ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

ส่วนประกอบหลักของยาสีฟัน (components of toothpaste)

              ยาสีฟันเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะกึ่งแข็งกึ่งเหลว ใช้เพื่อกําจัดคราบที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติบนเคลือบฟันโดยใช้ร่วมกับแปรงสีฟัน  ส่วนประกอบหลักของยาสีฟันโดยทั่วไปและวัตถุประสงค์ของการใช้แสดงในตารางที่ 1 ทั้งนี้วัตถุดิบทุกอย่างที่ใช้ในการผลิตยาสีฟันจะต้องเป็นวัตถุดิบที่ใช้ด้านอาหาร(food grade) โดย ร้อยละของส่วนประกอบหลักของยาสีฟันแสดงไว้ในตารางที่ 2

             ตารางที่ 1 ส่วนประกอบหลักของยาสีฟันและวัตถุประสงค์ของการใช้

ส่วนประกอบต่าง ๆ

ประโยชน์ของวัตถุดิบ

1. สารขัดถู (abrasives)

2. สารให้ความหนืด (thickening agents/binder)

 

3. สารให้ความชุ่มชื้น (humectants)

4. น้ำ

1. ทำความสะอาด/กำจัดคราบ

2. ยึดวัตถุดิบต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันทำให้ยาสีฟันมีเนื้อ  เรียบสม่ำเสมอดูสวยน่าใช้  ช่วยในการเก็บรักษา

3. สารคงความชื้นและทำให้เนื้อยาสีฟันมีลักษณะ                     เป็นครีมที่สามารถบีบออกได้เป็นเส้น

4. ตัวทำละลาย (solvents) ของวัตถุดิบ                                                  

          

              ตารางที่ 1 ส่วนประกอบหลักของยาสีฟันและวัตถุประสงค์ของการใช้ (ต่อ)

ส่วนประกอบต่าง ๆ

ประโยชน์ของวัตถุดิบ

5. สารให้ฟอง/สารลดแรงตึงผิว (detergents/surfactants)

 

6. สารแต่งกลิ่นและรดชาติ (flavouring agents)

7. สารให้ความหวาน (sweeteners)

8. สารให้สี (colouring agents)

9. สารกันเสีย

10. สารให้คุณสมบัติในการบำบัด (therapeutic agents)

11. สารทำให้ขุ่น (opacifier)

5. สารให้ฟอง ช่วยละลายสิ่งสกปรก ต่อต้านเชื้อโรค ยับยั้งการเกิด plaqueให้ความรู้สึกที่ดีขณะแปรงฟัน

6. ช่วยให้รสชาติดีขึ้นและความรู้สึกสดชื่น

7. ให้รสหวานเพื่อให้รสชาติดีขึ้น

8. แต่งสีให้สวยงามน่าใช้

9. ป้องกันการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ต่างๆ

10. สารออกฤทธิ์ต่างๆ เช่น ป้องกันฟันผุ

11. เปลี่ยนยาสีฟันแบบใสให้เป็นยาสีฟันแบบขุ่น

 

              ตารางที่ 2 ส่วนประกอบหลักของยาสีฟัน

ส่วนประกอบหลักของยาสีฟัน

ร้อยละ

1. สารขัดถู

2. สารให้ความชุมชื้น

3. สารให้ฟอง

4. สารให้ความหนืด

5. สารแต่งกลิ่นและรสชาติ

6. สารให้ความหวาน

7. สารให้คุณสมบัติในการบำบัด

8. สีหรือสารกันเสีย

9. น้ำ

1-5

30-60

1-2

1-2

0-2

0-1

0-2

0.05-0.5

ใส่ให้ครบ 100

 

              จากตารางที่ 1 และ 2 ส่วนประกอบหลักของยาสีฟันที่สำคัญมีรายละเอียดต่อไปนี้

              1. สารขัดถู (abrasives)  ยาสีฟันควรมีส่วนประกอบของสารขัดถูในจำนวนที่มากพอที่จะใช้กำจัดคราบ plaqueและเศษอาหารต่างๆ  ไม่ควรมีมากจนไปทำลายเคลือบฟันซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาของการเสียวฟันและปัญหาฟันเหลือง  เพราะเคลือบฟันที่บางลงจะทำให้เห็นชั้นสีเหลืองของเนื้อฟันที่อยู่ด้านล่าง  ความสามารถในการขัดถูของยาสีฟันมีหน่วยวัดเป็นค่า “อาร์ ดี เอ ” (RDA, relative dentine abrasivity)  เพื่อป้องกันการสึกหรอของฟันค่า “อาร์ ดี เอ”ควรอยู่ในช่วง 40-80 หน่วย  ค่า“อาร์ ดี เอ” ที่ไม่เกิน 50 หน่วยจะอยู่ในช่วงที่ปลอดภัย  ยาสีฟันที่อ้างว่าทำให้ฟันขาว กำจัดคราบอาหารและกำจัดคราบสีต่างๆ ที่ติดบนฟันซึ่งเกิดจากชา  กาแฟและบุหรี่จะมีค่า “อาร์ ดี เอ” ไม่ต่ำกว่า 100หน่วย หรือมากกว่า

