ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

ส่วนผสมในยาสีฟันที่อาจเป็นอันตราย

              ส่วนผสมในยาสีฟันที่อาจเป็นอันตรายมีดังต่อไปนี้       

              1. โซเดียมฟลูโอไรด์ (sodium fluoride) เป็นส่วนผสมหลักที่ใช้ป้องกันฟันผุ โดยสารนี้เป็นอันตรายกับคน หนู และแมลงสาบมากจนถึงตายได้  แต่ปริมาณที่ใช้ในยาสีฟันมีไม่มากพอที่จะเป็นอันตรายกับคนและแม้แต่กับเด็กเล็ก ๆ

              2.  สีสังเคราะห์ (artificial dyes/colourings)  สีย้อมเอฟดีแอนซี (FD & C dyes) สีฟ้าหมายเลข  1 & 2  มีผลต่อพฤติกรรมการเรียนรู้และปัญหาสุขภาพต่างๆ  มากมายรวมถึงมะเร็งด้วย  ถึงแม้ว่าเราไม่ได้กลืนยาสีฟันแต่สีเหล่านี้สามารถดูดซึมผ่านผิวบนริมฝีปากหรือผ่านเยื่อเมือกในปากได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาทีและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด สมอง  และเซลล์ต่างๆ ได้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ในเวลาอันสั้น    

              3. โซเดียมลอริลซัลเฟต (sodium lauryl sulphate, SLS) เป็นสารที่อันตรายที่สุด เพราะสามารถกัดกร่อนและเป็นอันตรายกับเนื้อเยื่อผิวหนัง สารนี้สามารถซึมผ่าน และสะสมในตา  สมอง หัวใจ และตับ ซึ่งในระยะยาวจะเป็นอันตรายอย่างมาก

              4. ไตรโคซาน (triclosan) เป็นยาฆ่าแมลงชนิดหนึ่งที่พบได้ในยาสีฟัน และเป็นสารเคมีที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของทั้งคนและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ไตรโคซานยังเป็นคลอโรฟีนอลชนิดหนึ่ง ที่อาจเป็นสาเหตุของมะเร็งในคนได้  ถ้ารับประทานสารนี้แม้แต่ในปริมาณน้อย  ก็อาจเกิดอาการต่างๆ แก่ ตับ ไต หัวใจ  ปอด  และกดระบบภูมิคุ้มกัน รวมทั้งสะสมในร่างกายบริเวณที่มีไขมันจนอาจถึงตายได้

              5. ไฮเดรตซิลิกา (hydrated silica)  เป็นสารขัดถูและเป็นสารให้ความขาวที่มีอันตรายกับเคลือบฟัน ปกติเคลือบฟันจะได้รับการเติมธาตุ (re-mineralization) แคลเซียม (calcium)ไอออนและฟอสฟอรัส (phosphorus) ในน้ำลายทุกวัน  การใช้ไฮเดรตซิลิกา (hydrated silica) นอกจากเป็นอันตรายกับเคลือบฟันแล้วยังไปยับยั้งการเติมแร่ธาตุ (re-mineralization) ให้เคลือบฟัน  ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาฟันผุ เสียวฟัน เหงือกอักเสบและเหงือกร่นควรหลีกเลี่ยงยาสีฟันที่ผสมสารนี้ทั้งๆ ที่สารนี้สามารถกำจัดคราบหินปูนและทำให้ฟันดูขาว  นอกจากนั้นยังอาจมีผลกับอนามัยในช่องปากโดยไปเปลี่ยนสมดุลของกรดในปาก  เหงือก และลิ้น

              6. ปัญหาอื่นๆ ของยาสีฟัน  ความสามารถในการขัดถูของยาสีฟันจะวัดเป็นค่า “อาร์ดีเอ ”(Relative Dentin Abrasivity,  RDA)  เคลือบฟันที่บางลงแล้วจะไม่สามารถทำให้กลับมาเหมือนเดิมได้อีก ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาเรื่องการเสียวฟัน  จะต้องใช้ยาสีฟันที่มีค่า RDA ต่ำๆ  ยาสีฟันที่ทำให้ฟันขาวขึ้นไม่ได้ทำอะไรเพื่อให้ฟันขาวขึ้น  แต่จะกำจัดคราบอาหารและ plaque  ให้หมดจดเพื่อให้มองเห็นฟันที่ขาวได้ชัดเจน ยาสีฟันที่ทำให้ฟันขาวบางยี่ห้อก็ยังคงมีค่า RDA ที่สูง  ดังนั้นเคลือบฟันจะถูกทำลาย ทำให้ฟันเหลืองและทำให้เสียวฟันเมื่อสัมผัสกับความร้อน ความเย็น อาหารหวาน อาหารเค็มจัด และเบกกิ้งโซดา  (baking soda)