- ครีมกันแดด
- การจำแนกและหน้าที่ของผิวหนัง
- ประเภทและผลกระทบที่เกิดจากรังสีอัลตราไวโอเลต
- องค์ประกอบของครีมกันแดด
- คุณสมบัติของครีมกันแดด (Prpperties of sunscreens)
- ครีมกันแดดสำหรับผิวหนังที่เป็นสิว (Sunscreen for acne-prone skin)
- การเลือกและใช้ครีมกันแดดที่ถูกต้อง
- การเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพ
- มะเร็งผิวหนัง (Skin cancer)
- การป้องกันมะเร็งผิวหนังด้วยวิตามินดี
- บทสรุป
- อ้างอิง
- All Pages
บทสรุป
ผิวหนังทำหน้าที่ป้องกันความร้อน แสง และช่วยสร้างวิตามินดี ผิวหนังของแต่ละคนมีการตอบสนองต่อแสงแดดแตกต่างกัน ขึ้นกับสีผิวหรือปริมาณของเม็ดสีที่ผิวหนัง คนที่มีปริมาณเม็ดสีน้อยจะมีผิวขาวและเกิดการไหม้แดดได้ง่ายกว่าคนผิวคล้ำ ผิวหนังจำแนกชนิดโดยใช้ค่า ITA (Individual Typology Angle) เพื่อจำแนกชนิดของผิวได้ 6 กลุ่ม ได้แก่ สีผิวขาวมาก สีผิวขาว สีผิวขาวปานกลาง สีผิวน้ำตาลไหม้ สีผิวน้ำตาลเข้ม สีผิวคล้ำ ผิวหนังที่ได้รับแสงแดดมากเกินไปมีผลให้เกิดการไหม้แดด (sunburn), การเสื่อมสภาพของผิวจากแสงแดด (photoaging) และมะเร็งผิวหนัง (skin cancer) แสงแดดที่ตกมาถึงโลกมีความยาวคลื่นตั้งแต่ 290-760 นาโนเมตร โดยแบ่งเป็น 4 ช่วง คือ 1.ช่วงคลื่นรังสี UVC (100-290 นาโนเมตร) 2. ช่วงคลื่นรังสี UVB (290-320 นาโนเมตร) 3. ช่วงคลื่นรังสี UVA (320-400 นาโนเมตร) 4. ช่วงคลื่นVisible Radiation (400-760 นาโนเมตร) ผลิตภัณฑ์กันแดดเป็นที่นิยมมากสำหรับปกป้องผิวจากแสงแดดและมีความสำคัญต่อสุขภาพในแง่ของการป้องกันโรคร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผิวของเราด้วย ดังนั้นจึงควรเลือกครีมกันแดดที่มีคุณภาพและมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับสภาพผิว ผลิตภัณฑ์กันแดดเป็นสารเคมีช่วยดูดซับแสงแดดแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเคมี แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ครีมกันแดดชนิด Organic sunscreens และชนิด Inorganic sunscreen ครีมกันแดดชนิด Organic sunscreens เป็นสารกันแดดที่นิยมใช้มากกว่าชนิด Inorganic sunscreen แม้จะมีผลให้เกิดผื่นแพ้ของผิวหนังก็ตาม ครีมกันแดดชนิด Organic sunscreens ที่นิยมใช้สำหรับดูดซับแสงอัลตราไวโอเลตบี ได้แก่ PABA (p-aminobenzoic acid), octocrylene, salicylates และ cinnamates ครีมกันแดดชนิด Inorganic sunscreens สามารถป้องกันได้ทั้งรังสีอัลตราไวโอเลตเอและบี รวมทั้งสามารถสะท้อนรังสีออกไปจากผิว สารเคมีกลุ่มนี้ ได้แก่ Zinc oxide (ZnO), Titanium dioxide (TiO2) และ silicates สารกลุ่มนี้ป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตได้ดี มีการดูดซึมเข้าผิวหนังได้น้อย ค่อนข้างปลอดภัย ไม่เกิดการแพ้ง่าย แต่มีข้อด้อยในการปรากฏให้เห็นเป็นเม็ดสีขาวบนผิวหนังเนื่องจากซึมยาก แต่ปัจจุบันได้ปรับปรุงคุณสมบัติให้มีเม็ดละเอียดมากขึ้นทำให้มองดูเรียบเนียนใสขึ้น ครีมกันแดดที่ดีจำเป็นต้องกรองหรือดูดซับหรือสะท้อนรังสีได้ทั้งชนิด UVA และ UVB
