ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP
รังนกปลอม
              รังนกเป็นผลิตภัณฑ์ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น แต่ปริมาณรังนกตามธรรมชาติมีไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดและมีราคาแพง รังนกแห้งมีราคาหลายหมื่นบาทถึง 1 แสนบาทต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับคุณภาพ ทำให้มีผู้ผลิตรังนกปลอมเลียนแบบรังนกแท้และนำมาจำหน่ายในท้องตลาด ทั้งรูปแบบที่เป็นรังนกแห้ง และแบบสำเร็จรูปพร้อมดื่ม ซึ่งรังนกปลอมมีราคาถูกกว่ารังนกแท้มาก ประมาณกิโลกรัมละ 2,000-4,000 บาท  
              1. รังนกปลอมคืออะไร (บังอร, 2547)
              รังนกปลอมส่วนใหญ่ผลิตมาจากยางคารายา (Gum karaya) เป็นยางจากไม้ยืนต้นชื่อ Sterculia urens มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ยางคารายามีสีขาว สีเหลืองอมชมพู จนถึงสีน้ำตาลเข้ม (ภาพที่ 9) มีกลิ่นคล้ายน้ำส้มสายชู รูปร่างไม่แน่นอน ไม่ละลายน้ำ แต่ดูดซับน้ำและพองตัวคล้ายรังนก เมื่อนำมาต้มจะคล้ายรังนก แต่มีสีขาวกว่า และมีความกระด้างไม่อ่อนตัวเท่ารังนกแท้ 
 
                          
 
(ที่มา : http://th.openrice.com)
ภาพที่ 9 ยางคารายา 
 
              ยางคารายาเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น การทำฟัน ยา อาหาร สิ่งทอ กระดาษ ยางชนิดนี้ใช้ในอาหารได้อย่างปลอดภัย เมื่อย่อยแล้วจะได้กรดกาแลคทูโรนิค (Galacturonic acid) น้ำตาลกาแลคโทส (Galactose) น้ำตาลแรมโนส (Rhamnose) รังนกปลอมจากยางคารายาแม้ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแต่ก็ไม่เกิดประโยชน์ เมื่อนำมาผลิตเป็นเครื่องดื่มจะมีราคาถูกกว่าเครื่องดื่มจากรังนกแท้มาก (สุวรรณี และอุมา, 2553) (ภาพที่ 10)
 
 
(ที่มา : http://www.manager.co.th)
ภาพที่ 10 รังนกปลอมจากยางคารายา
 
              2. ความแตกต่างระหว่างรังนกแท้และรังปลอม
              รังนกแท้และรังนกปลอมมีลักษณะภายนอกที่คล้ายคลึงกันมาก ไม่สามารถแยกความแตกต่างได้จากการสังเกตด้วยตาเปล่า (ภาพที่ 11) ทำให้ผู้บริโภคหลายคนเข้าใจผิดได้ ซึ่งรังนกปลอมที่ผลิตจากยางคารายามีลักษณะเหนียวหนืดคล้ายวุ้น เมื่อนำไปต้มจะมีลักษณะคล้ายรังนกแท้มาก แต่จะไม่มีกลิ่นคาวตามธรรมชาติเหมือนรังนกแท้ ยางคารายาจะให้สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ชนิดที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมได้ ซึ่งแตกต่างจากรังนกแท้อย่างสิ้นเชิง เพราะในรังนกแท้จะให้สารอาหารประเภทโปรตีนสูงถึง 50-60 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือคาร์โบไฮเดรต ทำให้รังนกแท้กลายเป็นอาหารชั้นสูงเทียบเท่ากับโสม ปลิงทะเล และหูฉลาม  
 
 
(ที่มา : http://www.thaieditorial.com)
ภาพที่ 11 รังนกแท้และรังนกปลอมมีลักษณะภายนอกมากคล้ายคลึงกัน
 
              นอกจากนี้ ประเทศไทยยังประสบปัญหาการส่งออกรังนกไปยังประเทศจีน เนื่องจากตรวจพบสารปนเปื้อนไนไตรท์ในรังนกสีแดงจากประเทศมาเลเซียเกินค่ามาตรฐานที่จีนกำหนด จึงห้ามการนำเข้ารังนกจากประเทศคู่ค้าทั้งหมด จึงต้องมีการเพิ่มการควบคุมคุณภาพรังนกให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและได้มาตรฐานเพื่อการส่งออกต่อไป