              สารขัดถูที่ใช้ในยาสีฟันมักพบในรูปผลึกที่เป็นอนุภาคเล็กๆ  มีขนาดสม่ำเสมอเพื่อให้ได้ผลทางกายภาพโดยเป็นตัวช่วยขัดถูร่วมกับแปรงสีฟัน  สารขัดถูใช้ทำความสะอาดฟันและขัดคราบหินปูนจากฟัน สารขัดถูที่ดีต้องไม่เป็นอันตรายกับเคลือบฟันตามธรรมชาติ (enamel)หรือ เนื้อฟัน (dentin)แต่ต้องคงความสามารถในการกำจัดคราบ  โดยประสิทธิภาพของสารขัดถูขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 3  อย่าง คือ ชนิด (ความแข็งและขนาด) ปริมาณที่ใช้ในสูตรยาสีฟันและพื้นที่ผิวที่สัมผัส(surface it contacts) 

              หลักสำคัญอีก 5 ประการในการเลือกสารขัดถู คือ ต้องดูว่าสารขัดถูนั้นสามารถทำงานร่วมกับสารที่ให้คุณสมบัติในการบำบัด (therapeutic agents)ที่เราจะใช้ในสูตรนั้นหรือไม่ และต้องไม่ทำปฏิกิริยากับสารอื่นๆ ที่ผสมอยู่ในยาสีฟัน  ซึ่งความข้นเหลวของยาสีฟันโดยเฉพาะในสูตรที่มีสารขัดถูมากกว่า 30 %มีความเหมาะสมที่จะใช้ทำยาสีฟันแบบใสหรือแบบขุ่นที่มีราคาที่เหมาะสม  สารขัดถูที่นิยมใช้กันมากมี 3 กลุ่ม คือ ซิลิกา อะลูมินา และแคลเซียม ดังรายละเอียดต่อไปนี้

                    - ซิลิกา (silica, SiO2)  นิยมใช้มากเพราะไม่ทำปฏิกิริยากับสารอื่นๆ ที่อยู่ในส่วนผสมของยาสีฟันหรือไฮเดรตซิลิกา  (hydrated silica)  ซึ่งเป็นสารขัดถูที่โปร่งแสง(transparent abrasive)  ที่นิยมใช้ในยาสีฟันชนิดใส

                    - อะลูมินา ไตรไฮเดรต  (alumina trihydrate)  หรือ อะลูมิเนียมออกไซด์ไตรไฮเดรต (aluminium  oxide trihydrate, Al2O3.3H2O)  เป็นสารขัดถูที่สามารถใช้ร่วมกับสารฟลูออไรด์ได้

                    - แคลเซียมคาร์บอเนต (calcium carbonate,CaCO3)  ซึ่งอาจเรียกว่า “แคลไซต์ ”  (calcites)  หรืออาราโกไนต์ (aragonite) ยาสีฟันที่ใช้แคลเซียมคาร์บอเนตเป็นสารขัดถูจะมีค่า pH อยู่ในช่วงที่เป็นด่างและมีราคาถูก  นอกจากสารขัดถู  3  กลุ่มนี้แล้ว ยังมีสารขัดถูราคาแพงอื่น ๆ  ได้แก่

                    - แคลเซียมไพโรฟอสเฟต  (calcium pyrophosphate, Ca2P2O7)   สารชนิดนี้นอกจากให้คุณสมบัติในการขัดถูแล้วยังช่วยรักษาระดับความเป็นกรด-ด่าง  (pH) ของน้ำลายไม่ให้เปลี่ยนแปลงมากเกินไป  จึงช่วยป้องกันฟันไม่ให้ผุ

                    - อินโซลูเบิลเมตาฟอสเฟต (insoluble metaphosphate,  (NaPO3)x)

                    - แคลเซียมโมโนไฮโดรเจนฟอสเฟตไดไฮเดรต  (calcium monohydrogen phosphates dihydrate, CaHPO4 .2H2O )

                    - แคลเซียม โมโนไฮโดรเจนฟอสเฟต (calcium monohydrogen phosphates, CaHPO4)

                    - แร่ธาตุอื่นๆ  เช่น เบกกิ้ง โซดา (baking soda) หรือ โซเดียมไบคาร์บอเนต (sodium bicarbonate) เป็นสารขัดถูที่ไม่รุนแรงและมีความเป็นด่างอ่อนๆ  ซึ่งแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในปากไม่ชอบสภาพแวดล้อมนี้

              2.สารให้ความหนืด/สารที่ทำหน้าที่เป็นตัวยึดสารต่างๆ ไว้ด้วยกัน (thickening/binding agents)สารให้ความหนืดมีคุณสมบัติเป็นตัวกระทำอิมัลชันโดยป้องกันไม่ให้สารที่เป็นของแข็งและของเหลวแยกออกจากกันและทำให้สารที่เป็นน้ำมันและน้ำเกิดเป็นอิมัลชัน  เป็นสารที่ช่วยไม่ให้ยาสีฟันแห้งแข็ง  ช่วยควบคุมความข้นหนืด (viscosity)ที่ต้องการให้ยาสีฟันได้ทุกสูตร แม้แต่สูตรยาสีฟันที่มีส่วนที่เป็นของแข็งมากกว่าส่วนที่เป็นของเหลว  ทำให้ยาสีฟันมีลักษณะเป็นเนื้อครีมที่เรียบสม่ำเสมอ มีความคงตัวขณะบีบออกจากหลอดรวมทั้งขณะวางอยู่บนแปรงสีฟันและขณะที่ใช้แปรงฟันหรือเมื่อมีการเก็บไว้เป็นเวลานาน 

