ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP

 

 

 

บทนำ

              อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความสำคัญมากในการดำรงชีวิตของมนุษย์  มีมากมายหลายประเภทให้เลือกสรร  อาหารแต่ละประเภทที่เราบริโภคเข้าไปมีทั้งที่ก่อให้เกิดคุณค่าทางโภชนาการและโทษต่อร่างกาย  อย่างไรก็ตาม  อาหารแทบทุกชนิดที่เราบริโภคเข้าไปนั้น  มักจะประสบปัญหากับการปนเปื้อนจากสารพิษต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นสารพิษที่เป็นสิ่งมีชีวิต  สารเคมี  หรือสารกัมมันตรังสี  โดยเฉพาะอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษที่เป็นสิ่งมีชีวิตจำพวกจุลินทรีย์ (Microorganisms)  ไม่ว่าจะเป็นไวรัส  แบคทีเรีย  รา  ยีสต์  ฯลฯ  เนื่องจากจุลินทรีย์สามารถพบได้ทั่วไป  โดยปริมาณที่พบจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับวิธีการผลิต  บรรจุภัณฑ์  การควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร  สภาพแวดล้อม  รวมไปถึงผู้บริโภคเอง  โดยผู้ที่บริโภคอาหารปนเปื้อนจุลินทรีย์จะได้รับผลกระทบต่อร่างกายมากน้อยแตกต่างกันไปตามชนิดและประเภทของจุลินทรีย์ 

              โดยปกติแล้วร่างกายของมนุษย์เองก็มีจุลินทรีย์อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหาร  มีทั้งจุลินทรีย์ที่ให้ประโยชน์และให้โทษต่อร่างกาย  ร่างกายของมนุษย์ก็จะมีกลไกในการป้องกันหรือกำจัดจุลินทรีย์แปลกปลอมออกไป  แต่หากเกิดในขณะที่ร่างกายอ่อนแอ  หรือมีปริมาณของจุลินทรีย์มากเกินไปจนร่างกายไม่สามารถกำจัดออกไปได้  ก็ทำให้จุลินทรีย์เข้าไปก่อกวนระบบการทำงานของร่างกายและก่อให้เกิดความผิดปกติขึ้น  ทำให้เกิดอาการป่วยในลักษณะต่างๆ  หรือเป็นโรคที่เกิดจากการบริโภคอาหารเรียกว่า “โรคอาหารเป็นพิษ”  ซึ่งพบว่าประมาณ 70% ของโรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเป็นสาเหตุสำคัญ  (สุมณฑา  วัฒนสินธุ์, 2545)

              กลุ่มของเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคในคนซึ่งติดต่อมาสู่คนผ่านทางอาหารเป็นหลัก  เรียกว่า  แบคทีเรียก่อโรคในอาหาร  (ภาวิน  ผดุงทศ, 2547)  อาหารที่ปนเปื้อนแบคทีเรียนอกจากจะทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษแล้วยังมีผลต่อคุณภาพของอาหารอีกด้วย  เช่น  ทำให้อาหารเน่าเสีย (Spoilage) โดยชนิดของแบคทีเรียที่พบมากในอาหาร  ได้แก่  Staphylococcus aureus, Salmonella, Clostridium perfringens, Clostridium botulinum, Campylobacter, Listeria monocytogenes 

              ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้นโดยการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย  แต่ถึงอย่างไรก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงแบคทีเรียที่ปนเปื้อนมากับอาหารได้  สำหรับอาการที่ปรากฏหลังจากบริโภคอาหารจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับจำนวนของแบคทีเรียที่อยู่ในอาหาร  หากมีจำนวนน้อยร่างกายก็จะสามารถต้านทานได้  แต่หากมีจำนวนมากเกินไปก็จะทำให้เกิดอาการต่างๆขึ้น  เช่น  อาเจียน  ปวดท้อง  ท้องร่วง ฯลฯ  หากเรามีวิธีดูแลและป้องกันการบริโภคอย่างถูกวิธีก็จะทำให้เราสามารถป้องกันการปนเปื้อนของแบคทีเรียในอาหารได้และดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข