ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

 

 

 

บทนำ

              ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2  ผู้บริโภคนิยมใช้สบู่เพื่อซักผ้า  โดยสบู่ทำมาจากไขมันหรือกรดไขมัน(fatty acids)  เสื้อผ้าที่ซักด้วยสบู่จึงมีไขมันบางส่วนตกค้างอยู่ที่เนื้อผ้าทำให้เสื้อผ้านุ่มมือขึ้น  การพัฒนาผงซักฟอก(synthetic detergents)  เริ่มเกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  และได้รับความนิยมมาโดยตลอด  ผู้บริโภคจึงไม่กลับไปใช้สบู่ซักผ้าอีกเนื่องจากผงซักฟอกมีความสามารถในการทำความสะอาดสูงกว่าสบู่และมีคุณสมบัติที่ดีอื่นๆ หลายอย่างที่สบู่ไม่มี  แต่การซักผ้าด้วยผงซักฟอกทำให้ใยผ้าบิดเบี้ยวผิดส่วน พันกันยุ่งเหยิง ทำให้ผ้าแข็งและสากมือ (uncomfortable hand) ซึ่งเป็นผลมาจากความสามารถที่ยอดเยี่ยมในการกำจัดคราบสกปรกและคราบไขมันต่างๆ  รวมถึงไขมันบนผ้าจากกระบวนการถักทอ  ดังนั้นจึงพบว่าเมื่อเสื้อผ้าถูกซักไปหลายๆ ครั้ง มักจะเกิดปัญหาหลักๆ  4  อย่างคือ

              1. ผ้าจะเสียรูปทรงเนื่องจากแรงขัดถูและแรงเหวี่ยงของเครื่องซักผ้า  ใยผ้าจะแตกเป็นเส้นใยเล็กๆ (fibrils)  เมื่อทำให้ผ้าแห้ง เส้นใยเล็กๆ (fibrils) จะพันกันจึงทำให้ผ้ากระด้าง
              2. เส้นใยเล็กๆ เป็นจุดที่น้ำกระด้างสามารถตกตะกอนเกลือของแคลเซียม แมกนีเซียมและเกลือที่มาจากการสลายของสารต่างๆ ที่อยู่ในผงซักฟอก  จึงทำให้ผ้ากระด้าง
              3. สิ่งสกปรกที่หลุดออกมาจากเสื้อผ้าที่ซักในผงซักฟอกมาเกาะติดที่ผ้า  ทำให้สีผ้าหม่นหรือเป็นสีเทา สำหรับผ้าสี  สีเทาที่เห็นบนผิวหน้าของผ้าเกิดจากเส้นใยเล็กๆ ทำให้การกระจายแสงที่มาตกกระทบบนพื้นผิวผ้าเปลี่ยนไป  ทำให้เสื้อผ้าดูหมองลง
              4. เส้นใยเล็กๆจะปิดกั้นไม่ให้ผงซักฟอกแทรกซึมลงไปในเนื้อผ้าและลดประสิทธิภาพ ของเอนไซม์(enzyme) เช่น ไลเปส (lipase) จึงทำให้ประสิทธิภาพของผงซักฟอกลดลง
              ดังนั้นจึงได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้ปรับสภาพของผ้า  และทำให้ผ้านุ่มขึ้นนั่นก็คือ น้ำยาปรับผ้านุ่ม (fabric softener) น้ำยาปรับผ้านุ่มถูกนำมาใช้ตามบ้านเรือนนานกว่า 60 ปีแล้ว โดยน้ำยาปรับผ้านุ่มสามารถแบ่งเป็น 3 ชนิด คือ 
                      (1) ชนิดที่ใช้ภายหลังการซักผ้าโดยผสมกับน้ำสุดท้ายที่ใช้ล้างผ้า  
                      (2) ชนิดที่ใช้ผสมกับผงซักฟอกโดยใส่ขณะกำลังซักผ้าและ
                      (3) ชนิดที่ใช้กับตู้อบผ้า 
              น้ำยาปรับผ้านุ่มทั้ง 3 ชนิดนี้ให้ผลที่แตกต่างกันในเรื่องความนุ่มของผ้าและความสามารถในการลดปริมาณไฟฟ้าสถิตบนผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่มที่ใส่ในน้ำล้างสุดท้ายจะให้ความรู้สึกเวลาที่สัมผัสเสื้อผ้าได้ดีที่สุด  ถ้าใส่น้ำยาปรับผ้านุ่มลงไปขณะซักก็จะเกิดการยับยั้งความสามารถในการทำความสะอาดเสื้อผ้าและจะทำให้ผ้าไม่นุ่ม  ส่วนชนิดที่ใช้กับตู้อบผ้าจะเน้นให้ผลดีในด้านช่วยลดไฟฟ้าสถิตบนผ้ามากกว่าเน้นเรื่องความนุ่มของผ้า 
              น้ำยาปรับผ้านุ่มที่ใช้นอกจากจะให้ความนุ่มแล้ว  ยังช่วยรักษาคุณสมบัติทางกายภาพบางอย่างให้กับเสื้อผ้าอีก  โดยไปเคลือบเส้นด้าย (yarn) และเส้นใย (fibers) ด้วยสารหล่อลื่น (lubricants) และสารคงความชื้น (humectants) ทำให้รู้สึกว่าผ้าลื่น นุ่มและมีความยืดหยุ่นจากการหล่อลื่นภายใน (internal lubrication) เส้นใย (fibers) ให้ความรู้สึกที่ดีเวลาสัมผัสเสื้อผ้า  อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้น้ำยาปรับผ้านุ่มเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในประเทศทางตะวันตกคือ ความสามารถในการลดประจุไฟฟ้าสถิตบนผ้าใยสังเคราะห์ซึ่งเกิดจากการเสียดสีกันระหว่างเส้นใย และยังทำให้เสื้อผ้ามีกลิ่นหอมเพิ่มมากขึ้นด้วย