ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP
ปัญหาที่มักพบในผลิตภัณฑ์ปลาส้ม 
              ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ปลาส้มมักประสบปัญหาในเรื่องการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เกิดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์และสารเคมีที่อาจเกิดอันตรายต่อผู้บริโภค รวมทั้งผลิตภัณฑ์มีรสชาติไม่คงที่ทำให้ผู้ประกอบการปลาส้มหลายรายยังไม่สามารถขอการรับรองตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2558) โดยสาเหตุที่ทำให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์ปลาส้มลดลงไม่ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ได้แก่
              1) กระบวนการผลิตปลาส้มของผู้ประกอบการบางรายไม่ได้ปฏิบัติตามสุขลักษณะที่ดี เช่น ไม่มีโรงเรือนที่ใช้ในการผลิต หรือมีโรงเรือนแต่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (Good Manufacturing Practice : GMP) ซึ่งอาจทำให้เชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค เช่น Salmonella spp., Clostridium perfringens และ E.coli ที่ปนเปื้อนมากับวัตถุดิบหรือกระบวนการผลิตเจริญเติบโตได้
              2) การใช้สารเคมีในปริมาณที่มากกว่ามาตรฐานกำหนด เช่น โซเดียมหรือโพแทสเซียมไนเทรต และโซเดียมหรือโพแทสเซียมไนไทรต์ ส่งผลให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์ปลาส้มไม่ได้มาตรฐานและไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค
              นอกจากนี้ การผลิตปลาส้มเป็นการหมักโดยใช้จุลินทรีย์ตามธรรมชาติที่มักให้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากไม่มีการควบคุมชนิด จำนวนของจุลินทรีย์ที่มีบทบาทในการหมักแต่ละครั้งของการผลิต และไม่มีการควบคุมปัจจัยภายนอกระหว่างการหมัก เช่น น้ำที่ออกมาจากปลาส้มจะขุ่น มีฟองมาก กลิ่นเหม็น เนื้อปลายุ่ย และมีกลิ่นข้าวบูด ซึ่งอาจเกิดจากการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ชนิดอื่นที่ไม่เหมาะสมแก่การผลิตปลาส้ม หรือจุลินทรีย์ชนิดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค ปัญหาเหล่านี้จึงมีผลต่อความปลอดภัยและความสูญเสียด้านเศรษฐกิจ อีกทั้ง ปลาส้มยังเป็นสินค้าที่มีอายุการเก็บรักษาสั้น ทำให้การขยายตลาดเป็นไปได้ค่อนข้างช้า (มาโนชญ์, 2548) ซึ่งการตรวจหาจำนวนจุลินทรีย์ในผลิตภัณฑ์ปลาส้มจากแหล่งต่างๆ ได้ผลดังตารางที่ 2
              ตารางที่ 2 จำนวนโดยเฉลี่ยของจุลินทรีย์ทั้งหมดและแบคทีเรียแลกติกที่ตรวจพบในผลิตภัณฑ์ปลาส้ม (หมักได้ 3 วัน) 
 
                                       
                                         * ตรวจหาจุลินทรีย์ทั้งหมดและแบคทีเรียแลกติกโดยใช้อาหาร Plate count agar และ MRS agar
                                         ที่เติมแคลเซียมคาร์บอเนต และบ่มเชื้อในสภาพที่มีและไร้ออกซิเจน ตามลำดับ ที่อุณหภูมิ 35 °C
                                         (ที่มา : มาโนชญ์, 2548)