ครีมกันแดดที่มีฤทธิ์ป้องกัน UVA มีส่วนประกอบของ zinc oxide ส่วนสารที่ป้องกันรังสี UVA ได้บ้าง ได้แก่ Oxybenzone, TiO2 เป็นต้น ค่า PA: Protection of UVA เป็นค่าใช้วัดการปกป้องรังสี UVA มี 3 ระดับ คือ PA+, PA++ และ PA+++ สำหรับครีมกันแดดที่ป้องกัน UVB จะมีสาร Benzophenones: dioxybenzone, oxybenzone, sulisolxybenzone, Cinnamates: cinoxate, octocrylene, octyl methoxycinnamate, PABA derivatives: ethyl-4-(hydroxypropyl)aminobenzoate, Salicylates: octyl salicylate, trolamine salicylate มีหลายคนที่แพ้สาร PABA จึงควรหลีกเลี่ยงครีมกันแดดที่ผสมสารนี้ หรือเลือกครีมชนิด PABA free มีการศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพหลังการได้รับแสง (photostability) ของสารกันแดด โดยผลิตภัณฑ์กันแดดมักไม่ระบุถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพหลังการได้รับแสง ผู้บริโภคจึงควรพิจารณาการเลือกซื้อครีมกันแดด ปัจจุบันยังไม่มีวิธีมาตรฐานสำหรับตรวจการเปลี่ยนแปลงสภาพหลังการได้รับแสงของสารกันแดด สารเคมีที่ใช้ในครีมกันแดดมีคุณสมบัติการดูดซับแสงช่วงคลื่นแตกต่างกันตั้งแต่ 250-400 นาโนเมตร สารกันแดดชนิด TiO2 และ ZnO ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาว่าสามารถปกป้องรังสีอัลตราไวโอเลตชนิดเอได้ โดยขนาดของส่วนผสมที่มีผลต่อการป้องกันแสงคือ ขนาด 0.1 ไมครอน ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันแสงอัลตราไวโอเลตได้ดีที่สุด
ค่า SPF เป็นหน่วยวัดค่าสำหรับวัดผลของครีมกันแดดตามสูตรที่กำหนดด้วยการตรวจวัดความไวต่อการไหม้แดดของผิวหลังจากใช้ครีมกันแดด ใช้บ่งบอกประสิทธิภาพของสารกันแดดว่าเมื่อทาแล้วผิวจะทนต่อแสงแดดได้นานเท่าไรโดยไม่ทำให้เกิดอาการแสบแดง
การเลือกครีมกันแดดสำหรับผิวหนังที่เป็นสิว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดการอุดตันของต่อมไขมันและทำให้เกิดการอักเสบ แสงแดดและฝุ่นละอองมีผลต่อผู้ที่มีปัญหาผิวแพ้และเกิดสิวง่าย สูตรผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดที่ใช้เพื่อปกป้องแสงแดดอาจไม่เหมาะกับผิวหนังที่เป็นสิว ดังนั้นควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าไม่ทำให้เกิดสิวหรือติดฉลากว่า “Oil free” ครีมกันแดดที่แนะนำมักมีส่วนผสมของ TiO2 และ ethylhexyl methoxycinnamate ซึ่งไม่ทำให้เกิดสิวอุดตัน นอกจากนั้นยังใช้ phosphatidylcholine และ hydrosoluble azelaic acid ช่วยลดการเกิดไขมันจึงใช้กับผิวที่มีสิวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ครีมกันแดดที่ดีควรมีความสามารถป้องกันรังสีทั้ง UVA และ UVB ควรมีคุณสมบัติที่ดี ได้แก่ มีค่าการป้องกันแดด (SPF) ที่มีค่าสูง ๆ ถ้าคนที่ต้องอยู่ในที่มีแสงแดดจัด ๆ หรือมีปัญหาเป็นฝ้าหรือกระ การใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงๆ เป็นสิ่งที่จำเป็น ครีมกันแดดที่ดีควรมีความคงตัวสูง ไม่เสื่อมสลายง่ายหลังจากถูกแสงแดด และควรประกอบด้วยสารกันแดดหลายชนิดเพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพ
มะเร็งผิวหนังที่พบบ่อยและมีอัตราการตายสูงมักจะพบมากในคนผิวขาวที่เคยมีผิวไหม้จากแดดขั้นรุนแรงและสะสมมาเป็นเวลานาน โดยเซลล์ผิวหนังไม่อาจต้านทานได้และอาจมีผลทำให้เป็นมะเร็งผิวหนัง วิตามินดีสามารถลดอัตราเสี่ยงและป้องกันมะเร็งผิวหนังได้กล่าวคือ ปกติร่างกายต้องการวิตามินดีวันละประมาณ 400 IU การขาดวิตามินดีทำให้เกิดโรคกระดูกอ่อนและมีปัญหาเกี่ยวกับการดูดซึมแคลเซียม ความต้านทานโรคลดน้อยลงและมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ เต้านม รังไข่ และต่อมลูกหมาก เป็นต้น การรับประทานวิตามินดีเสริมหรือร่างกายที่สังเคราะห์วิตามินดีจากแสงแดดช่วยลดอัตราเสี่ยงจากโรคมะเร็งดังกล่าว ดังนั้นความต้องการแสงแดดประมาณวันละ 15 นาทีหรือการรับประทานวิตามินดีเพียงวันละ 400-1,000 IU ก็เพียงพอต่อการป้องกันโรคมะเร็งผิวหนังได้