ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

ลักษณะทั่วไปของปลาสลิด  (ยุพิน, 2556)

              ปลาสลิด หรือปลาใบไม้ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Trichogaster pecteralis (Regan) เป็นปลาน้ำจืดพื้นบ้านที่นิยมเลี้ยงกันมาก และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ  แหล่งกำเนิดอยู่ในที่ลุ่มภาคกลางของประเทศไทย ซึ่งปลาสลิดที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ได้แก่ ปลาสลิดบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เนื่องจากมีรสชาติดี เนื้ออร่อย แต่ปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำธรรมชาติที่จะระบายลงสู่บ่อเลี้ยงปลาสลิดมีคุณสมบัติไม่เหมาะสม  กรมประมงจึงได้ส่งเสริมให้เลี้ยงปลาสลิดในพื้นที่จังหวัดอื่น เช่น จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อเพิ่มผลผลิตให้มีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภค และการส่งออกในต่างประเทศ  

(ที่มา : http://www.eto.ku.ac.th/neweto/e-book/fish/f_salid.pdf)

ภาพที่ 1  ลักษณะทั่วไปของปลาสลิด

              1. อุปนิสัย ปลาสลิดชอบอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีน้ำนิ่ง เช่น หนอง บึง ตามบริเวณที่มีพันธุ์ไม้น้ำ เพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยกำบังตัว และก่อหวอดวางไข่ เนื่องจากปลาชนิดนี้โตเร็วในแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีอาหารพวกพืช ได้แก่ สาหร่าย พืชและสัตว์เล็กๆ  จึงสามารถนำปลาสลิดมาเลี้ยงในบ่อและนาข้าวได้เป็นอย่างดี

              2. รูปร่างลักษณะ ปลาสลิดมีรูปร่างคล้ายปลากระดี่หม้อ แต่ขนาดโตกว่า ลำตัวแบนข้างมีครีบ ท้องยาวครีบเดียว สีของลำตัวมีสีเขียวออกเทา หรือมีสีคล้ำเป็นพื้นและมีริ้วดำพาดขวางตามลำตัวจากหัวถึงโคนหาง เกล็ดบนเส้นข้างตัวประมาณ 42-47 เกล็ด ปากเล็กยืดหดได้ ปลาสลิดซึ่งมีขนาดใหญ่เต็มที่จะมีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร 

              3. ที่อยู่อาศัย  และอาหาร ในธรรมชาติจะพบปลาสลิดอาศัยอยู่ในน้ำนิ่งที่มีพันธุ์ไม้น้ำ  เช่น  ในท้องนา  ร่องน้ำ  คูน้ำ  แอ่งน้ำ อ่างเก็บน้ำ  หนอง  และบึง  ส่วนอาหารของปลาสลิด ได้แก่  พืชและสัตว์เล็กๆ ที่ลอยอยู่ในน้ำ  ซึ่งเรียกว่า แพลงค์ตอน  และพันธุ์ไม้ที่เน่าเปื่อย

              4. การสืบพันธุ์ ลักษณะเพศ ปลาสลิดตัวผู้และตัวเมียมีความแตกต่างกัน ซึ่งสามารถสังเกตความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด คือ ปลาตัวผู้จะมีลำตัวยาวเรียว สันหลัง  และสันท้องเกือบเป็นเส้นตรงขนานกัน มีครีบหลังยาวจรดหรือเลยโคนหาง มีสีลำตัวเข้มและสวยกว่าตัวเมีย ส่วนตัวเมียมีสันท้องยาวมนไม่ขนานกันสันท้อง  และครีบหลังมนไม่ยาวจนถึงโคนหาง สีตีวจางกว่าตัวผู้ ในฤดูวางไข่ท้องจะอูมเป่งออกมาทั้งสองข้าง อัตราการปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาสลิดที่ดีและเหมาะสมที่สุด คือ 1 : 1 เป็นปลาขนาดกลาง น้ำหนัก 10-12 ตัวต่อกิโลกรัม

