นๆ จึงได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมนี้มาจากชาวจีนด้วย และยังพบว่า ในราชวงศ์   หมิงตอนปลาย เมื่อแพทย์เขียนใบสั่งยามักจะมีรังนกเป็นส่วนประกอบเสมอ เนื่องจากแพทย์จีนเชื่อว่า รังนกสามารถรักษาโรคทางเดินหายใจ ช่วยบำรุงสุขภาพเด็ก สตรีและคนชรา บำรุงผิวพรรณของสตรีให้มีความนุ่มนวลอ่อนเยาว์ บำรุงปอดและเลือด และบำรุงสุขภาพของผู้ป่วยในระยะพักฟื้น รวมทั้งสตรีหลังคลอดบุตร โดยรายละเอียดความเป็นมาของรังนกมีดังนี้

              1. ความหมายของรังนก

              รังนก หมายถึง รังของนกอีแอ่นหรือนกแอ่นกินรังที่สามารถนำมาบริโภค (Edible-nest swiftlet) ได้จากสารคัดหลั่งจากต่อมน้ำลาย (Salivary glands) ของนกอีแอ่นหรือนกแอ่นกินรัง (สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ, 2557) มีลักษณะเป็นสีขาว เหนียว เกาะติดตามซอกหินหรือ หน้าผาได้ดี รังนกแห้งจึงมีคุณค่าทางอาหารสูง เนื่องจากน้ำลายนกมีเอนไซม์ ซึ่งเป็นสารในกลุ่มโปรตีนเป็นองค์ประกอบหลัก ปัจจุบันนกแอ่นกินรังจัดอยู่ในสกุล Aerodramus มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aerodramus fuciphagus เดิมใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Collocalia fuciphaga ในประเทศไทยมีนกแอ่นกินรังที่สำคัญอยู่ 3 ชนิด คือ นกแอ่นกินรัง นกแอ่นกินรังตะโพกขาว และนกแอ่นหางสี่เหลี่ยมหรือนกแอ่นรังดำ (ภาพที่ 1) โดยนกแอ่นกินรัง และนกแอ่นกินรังตะโพกขาวจะให้รังสีขาว ส่วนนกแอ่นหางสี่เหลี่ยมหรือนกแอ่นรังดำจะให้รังสีดำ เนื่องจากมักมีขนนกเป็นส่วนผสมด้วย 

                                                                  (1) นกแอ่นกินรัง                                                                (2) นกแอ่นกินรังตะโพกขาว

                           

 

(3) นกแอ่นหางสี่เหลี่ยม

(ที่มา : http://www.actsthai.com/default.asp?content=contentdetail&id=891)

ภาพที่ 1 นกแอ่นกินรังที่พบในประเทศไทย 3 ชนิด 

 

              2. นกแอ่นกินรัง (Edible-nest swiftlet)

                    (1) การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ 

                                อาณาจักร (Kingdom) : Animalia
                                ไฟลัม (Phylum) : Chordata
                                ชั้น (Class) : Aves
                                อันดับ (Order) : Apodiformes
                                วงศ์ (Family) : Apodidae
                                สกุล (Genus) : Aerodramus
                                ชนิด (Species) : Aerodramus fuciphagus
 

                                                                   (ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Edible-nest_swiftlet)
                                                     ภาพที่ 2 การแพร่กระจายของนกแอ่นกินรังในฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามันของประเทศไทย 
 

                    (2) ลักษณะของนกแอ่นกินรัง

                         นกแอ่นกินรังเป็นนกขนาดเล็ก มีขนาดลำตัวยาว 3 นิ้วครึ่ง ถึง 6 นิ้ว หนักประมาณ 15-18 กรัม ชอบทำรังอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ (ภาพที่ 3) ภายในถ้ำบนเกาะกลางทะเลที่ห่างไกลผู้คน เช่น เกาะต่างๆที่เรียงรายอยู่ในน่านน้ำทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ในพื้นที่จังหวัดพังงา กระบี่ โดยเฉพาะเกาะสี่ เกาะห้าของหมู่เกาะในทะเลสาบสงขลา (ภาพที่ 2 ) เวลาบินออกจากถ้ำในตอนเช้า เพื่อไปหากินแมลงต่างๆ จะเห็นเป็นก้อนสีดำยาวยืดออกมาเป็นเวลาหลายนาทีกว่าจะหมด ซึ่งจะบินมิได้หยุดพักตามต้นไม้หรือพื้นดินเหมือนนกอื่นๆ นานถึง 40 ชั่วโมง และมีความเร็วเฉลี่ย 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พอตกเย็นจะกลับมานอนในถ้ำและเกาะประจำที่เดิม โดยนกจะส่งเสียงร้องด้วยความถี่สูงถึง 1,500-5,500 เฮิรตซ์ เสียงสะท้อนจากผนังถ้ำกลับสู่โสตประสาทอันยอดเยี่ยมนี้จะเป็นเครื่องชี้นำทางให้มันกลับรังได้อย่างคล่องแคล่วและแม่นยำ นกชนิดนี้จึงเป็นคนละชนิดกับนกแอ่นบ้าน (Barn swallow) ที่เห็นอยู่ตามสายไฟ ซึ่งจะสร้างรังด้วยเศษหญ้าและโคลน ไม่สามารถนำมารับประทานได้ (บังอร,2547)