              สารให้ความหนืดประเภทพอลิเมอร์จากสารอินทรีย์ธรรมชาติที่นิยมใช้โดยทั่วไป  เช่น เซลลูโลส กัม(cellulose gum หรือcarboxymethyl - cellulose)และแซนแทน กัม (xanthan gum) เซลลูโลส กัม มีให้เลือกหลายแบบ โดยมีความข้นเหลวและความคงทนต่อสารอิเล็กทรอไลต์ไม่เท่ากัน การกระจายตัวของเซลลูโลส กัม จะขึ้นอยู่กับสัดส่วนของกลีเซอรีนและน้ำ  (เมื่อเติมเซลลูโลส กัม ลงในของผสมที่มีกลีเซอรีนและน้ำ)  ระดับของการแทนที่ (degree of substitution, DS)  ความสม่ำเสมอของการแทนที่ (uniformity of substitution)และความยาวของเซลลูโลส  กัม (cellulose chain length, DP)

              เซลลูโลส  กัม ที่ใช้ควรเป็นเม็ดขนาดเล็กละเอียด สม่ำเสมอ  และมีค่าDSสูง  ค่า DSที่ต่างกันจะทำให้ ยาสีฟันที่ได้มีคุณลักษณะแตกต่างกันดังนี้

 

             ค่า“DS ”เพิ่มขึ้น                                                      คุณสมบัติของยาสีฟันที่ได้

            0.7 => 0.9 => 1.2                                   - เนื้อยาตั้ง (stand-up)บนแปรงสีฟันได้ไม่ดีเท่าเดิม

                                                                          - เนื้อยาบีบออกมาได้เป็นเส้น (stringiness)ยาวขึ้น

                                                                          - เนื้อยาดูแวววาว (gloss) ขึ้น

                                                                          - มีความต้านทานต่อสูตรที่มีเกลือสูง (better salt tolerance)

                                                                          - เก็บได้นาน (higher stability)แม้ในสูตรที่มีน้ำน้อย 

 

              ส่วนแซนแทน กัม เป็นสารโมเลกุลใหญ่  จึงมีข้อได้เปรียบเซลลูโลส กัม เนื่องจากให้ความรู้สึกที่ดีกว่าขณะแปรงฟัน  ความคงทนต่ออิเล็กทรอไลต์และความคงทนต่อการถูกทำลายด้วยเชื้อสูงกว่า และยังเก็บได้นานกว่าสารที่ให้ความหนืดที่สกัดจากสาหร่ายคาราจีแนน(carageenan)  และคาร์บอเมอร์ (carbomer) โดยให้คุณสมบัติที่คล้ายกัน

              3. สารให้ความชุ่มชื้น  (humectants) สารให้ความชุ่มชื้นเป็นสารที่ทำให้สามารถลดปริมาณน้ำที่ใช้ในสูตรยาสีฟัน  ช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้ยาสีฟันและป้องกันการระเหยของน้ำ  ป้องกันไม่ให้ยาสีฟันแข็งเมื่อวางไว้โดยไม่มีสิ่งปกปิด  และช่วยให้ยาสีฟันมีเนื้อเนียนและเป็นเงาเล็กน้อย  สารให้ความชุ่มชื้นมีหลายชนิดแต่ที่นิยมใช้  ได้แก่ พอลิออล  (polyols)  เช่น  กลีเซอรีน  (glycerine)  ซอร์บิทอล  (sorbitol) และไซลิทอล(xylitol) สารให้ความชุ่มชื้นเหล่านี้ยังเพิ่มความหวานให้กับยาสีฟันได้ด้วย โดยเฉพาะซอร์บิทอลและไซลิทอล  เมื่อใช้ในปริมาณมากสามารถใช้แทนสารให้ความหวานหลักที่เป็นสารในกลุ่มน้ำตาลได้

              4. สารทำละลาย (solvents)โดยทั่วไปสารทำละลายในยาสีฟัน คือ น้ำ  น้ำจะละลายวัตถุดิบต่างๆ ที่เป็นของแข็งในยาสีฟันและทำให้ส่วนผสมต่างๆ  เป็นเนื้อเดียวกัน

              5. สารให้ฟอง/สารลดแรงตึงผิว (detergents/surfactants)สารให้ฟอง/สารลดแรงตึงผิวเป็นสารทำความสะอาดและมีคุณสมบัติช่วยต่อต้านแบคทีเรีย  โดยลดแรงตึงผิวของของเหลวภายในช่องปาก เพื่อให้สารต่างๆ ในยาสีฟันสามารถแทรกซึมจนสัมผัสกับฟันได้ง่ายขึ้น และละลายแผ่น plaqueที่เกาะอยู่บนผิวหน้าฟัน จึงทำความสะอาดฟันได้ง่ายและช่วยกำจัดเศษอาหารที่ตกค้างในช่องปาก จึงให้ความรู้สึกที่สะอาด  คุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของสารให้ฟอง คือ ช่วยทำให้สารแต่งกลิ่นรสที่ไม่ละลายน้ำสามารถละลายและกระจายตัวในยาสีฟันได้ดีขึ้นและเกิดฟองในขณะแปรงฟันซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ

