1. การเลี้ยงปลาสลิดในจังหวัดสมุทรปราการ (สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรปราการ, 2556)
กรมประมงได้ส่งเสริมให้มีการเลี้ยงปลาสลิดในจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเพิ่มผลผลิตให้มีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภค และส่งเป็นสินค้าออกในรูปของผลิตภัณฑ์ปลาสลิดเค็มตากแห้ง แม้ว่าปลาสลิดจะสามารถหาซื้อรับประทานได้ทั่วไป แต่หากพูดถึงชื่อเสียงแล้ว ปลาสลิดบางบ่อ ของจังหวัดสมุทรปราการ ถือได้ว่ามีชื่อเสียงมากที่สุด และกลายเป็นสินค้าออกที่สำคัญของประเทศในปัจจุบัน
ชาวบ้านอำเภอบางบ่อ มีความชำนาญในการเลี้ยงปลาสลิด และการเก็บรักษาปลาสลิดเป็นอย่างดี ส่วนสาเหตุที่ทำให้ปลาสลิดบางบ่อมีรสชาติจนเป็นที่เลื่องลือ เพราะน้ำในเขตบางบ่อมีลักษณะเป็นน้ำกร่อยที่มีความพอดีส่งผลให้ไรแดงเจริญเติบโตได้ดี เพราะไรแดงถือเป็นอาหารหลักของปลาสลิดบางบ่อ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ ปลาสลิดบางบ่อมีความแข็งแรง รสชาติดี และเนื้ออร่อย (ภาพที่ 3)
(ที่มา : http://www.fisheries.go.th/fpo-samutpra) (ที่มา : http://pasaridonline.weloveshopping.com)
ภาพที่ 3 ลักษณะปลาสลิดบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ
2. การเลี้ยงปลาสลิดในจังหวัดฉะเชิงเทรา
จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลาสลิดที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยเฉพาะในอำเภอบางปะกง เนื่องจากพื้นที่เหมาะแก่การเลี้ยงและมีแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ ส่วนใหญ่ทำการเลี้ยงในตำบลบางปะกง บางสมัคร บางเกลือ หอมศีล และสองคลอง ฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาสลิดในอำเภอบางปะกงมีจำนวน 549 ราย โดยฟาร์มที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประมงอำเภอบางปะกงมีจำนวน 276 ราย จัดเป็นฟาร์มเลี้ยงปลาสลิดที่ได้มาตรฐานเป็นจำนวน 140 ราย และอยู่ในระหว่างการตรวจสอบฟาร์มประมาณ100 ราย คิดเป็นจำนวนบ่อทั้งสิ้น 384 บ่อ พื้นที่ที่ใช้เพาะเลี้ยงปลาสลิดมีจำนวนมากถึง 6,167 ไร่ ปริมาณการผลิตปลาสลิดในพื้นที่อำเภอบางปะกงมีมากกว่า 3,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 173 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นจะเห็นได้ว่าพื้นที่อำเภอบางปะกงมีศักยภาพในการผลิตปลาสลิดได้เป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม การขายปลาสลิดในรูปแบบสดสามารถขายได้ในราคาที่ไม่สูงมากนัก หากมีการนำปลาสลิดที่ผลิตได้ในพื้นที่มาทำการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ ก็จะสามารถทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลามีรายได้เพิ่มมากขึ้น
3. การเลี้ยงปลาสลิดในจังหวัดสมุทรสงคราม (สุกันยา, 2555)
จังหวัดสมุทรสงคราม มีการเลี้ยงปลาสลิดกันมากในตำบลแพรกหนามแดง และบางส่วนของตำบลวัดประดู่ ของอำเภออัมพวา ซึ่งข้อมูลของสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงครามพบว่า มีเกษตรกรผู้เลี้ยง ประมาณ4,000 ไร่ ซึ่งแต่เดิมในพื้นที่ตำบลแพรกหนามแดงเกษตรกรจะมีอาชีพหลัก คือการทำนาและยกร่องสวนเพื่อปลูกมะพร้าว แต่หลังจากประสบปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ทำให้การทำนาและมะพร้าวไม่ได้ผลเท่าที่ควร จึงได้หันมาเลี้ยงปลาโดยเฉพาะปลานิลแทนและในช่วงประมาณปี 2519-2521 ได้มีเกษตรกรจากจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดสมุทรสงครามเข้ามาเช่าพื้นที่ของตำบลแพรกหนามแดง และเมื่อเกษตรกรในพื้นที่ได้เห็นผลในการเลี้ยงปลาสลิดจึงได้เริ่มเปลี่ยนอาชีพจากการทำนาและปลูกมะพร้าวมาเป็นการทำนาปลาสลิดกันมากขึ้น
นอกจากนี้ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแพรกหนามแดงยังได้การแปรรูปวัตถุดิบที่มีอยู่เพื่อให้เกิดประโยชน์ และช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรมีรายได้เสริมด้วย โดยปลาสลิดแพรกหนามแดงได้รับการรับรองความอร่อย อยู่ที่ ดาว 4 ดาว และได้รับ อย. มผช. เรียบร้อย