              5. การเพาะพันธุ์ปลาสลิด ปลาสลิดสามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้เมื่อมีอายุ 7 เดือน ขนาดโตเต็มที่โดยเฉลี่ยจะมีขนาดตัวยาวประมาณ 6-7 นิ้ว  หนัก 130-400 กรัม  ปลาสลิดจะเริ่มวางไข่ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม หรือในฤดูฝน แม่ปลาตัวหนึ่งๆ จะสามารถวางไข่ได้หลายครั้ง แต่ละครั้งจะได้ปริมาณไข่ 4,000-10,000 ฟอง ในฤดูวางไข่  ท้องแม่ปลาจะอูมเป่งออกมาทั้งสองข้าง ลักษณะของไข่มีสีเหลือง

              6. การวางไข่  ก่อนปลาสลิดจะวางไข่ ปลาตัวผู้จะเป็นฝ่ายเตรียมการเลือกสถานที่ และก่อหวอดซึ่งเป็นฟองน้ำละลายไว้ในระหว่างต้นผักที่ไม่หนาทึบเกินไป เช่นเดียวกับปลากัด ปลากริม และปลากระดี่ ปกติปลาสลิดตัวเมียจะชอบวางไข่ในที่ร่มมากกว่ากลางแจ้ง 

              เมื่อเตรียมหวอดเสร็จแล้ว ปลาก็จะเริ่มผสมพันธุ์กันโดยตัวผู้จะเริ่มไล่ต้อนตัวเมียเข้าใต้บริเวณหวอด และรัดท้องตัวเมียให้ไข่ออกแล้วปล่อยน้ำเชื้อเข้าผสมกับไข่ จากนั้นปลาตัวผู้จะออไข่เข้าใต้หวอด ไข่จะลอยติดอยู่ที่หวอด  (ภาพที่ 2)

(ที่มา : http://www.eto.ku.ac.th/neweto/e-book/fish/f_salid.pdf)

ภาพที่ 2  การวางไข่ของปลาสลิด

              นอกจากการเพาะพันธุ์ปลาสลิดในบ่อแล้ว ยังเพาะในภาชนะได้อีกวิธีหนึ่ง คือ ใช้ถังทรงกลมปากกว้าง  1.50 เมตร  ยาว 3 เมตร  ลึก 60 เซนติเมตร  น้ำลึกประมาณ 40 เซนติเมตร วางไว้กลางแจ้งโดยทำเป็นเพิงคลุมถังประมาณ 2 ใน 4 ของถัง เพื่อกำบังแดดใช้ผักบุ้งลอยไว้ 3 ใน 4 ของถัง แล้วปล่อยแม่ปลาที่กำลังมีไข่แก่ 10 ตัว ตัวผู้ 10 ตัว หลังจากปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาเพียง 4-6 วัน ปลาสลิดจะเริ่มก่อหวอดวางไข่  ไข่ปลาจะฟักเป็นตัวและเติบโตเช่นเดียวกับการเพาะฟักในบ่อดิน จากนั้นให้ช้อนพ่อแม่ปลาออกแล้วเลี้ยงลูกปลาไปแทน โดยให้  ไข่ผงหรือไรน้ำเป็นอาหาร 2 สัปดาห์  จึงให้รำผงละเอียดจนกว่าลูกปลาจะมีขนาดยาว 2 เซนติเมตร  เพื่อปล่อยลงบ่อเลี้ยงต่อไป หรือจะนำหวอดไข่จากบ่อเพาะเลี้ยงมาฟักในถังทรงกลมก็จะช่วยให้ลูกปลาสลิดมีชีวิตรอดเป็นจำนวนมากกว่าที่จะปล่อยให้เจริญเติบโตในบ่อเพาะเลี้ยงเอง เพราะในบ่อมักมีศัตรูปลาสลิดอยู่ เช่น แมลงในน้ำ  กบ งู ปลากินเนื้อ ซึ่งจะคอยทำลายไข่และลูกปลา อัตราลูกปลาจะรอดน้อยกว่าการนำพ่อแม่พันธุ์มาเพาะในภาชนะ