              สารให้ฟอง/สารลดแรงตึงผิวที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปคือ โซเดียมลอริลซัลเฟต (sodium lauryl sulphate, SLS)  ซึ่ง SLS มีข้อเสียบางอย่าง คือ รสเฝื่อนขมจึงต้องใช้สารแต่งกลิ่นและรสมากลบ  ยาสีฟันบางยี่ห้อจึงเปลี่ยนไปใช้สารชนิดอื่นแทน เช่น โซเดียมลอริลซาโคซิเนต (sodium  lauryl  sarcosinate) หรือโคคามิโดโปรปิล บีเทน  (cocamidopropyl betaine)  ที่ให้ฟองนุ่ม ๆ  หรือสเตียริท-เทอร์ตี้  (steareth-30)  ซึ่งมีราคาแพงแต่ระคายเคืองเยื่อบุช่องปากน้อยกว่า

              6. สารแต่งกลิ่นและรส (flavouring agents)  รสชาติของยาสีฟันเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการตัดสินใจเลือกซื้อของผู้บริโภคมาก  สารแต่งกลิ่นและรสชาติสามารถละลายและกระจายตัวในยาสีฟันเนื่องจากสารลดแรงตึงผิวที่อยู่ในยาสีฟัน  ยาสีฟันมักจะมีกลิ่นและรสของน้ำมันหอมระเหยที่แรงมาก เพื่อไปปกปิดรสขมของสารลดแรงตึงผิวโดยเฉพาะอย่างยิ่งสาร SLS เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ต้องใส่สารแต่งกลิ่นและรสในปริมาณมากคือ เพื่อให้เป็นที่พอใจของผู้บริโภคที่ต้องการความรู้สึกสดชื่นในระหว่างและหลังจากการแปรงฟัน

              โดยปกติสารแต่งกลิ่นและรสจะเป็นส่วนที่แพงมาก  อาจมีค่าใช้จ่ายประมาณ 60%ของราคาวัตถุดิบทั้งหมดที่ใช้ผลิตยาสีฟัน  น้ำมันหอมระเหยส่วนใหญ่เป็นสารผสมของน้ำมันหอมระเหยหลายๆ ชนิดที่ไม่ละลายน้ำ เช่น สเปียร์มินท์ (spearmint) สะระแหน่ (peppermint) ยูคาลิปตัส (eucalyptus) วินเทอร์กรีน  (wintergreen)  ยูจีนอล(eugenol)  ซิโตรเนลอล(citronellol)อะนิทอล(anethol) และเมนทอล (menthol) สารเหล่านี้ถูกนำมาแต่งกลิ่นและรสโดยรวมกับเนื้อยาสีฟัน  สารบางตัวไม่เพียงแต่จะให้กลิ่นและรสแต่ยังมีคุณสมบัติในการบำบัด เช่น แพนทินอล (panthenol)ซิโตรเนลอล หรือคาโมไมล์(chamomile) ซึ่งเป็นสารจากธรรมชาติที่ช่วยต่อต้านการอักเสบของเหงือกและเมือกในปาก

              7. สารให้ความหวาน  (sweeteners)  สารให้ความหวานนอกจากให้รสหวานแล้วยังปรับรสของยาสีฟันให้กลมกล่อม  และช่วยกลบรสขมของวัตถุดิบอื่นๆ  ที่ใช้ในสูตรยาสีฟัน  ยาสีฟันสำหรับเด็กมักจะหวานกว่ายาสีฟันของผู้ใหญ่  สารให้ความหวานที่ใช้โดยทั่วไปคือ โซเดียมแซ็กคาริน (sodium saccharin)  ซอร์บิทอลและกลีเซอรีน ส่วนไซลิทอลก็เป็นสารให้ความหวามชนิดหนึ่งที่ช่วยลดอัตราการเกิดคราบหินปูนและต่อต้านฟันผุ

              แซ็กคาริน (saccharin) เป็นสารให้ความหวานที่ใช้มานาน  มีความหวานประมาณ 300 เท่าของน้ำตาลซูโครส (sucrose) พบมากในขนมหวานบางชนิดและผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคต่างๆ  ซึ่งจากการศึกษาพบว่า แซ็กคารินเป็นสาเหตุของมะเร็งในสัตว์ทดลองประเภทหนู  (ถ้าสัตว์ทดลองนั้นได้รับแซ็กคารินในปริมาณมากๆ)  ซอร์บิทอลเป็นสารที่พบในผลไม้และน้ำแอปเปิ้ล มักใช้ในยาสีฟันและหมากฝรั่งที่อ้างว่าปราศจากน้ำตาล  โดยซอร์บิทอลจะให้ความหวามประมาณ 60 เท่าของน้ำตาลซูโครสและมีพลังงาน 2.6 แคลอรี่ต่อกรัม  ถ้าได้รับสารนี้ในปริมาณมากๆ อาจทำให้ท้องเสียได้  สารให้ความหวานและแต่งกลิ่น เช่น น้ำมันหอมระเหย จะทำให้ยาสีฟันมีรสดีทั้งในขณะที่แปรงฟันและภายหลังการแปรงฟัน  สารให้ความหวานและสารแต่งกลิ่นที่ใช้ในยาสีฟันแต่ละสูตรนั้นมีความแตกต่างกันมากทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชอบของผู้บริโภคในแต่ละท้องถิ่น