(ที่มา : http://www.tlcthai.com)

ภาพที่ 3 ลักษณะทั่วไปของนกแอ่นกินรัง
 
                    (3) วงจรชีวิตและการสืบพันธุ์ 
                         นกแอ่นกินรังจะใช้น้ำลายทำรังเพื่อวางไข่ ฤดูสืบพันธุ์พบได้ในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายนของทุกปี และอาจแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ขึ้นอยู่กับฤดูมรสุมที่มีอิทธิพลต่อการทำรังของนกแอ่นกินรัง โดยในฤดูผสมพันธุ์อวัยวะที่ผลิตวัสดุสร้างรังหรือต่อมน้ำลาย (Sublingual saliva glands) จะขยายขนาดใหญ่ในช่วงผสมพันธุ์ และพัฒนาจนโตในระหว่างเดือนธันวาคมถึงมิถุนายน ปกติเพศเมียจะเป็นผู้สร้างรังโดยลำพัง ยกเว้นรังที่สามที่เพศผู้และเพศเมียจะช่วยกันสร้าง นกจะสร้างรังในเวลากลางคืน น้ำลายของนกเมื่อแห้งและแข็งตัวจะมีลักษณะคล้ายกับวุ้นเส้นที่อัดตัวกันแน่น รังมีลักษณะเป็นรูปเปลหรือรูปถ้วยครึ่งซีก ตัวรังจะถูกตรึงติดกับผนังถ้ำหรือผนังภายในอาคารสิ่งก่อสร้างที่นกอาศัยอยู่ (ภาพที่ 4)

 

                          

                                            (ที่มา : http://www.pacificnorthwestbirds.com)                                   (ที่มา : http://www.manager.co.th)

ภาพที่ 4 วงจรชีวิตและการสืบพันธุ์ของนกแอ่นกินรัง

                         นกแอ่นกินรังเป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมสร้างรังทดแทน (Re-nest) คือ นกจะสร้างรังใหม่ทดแทนรังที่ถูกเก็บเกี่ยวหรือรังที่ถูกทำลายก่อนที่จะวางไข่ แต่หลังจากที่นกวางไข่แล้วแม้รังจะถูกทำลายหรือถูกเก็บเกี่ยวไปนกจะไม่สร้างรังทดแทนอีก โดยทั่วไปรังแรกจะเริ่มสร้างประมาณเดือนมกราคม ใช้เวลาสร้างประมาณ 30-40 วัน รังที่ 2 สร้างประมาณกลางเดือนมีนาคม ใช้เวลาสร้างประมาณ 20-25 วัน และรังที่ 3 สร้างประมาณกลางเดือนเมษายน ใช้เวลาสร้างประมาณ 15-17 วัน นกบางตัวเท่านั้นที่จะสร้างรังที่ 4 แม้จะเก็บเกี่ยวหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้ามีการเก็บเกี่ยวรังที่ 4 ก็สามารถสร้างรังที่ 5 และ 6 ทดแทนได้ รังแรกของนกแอ่นกินรังจะมีสีขาว แต่รังต่อไปมีสีค่อนไปทางเหลือง และรังที่ 3 จะมีสีออกแดงเรื่อๆจนกระทั่งเป็นสีแดง ซึ่งมักมีคำพูดว่า นกต้องกระอักเลือดออกมาสร้างรัง แต่การที่เห็นเป็นสีออกแดงหรือสีแดงนั้น เนื่องจากมีสีสนิมของแร่เหล็กตามผนังถ้ำเจือปน ทั้งนี้ นกแอ่นกินรังจะมีอายุประมาณ 6-7 ปี เชื่อกันว่านกที่มีอายุ 3 ปี จะสร้างรังที่ดีที่สุด ในประเทศไทยรังของนกแอ่นกินรังชนิดรังสีขาวมีปริมาณประมาณ 60-100 รังต่อ 1 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 70,000-100,000 บาท ส่วนชนิดรังสีดำจะมีปริมาณประมาณ 20-30 รังต่อ 1 กิโลกรัม มีราคาอยู่ระหว่าง 6,000-20,000 บาทต่อกิโลกรัม