              7. การฟักไข่ ไข่ปลาสลิดจะเริ่มฟักเป็นตัวภายในเวลา 24 ชั่วโมง และทยอยฟักเป็นตัวภายในเวลา 48 ชั่วโมง ไข่ที่ไม่ได้รับการผสมจะเป็นราสีขาว ไม่ออกเป็นตัว ลูกปลาที่ออกจากไข่ใหม่ๆ  จะมีถุงอาหารติดอยู่ที่ท้อง และยังไม่กินอาหารโดยจะไม่กินประมาณ 7 วัน เมื่อถุงอาหารยุบหมด ลูกปลาจึงเริ่มกินอาหาร ซึ่งจะสังเกตเห็นลูกปลาขึ้นเหนือน้ำในตอนเช้าตรู่  ลักษณะคล้ายฝนตกลงน้ำหยิมๆ 

              8. โรค และศัตรู ปลาสลิดไม่ค่อยเป็นจะเป็นโรคร้ายแรง หากน้ำในบ่อเสียจะสังเกตเห็นปลาขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ เพราะออกซิเจนที่ละลายน้ำไม่เพียงพอ วิธีแก้ไขคือ ต้องถ่ายน้ำเก่าออกและระบายน้ำใหม่เข้าหรือย้ายปลาไปไว้ในบ่ออื่น โดยเฉพาะมักจะเกิดเห็บปลา ซึ่งมีลักษณะตัวแบน สีน้ำตาลใสเกาะติดตามตัวปลา ทำให้การเจริญเติบโตของปลาชะงักลง ปลาผอม การกำจัดโดยระบายน้ำสะอาดเข้าไปในบ่อให้มากๆ ตัวเห็บก็จะหายไปได้

              การป้องกันโรคระบาดอีกประการหนึ่งก็คือ ปลาที่จะนำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ ถ้าปรากฏว่า มีบาดแผลไม่ควรนำลงไปเลี้ยงรวมกันในบ่อ เพราะปลาที่เป็นแผลจะเป็นโรคราและติดต่อไปถึงปลาตัวอื่นได้

              ศัตรูของปลาสลิด มีหลายประเภท ได้แก่

                    (1) สัตว์ดูดนม  เช่น นาก
                    (2) นกกินปลา  เช่น นกกระเต็น  นกยาง  นกกาน้ำ  และเหยี่ยว
                    (3) สัตว์เลื้อยคลาน  เช่น งู  ตะพาบน้ำ 
                    (4) กบ  เขียด
                    (5) ปลากินเนื้อ  เช่น  ปลาช่อน  ปลาชะโด  ปลาไหล  จะกินปลาสลิดขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ ส่วน ปลากริม  ปลากัด  ปลาหัวตะกั่ว  ปลาหมอ  แมงดาสวน  จะกินไข่ปลาสลิดและลูกปลาในวัยอ่อน
              ตามธรรมชาติของปลาสลิดย่อมรู้จักหลบหลีกศัตรูได้ดี แต่เมื่อนำมาเลี้ยงไว้ในบ่อ  ปลาสลิดยากที่จะหาทางหลบหลีกศัตรูได้  จึงจำเป็นต้องช่วยโดยการป้องกันและกำจัด
              การป้องกันและกำจัดพวกสัตว์ดูดนม สัตว์เลื้อยคลาน โดยทำรั้วล้อมรอบก็เป็นการป้องกันได้ดี ส่วนสัตว์จำพวกนกต้องทำเพิงคลุม เพื่อป้องกันนกโฉบปลาในขณะที่ปลากินอาหารอยู่เป็นกลุ่ม สำหรับปลากินเนื้อชนิดต่างๆ นั้น ต้องระวังผักที่จะเก็บลงมาปลูกในบ่อเพราะอาจจะมีไข่ปลาติดมาด้วย  โดยเฉพาะท่อระบายน้ำเข้าต้องพยายามใช้ลวดตาข่ายที่มีช่องตาขนาดเล็กกรองน้ำที่จะผ่านลงในบ่อ และหมั่นตรวจตะแกรงถ้าชำรุดควรรีบเปลี่ยนใหม่
              การล้อมรอบคันบ่อใช้ตาข่ายไนลอนให้สูงจากพื้นอย่างน้อย   50  เซนติเมตร  ส่วนล่างของตาข่ายให้ฝังดินลึกประมาณ  10  เซนติเมตร  ถ้าเป็นที่ลุ่มควรต่อตาข่ายไนลอน  2  ผืน  หรือเสริมเฝือกสูงประมาณ  2  เมตร  พร้อมทั้งหมั่นตรวจสอบ  หากชำรุดต้องรีบซ่อมแซม