              8. สารให้สี  (colouring agents)  ยาสีฟันส่วนใหญ่จะได้รับการแต่งสีเพื่อให้ดูสวยงามและน่าใช้มากขึ้น  สารให้สีที่ใช้จะต้องมีความปลอดภัย มีความคงทนและมีราคาที่เหมาะสม  สีที่ใช้อาจเป็นสีที่ละลายน้ำหรือไม่ละลายน้ำก็ได้ (pigments)โดยทั่วไปเวลาพิจารณาสีที่จะใช้สามารถดูได้จากค่าซี ไอ (CI, Colour Index)  ซึ่งได้รับการเผยแพร่โดยสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสีหรือโดยระบบที่เรียกว่า สีเอฟดีแอนซี (FD&C Colours)  สารไทเทเนียมไดออกไซด์ (titanium dioxide) ก็นิยมใช้ในยาสีฟันเพื่อให้ยาสีฟันดูขาวและทึบแสง

              9. สารกันเสีย (preservatives) ในสูตรยาสีฟันที่มีน้ำน้อย  สารให้ความชุ่มชื้นสามารถใช้เป็นสารกันเสียได้ด้วย  สารกันเสียจะช่วยยับยั้งการเจริญของจุลชีพต่างๆ  ที่ปนเปื้อนมากับวัตถุดิบที่ใช้ทำยาสีฟัน  สารกันเสียที่ใช้โดยทั่วไป เช่น โซเดียมเบนโซเอท (sodium benzoate) โปแตสเซียมซอร์เบต (potassium sorbate) เมทิลพาราเบน (methyl paraben)   เอทิลพาราเบน (ethyl paraben)   และอื่นๆ  โซเดียมเบนโซเอทและโปแตสเซียมซอร์เบต ใช้ได้กับสูตรที่มีค่าความเป็นกรด-ด่างต่ำกว่า  5.5  ส่วนเมทิลเบนโซเอต  (p-methylbenzoate) จะให้ผลดีเมื่อค่าความเป็นกรด-ด่างของยาสีฟันค่อนข้างเป็นกลาง

              10. สารทำให้ขุ่น (opacifier) สารทำให้ขุ่นในยาสีฟันคือ ไทเทเนียมไดออกไซด์ (titanium dioxide, TiO2)เป็นสารที่ทำให้ยาสีฟันชนิดขุ่นดูขาวขึ้น  ส่วนใหญ่จะใส่เพื่อเพิ่มความขาวมากกว่าใส่เพี่อเพิ่มความขุ่น  เพราะยาสีฟันที่ผสมอาจจะขุ่นอยู่แล้วโดยไม่ต้องเติมสารที่ทำให้ขุ่น ถ้าเลือกใช้สารขัดถู (abrasive) และสารให้ความหนืด (thickening agents/binder)เหมาะกับชนิดของยาสีฟันที่จะผสม  นอกจากนั้นสารทำให้ขุ่นนี้ยังสามารถใช้ปรับสีอ่อนแก่ให้ยาสีฟันได้ด้วย

              11. สารทำให้คงตัว (stabilizer) และสารปรับความเป็นกรด-ด่าง (pH) การใส่โซเดียมไดไฮโดรเจนฟอสเฟต (sodium dihydrogen phosphate, NaH2PO4) ปริมาณ 2-3% จะทำให้ยาสีฟันทรงตัวเพื่อป้องกันปฏิกิริยาเคมีระหว่างยาสีฟันกับหลอดยาสีฟันและช่วยรักษาความเป็นกรด-ด่างให้คงตัวด้วย  ซิงค์ซิเตรต (zinc citrate)เป็นสารหนึ่งที่ใช้เป็นสารช่วยรักษาความเป็นกรด-ด่างให้คงตัว โดยช่วยปรับลดความเป็นกรด-ด่างให้อยู่ในช่วงที่เป็นกลาง แต่สารนี้ใช้ร่วมกับฟอสเฟตไม่ได้เนื่องจากจะเกิดตะกอนของสารที่ไม่ละลายน้ำของเกลือซิงค์ฟอสเฟต (zinc phosphate)  ถ้าต้องการเพิ่มความเป็นกรด-ด่างของสูตรที่มีปริมาณซอร์บิทอลมากๆ  ก็สามารถใช้สารไตรโซเดียมฟอสเฟต  (trisodium phosphate) แต่ในกรณีที่ใช้ซิงค์ซิเตรตไม่ได้ก็ให้ใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์  (sodium hydroxide) แทนได้

              12. สารให้คุณสมบัติในการบำบัด (therapeutic agents) ยาสีฟันแต่ละยี่ห้อจะใส่สารที่ให้คุณสมบัติในการบำบัดหนึ่งชนิดหรือมากกว่าหนึ่งชนิด  ยาสีฟันส่วนใหญ่เป็นยาสีฟันที่ต่อต้านฟันผุและมีสารต่อต้านคราบหินปูน(anti-caries และ anti-tartar agents)  สารที่นิยมใช้ใส่เพื่อป้องกันฟันผุ ได้แก่ โซเดียมฟลูออไรด์ (sodium fluorides) สแตนนัสฟลูออไรด์(stannous fluoride) และโซเดียมโมโนฟลูออโรฟอสเฟต (sodium monofluorophosphate)  นอกจากนั้นยังมีการพัฒนายาสีฟันที่สามารถกำจัดคราบอาหารและคราบหินปูน (stain and calculus removal) สารฟอกฟันให้ขาว(bleaching)  สารป้องกันเหงือกอักเสบ (gingivitis)  สารลดการเสียวฟัน (sensitive teeth) สารที่ใช้ฆ่าเชื้อโรค(anti-microbial active ingredients)และลดปัญหาโรคเหงือกต่างๆ  (gum problems) ได้แก่

                    A. สารต่อต้านฟันผุ (anti-caries agents)ในการดูแลฟันปัญหาฟันผุเรื่องที่ใหญ่ที่สุด สารต่อต้านฟันผุมีหลายชนิด เช่นฟลูออไรด์  ไซลิทอล แคลเซียม/ฟอสเฟต โซเดียมคาร์บอเนต ดังนี้

                         1) ฟลูออไรด์ (fluoride) ให้ผลการยับยั้งฟันผุที่ได้ผลดีที่สุดเนื่องจากช่วยให้เคลือบฟันแข็งแรงและช่วยลดการสร้างกรดที่เกิดจากคราบแบคทีเรียที่เกาะบนคราบฟัน  ฟลูออไรด์สามารถยับยั้งฟันผุได้จากการที่ฟลูออไรด์เป็นสาร

                                       - ต้านเชื้อแบคทีเรีย   

                                       - มีในยาสีฟันมากพอ(ความเข้มข้นที่ 0.01-0.02 พีพีเอ็มของฟลูออไรด์) ที่จะเกิดปฏิกิริยาระหว่างฟลูออไรด์และเคลือบฟัน ทำให้เกิดสารประกอบฟลูออเนเตตไฮดรอกซีอาพาไทต์ (fluorinated hydroxyapatite) ที่เรียกว่า ฟลูออโรอาพาไทต์ (fluoroapatite)ซึ่งแสดงในสมการข้างล่างนี้ ฟลูออโรอาพาไทต์เป็นสารที่ช่วยลดการละลายของเคลือบฟันและช่วยเสริมแคลเซียมให้กับฟันส่วนที่ผุ เนื่องจากสามารถต้านกรดได้ดีกว่าเคลือบฟันที่ไม่มีสารฟลูออราพาไทต์ (fluorapatite)รวมอยู่ด้วย

 

                                       น้ำตาลเปลี่ยนเป็นเดกซ์ทรานส์ (dextrans)ที่เรียกว่า พลัก (plaque)และเปลี่ยน

                                       เป็นกรดแลกติก (lactic acid))

                                                   Ca5(PO4)3 OH+F          =>      Ca5(PO4)3F

                                                   ไฮดรอกซีอาพาไทต์(Hydroxyapatite)              ฟลูออราพาไทต์(fluorapatite)

 

 

                                       - ช่วยซ่อมแซมฟันผุ โดยรวมกับแคลเซียมและฟอสเฟตเพื่อไปเติมแร่ธาตุให้ส่วนที่เป็นแผลเล็กๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของฟันส่วนที่ผุ เนื่องจากความเข้มข้นของฟลูออไรด์ที่สามารถยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรียจะสูงกว่าความเข้มข้นของฟลูออไรด์ที่ใช้ในยาสีฟัน  ดังนั้นประโยชน์ของฟลูออไรด์ในยาสีฟันจึงมาจากข้อ 2  และข้อ 3 เท่านั้น ยาสีฟันส่วนใหญ่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์หนึ่งชนิดหรือมากกว่าหนึ่งชนิด สารหลักๆ ที่ให้ฟลูออไรด์ที่ใช้กันโดยทั่วไปคือ

                                   - โซเดียมฟลูออไรด์ (sodium fluoride, NaF)

                                   - โซเดียมโมโนฟลูออโรฟอสเฟต (Sodium mono-fluorophosphate, NaMFP) และ

                                   - สแตนนัสฟลูออไรด์(stannous fluoride, SnF2)

 

                                          ยาสีฟันที่ใช้ฟลูออไรด์ร่วมกับสารชนิดอื่นๆ เช่นโซเดียมฟลูออไรด์และแคลเซียมฟอสเฟต(Calcium Phosphate, CaPO4) ที่นิยมใช้มากที่สุดคือ โซเดียมฟลูออไรด์และโซเดียมโมโนฟลูออโรฟอสเฟต (NaMFP หรือ  SMFP  ในทางการค้า) ซึ่งให้ผลดีกว่าการใช้สแตนนัสฟลูออไรด์เนื่องจากไม่ทำให้เกิดคราบและทำงานร่วมกับสารขัดถูได้ดี  แต่ถ้าใช้สแตนนัสฟลูออไรด์ก็จะพบคราบที่ติดฟันหนาขึ้นและเพิ่มมากขึ้นในบริเวณฟันที่เริ่มเป็นรู  ปริมาณความเข้มข้นของฟลูออไรด์ในยาสีฟันมักจะอยู่ในช่วงระหว่าง 0.10-0.15% (1000-1500  ppm) เมื่อคำนวณความสมดุลทางเคมีให้อยู่ในรูปของฟลูออไรด์ชนิดต่างๆ จะได้เป็นเปอร์เซ็นต์ ดังต่อไปนี้

                                                - 0.22% NaF(sodium fluoride)

                                                - 0.76% SMFP(Sodium Monofluorophosphate- Na2PO3F)

                                                - 0.4% SnF

และฟลูออไรด์ที่อยู่ในยาสีฟันนี้จะมีประโยชน์มากที่สุดถ้าไม่บ้วนปากหลังการแปรงฟัน

                         2) ไซลิทอล (xylitol)  เป็นชูการ์แอลกอฮอล์ (sugar alcohol) ที่แบคทีเรียในปากนำไปใช้ไม่ได้ไซลิทอลจะแตกต่างจากชูการ์แอลกอฮอล์อื่นๆ ตรงที่สามารถยับยั้งปฏิกิริยาไกลโคลิซิส  อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพบว่า ไซลิทอลให้ผลที่แตกต่างกันมากในแต่ละการศึกษา

                         3) แคลเซียม/ ฟอสเฟต (calcium/phosphate)  การเติมแคลเซียมและฟอสเฟตในยาสีฟันจะเพิ่มความเข้มข้นของแคลเซียมและฟอสเฟตไอออนในช่องปาก  ซึ่งมีรายงานว่าช่วยปรับปรุงการย้อนกลับของแร่ธาตุและการเพิ่มการสะสมของปริมาณฟลูออไรด์ (fluorides)ในช่องปาก

                         4) โซเดียมไบคาร์บอเนต (sodium bicarbonate) การศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าไบคาร์บอเนต (bicarbonate) เป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งของน้ำลายที่มีความเป็นไปได้ที่จะดัดแปลงการเกิดฟันผุในช่องปาก

                         B. สารต่อต้านคราบแบคทีเรียที่เกาะบนผิวหน้าฟัน (anti-plaque agents)สารต่อต้านคราบแบคทีเรียที่เกาะบนผิวหน้าฟันเป็นสารที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค ได้แก่ น้ำมันหอมระเหยที่มีความจำเป็นต่างๆ (essential oils) ที่ได้จากพืชเช่น

                              - ไทมอล (thymol) ยูคาลิปทอล (eucalyptol) เมนทอล (menthol)  เมทิลซาลิไซเลต (methylsalicylate)ซิทิลไพริดิเนียม คลอไรด์ (cetylpyridinium chloride) และโดมิเฟน โบรไมด์ (domiphen  bromide

                              - สารลดแรงตึงผิวโซเดียม ลอริล ซัลเฟต(sodium lauryl sulphate, SLS) 

                              - สารฆ่าเชื้อที่เรียกว่า ไตรโคซาน (triclosan) ที่ไปทำลายผนังเซลล์ของแบคทีเรียทำให้เซลล์แตก

                              - สารที่เป็นไอออนของโลหะ  เช่น  สแตนนัสหรือสังกะสี(Metal-ions, Stannous-ions, Zincions) ได้แก่  ซิงค์คลอไรด์  (Zinc chloride) หรือซิงค์ซิเตรต ซึ่งจะไปยับยั้งการการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ทำให้เกิด plaque โดยไปยับยั้งการทำงานของระบบเมแทบอลิซึม (metabolism) ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างและสลายของแบคทีเรีย

                              - อะไมโลกลูโคซิเดส  (amyloglucosidase)  และกลูโคสออกซิเดส  (glucose  oxidase)

                              - คลอเฮกซิดีน (chlorhexidine)

                          การใช้สารชนิดเพียงชนิดเดียวจะได้ผลไม่ดีเท่ากับการใช้สาร 2 ชนิดร่วมกัน เช่น ซิงค์ซิเตรตซึ่งเป็นสารยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียกับไตรโคซานที่เป็นสารฆ่าเชื้อเพื่อให้ได้ผลสูงสุดในการต่อสู้กับplaque และโรคเหงือก

                         C. สารต้านการสะสมหินปูน (anti-calculus agents)สารต้านการสะสมหินปูนที่อยู่บนเคลือบฟันเป็นเวลานาน  ยาสีฟันที่มีค่า RDA ระหว่าง 90-130 กับไพโรฟอสเฟต (pyro-phosphates) รวมทั้งสารประกอบต่างๆ ของไตรโคซานกับเกลือของสังกะสี หรือ ไตรโคซานกับโคพอลิเมอร์  สามารถทำความสะอาดและยับยั้งการสะสมหินปูนบนเคลือบฟัน  การกำจัดหินปูนบนเคลือบฟันให้ได้หมดจดสามารถทำได้โดยทันตแพทย์เท่านั้น

                         D. สารป้องกันคราบหินปูนที่เกาะตามซอกฟัน (antitartar agents)  สารในกลุ่มฟอสโฟเนต(phosphonates)เป็นสารรักษาระดับหินปูนในน้ำลาย  โดยไปรบกวนโครงสร้างผลึกของหินปูน (calculus) เพราะถูกดูดซับอยู่บนเคลือบฟันในรูปแคลเซียมเชิงซ้อนซึ่งสามารถลดการสะสมของคราบหินปูน โดยทั่วไปสารเหล่านี้คือ

                              - เตตตระโซเดียม ไพโรฟอสเฟต (tetrasodium pyrophosphate,TSPP, Na4P2O7) ละลายน้ำได้น้อยที่อุณหภูมิต่ำแต่ถ้าใช้ร่วมกับโปแตสเซียมเตตตระฟอสเฟต (potassium tetraphosphate) จะทำให้การละลายน้ำได้ดีขึ้นแต่จะมีรสเค็ม  

                              - เตตตระโปแตสเซียม ไพโรฟอสเฟต (tetrapotassium pyrophosphate) 

                              - ไดโซเดียม ไพโรฟอสเฟต (disodium pyrophosphate) ไพโรฟอสเฟตเป็นสารที่ลดความกระด้างของน้ำโดยการกำจัดแคลเซียม (calcium) และแมกนีเซียม  (magnesium) ในน้ำลาย  ทำให้ไพโรฟอสเฟตนี้ไม่สามารถเกาะกับเคลือบฟันที่มีคราบหินปูนตามซอกฟัน (calcified plaque) และไม่สามารถกำจัดคราบหินปูนตามซอกฟัน (tartar) ได้ แต่ช่วยเพียงป้องกันการก่อตัวของคราบหินปูนตามซอกฟันเท่านั้น

                         E. สารต่อต้านการเสียวฟัน (anti-dentine hypersensitivity agents)  การแปรงฟันไม่ถูกวิธีหรือยาสีฟันที่ผสมสารขัดถูที่มีค่าความสามารถในการขัดถู (ค่า RDA สูงๆ)  อาจเป็นสาเหตุของเหงือกร่น คอฟันสึกและทำให้เคลือบฟันบางลงจนเห็นเนื้อฟันสีเหลืองที่อยู่ชั้นล่าง  ยาสีฟันชนิดพิเศษที่ค่า RDA ระหว่าง 25-55 สามารถช่วยลดความเจ็บปวดและป้องกันไม่ให้คอฟันสึกหรอเพิ่มขึ้นและมีสารลดการเสียวของคอฟันที่อ่อนแอร่วมด้วย สารที่ช่วยลดการเสียวฟันมี 3 ชนิด คือ

                              - โปแตสเซียมไนเตรต  (potassium nitrate)  และโปแตสเซียมซิเตรต  (potassium citrate) ทำงานโดยไปปิดกั้นกลไกการส่งผ่านความรู้สึกเจ็บปวดระหว่างเซลล์ประสาทต่างๆ โปแตสเซียมไนเตรต (potassium nitrate) เป็นสารที่นิยมใช้มากที่สุดเพราะเข้ากันได้กับฟลูออไรด์ในยาสีฟันและไม่มีรส

                              - สตรอนเตียมคลอไรด์ (strontium chloride) ทำงานโดยการไปปิดกั้นรอยร้าวเล็กๆ (tiny crevices) ที่ช่วยให้มีความรู้สึกทางกายภาพที่เกี่ยวกับความรู้สึกเย็นและร้อนที่จะส่งต่อไปยังประสาทฟันมีรสเค็มและเข้ากับฟลูออไรด์ในยาสีฟันไม่ได้ 

                              - โซเดียมซิเตรต (sodium citrate)  

                         F. สารทำให้ฟันขาว (whitening agents)  สารที่ช่วยให้ฟันขาวกว่าเดิมมี 4 ชนิด คือ

                              - สารขัดฟัน (abrasives)

                              - สารไดเมทธิโคน (dimethicones)

                              - เอนไซม์ปาเปน (papain)

                              - ผงโซเดียม ไบคาร์บอเนต (sodium bicarbonate, baking soda) เป็นผลึกสีขาวช่วยทำความสะอาดฟันได้ทั้งๆ ที่มีความสามารถในการขัดถูต่ำ กำจัดคราบที่ติดอยู่ภายนอก  ยับยั้งคราบแบคทีเรียที่เกาะบน  plaque

                         G. สารต้านภาวะที่มีกลิ่นปาก (anti-halitosis agents) สารประกอบของสังกะสี (zinc compounds) เช่น สังกะสีคลอไรด์ (zinc chloride) หรือโซเดียมซิงค์ซิเตรต (sodium zinc citrate) จะช่วยกำจัดกลิ่นปากได้